หมายเหตุ นี่เป็นบทบรรณาธิการที่ผมเขียนให้กับวารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน-พฤศจิกายน 2546) ฉบับชาตินิยม (Nationalism) ผมเอาเผยแพร่ในที่นี้ทั้งบทความ เพราะเห็นว่าหลายบทความในวารสารฉบับนี้น่าสนใจมาก จึงแนะนำเผื่อไว้ให้ท่านผู้ที่สนใจได้ลองไปหาตัวฉบับดังกล่าวมาอ่านดู
บทบรรณาธิการ
บุญส่ง
ชัยสิงห์กานานนท์
รัฐชาติเป็นรูปแบบหน่วยจัดการการปกครองสมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นนับจากศตวรรษที่18
โดยมีพื้นฐานความคิดที่ถือว่าองค์อธิปัตย์ของรัฐก็คือประชาชน (พลเมือง) และเจตจำนงทั่วไปของประชาชน (พลเมือง) คือผลประโยชน์ของชาติ ชาตินิยม (Nationalism) ได้ปรากฏตนขึ้นในฐานะอุดมการณ์ทางการเมือง โดยผู้ปกครองรัฐนำมาใช้ในรัฐชาติเพื่อปลุกเร้าอารมณ์รวมหมู่ของพลเมืองในรัฐตนให้อุทิศตนเพื่อรัฐ
และใช้เป็นกาวประสานความแตกต่างจากการที่ประชากรพื้นถิ่นต่าง
ๆ ที่ถูกรวมมาเป็นพลเมืองอยู่ใต้ร่มธงแห่งรัฐเดียวกัน ทั้งที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านของเชื้อชาติ
วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ความเป็นมา
รัฐชาติและความคิดแบบชาตินิยมจึงได้กลายเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันและกันในการดำรงสถานะในยุคใหม่
และมักอาศัยการสร้างและผลิตมายาภาพเรื่องความเป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมซึ่งอิงการมีชาติพันธุ์เดียวกัน
หรือวัฒนธรรมเดียวกัน หรือประวัติความเป็นมาร่วมกัน มาปลูกฝังความเชื่อเพื่อให้พลเมืองมีความจงรักภักดีต่อรัฐชาติตน
ในการต่อสู้เพื่อเอกราช เพื่อปลดปล่อยตนเองจากการเป็นอาณานิคม
ชนพื้นเมืองในท้องถิ่นต่าง ๆ
มักสร้างกระแสชาตินิยมเพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม
การสร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน มีผลประโยชน์ร่วมที่ต้องช่วยกันปกป้อง ถือเป็นกระแสทางจิตวิทยาสังคมพื้นฐานที่ช่วยให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองดังกล่าวเป็นไปได้ราบรื่นขึ้น
รัฐชาติที่เกิดขึ้นใหม่มักเป็นผลิตผลจากการเคลื่อนไหวที่อิงอาศัยกระแสความคิดแบบชาตินิยมเป็นเครื่องมือช่วยในการสร้างสำนึกความเป็นชาติเดียวกัน แต่ในอีกแง่หนึ่ง กระแสความคิดแบบชาตินิยมนั้นก็เป็นกระแสความคิดที่ค่อนข้างอันตราย
การอ้างว่าเป็นกลุ่มพวกเดียวกัน จึงต้องคิดต้องเชื่อต้องทำอะไรไปในทิศทางเดียวกัน
ปกป้องสิ่งเดียวกัน ในแง่นี้
ชาตินิยมจึงเป็นกระแสความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นขึ้นในแบบเร้าอารมณ์คน
เพื่อมุ่งไปสู่ทิศทางหนึ่งใดตามที่ผู้ปั่นกระแสต้องการ
และมักไม่ต้องการการพิจารณาเชิงเหตุผลอย่างจริงจัง
เพราะอาจไปสลายมายาภาพในเรื่องความเป็นเนื้อเดียวกันของประชากรลง
วารสารอักษรศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับนี้เป็นฉบับชาตินิยม
บทความประจำฉบับจะวิเคราะห์ถึงกำเนิดและพัฒนาการของความคิดแบบชาตินิยม
รวมทั้งเรื่องของกระแสชาตินิยมที่พยายามสถาปนาความเป็นชาติไทยขึ้น บทความของพรเพ็ญ
ฮั่นตระกูลจะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของลัทธิชาตินิยมจากจุดกำเนิด
และวิเคราะห์ให้เห็นว่าสภาพการณ์อะไรที่เอื้อให้เกิดเป็นรูปแบบชาตินิยมที่หลากหลายในแต่ละท้องถิ่น สภาพการณ์เช่นใดที่เอื้อให้ความคิดชาตินิยมปรากฏเป็นรูปแบบสุดโต่ง
บทความของกำพล
จำปาพันธ์ได้วิเคราะห์การเมืองของการกำหนดชื่อประเทศไทย จากเดิมที่เรียกคละกันไปว่าสยามบ้างและไทยบ้างกลายเป็นเรียกว่าไทยในปัจจุบัน
กำพลได้นำเสนอประเด็นที่เปิดต่อการถกเถียงต่อไปว่า
รัฐบาลที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำเนินนโยบายที่ยังสืบเนื่องกับความคิดของคณะราษฎรในการทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศของพลเมืองทุกคน
โดยเรียกทุกคนว่าเป็นคนไทยตามสัญชาติ
ขณะที่รัฐบาลในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่เคยมีจุดมุ่งหมายเช่นนึ้ ในแง่นี้รัฐชาติไทยจึงบรรลุอุดมคติในระดับหนึ่งเมื่อยอมรับโดยหลักการว่าพลเมืองของตนว่าเป็นชนชาติเดียวกัน
บทความของพงษ์ศิลป์
อรุณรัตน์เปิดประเด็นถกเถียงโต้แย้งทัศนะทั่วไปที่ปรากฏในวงการดนตรีไทยที่มองยุคสมัยของรัฐบาลจอมพล
ป. พิบูลสงครามในช่วงก่อนและระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพาว่าเป็นยุคมืดของดนตรีไทย
ว่าได้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าในยุคดังกล่าวดนตรีไทยมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นในระดับสำคัญหลายประการ
โดยเฉพาะการวางรากฐานทางการศึกษาดนตรีไทยอย่างเป็นระบบขึ้นเป็นครั้งแรก พงษ์ศิลป์ได้แสดงให้เห็นว่า
The Evolution of Thai Music ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดทำโดยรัฐบาลในยุคนั้นมีความสำคัญอย่างไร
และควรได้รับการใส่ใจให้มากกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้รัฐนิยมที่รัฐบาลในยุคนั้นประกาศออกมาแม้ว่าจะมีอิทธิพลของความคิดชาตินิยมอยู่สูง
แต่ในบางประกาศก็มีส่วนช่วยพัฒนาวงการดนตรีไทยให้ก้าวหน้าขึ้น หากจะมองอย่างให้ความเป็นธรรม
ในส่วนของรายงานพิเศษนั้น บาหยัน อิ่มสำราญได้รายงานการอภิปรายของนักประวัติศาสตร์ไทยสามท่าน
คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สุเนตร ชุตินธรานนท์ และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ในเรื่อง “ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์กับชาตินิยม”
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเรื่องของกระแสชาตินิยมในปัจจุบันที่หันไปใช้สื่อประเภทภาพยนตร์ในการช่วยสร้างกระแสความคิด
ในส่วนของบทความพิเศษ เรามีบทความของไรน์โฮลด์
กริมม์ (Reinhold Grimm) ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
ณ ริฟเวอร์ไซด์
กริมม์ได้แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของบทกวีของฮันส์ มักนุส เอนเซนแบร์เกอร์
(Hans Magnus Enzensberger) นักคิดและกวีชาวเยอรมัน ว่าสามารถเชื่อมระหว่างแดนของวิทยาศาสตร์และบทกวีซึ่งดูเหมือนอยู่กันคนละโลกให้เข้ากันได้อย่างลงตัว
อันคู่ควรแก่การที่จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเป็นคนต่อไป บทความนี้แสดงถึงภูมิรู้อันกว้างขวางของผู้เขียน
และเป็นตัวอย่างของงานวรรณกรรมวิจารณ์ที่ผู้ศึกษาวรรณคดีควรศึกษา
จากข้อเท็จจริงที่ว่าชนกลุ่มใหญ่ภายในรัฐชาติหนึ่ง ๆ มักมีบทบาทครอบงำการปกครองของรัฐชาตินั้น
ๆ แบบแผนการใช้ชีวิตของชนกลุ่มดังกล่าวจึงถูกนำมาส่งเสริม
กำหนด กระทั่งบังคับ ให้เป็นรูปแบบพื้นฐานทางจารีตของรัฐชาตินั้น ๆ ความคิดแบบชาตินิยมที่เรียกร้องพลเมืองให้มีความจงรักภักดีต่อชาติตนจึงมักถูกย้ำให้เป็นเรื่องของการปกป้องสายเลือดหรือชาติพันธุ์
และมักมีการสร้างมายาภาพเรื่องความเป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรม และการมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมกัน
ชาตินิยมในรูปแบบนี้จัดเป็นชาตินิยมที่เป็นภัยอย่างยิ่ง
เพราะนอกจากอิงความเขลาจากการไม่ใส่ใจต่อข้อเท็จจริง ยังชักนำผู้คนให้เกลียดชังกลุ่มคนที่ถือว่าไม่ใช่พวก
และมองภาพชนเหล่านั้นแต่ในทางลบ จนกระทั่งมองว่าการกำจัดกลุ่มชนเหล่านั้นก็เป็นความชอบธรรม
ในบ้านเรานั้น กระแสความคิดแบบชาตินิยมมักดำเนินไปในแนวทางดังกล่าว
และนำไปสู่การสร้างความแตกแยกอย่างร้าวลึก
กรณีของสามจังหวัดภาคใต้เป็นตัวอย่างที่เด่นชัด ทัศนะของคนจำนวนไม่น้อยที่สะใจต่อการตายของผู้คนในกรณีสลายม็อบที่ตากใบ
บ่งชี้อย่างแจ่มชัดว่าชาตินิยมในแนวนี้เป็นภัยอย่างไร โดยอาศัยกระแสอารมณ์รวมหมู่ที่ไม่ใส่ใจการพิจารณาเชิงเหตุผล
ผู้บริหารประเทศก็ใช้ประโยชน์จากความรู้สึกแบบด้อยเหตุผลเช่นนี้ในการสร้างกระแสนิยมในตนเองขึ้น
ซึ่งส่งผลให้รอยร้าวระหว่างกลุ่มชนลึกลงมากขึ้น
ในแง่หนึ่ง ชาติเป็นความคิดและจินตนาการที่เราใช้มองความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราโดยผูกพันกับพื้นที่บางแห่งและกลุ่มคนที่อยู่แวดล้อมตัวเรา ชาติมักถูกสร้างมายาภาพให้มีจินตนาการว่าเป็นแบบใดโดยไม่ใส่ใจกับข้อเท็จจริงที่ขัดแย้ง เมื่อเราถามว่า ชาติไทยคือชาติของใคร? ใครคือคนไทย? ความเป็นไทยคืออะไร? ชาติไทยต้องมีเอกลักษณ์หรือไม่?
คำตอบในเรื่องนี้มักเป็นสูตรสำเร็จที่ถูกผลิตขึ้นโดยทางการอย่างจงใจ เราจึงมักพบเห็นความโง่เขลาและการด้อยวิชาการของกลุ่มชนอนุรักษ์นิยมที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยอ้างความรักชาติ
โดยผู้บริหารรัฐเองก็ให้การสนับสนุนกระแสดังกล่าวอย่างพอใจ สังคมไทยนั้นไม่อาจดำรงอย่างมั่นคงได้ภายใต้กระแสความเขลาเช่นนี้ หน้าที่ของเราในฐานะพลเมืองไทยจึงอยู่ที่การไม่วางเฉยและต้องวิพากษ์อย่างถึงที่สุดต่อกระแสความเขลาดังกล่าว สังคมไทยนั้นต้องการความสมานฉันท์บนพื้นฐานความเป็นจริง
ไม่ใช่มายาภาพ เราต้องการปัญญาและการอภิปรายถกเถียงเชิงเหตุผลมากกว่าการปลุกปั่นสร้างกระแสชวนเชื่อ เมื่อพิจารณาจากแง่นี้ เราจึงควรระวังอย่างยิ่ง
ในครั้งใดก็ตามที่ความคิดแบบชาตินิยมถูกนำมาโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้เป็นกระแสสังคม
กองบรรณาธิการขอขอบคุณอาจารย์ศุภกาญจน์
ผาทองที่ช่วยดูแลการจัดทำบทคัดย่อภาษาอังกฤษของบทความในฉบับนี้
No comments:
Post a Comment