Wednesday, October 2, 2013

อาการป่วยทางสังคมของคนไทย


หมายเหตุ บทความนี้เป็นบทความเก่าที่ผมเขียนลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยไฟแนนเชี่ยล ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน 2536 แต่สิ่งที่ผมนำเสนอยังใช้ได้กับสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีความเชื่อดังที่ผมได้นำมาวิเคราะห์ในบทความนี้อยู่


อาการป่วยทางสังคมของคนไทย
                       บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์  *

         "ด้านจ.พิจิตร ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านเลขที่๑๖๗ ถนนริมน่าน อ.บางมูลนากซึ่งเด็กทารกประหลาดที่ญาติๆตั้งชื่อให้ว่าแม่เนื้อทองพักอยู่ปรากฏว่า  ยังมีชาวบ้านแห่กันไปบูชาขอลาภจากเด็กดังกล่าวเป็นจำนวนมากอยู่เช่นเดิม โดยมีนางเช้า เพชรหมู่ซึ่งเป็นยายคอยอุ้มแม่เนื้อทองอยู่ตลอดเวลา  โดยเมื่อมีใครไปจับต้องแม่เนื้อทองก็จะร้องออกมา  น้ำเสียงบ่งบอกให้ทราบว่าเกิดความเจ็บปวดทุกครั้งไป จากการสังเกตผู้สื่อข่าวพบว่า อาการบวมที่ปากดีขึ้น  คือยุบตัวลงแล้ว พูดได้ว่าอาการดีขึ้นกว่าวันก่อน แต่อย่างไรก็ดี ชาวบ้านก็ยังไม่ยอมถอนตัวออกไปง่ายๆ  ยังคงเฝ้ารอหวังที่จะทำกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อในการให้โชคลาภกันต่อไป" (ไทยรัฐ๒๗ มิ.. ๒๕๓๖)
         "ท่ามกลางเดือนมืด  เกิดสิ่งประหลาดเป็นดวงไฟสว่างโร่พุ่งอย่างรวดเร็วลงมาตกที่ท้ายหมู่บ้านตอนรุ่งเช้าจุดนั้นเป็นหลุมลึก   ชาวบ้านขุดขึ้นมาเป็นวัตถุก้อนโตหนักกว่า๑๐กิโลกรัมมีผิวและสีเหมือนเหล็กไหล ผู้คนแตกตื่นมากราบไหว้กันล้นหลาม" (ไทยรัฐ๒๕ มิ.. ๒๕๓๖) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เพชรบูรณ์

         สังคมไทยในปลายศตวรรษที่ ๒๐ นี้มีภาพของปรากฏการณ์ที่ดูขัดแย้งกันมากมาย เมื่อเราเดินเข้าไปในสำนักงานแต่ละแห่ง    เราอาจพบเครื่องส่งโทรสาร     เครื่องคอมพิวเตอร์ประจำสำนักงาน ซึ่งช่วยการทำงานของเราให้มีความคล่องตัวขึ้น เรารับคลื่นโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อชมการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลนัดสำคัญในเวลาที่ใกล้เคียงกับชาวอเมริกันที่อยู่ข้างสนามกำลังเชียร์บอลกันอยู่   แต่ในบริเวณรั้วสำนักงานเดียวกันเราก็มองผ่านหน้าต่างออกไปเห็นศาลพระพรหมซึ่งมีผู้กำลังจุดธูปเพื่อบนบานขอสิ่งที่ปรารถนาอยู่ นี่คือภาพปกติที่เราพบเห็นในเมือง 
         รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำพิธีบวงสรวงศาลประจำกระทรวงในวันแรกที่เข้าทำงานในกระทรวง  โทรทัศน์รายการพิเศษเนื่องในวันครบรอบปีของการก่อกำเนิดกองทัพรายงานว่า"พระสยามเทวาธิราชย์ทรงให้กองทัพไทยเป็นผู้นำในการป้องกันประเทศ..."  และผู้นำกองทัพก็ต้องการให้รัฐบาลผ่านงบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องบินรบรุ่นล่าสุด  ที่มีศักยภาพในการทำการรบได้สูงแม้ในทัศนวิสัยที่เลวก็ตาม(เพราะไม่มีอาวุธที่มีประสิทธิภาพ ต่อให้พระสยามเทวาธิราชย์ผู้ทรงมหิทธานุภาพอยู่เคียงข้างก็ตาม  คนที่ชอบอ้างอะไรเช่นนั้นก็ยังรู้สึกเสี่ยงอยู่  ด้วยเหตุว่าเวลารบจริงกระสุนไม่มีตาดูว่ามีใครอยู่เคียงข้าง)
         เราจะเห็นได้ว่า   ไม่ว่าในเมืองหรือในชนบทความเชื่อเหล่านี้ไม่ต่างกันเลย  คนเมืองที่อ่านข่าวที่ยกมาในตอนต้นอาจหัวเราะเยาะต่อการกระทำของชาวบ้านเหล่านั้นทั้งที่ปรากฏการณ์แบบเดียวกันก็เกิดอยู่ข้างๆตัวนั่นเอง     คนรุ่นใหม่บางส่วนที่ยังมีศรัทธาในพุทธศาสนาและพยายามประนีประนอมให้เข้ากันกับความเชื่อที่ได้อิทธิพลจากวิทยาศาสตร์ก็มักแสดงความไม่พอใจกับพระเกจิอาจารย์ที่นิยมปลุกเสกเครื่องรางของขลังไว้ขายไว้แจกชาวบ้าน     และแสดงความชื่นชมกับคำสอนของพระภิกษุที่พวกเขาเข้าใจว่า "มีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์เช่น  พระพุทธทาสภิกขุ เป็นต้น และก็มักละเลยไม่นำพาว่าในข้อเขียนของพระพุทธทาสเองก็มีการกล่าวถึงปรากฏการณ์มหัศจรรย์ทำนอง"กระดูก"ของพระพุทธเจ้าลอยเข้ามารวมตัวใหม่เป็นร่างพระพุทธเจ้าแสดงอานุภาพให้ดูก่อนสลายตัวไปอีกครั้งหนึ่ง (ดูหนังสือเรื่องนิพพานของพุทธทาสภิกขุ)
         อะไรคือสาเหตุของปรากฏการณ์ที่ดูขัดแย้งกันนี้? ทำไมสังคมไทยปัจจุบันซึ่งรวดเร็วในการรับเทคโนโลยีล่าสุดอันเป็นผลจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงยังไปกันได้กับความเชื่อในเรื่องสิ่งมหัศจรรย์ที่ขัดกับความคิดพื้นฐานแบบวิทยาศาสตร์? ข้าพเจ้าจะขอเสนอแนวคำอธิบายต่อเรื่องนี้ ความเข้าใจที่ได้จะช่วยให้ผู้ทำงานบริหารประเทศได้เห็นรากเหง้าของปัญหาเพื่อจัดวางแนวทางการพัฒนาประเทศได้อย่างสัมพันธ์กับตัวปัญหาที่แท้จริง  และอย่างน้อยที่สุดผู้อ่านทั่วไปก็จะได้ลองคิดพิจารณาในด้านลึก อันเป็นการตรวจสอบตัวเองแบบหนึ่ง

พื้นฐานที่ไม่ต่าง
         "ต่อมาในวันที่ ๑๗ มิถุนายน พอผู้คนทั้งหลายพากันแห่ไปดูวัตถุประหลาดนี้ก็ปรากฏว่าหายไปแล้ว ถามเจ้าของบ้านนั้นก็ได้รับการปฏิเสธว่าไม่เห็น จนกระทั่งตอนบ่าย  สวป. สภ..หล่มสักจึงได้เดินทางไปพบกับผู้ที่ครอบครองวัตถุอันนี้ได้เจรจาเพื่อที่จะนำส่งให้กับทางอำเภอ เพื่อที่จะได้ส่งเข้าวิจัยว่า มันคืออะไร... แต่ต่อมาตอนหลังก็ยินยอม แต่ว่าวัตถุก้อนนั้นก็ถูกตัดแบ่งเป็น๒ก้อนซะแล้ว..." (ไทยรัฐ๒๕ มิ.. ๒๕๓๖)

         ในที่นี้เราคงเห็นได้ว่ามีคนบางคนได้ประโยชน์จากการครอบครองสิ่งดังกล่าวไว้ การที่มีคนมาบูชาและบนบานต่อก้อนโลหะนี้เป็นช่องทางทำมาหากินของใครบางคนด้วย ตรงนี้บอกเราบางอย่างเกี่ยวกับลักษณะร่วมของปรากฏการณ์แบบนี้ กล่าวคือ
         ประการแรก  การคงความเชื่อดังกล่าวไว้มีบางคนได้ประโยชน์โดยตรง  แน่นอนว่าคนเหล่านี้ย่อมต้องการให้มีการคงความเชื่อแบบนี้ไว้ต่อไป
         ประการที่สอง   คนที่เชื่อและถูกคนบางคนหาประโยชน์จากความเชื่อของเขา ในแง่หนึ่งคนเหล่านั้นมีความหวังที่จะได้บางสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขา ตรงนี้ทำให้แม้รู้ว่ามีคนบางคนอาศัยความเชื่อของตนไปแสวงหาผลประโยชน์ก็ยังคงยอมรับได้ ตราบเท่าที่ยังเหลือความหวังไว้ให้กับพวกเขา 
         ประการที่สาม เราจะเห็นได้ว่าข่าวตามเรื่อง"แม่เนื้อทอง"นั้น   แม่และยายไม่ได้หาประโยชน์จากความเชื่อ ความรักและห่วงลูกหรือหลานนี้แสดงออกเป็นการคาดหวังสภาพที่ดีขึ้นของ"แม่เนื้อทอง" ขณะที่ชาวบ้านอื่นๆแม้อาจสงสารเด็กแต่ก็ยังอยากรักษาความหวังของตนเองให้คงอยู่ต่อไป จึงพากันพร้อมใจมองข้ามความสงสารที่ตนมีต่อเด็กดังกล่าว
         ประการสุดท้าย    ไม่ว่าความเชื่อเช่นนี้ลงท้ายจะนำพาลาภให้มาสนองความอยากของตนหรือไม่ ตัวความหวังนี้เป็นสิ่งที่มีผลต่อการให้กำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป ตรงนี้เองที่ผลของความหวังไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ตัวความหวังเองต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ และคนยอมแลกเอาด้วยการจ่ายเป็นราคาที่แตกต่างกันไปตามสถานะของแต่ละคน

         ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากที่จะเข้าใจเลยว่า   ทำไมคนเมืองที่อาจผ่านระบบการศึกษาหลายสิบปีในชีวิต หรืออยู่ใกล้แหล่งข่าวสารต่างๆจึงยังทำอะไรที่ดู "แปลกๆและไร้เหตุผล" (ตามที่พวกเขาใช้กล่าวหาคนชนบทเหล่านั้นเช่นเดียวกันกับคนชนบทที่พวกเขาพากันหัวเราะเยาะเมื่อได้อ่านข่าวดังกล่าว  เราจะเห็นได้ว่ารูปแบบของการแสดงออกความเชื่อจะเป็นไปตามสภาพที่เอื้อในแต่ละท้องถิ่น     ทั้งนี้อิงกับของบางอย่างที่ตกทอดมาเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ  ความเชื่อเหล่านี้มีที่มาอยู่บนฐานของการต้องการความหวังในชีวิต และจำนวนหนึ่งในนั้นได้รวมเอาการหาประโยชน์จากความหวังของคนอื่นด้วย
         ในแง่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็เพราะได้เห็นกันว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยในการทำให้ความหวังของตนเองเป็นจริงได้ การรับเทคโนโลยีมาใช้ไม่ว่าเทคโนโลยีนั้นๆจะถูกสร้างขึ้นมาจากฐานของความคิดแบบใดและขัดกับความเชื่อที่รับมาในวัฒนธรรมของตนหรือไม่ จึงยังทำต่อไปได้โดยไม่รู้สึกขัดแย้งมากนัก เพราะจุดหลักตรงนี้คือต่างก็เป็นสิ่งที่ให้ความหวังของตนมีอยู่ได้อย่างต่อเนื่องต่อไป (ตัวเนื้อหาของความหวังอาจเปลี่ยนไปก็ได้ ตรงนี้ไม่ขัดแย้งกับที่กล่าวมา) ที่คือลักษณะทางจิตวิทยาของคนในสังคม

ปรากฏการณ์ก็คืออาการของโรค
         เวลาที่คนเราเจ็บป่วย  เราย่อมแสวงหาทางรักษาตนเอง  แต่ในบางครั้งถ้าเรารู้ว่าการรักษานั้นไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะแสวงหามา หรือทำได้ภายใต้วงที่จำกัด หรืออาจไม่เห็นหนทาง คนเราก็ยังมักไม่สิ้นหวังแต่จักพยายามหาสิ่งหนึ่งใดมาทดแทนการรักษา หรือเยียวยาไปตามแต่ที่จะทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่จริง  ความป่วยไข้ของสังคมก็เช่นกัน คนในแต่ละส่วนสังคมนั้นๆต่างก็ดิ้นรนไปตามวิสัยที่ตนคิดว่าตนทำได้ หรือที่ทำได้จริง ความจริงนี้บอกเราว่า คนในสังคมไทยนั้นไม่ต่างกันมากนักในแง่การมีปัญหาที่พื้นฐานเดียวกัน และในบางครั้ง ระหว่างคนป่วยด้วยกันก็อาจเป็นความเคยชินจนเข้าใจว่าตนไม่ป่วย 
         ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในดินแดนแห่งนี้  ผู้คนมีความหวังเป็นสิ่งเหนี่ยวนำการใช้ชีวิตยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ปรากฏการณ์ที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในการรับรู้ของเรามานานแล้ว ในรัฐที่การเป็นพลเมืองมีความหมายเป็นเพียงการเป็นหญ้าแพรกที่พึง"รู้รักษาตัวรอด  เป็นยอดดี"   ผู้คนมีแนวโน้มอยู่กับความหวังมากกว่าอยู่กับความเป็นจริง ทำไม?   เราจะเห็นได้ว่าในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางสังคมเรื่องใดๆที่มีความแปลกไปจากปกติล้วนเป็นสิ่งให้ความหมายในเชิงให้ความหวังได้ทั้งนั้น เช่น การพบเห็นต้นไม้หรือสัตว์ที่มีลักษณะผิดปกติไป เป็นต้น  กลุ่มคนที่มีโอกาสทางสังคมสูงกว่า อาจมีระดับการแสดงออกที่ซับซ้อนขึ้น  เพราะความหวังในแง่การได้ปัจจัยสี่มักได้รับการสนองตอบได้ง่ายกว่า การศึกษาบนฐานของแนวคิดที่ตั้งเป้าค้นหาความจริง (ไม่ว่าจะมีให้ค้นหาหรือไม่เข้ามาคัดง้างกับการแสดงออกในแบบง่ายๆข้างต้น    แต่เขาเหล่านี้ก็ยังต้องการความมั่นใจในความคงทนถาวรของสภาพที่มีอยู่เมื่อไปเทียบกับกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางสังคมกว่าตน 
         ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่มีความหมายและเป็นตัวนำพาผู้ที่ปรารถนาเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้เข้าไปพิจารณาให้เห็นสิ่งที่อยู่หลังตัวปรากฏการณ์ ความป่วยไข้ของคนในสังคมไทยไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็นสิ่งที่เกิดในความสัมพันธ์ทางสังคม ฐานจริงๆอยู่ตรงที่สภาพการณ์ของการเอื้อให้คนมุ่งไขว่คว้าหาสิ่งที่ให้ความหวังได้แบบต่างๆ   ระบบการเมืองการจัดการทางสังคมเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้คนดิ้นรนในแบบใด  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะข้างต้นจึงมีรากเง่าอยู่ในโครงสร้างดังกล่าวด้วย อาการของความป่วยไข้ทางสังคมที่สะท้อนผ่านตัวบุคคลในปรากฏการณ์จึงเป็นอาการโดยตรงของโครงสร้างทางสังคมนั้นๆนั่นเอง 
         ตรงนี้เองที่ทุกครั้งเราหัวเราะเยาะใส่พฤติกรรมของส่วนดังกล่าวของสังคมไทย จึงเป็นการหัวเราะเยาะสังคมไทยด้วย 

วิธีการหนึ่งในการเยียวยาสังคมไทย
         ในท่ามกลางการเคลื่อนของเวลาเข้าสู่ศตวรรษใหม่ เป็นหน้าที่ของใครก็ตามที่อาสาเข้ามารับบทบาทของการเป็นผู้บริหารประเทศที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ เขาเหล่านั้นไม่ได้มีหน้าที่เพียงการจัดการเฉพาะหน้าเพื่อแก้ปัญหาที่ตัวปรากฏการณ์เป็นเรื่องๆไป แต่มีหน้าที่มองให้เห็นปัญหาที่ลึกลงไปกว่าระดับปรากฏการณ์  เพื่อจักได้แก้ไขที่ตรงจุดรากเหง้าของตัวปัญหา   การรู้จักสังเกตปรากฏการณ์ในเชิงวัฒนธรรมจักช่วยในการวินิจฉัยโรคที่แท้จริง  การเป็นรัฐบุรุษของนักการเมืองคนหนึ่งใดดูได้ในแง่หนึ่งที่ตรงนี้  มากกว่าเป็นนักแก้ปัญหาระดับผิว หรือที่แย่ยิ่งกว่าก็คือเป็นเพียงนักขายฝันทางสังคม
         สำหรับประชาชนแล้ว  การอยู่กับความหวังและเฝ้าหวังไปไม่สิ้นสุดในแง่หนึ่งก็คือการหลอกตนเอง แม้กระทั่งการไปฝากความหวังกับตัวผู้บริหารประเทศก็ตาม เรานั้นไม่ใช่หญ้าแพรกที่ต้องคอย"รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี"  ยุคสมัยเช่นนั้นกำลังผ่านพ้นไป แต่เราคือหนามแหลมที่ช้างสารชนกันไม่ระวังมาเหยียบโดนเข้าก็จักเจ็บไป   สิ่งนี้คือสิ่งที่เราต้องคอยย้ำเตือนตนเสมอ  ในระบอบประชาธิปไตยนั้น   ประชาชนอย่างเราๆนี่แหละคือความหมายและความหวังของสังคมไทย  ผู้ที่จักเยียวยาสังคมให้หายป่วยได้จึงไม่ได้อยู่ห่างไกลที่ไหน ตอนที่เราเปลี่ยนไป โครงสร้างเองก็เปลี่ยนตาม.




*  ผู้เขียนบทความเป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  บทความนี้ลงพิมพ์ใน ไทยไฟแนนเชี่ยล๓๐ มิ.. ๒๕๓๖

No comments: