Thursday, October 3, 2013

มาร์กซิสม์ในศตวรรษที่ 21


หมายเหตุ บทบรรณาธิการนี้ผมเขียนลงในวารสารอักษรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่  26 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2546-พฤษภาคม 2547) ฉบับมาร์กซิสม์ในศตวรรษที่ 21    



บทบรรณาธิการ
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์




ปีศาจตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป- ปีศาจแห่งคอมมิวนิสต์  บรรดากลุ่มอำนาจแห่งยุโรปเก่าทั้งหมดได้จับมือกันเป็นพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อขับไล่ปีศาจตนนี้…”[1]

              นี่คือประโยคแรกของข้อเขียนอันลือลั่นของคาร์ล มาร์กซ์  ในหนังสือเรื่องแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์  ตลอดศตวรรษที่ 20 ปีศาจตนนี้ได้หลอกหลอนกลุ่มอำนาจเก่าไปทั่วโลก    ไม่มีใครจะสามารถปฏิเสธอิทธิพลและความสำคัญของความคิดของมาร์กซ์ที่มีต่อการเคลื่อนไหวของกระแสมาร์กซิสม์ทั้งในทางวิชาการและทางปฏิบัติในการเคลื่อนไหวทางสังคม  ในแง่ของการเมือง การเกิดรัฐสังคมนิยมขึ้นมากมายในแนวทางแบบมาร์กซิสต์หลังการเกิดสหภาพโซเวียตเป็นต้นมา  ได้สร้างทางเลือกของระบบเศรษฐกิจสังคมที่เป็นคู่แข่งกับระบบทุนนิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นรูปธรรม  จนประเทศในแนวทางทุนนิยมบางส่วนต้องปรับตัวเป็นรัฐสวัสดิการ เพื่อสลายการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพให้เหลือแค่เป็นเพียงการปฏิรูปทางสังคม  
              ในปัจจุบัน แม้ว่าสหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปแล้วก็ตาม รวมทั้งประเทศสังคมนิยมจำนวนมาก และประเทศสังคมนิยมที่เหลือต่างก็เริ่มปรับตัวเข้ากับแนวทางของระบบทุนนิยม  แต่กระนั้นความคิดของมาร์กซ์ก็ยังคงมีอิทธิพลทั้งต่อวงวิชาการในแง่เครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์สังคมทุนนิยม และต่อการสร้างแรงดลใจและการให้แนวทางในการเคลื่อนไหวทางสังคมในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วโลกในการต่อต้านการขยายตัวครอบโลกของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ 

              วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับนี้ เป็นฉบับมาร์กซิสม์ในศตวรรษที่ 21   ในส่วนของบทความประจำฉบับนั้น ในส่วนแรกจะประกอบด้วยบทความและบทความแปล โดยมุ่งนำเสนอการถกเถียงในประเด็นความสำคัญของมาร์กซิสม์ในปัจจุบัน ตลอดจนแนวทางของมาร์กซิสต์ในการต่อสู้ทางการเมืองในโลกปัจจุบัน 

              บทความของใจ อึ๊งภากรณ์ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์สายตรอทสกีในยุคปัจจุบัน  ว่าเป็นแนวทางมาร์กซิสต์ตัวแบบที่พยายามสร้างสังคมนิยมจากเบื้องล่าง  ที่มุ่งลดบทบาทสำคัญของชนชั้นนำและการชี้นำจากพรรคลงไป อันเป็นแนวทางที่แตกต่างจากสังคมนิยมแบบจัดให้หรือจากเบื้องบน เช่นที่ปรากฏในรัฐและพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา   โดยเฉพาะแนวทางแบบของสตาลินและเหมาเจ๋อตง ซึ่งกลายเป็นการสร้างระบบเผด็จการที่สร้างปัญหาในทางสังคมและการเมืองไว้มากมาย      ในบทความนี้ ใจแสดงให้เห็นว่าแนวคิดสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์สายตรอทสกีสามารถช่วยเหลือเราให้มีทางออกจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในยุคปัจจุบันได้อย่างไร และทำไมกระแสความคิดนี้จะได้รับการตอบรับในหมู่นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพทั่วโลกในปัจจุบัน
              อันโตนิโอ กรัมชี่ เป็นมาร์กซิสต์คนสำคัญคนหนึ่งซึ่งได้รับการยกย่องว่าอาจจะเป็นมาร์กซิสต์ที่มีความคิดแรกเริ่มมากที่สุดผู้หนึ่งในศตวรรษที่ 20[2]   ความคิดเรื่องการช่วงชิงการนำทางความคิดจิตใจ (Hegemony) ที่กรัมชี่นำเสนอไว้[3]ได้มีอิทธิพลทั้งต่อการวิเคราะห์สังคมของนักวิชาการทางสังคมศาสตร์และการเคลื่อนไหวทางสังคมของขบวนการทางสังคมในปัจจุบัน  มนุษย์คืออะไร? (What Is Man)  ซึ่งแปลโดยเอมอร นิรัญราช จัดเป็นข้อเขียนชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของกรัมชี่ ที่ช่วยให้เราเข้าใจความคิดของกรัมชี่ได้ลึกซึ้งขึ้น

              ผู้ที่คุ้นเคยกับวงการปรัชญาโลกอย่างแท้จริง ย่อมตระหนักถึงความสำคัญของความคิดที่ผ่านข้อเขียนของริชาร์ด รอร์ตี  นักปรัชญาร่วมสมัยผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง    สำหรับบทความซึ่งแปลโดยบุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ชิ้นนี้  รอร์ตีได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหนังสือแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto ) ว่า แม้จะเป็นหนังสือที่ให้คำทำนายที่ล้มเหลว กล่าวคือ ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ว่าจะเกิดการปฏิวัติของชนชั้นผู้ใช้แรงงานที่ลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มระบบทุนนิยม และเปลี่ยนแปลงระบบสังคมไปสู่ระบบคอมมิวนิสต์ในท้ายที่สุด  แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังเป็นมรดกโลกอันทรงคุณค่ายิ่งเช่นเดียวกับคัมภีร์ไบเบิลใหม่  ที่ควรให้ลูกหลานของเรา[4]ได้อ่าน  เพราะเป็นหนังสือที่สร้างแรงดลใจสำคัญ ทำให้เราเกิดความหวังอันประเสริฐ ในการที่จะรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และต่อสู้เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความยุติธรรมทางสังคม  หนังสือแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ยังเหนือกว่าคัมภีร์ไบเบิลใหม่  เพราะให้ความสำคัญกับการสร้างโลกอุดมคติที่อยู่ในโลกนี้  โลกที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้รับความห่วงใยใส่ใจอย่างเช่นที่เรามีต่อญาติมิตรของเรา  แทนที่จะไปคาดหวังเลื่อนลอยกับชีวิตที่ดีกว่าในโลกหน้า (เมื่อพระเจ้ามารับเราไปอยู่ด้วยในสรวงสวรรค์ ณ วันตัดสิน
              บทความนี้จัดได้ว่าเป็นตัวอย่างของการวิพากษ์กระแสมาร์กซิสม์จากกระแสความคิดแบบหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ที่มักถูกเข้าใจผิดจากผู้ที่ไม่ได้อ่านงานเหล่านี้อย่างเอาจริงเอาจังว่าไม่มีข้อเสนอทางสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รวมทั้งการนำเสนอโครงการทางสังคมเพื่อต่อสู้กับระบบที่ดำรงอยู่  ยิ่งกว่านั้น บทความนี้ได้ชี้ให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึงอิทธิพลและความสำคัญของความคิดของมาร์กซ์ว่ายังคงมีความหมายต่อเรามากเพียงไรในโลกยุคปัจจุบัน อันเราไม่ควรละเลยหรือไม่ใส่ใจ

              ในสังคมศาสตร์นั้น  วิวาทะเรื่องโครงสร้างกับปัจเจกบุคคลตัวแทน (Structure – Agency) เป็นวิวาทะสำคัญที่นำไปสู่แนวทางการศึกษาทางสังคมศาสตร์ที่แตกต่างกันสองแนวทางใหญ่  กล่าวคือ แนวทางวิธีการวิทยาแบบเน้นองค์รวม (Holism) กับแนวทางวิธีการวิทยาแบบเน้นปัจเจก (Methodological Individualism)     ในส่วนของสายมาร์กซิสต์นั้น  แนวทางการวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) ที่ผ่านการนำเสนอโดยสำนักมาร์กซิสต์ฝรั่งเศสที่นำโดยลุยส์ อัลธูสแซร์ (Louis Althusser) นับเป็นแนวทางสำคัญแนวทางหนึ่ง[5] ที่มีอิทธิพลต่อกระแสมาร์กซิสต์ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20   วิวาทะโครงสร้าง/ปัจเจกได้รับการมองจากนักคิดอีกกลุ่มหนึ่งในปัจจุบันว่าเป็นวิวาทะที่อิงลักษณะแบบทวิลักษณ์นิยม (Dualism) ซึ่งในตัวมันเองเป็นปัญหา นักคิดสำคัญในกระแสหลังโครงสร้างนิยม (Poststructuralism)[6] บางคนเช่นมิเชล ฟูโก (Michel Foucault) พยายามที่จะก้าวข้ามให้พ้นสิ่งที่เป็นข้อจำกัดของทวิลักษณ์นิยมดังเช่นการแบ่งเป็นมหภาค/จุลภาค  ปัจเจกผู้กระทำการ/โครงสร้าง เป็นต้น  บทความของเชษฐา พวงหัตถ์นำเสนอประเด็นการวิวาทะเรื่องโครงสร้าง/ปัจเจกผู้กระทำการ  และการหาทางออกให้กับปัญหาทวิลักษณ์นิยม  โดยชี้ให้เห็นว่ากระแสความคิดแบบมาร์กซิสต์มีปัญหาอย่างไรในแง่นี้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผ่านความคิดของอัลธูสแซร์ [7]  เชษฐาเสนอว่าฟูโกได้พยายามก้าวข้ามพ้นปัญหานี้   โดยการหันมาวิเคราะห์ปฏิบัติการทางสังคม ระดับกลางแทน   โดยให้ความสำคัญกับสังคมที่มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นและเป็นกลุ่มย่อย ๆ   และชี้ให้เห็นว่าทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจซึ่งเป็นความสัมพันธ์พื้นฐานได้อย่างไร   บทความนี้เปิดประเด็นถกเถียงให้กับทั้งผู้สนใจความคิดในสายมาร์กซิสต์และผู้สนใจรากฐานของสังคมศาสตร์โดยทั่วไป

              บทความประจำฉบับในส่วนที่สอง จะเป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับความคิดและบทบาทของการเคลื่อนไหวของมาร์กซิสต์ไทยบางสาย คือสายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมุ่งสรุปบทเรียนทางประวัติศาสตร์
              กล่าวได้ว่า  การกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางของขบวนการปัญญาชน และนำมาสู่การจัดตั้งของประชาชนระดับล่างอย่างมากมายและกว้างขวางที่สุด อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย  และเป็นครั้งแรกที่สังคมไทยมีองค์กรทางการเมืองลักษณะเช่นนี้    พคท.ยังเคยกระทั่งเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกฎหมายในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  โดยมีส..ในนามพรรคอยู่ในรัฐสภา    ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา  พคท.ได้แสดงบทบาทสำคัญในฐานะพรรคการเมืองทางเลือกอย่างแท้จริง และในการต่อสู้ในระยะที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนทางการเมืองต่อรัฐไทยสมัยใหม่อย่างยิ่ง  ในฐานะที่เป็นองค์กรทางการเมืองทวนกระแส ที่ต่อต้านอำนาจรัฐของไทยที่เข้มแข็งที่สุด  ในแง่นี้ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ดำเนินบทบาทในฐานะผู้รักชาติไทยที่พยายามสร้างรัฐไทยในรูปแบบที่แตกต่างไปจากรัฐบาลไทยในขณะนั้น ๆ  โดยให้ความสำคัญแรกสุดกับการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางสังคมและความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งรัฐบาลไทยในขณะนั้นกลับละเลยหรือเป็นตัวการในการสร้างความไม่เสมอภาคและความอยุติธรรมทางสังคมเอง  นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของพคท.ยังสร้างผลสะเทือนให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองจนมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ตลอดจนมีการเร่งรัดพัฒนาในลักษณะต่าง ๆ ในชนบทโดยภาครัฐในสงครามช่วงชิง มวลชน”    บทความของสุธาชัย  ยิ้มประเสริฐ  ได้สรุปบทเรียนที่เราเรียนรู้ได้จากการดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไว้อย่างแจ่มชัดและน่าสนใจยิ่ง
              “มติการประชุมคณะกรรมการกลาง พคท. ชุดที่ 3 ครั้งที่ 4” หรือ มติปี 19”  ซึ่งเป็นเอกสารสรุปผลของการประชุมคณะกรรมการกลางฯ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  เป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งที่ถูกละเลยจากผู้ที่เขียนงานเกี่ยวกับพคท.ในปัจจุบัน นอกจากเป็นการกำหนดแนวทางให้สมาชิกพรรคปฏิบัติการ มติดังกล่าวนี้ยังให้เนื้อหาซึ่งพคท.ใช้ในการจัดการศึกษาให้กับผู้นำนักศึกษาและปัญญาชนเกือบทุกคนที่เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพคท. หลังกรณี 6 ตุลาคม 2519   บทความของธิกานต์ ศรีนารา  ได้นำเสนอให้เห็นถึงความสำคัญของมติดังกล่าวที่เกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวของพคท. ในต้นทศวรรษ 2520 อย่างลึกซึ้ง  ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงระยะเวลาสำคัญช่วงหนึ่งก่อนจะไปถึงช่วงของการล่มสลายของพคท.ในเวลาต่อมา 

         ในส่วนของบทความพิเศษนั้นมีสองบทความ    บทความของบาหยัน อิ่มสำราญ  ได้แสดงถึงความสำคัญของนวนิยายผู้อยู่เหนือเงื่อนไข  ซึ่งสุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่และนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพและสันติภาพในอดีตเป็นผู้เขียน  หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ซึ่งใช้ฉากเหตุการณ์จลาจลปลายสมัยกรุงธนบุรี  และอิงเรื่องเล่าขานที่ว่าพระเจ้าตากสินได้หลบหนีไปลี้ภัยทางภาคใต้เป็นแนวดำเนินเรื่อง สุภาได้ผูกเรื่องให้พระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับคำสั่งสอนจากคณะผู้ช่วยเหลือ โดยนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจในทางที่ถูกต้องเป็นธรรม และการปฏิบัติตนที่ไม่ทำตัวให้มีสถานะแบบเหนือมนุษย์  นวนิยายเรื่องนี้จึงจัดได้ว่าเป็นวรรณกรรมคำสอนพระราชานอกกระแสจารีต  อันแตกต่างไปจากวรรณกรรมในแนวนี้เล่มอื่น ๆ 
              บทความของสุริยันต์ ปันเลห์  เป็นการศึกษาถึงตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดเสียงสระนาสิกในภาษาอีสาน อันเป็นลักษณะเด่นของเสียงของภาษาท้องถิ่นอีสาน  สุริยันต์ชี้ว่าเสียงสระนาสิกเหล่านี้เกิดขึ้นเองโดยปราศจากอิทธิพลของพยัญชนะนาสิก  โดยตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยเรื่องระดับของลิ้น และความสั้นยาวของสระ  รวมทั้งการใช้พยัญชนะในกลุ่มเสียงกัก และเสียงเสียดแทรก  ความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจลักษณะของภาษาท้องถิ่นอีสานได้กระจ่างขึ้น

              จำนวนผู้ใช้แรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายนับจากยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19  ภายใต้สภาพชีวิตที่ยากลำบากด้วยค่าแรงราคาถูก โดยไร้สวัสดิการ รวมทั้งการมีสภาพแวดล้อมที่ทำงานที่ทำลายสุขภาพ  ได้ทำให้เกิดแนวคิดสังคมนิยมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย  รวมถึงสายมาร์กซิสม์  การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานและปัญญาชนที่ก้าวหน้านำไปสู่การปฏิรูปทางสังคม ทั้งในแง่ของการได้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น การมีกะงานที่เหมาะสม ระบบสวัสดิการที่ดีขึ้น สภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ดีขึ้น รวมถึงสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน สิทธิในการหยุดงานประท้วงเพื่อต่อรองผลประโยชน์   สภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ใช้แรงงานในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกนี้ได้มาโดยการเคลื่อนไหวต่อสู้ซึ่งถูกชี้นำโดยแนวคิดสังคมนิยม  ผลจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ดังกล่าวซึ่งมีผู้เสียสละชีวิตไปมากมายได้ทำให้สังคมโดยรวมมีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีขึ้น มีการเพิ่มเสรีภาพและสิทธิทางการเมืองพื้นฐานของพลเมืองทั่วไป  นี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธ
              การเกิดรัฐสังคมนิยมขึ้น ทำให้โลกทุนนิยมต้องเร่งการปฏิรูปทางสังคมเพื่อลดการท้าทายจากภายใน ในทุกวันนี้ คนงานในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในยุโรป มีระบบสวัสดิการที่ดีจนกระทั่งความคิดที่จะปฏิวัติสังคมแทบจะหมดไป  แต่คนงานในประเทศโลกที่สามยังคงเผชิญสภาพความทุกข์ยากและการขาดสวัสดิการที่เพียงพออยู่    โลกในยุคปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมยังคงดำรงอยู่  มีช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่างประเทศรวยและประเทศจน  ระหว่างคนรวยล้นเหลือกับคนยากไร้จนตรอกในประเทศยากจน และกระทั่งในประเทศร่ำรวยเองเช่นสหรัฐอเมริกา   ในยุคที่ระบบการผลิตของมนุษย์มีศักยภาพทำการผลิตอาหารได้ล้นเหลือ ยังคงมีเด็กทารกแรกเกิดที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่นานก็ต้องอดตายดังที่เกิดในประเทศแถบแอฟริกา ยังมีคนยากไร้ไม่มีที่อยู่ ไม่มีสวัสดิการชีวิตอยู่ทั่วโลก รวมถึงในบ้านเรา  ขณะที่คนกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุดในโลก (รวมถึงบางคนในบ้านเรา) ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มคนจำนวนน้อยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีเท่ากับรายได้ของประชากรในประเทศโลกที่สามร่วมเกือบสามสิบประเทศ  ระบบทุนนิยมไม่ได้ให้ประกันการแก้ปัญหานี้  และเราไม่ควรคาดหวังด้วยซ้ำไป เพราะหัวใจของระบบทุนนิยมคือการดำเนินการผลิตและการแสวงหากำไรเพื่อสั่งสมทุน ต่อยอดทุน   ทุนนิยมเป็นระบบที่ดำรงอยู่บนการยอมรับว่าปลาใหญ่กินปลาเล็กและผู้ที่เข้มแข็งกว่า (มีทุนและสินทรัพย์มากกว่า) เท่านั้นที่อยู่รอดเป็นสัจธรรม   เสรีภาพและความเสมอภาค ตลอดจนความยุติธรรมทางสังคมจึงไม่ใช่เป้าหมายโดยแท้จริงของระบบทุนนิยม  “ทุนนิยมที่มีความเห็นอกเห็นใจ (Compassionate Capitalism)” ดังเช่นที่นายกฯ ทักษิณอ้างอิงถึง จึงเป็นคำที่ขัดแย้งในตัวเองอย่างชัดเจน และถ้าไม่ใช่เป็นเพราะความอ่อนด้อยทางวิชาการจนวิเคราะห์ไม่แตกก็เป็นได้เพียงแค่การล่อหลอกให้คนส่วนใหญ่หลงกลเพื่อให้ถูกใช้แสวงหาประโยชน์ต่อไปบนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
              เราจึงกล่าวได้ว่า ตราบเท่าที่คำถามที่ว่า  ทำอย่างไร เราจึงจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมได้ ยังเป็นคำถามที่มีความหมายและเป็นคำถามหลัก  ตราบนั้น ความคิดทางสังคมนิยมต่าง ๆ   โดยเฉพาะสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์  ก็จะยังคงมีอิทธิพลและสร้างแรงดลใจต่อเราเสมอในการต่อสู้เพื่อโลกที่ดีขึ้น ที่ความเป็นธรรมและประชาธิปไตยได้กลายเป็นโครงสร้างทางสังคมอย่างแท้จริง
              ในแง่ของวิชาการ สังคมศาสตร์ที่อ้างว่าปลอดคุณค่าตัดสินนั้นเป็นเพียงการโกหกคำโตเท่านั้น ความคิดทางสังคมศาสตร์แต่ละสกุลล้วนอิงพื้นฐานการยอมรับความสัมพันธ์ทางสังคมบางรูปแบบ ซึ่งสะท้อนถึงคุณค่าพื้นฐานที่นักสังคมศาสตร์ในแนวนั้น ๆ ยึดถือ  สิ่งที่สำคัญกว่าจึงไม่ใช่ความพยายามทำให้สังคมศาสตร์ปลอดจากการอิงการตัดสินคุณค่า แต่เป็นความพยายามสร้างสังคมศาสตร์แบบที่มุ่งอธิบายและแสวงหาหนทางการปลดปล่อยมนุษย์จากสถานการณ์ที่ครอบงำและกดขี่มนุษย์  สังคมศาสตร์ที่เผยให้เราเห็นและช่วยให้เราพยายามเอาชนะสถานการณ์ที่จำกัดเสรีภาพมนุษย์ได้  เราต้องการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไปพ้นระบบทุนนิยมร่วมสมัย และการสร้างสังคมที่มีโครงสร้างพื้นฐานบนความความเห็นพ้องอย่างเป็นประชาธิปไตยที่มีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์โดยรวมของคนทั้งสังคม   วิสัยทัศน์และนโยบายเกี่ยวกับสังคมในอนาคตควรมุ่งไปในทิศทางเช่นนี้



[1] ใน Marx, Karl, and Frederick Engels. 1974 [1848]. Manifesto of the communist party. In Karl Marx: The revolutions of 1848. Political writing volume 1, David Fernbach, ed. Pp. 62-98. New York: Vintage Books. สามารถดาวน์โหลดข้อเขียนชิ้นนี้ได้เช่นกันจาก www.omhros.gr/Kat/History/Mod/Th/CommunistManifesto.htm 

[2] คำของเดวิด แม็คเลนแลน ใน McLellan, David. 1983. Karl Marx: The legacy. London: British Broadcasting Corporation.

[3] การสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างชนชั้นเพื่อครองอำนาจทางการเมืองสาธารณะเหนือสังคมโดยรวม  โดยดำเนินการสร้างพันธมิตรในแบบที่มีชนชั้นนำชนชั้นหนึ่งแสดงบทบาทนำเหนือชนชั้นอื่น และให้ประกันต่อการที่ชนชั้นอื่นที่เหลือที่มาเป็นพันธมิตรด้วยจะได้ประโยชน์ตอบกลับ 

[4] ในที่นี้รอร์ตีหมายถึงคนอเมริกันในสังคมอเมริกา ซึ่งเสพทรัพยากรล้นเหลือ โดยดูดซับทรัพยากรมาปรนเปรอจากทั่วโลก  แต่ เราในที่นี้ก็อาจขยายให้คลุมถึงกลุ่มชนอื่น ๆ ทั่วโลก พวกที่มีทรัพยากรล้นเหลือให้เสพได้เช่นกัน  รวมถึงประดาชนชั้นกลางทั่วโลกที่เป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากทุนนิยมโลกาภิวัตน์

[5] กระแสมาร์กซิสต์ปัจจุบันที่เน้นวิธีการวิทยาแบบเน้นปัจเจก ได้แก่ กลุ่ม Analytic Marxian  ซึ่งแตกต่างไปจากแนวทางของมาร์กซิสต์ส่วนใหญ่ที่มักเน้นองค์รวม

[6] ความคิดหลังโครงสร้างนิยมมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกระแสความคิดที่ทิ้งความคิดแบบโครงสร้างนิยม  ที่จริง หลัง-“ ในที่นี้หมายถึงการปรับแก้ความคิดบนฐานของโครงสร้างนิยม โดยที่มโนทัศน์หลัก ๆ ของโครงสร้างนิยมยังถูกใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์อยู่ เช่น สัญญะหรือตัวหมายชี้ (Signifier)  สิ่งที่ถูกชี้ถึง (Signified)  ความคิดหลังโครงสร้างนิยมจะปฏิเสธการมีตัวสิ่งที่ถูกชี้ถึงที่แท้จริงที่ใช้เป็นตัวตัดสินความถูกต้องในการตีความสัญญะในเรื่องนั้น ๆ  และแสดงให้เห็นถึงการกลับบทบาทกันได้ระหว่างสัญญะกับสิ่งที่ถูกชี้ถึง รวมทั้งการเลื่อนไหลทางความหมายของสัญญะและสิ่งที่ถูกชี้ถึง

[7] แม้ว่างานเขียนของฟูโกส่วนใหญ่จะถูกมองว่าเป็นการตอบโต้และถึงขั้นปฏิเสธแนวคิดมาร์กซิสม์  แต่ฟูโกเองก็ตอบไว้ชัดว่า “…ในปัจจุบันได้กลายเป็นกระแสนิยมไปแล้วที่จะผลักไสให้มาร์กซ์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับค่ายกักกันคุมขังมนุษย์ในยุคสมัยของเรา  ผมน่าจะได้ใบประกาศของการเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดประเภทของการวิพากษ์แบบนั้น  แต่นี่เป็นเรื่องที่ผิดพลาดโดยบริบูรณ์ กล่าวคือ ผมต้องการจำกัดขอบเขตของข้อสังเกตการณ์ของผมต่อความคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์เท่านั้น ผมไม่เคยพูดถึงมาร์กซิสม์และหากเคยใช้ศัพท์คำนี้ผมก็ใช้แค่เพื่ออ้างถึงประวัติศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์การเมือง  และขอบอกความจริงเลยว่า ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องงี่เง่าที่จะสนับสนุนเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์  กล่าวคือ เพราะว่ามโนทัศน์พื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์และกฎเกณฑ์ทั่วไปของวาทกรรมของเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว เป็นลักษณะของการก่อรูปทางวาทกรรมประเภทที่เกิดขึ้นโดยแรกสุดในช่วงยุคของริคาร์โด (Ricardo)  อย่างไรก็ตาม เป็นตัวมาร์กซ์เองที่ยืนยันว่าความคิดทางเศรษศาสตร์การเมืองของเขาโดยตัวหลักการพื้นฐานนั้นเป็นหนึ้ความคิดกับดาวิด ริคาร์โด (ฟูโก ใน Foucault, Michel. 1991[1981]. Remarks on Marx. Conversations with Duccio Trombadori. New York: Semiotext(e).)  




No comments: