Saturday, October 5, 2013

20 ปี 14 ตุลา (ตอนที่ 1): ตามหาเวลาที่หายไป


หมายเหตุ ผมได้เขียนบทความชุด ๒๐ ปี ๑๔ ตุลา ไว้เมื่อปี ๒๕๓๖ รวม ๖ ตอนเพื่อถกประเด็นทางความคิดกับนักคิดของไทยหลายคน ดังเช่น ยุค ศรีอารยะ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ประเวศ วะสี สุลักษ์ ศิวลักษณ์ โดยลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทยไฟแนนเชี่ยล  ปีนี้เป็นปีที่ครบ ๔๐ ปี ๑๔ ตุลา ประเด็นที่ผมนำเสนอในบทความชุดนี้ผมเห็นว่าน่าจะยังมีประโยชน์ในการเข้าใจสังคมไทยอยู่บ้าง แม้ว่าความคิดปัจจุบันของผมในเรื่องนี้บางประเด็นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม    (บทความตอนที่หนึ่งนี้เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ ๗ ต..๒๕๓๖)

  "วันเวลาเช่นนั้นได้นำเราเข้าไปอยู่ในโลกของพวกเขาเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง ตรงที่นั้นเองเราได้พบว่าสำหรับคนบางคนแล้วเช่นดังหนุ่มสาวเหล่านั้นที่ตายไป   เวลาของเขาที่เราหาพบได้ชักนำเราให้ได้กลับไปชื่นชมกับจิตใจของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง โลกของพวกเขาเป็นอมตะตลอดไป  ไม่ว่าเวลาส่วนอื่นๆของพวกเขาจะหายไปอย่างไร เวลาตรงส่วนนี้ก็ยังคงอยู่ตลอดไปให้เราเข้าไปค้นหาเข้าไปร่วมรับรู้ความรู้สึกนึกคิดอย่างเข้าใจและห่วงใย  จึงไม่สำคัญเลยสำหรับวันเวลาที่เขาควรจะมีต่อไป   เพราะความหมายของเขาในเวลาเท่าที่มีอยู่เป็นสิ่งที่มีที่อยู่อันถาวรในทางสังคม มนุษย์นั้นเป็นอมตะได้ในเวลาเช่นนั้น”

                ๒๐ ปี ๑๔ ตุลา (ตอนที่หนึ่ง): ตามหาเวลาที่หายไป            
                        บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
                   

เด็กสองคนเมื่อวันนั้น
         มีภาพอยู่สองภาพที่ให้ความรู้สึกขัดแย้งกันเมื่อเราดูภาพถ่ายของเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาประชาชนในบริเวณสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่  ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  ภาพแรกเป็นภาพเด็กชายวัยแปดเก้าขวบกำลังยืนฉี่ใส่ศพนักศึกษาที่ถูกฆ่าตายตรงบริเวณสนามหลวง ส่วนอีกภาพเป็นภาพของเด็กชายวัยเจ็ดแปดขวบถูกตำรวจบังคับให้ถอดเสื้อแล้วเอาสองมือประกบกันบนศีรษะยืนอยู่ด้านหลังนักศึกษาชายผู้หนึ่งที่ยืนอยู่ในท่าแบบเดียวกัน
         เด็กคนหนึ่งกระทำสิ่งเยาะเย้ยคนอื่น(อาจเป็นด้วยผู้ใหญ่ในบริเวณนั้นบอกให้ทำ)เด็กอีกคนหนึ่งยืนรอการเยาะเย้ยจากคนอื่นที่เป็นฝ่ายกระทำในเหตุการณ์(อาจเป็นด้วยตามผู้ใหญ่เข้าไปอยู่ในธรรมศาสตร์ก่อนเกิดเหตุการณ์)  เด็กสองคนยืนอยู่กันคนละฝ่ายโดยอาจเข้าใจหรืออาจไม่เข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น      และบริเวณตรงกลางก็คือช่องกว้างที่ถ่างเด็กทั้งสองทิ่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันและยังไม่เป็นผู้ใหญ่ให้ออกห่างจากกันจนกลายเป็นคนละฝ่าย กลายเป็นผู้รับบทกระทำการที่ต่างลักษณะ
         จากวันนั้นถึงวันนี้สิบเจ็ดปีต่อมาเด็กชายทั้งสองคนถ้ายังมีชีวิตอยู่พวกเขาจะเป็นอย่างไรถ้าได้มาพบกันเข้าโดยบังเอิญและมีเวลาพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน พวกเขาจะเป็นเพื่อนกันในท้ายที่สุดหรือเป็นศัตรูกัน ภาพที่ดูขัดกันนี้จักคลี่คลายตัวไปอย่างไรและในวันนี้เมื่อพวกเขาได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วและรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันนั้น พวกเขาแต่ละคนจะรู้สึกอย่างไร
         เรารู้อยู่อย่างหนึ่งว่าภาพทั้งสองภาพมีโอกาสปรากฏต่อสายตาของคนไทยทั่วๆไปในปีพอศอนั้นอยู่เพียงชั่วขณะ  คณะทหารที่ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้งที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำและมีหัวหน้าพรรคคือ ม...เสนีย์  ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี คณะทหารคณะที่เรียกตนเองว่า"คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน"นี้เมื่อยึดอำนาจได้ในตอนค่ำวันดังกล่าวก็ได้สั่งห้ามการจำหน่ายจ่ายแจกหนังสือพิมพ์ทุกฉบับและได้ตั้งกรรมการเซ็นเซอร์ข่าวที่ไม่ประสงค์ให้มีการเผยแพร่ในเวลาต่อมา  ภาพทั้งสองภาพจึงเป็นที่รับรู้กันในวงแคบกว่าจะได้รับการตีพิมพ์อย่างเปิดเผยภายในประเทศก็อีกหลายๆปีต่อมา
         เราสงสัยว่าถ้าในปีพอศอนั้นภาพทั้งสองปรากฏให้เห็นในการรับรู้ของคนทั่วไปใครต่อใครจะรู้สึกกันอย่างไร?
         บทความชุดนี้จะเป็นการวิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมในสังคมไทย และจะมีการเสนอทางออกของสังคมไทยจากปัญหาดังกล่าว  ในตอนที่หนึ่งนี้เราจะตั้งต้นไม่ใช่ที่เหตุการณ์๑๔ตุลา แต่จะเรียนรู้บทเรียนบางบทเรียนจากเหตุการณ์สามปีหลังต่อมา

ผู้ใหญ่สองคนในวันเวลาที่ต่างกัน
         หลังจากนักศึกษาประชาชนได้ชัยชนะในการโค่นล้มระบอบเผด็จการของถนอมประภาสในช่วงเหตุการณ์ที่เรียกว่า "วันมหาวิปโยค๑๔ตุลาในปี๒๕๑๖ เพียงสามปีต่อมาก็ได้เกิดเหตุการณ์สังหารโหดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ ๖ ตุลาคม ปี ๒๕๑๙  และตามมาด้วยการรัฐประหารของคณะทหารที่เรียกตนเองว่า "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในค่ำวันเดียวกัน คณะทหารดังกล่าวได้ตั้งให้พลเรือนผู้หนึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งได้ดำเนินการบริหารประเทศอย่างไม่แคร์ต่อใจของคณะทหารนี้  รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อมาอีกไม่นานนักก่อนจะถูกกลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งมาจี้ลงไป
         อีกหลายสิบปีต่อมาเมื่อประเทศไทยมีนายกฯเป็นอดีตทหารและเป็นหนึ่งในผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ในตอน ๖ ตุลา นายกฯที่เป็นอดีตนายทหารที่มีพ่อเป็นผู้ก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งเมื่อปี ๒๔๙๐   อันนำประเทศไทยเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารซ้ำซากจากทหาร  เขาผู้นี้ก็ได้ถูกทำรัฐประหารจากคณะทหารอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ"  คณะทหารดังกล่าวนี้ก็ได้ตั้งให้พลเรือนผู้หนึ่งขึ้นเป็นนายกฯ   และพลเรือนผู้นี้ก็ดำเนินการบริหารประเทศแบบไม่เอาใจคณะทหารดังกล่าวเท่าไร  เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ในเวลาต่อมาคณะทหารดังกล่าวจึงวางการณ์ให้นายทหารพวกตัวแทรกเข้ามาเป็นนายกฯได้ในท้ายที่สุด และผู้คนก็พากันออกมาคัดค้าน มีการปิดล้อมจากทหารการสังหารและการทำร้าย  อันตามมาด้วยการต่อต้านในรูปแบบต่างๆจากประชาชนจนสถานการณ์พลิกกลับและคณะทหารกลุ่มดังกล่าวก็ต้องหมดบทบาทไป
         ขณะที่พลเรือนคนแรกได้พยายามปกปิดความเป็นจริงของเหตุการณ์ช่วงดังกล่าวโดยอาศัยกฎหมายเผด็จการ พลเรือนคนที่สองก็ได้อำนาจที่ได้รับมอบจากเผด็จการคลี่คลายความเป็นจริงของอีกเหตุการณ์ขึ้น    อาจเป็นไปได้ว่าในปีพอศอนี้ภาพเหตุการณ์ที่ปรากฏให้คนทั่วๆไปได้เห็นไม่เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมเอาไว้ได้จากฝ่ายกุมอำนาจรัฐ เราไม่รู้ว่าถ้าพลเรือนคนแรกต้องอยู่ในสังคมที่ปกปิดข่าวสารไว้ไม่ได้  เขาจะดำเนินบทบาทอย่างไร จะทำการแบบเดิมเหมือนที่เขาได้ทำจริงเมื่อปีพอศอโน้นหรือไม่
         แต่เรารู้อยู่อย่างหนึ่งว่า แม้พลเรือนทั้งสองคนจะจบมาจากต่างประเทศเดียวกัน (คืออังกฤษ) และเคยเป็นข้าราชการมาเช่นกันแม้จะต่างหน่วยงานกัน  มีบุคลิกภาพเด็ดขาดเช่นกัน ขึ้นสู่อำนาจพร้อมกับความประหลาดใจจากคนทั่วไปเช่นกัน คนหนึ่งยังอยู่ในใจคนจำนวนไม่น้อยอย่างชื่นชม ขณะที่อีกคน(คือคนแรก)มีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ชิงชัง
        ในปีที่พลเรือนคนแรกเป็นนายกฯ   พลเรือนคนหลังถูกกล่าวหาต่างๆนาๆพร้อมกับการถูกคุกคามต่อสวัสดิภาพในชีวิต    อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์ที่คนๆแรกได้ประโยชน์ เมื่อคนๆหลังได้เป็นนายกฯ  พลเรือนคนแรกก็อยู่ของตัวเองไปและไม่มีใครใส่ใจมากนักว่าเขาอยู่อย่างไร

เด็กสาวสองคนในชะตากรรมที่ต่างกัน
         ภาพของเด็กสาวคนหนึ่งซึ่งเป็นนักศึกษานอนเปลือยกายหลังพิงพื้นหญ้าในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   มีคนผู้ชายอยู่กลุ่มหนึ่งคนหนึ่งสวมแว่นเรย์แบนด์สีดำทำท่ารูดซิบกางเกงเหมือนจะทำอะไรเด็กสาวผู้นี้   มีไม้เปื้อนเลือดทิ้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและที่บริเวณช่องคลอดของเด็กสาวมีรอยเปื้อนเลือดกองใหญ่    ภาพเด็กสาวอีกคนในอีกหลายสิบปีต่อมานั่งชันเข่าร้องไห้อย่างคุมสติไม่อยู่โดยหลังพิงกำแพงอาคารอยู่ตรงบริเวณถนนราชดำเนินในบริเวณใกล้เคียงมีคนนอนก้มหน้าลงเรียงรายกันอยู่และมีทหารถือปืนสงครามเดินไปมา
         เด็กสาวสองคนในคนละเวลากัน คนหนึ่งตายไปและคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ คนหลังมีคนปลอบโยน   คนแรกร่างกายต้องไปนอนอยูในสถานเก็บศพเพื่อให้ญาติมาเดินหา  ภาพของคนหลังมีตีพิมพ์หราปรากฏทั่วไปในหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น  ขณะที่ภาพของคนแรกน้อยคนเต็มทีที่ได้เห็นและไม่ปรากฏให้เห็นต่อคนทั่วไปในช่วงเวลาดังกล่าว   เด็กสาวสองคนมีคนเห็นใจมากมายเมื่อได้รู้เห็น  ไม่ว่าเป็นหรือตาย  เราไม่รู้ว่าเด็กสาวคนแรกจะเป็นอย่างไรหากมีชีวิตรอดมาได้และดำเนินชีวิตต่อมา      เรารู้ว่าอย่างน้อยเด็กสาวคนหลังยังได้ความอบอุ่นจากคนจำนวนไม่น้อย
         และเรารู้ยิ่งกว่านั้นด้วยว่า   กลุ่มคนทรามที่กระทำต่อเด็กสาวคนแรกไม่ถูกลงโทษจากรัฐ เช่นกันกับกลุ่มคนทรามกลุ่มหลังที่สร้างความตระหนกให้กับเด็กสาวคนหลังก็ไม่ถูกรัฐลงโทษ

คนหนุ่มสองคนในชะตากรรมเดียวกัน
         ตอนที่เขาวิ่งออกไปด้านประตูหน้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อหาทางหลบไปทางสนามหลวง   ชายหนุ่มคิดไม่ถึงว่านักกีฬาของทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเขาที่เลือกเอาตัวเองมาเป็นส่วนการ์ดป้องกันเพื่อนๆนักศึกษาจากหลายสถาบันต้องมานอนจุกลุกไม่ขึ้นเพราะแรงโดดถีบเข้ามาของเจ้าพวกกระทิงแดงที่รับจ้างมากำจัดพวกเขา    ตอนที่หลายๆตีนกระทืบกันเข้ามาแล้วแขนของเขาไม่มีแรงยกขึ้นมากันส่วนต่างๆของร่างกาย เขาก็ยังคลางแคลงใจว่าไฉนตนเองจึงหมดเรี่ยวแรงเอาได้โดยไวนักทั้งๆที่รักบี้กีฬาที่ใช้ความทรหดก็เป็นกีฬาที่เขาได้ฝึกเล่นเป็นประจำ  ตอนที่เขาถูกลากไปตามพื้นถนนก่อนสติจะเลอะเลือนไปเขาก็ยังแปลกใจที่เรี่ยวแรงตนเองไม่เหลืออยู่อีกเลย   ใครๆที่เห็นเขาตอนถูกรัดคอด้วยเชือกดึงขึ้นไปแขวนห้อยกับกิ่งต้นมะขามก็อาจเวทนาว่าเขาน่าจะวิ่งหนีได้ทัน หากดูรูปร่างของเขาเทียบกับเจ้าหนุ่มนักศึกษาตัวเล็กๆอีกคนที่โดนเอาไม้แหลมตอกทะลุอกหรือเจ้าหนุ่มรายที่โดนลากไปเผาใต้กองยางรถตรงสนามหลวงพร้อมกับเด็กสาวอีกคน
         ตอนที่เขาวิ่งออกไปทางสนามหลวงเพื่อหลบไปทางวัดมหาธาตุ  ชายหนุ่มที่ชอบเล่นกีฬาอย่างเขาและเชื่อในพลังทางกายภาพของตัวเองจนอาสาเป็นการ์ดโพกผ้าดำก็คิดไม่ถึงว่ากระสุนจากทหารจะพุ่งเข้าศีรษะเขาอย่างรวดเร็วจนเขาเบี่ยงตัวหลบไม่ทัน  ใครที่เห็นสมองของเขาแตกกระจายก็อาจเห็นใจว่ากระโดดไปอีกนิดเดียวก็พ้นทางปืนแล้วไม่น่าเหมือนเจ้าหนุ่มร่างบางและตาเฒ่าอืดอาดที่โดนส่องเปรี้ยงเดียวหัวกระจุยโดยไม่มีโอกาสวิ่ง
         เด็กหนุ่มสองคนที่อยู่ในคนละยุคกันนี้ต่างก็เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเช่นกัน  คนหนึ่งเรียนมหาวิทยาลัยปิด อีกคนเรียนมหาวิทยาลัยเปิด  แต่ต่างก็ได้เรียนคณะแบบเดียวกันคือคณะรัฐศาสตร์    และมาตายนอกมหาวิทยาลัยของตัวคือไปตายใกล้บ้านเพื่อนที่เรียกว่าธรรมศาสตร์   คนหนุ่มคนหลังโชคดีกว่าบ้างตรงตายโดยไม่โดนทรมานมากและไม่โดนเอาศพประจาน เราไม่รู้ว่าหากสองหนุ่มนี้ยังมีชีวิตอยู่ในอนาคตเขาจะเป็นอะไร   แต่เรารู้ว่าเขาเป็นคนกล้าและนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารักเขาเมื่อนึกถึง
         ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าคนที่ฆ่าเขานั้นก็เก่งเพียงแค่เป็นหมาหมู่รุมหรือเก่งแต่เอาอาวุธมาสู้คนมือเปล่า และก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐหน้าไหนกล้าไปจัดการกับคนขี้ขลาดเหล่านั้น ทั้งๆที่หลักฐานมีอยู่โทนโท่

เราได้อะไรจากการหาวันเวลาที่ผ่านเลย
         เหตุการณ์ในวันที่หกตุลาและเหตุการณ์เดือนพฤษภาไม่ใช่นิทาน แต่สิ่งที่มีเหมือนกันก็คือบทเรียนที่เราเรียนรู้ได้ บทเรียนนี้คืออะไร? เราใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง?
         เรายังไม่สรุปบทเรียนทั้งหมดในตอนนี้แต่จะกล่าวถึงเพียงสองสามประเด็นที่เกี่ยวกับเนื้อหาหลักของเราในเวลานี้
         แรกสุด คนหนุ่มสาวเหล่านั้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน  โชคดีบ้างกว่ากันเนื่องจากตัวแปรที่เกี่ยวข้องเอื้อให้ในการประสบชะตากรรมที่ต่างกัน ทั้งหมดต่างมีสิ่งหนึ่งร่วมกันก็คือการมีโอกาสของการใช้เวลาในชีวิตน้อยกว่าพวกเรา  กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เวลาในชีวิตของพวกเขานั้นหายไปในช่วงที่ยาวทีเดียว เมื่อมองจากแง่อายุขัยของคนๆหนึ่ง
         ประการต่อมา   เด็กสองคนนั้นมีเวลาเสี้ยวหนึ่งให้เขาเข้าไปค้นหาจากความทรงจำเมื่อพวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบันนี้  วันเวลานั้นหลบอยู่ในตัวพวกเขามันไม่หายไปไหน เพียงแต่เขาอาจไม่ไปค้นหามัน
         ประการที่สาม   คนผู้ใหญ่สองคนนั้นที่เป็นผู้เริ่มชราในปัจจุบันมีเวลาเสี้ยวหนึ่งในวันเวลาที่จำความได้แม่นยำเก็บไว้ในตัว มันไม่อาจหายไปไหนเว้นเสียแต่แกล้งไม่จดจำซึ่งก็คือรูปแบบหนึ่งของการหลอกตัวเองถ้ากระทำ  เวลาเช่นนี้ไม่ต้องตามหาก็มักจะกลับมาเยือนเขาเสมอ  สำหรับผู้ใหญ่บางคนนี่กลับเป็นความน่าสะพึงกลัวอันอยากให้เวลาเหล่านั้นหายไป
         ประการที่สี่ ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวันเวลานั้นๆหรือรับรู้เหตุการณ์อื่นอยู่   การตามหาเวลาที่ไม่ใช่ของตนโดยตรงอาจได้พบเวลาของคนอื่นที่หายไป   วันเวลาเช่นนั้นได้นำเราเข้าไปอยู่ในโลกของพวกเขาเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง  ตรงที่นั้นเองเราได้พบว่าสำหรับคนบางคนแล้วเช่นดังหนุ่มสาวเหล่านั้นที่ตายไป   เวลาของเขาที่เราหาพบได้ชักนำเราให้ได้กลับไปชื่นชมกับจิตใจของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง   โลกของพวกเขาเป็นอมตะตลอดไป    ไม่ว่าเวลาส่วนอื่นๆของพวกเขาจะหายไอย่างไร เวลาตรงส่วนนี้ก็ยังคงอยู่ตลอดไปให้เราเข้าไปค้นหา เข้าไปร่วมรับรู้ความรู้สึกนึกคิดอย่างเข้าใจและห่วงใย จึงไม่สำคัญเลยสำหรับวันเวลาที่เขาควรจะมีต่อไป   เพราะความหมายของเขาในเวลาเท่าที่มีอยู่เป็นสิ่งที่มีที่อยู่อันถาวรในทางสังคม มนุษย์นั้นเป็นอมตะได้ในเวลาเช่นนั้น
         สำหรับพวกคนที่กระทำกับพวกเขาเราก็ยังสัมผัสได้ถึงความเป็นอมตะเช่นกัน อมตะในแง่นี้ไม่ได้มากับความอบอุ่นที่นักค้นหาเวลานำพาเอาไปให้  ในวันเวลาที่เราหาพบการปรากฏของพวกเขาก็มีความหมายเพียงเป็นตัวเสริมภาพให้คนหนุ่มสาวที่ถูกพวกเขากระทำได้มีความหมายที่ถาวรนั่นเอง

        ในการตามหาเวลาเช่นนั้นเราก็ได้ค้นพบเช่นกันถึงความหมายของการเป็นมนุษย์ 

(หมายเหตุ-บทความชุดนี้ในตอนต่อๆไปจะตั้งต้นการทำความกระจ่างในข้อถกเถียงเรื่องดังต่อไปนี้ อะไรคือชนชั้นกลาง? กระแสความคิดใดในปัจจุบันที่นำเราไปผิดทาง?  สังคมไทยควรไปทางไหน?)



No comments: