Tuesday, October 8, 2013

20 ปี 14 ตุลา (ตอนที่ 2): วิวาทะเรื่องชนชั้นกลางคืออะไร


หมายเหตุ บทความนี้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยไฟแนนเชี่ยล ฉบับวันที่ ๑๙ ต.. ๒๕๓๖

“การดำรงอยู่ทางชนชั้นไม่ได้เป็นตัวชี้ว่าชนชั้นนั้นๆต้องมีการปฏิบัติการณ์ในรูปเดียวกันหรืออยู่ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน”

             ๒๐ปี ๑๔ ตุลา (ตอนที่๒): วิวาทะเรื่องชนชั้นกลางคืออะไร
                        บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์

         นักเรียนนักศึกษาและประชาชนร่วมแสนที่เดินขบวนไปชุมนุมกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงวันที่   ๑๓  ตุลาคม  ๒๕๑๖ เพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลจอมพลถนอมให้ปล่อยตัวคณะผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ๑๓คนที่ถูกตำรวจจับตัวไว้และให้รัฐบาลเร่งรัดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนตุลาปี ๒๕๑๗ คนเหล่านี้เป็นใครกัน? อยู่ร่วมชนชั้นเดียวกันใช่ไหม? ใช่หรือไม่ที่พวกเขาคือชนชั้นกลาง? ยิ่งกว่านั้นคำว่า "ชนชั้นกลาง" เป็นคำที่มีความหมายหรือไม่? ชนชั้นกลางคืออะไร?
         เช่นเดียวกันคนร่วมแสนที่ชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวงก่อนจะเคลื่อนตัวไปตามถนนราชดำเนินผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนไปถูกหยุดด้วยตำรวจที่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าในตอนค่ำของคืนวันที่ ๑๗  พฤษภาคม ๒๕๓๕ พวกเขาเป็นใครกัน? ใช่กลุ่มชนที่มีการเรียกขานกันว่า "ชนชั้นกลาง" ใช่หรือไม่? ชนชั้นกลางคืออะไร?
         ในร่างเอกสาร "ข้อเสนอจัดงานเฉลิมฉลอง ๒๐ ปี ๑๔ ตุลาคม" ของคณะผู้ประสานงานฯ ดังกล่าวในหน้าแรกได้เขียนถึงกรณีเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาไว้ว่า "เป็นครั้งแรกที่ประชาชนไทย   อันมีเยาวชนนักเรียนนิสิตนักศึกษาเป็นหัวหอก  สามารถโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารของกลุ่มจอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร อันทรงพลัง ซึ่งไม่เพียงทำให้การเมืองไทยในช่วง ๓ ปีต่อมาเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างสมบูรณ์เท่านั้น   หากเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมแบบแบ่งยุคแบ่งสมัยอีกครั้งหนึ่งอีกด้วย  กล่าวคือ  เปิดทางให้กับการเคลื่อนไหวรักชาติรักประชาธิปไตยอย่างขนานใหญ่ ประชาชนชั้นล่างและคนชั้นกลางขึ้นสู่เวทีการเมืองระดับชาติ..."   นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการเรียกขานสถานภาพทางสังคมของกลุ่มคนที่เข้าใจกันว่ามีบทบาททางสังคมที่สำคัญในปัจจุบัน  เมื่อเร็วๆนี้เองศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เอแบรทได้จัดพิมพ์หนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งมีชื่อว่า "ชนชั้นกลางบนกระแสประชาธิปไตย" (กรุงเทพ: ศูนย์หนังสือจุฬาฯ, ๒๕๓๖)   อันเป็นหนังสือรวมบทความนักวิชาการไทยชื่อดังเช่น นิธิเอียวศรีวงศ์  ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นต้น นักวิชาการเหล่านี้เขียนถึงอะไร?
         "และแน่นอนทีเดียว ชนชั้นใดเขียนประวัติศาสตร์ก็จะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของชนชั้นเขา  ผลก็คือทฤษฎีชนชั้นกลางได้อุบัติขึ้นอ้างว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาตั้งแต่  ๒๔๗๕  ถึง ๑๔ ตุลา ถึง ๑๗- ๒๐ พฤษภาคม  ก็คือการต่อสู้ของชนชั้นกลาง  ทฤษฎีนี้ได้ดึงเอาชนชั้นกลางกับประชาธิปไตยมาควบคู่กัน  ทำให้ดูราวกับว่าชนชั้นนี้ได้นำมาซึ่งประชาธิปไตยทั้งในอดีตและจะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในอนาคต" (ยุค  ศรีอาริยะ, "จาก  ๑๔  ตุลา  ถึง  ๑๗- ๒๐ พฤษภาคม  บทวิจารณ์ทฤษฎีชนชั้นกลาง" จดหมายข่าวครป., ปีที่ ๑  ฉบับที่ ๘  มิ..-.., ๒๕๓๖, หน้า ๒๒)   นี่คือท่อนหนึ่งจากข้อเขียนของอดีต (?) มาร์กซิสต์ไทยที่ได้เขียนขึ้นเพื่อวิจารณ์การใช้ทฤษฎีชนชั้นกลางในการวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ของสังคมไทย เราจะมองข้ามความไม่ระวังของยุค ศรีอาริยะที่ยืนยันการมีอยู่ของชนชั้นกลางไว้เองโดยไม่ตั้งใจในข้อความที่ยกมาข้างต้น   และเราจะมาใส่ใจในส่วนที่ยุคเขียนในทำนองว่า การที่ชนชั้นกลางเป็นผู้ผลักดันประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าวเป็นเพราะว่าคนเขียนประวัติศาสตร์นั้นเป็นพวกปัญญาชน"กลุ่มคนที่เขาคิดว่าเขาคือสมาชิกของชนชั้นกลาง"   ดังนั้นประวัติศาสตร์แบบนี้จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ให้ความสำคัญอยู่ที่บทบาทของชนชั้นกลาง โดยที่ตั้งใจ
กำหนดให้ชนชั้นกลางกับประชาธิปไตยเป็นของคู่กัน   ซึ่งสิ่งที่ยุคต้องการชี้ก็คือ  นี่คือมายาภาพ!
         ข้าพเจ้าจะแสดงให้เห็นว่า เรากล่าวถึงชนชั้นกลางในฐานะที่เป็นชนชั้นหนึ่งได้อย่างมีความหมาย   หากเรากล่าวถึงมโนทัศน์ "ชนชั้น" อย่างมีความหมายได้   ในการถกเถียงตรงประเด็นนี้จะมีการตีความทฤษฎีที่เสนอในเรื่องนี้บางทฤษฎีที่ยุคเองมีการอ้างเอามาใช้วิจารณ์ผู้อื่น ได้แก่ทฤษฎีชนชั้นของปูลองซ่า[1] (Nicos Poulantzas- ซึ่งยุค ศรีอาริยะ
สะกดชื่อสกุลผิดโดยไปเขียนว่า Pouluntzus ถึง ๕ ครั้งในบทความเท่าที่มีปรากฏชื่อปูลองซ่า จึงไม่น่าจะเป็นความผิดพลาดอันเกิดจากคนเรียงพิมพ์พิมพ์ผิดเป็นแน่)
         ไม่เพียงเท่านั้น เรายังกล่าวได้ด้วยว่าชนชั้นกลางมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุคใหม่ของสังคมไทย  โดยพิจารณาผ่านเหตุการณ์  ๑๔ ตุลา มาจนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  และจะตอบคำถามที่นักวิชาการไทยส่วนหนึ่งมักถามแล้วไม่ตอบคือคำถามที่ว่า "ทหารไทยอยู่ในชนชั้นไหน?"
         ที่สำคัญกว่าก็คือ ความเข้าใจที่ได้ทั้งหมดนี้จะช่วยชี้ทางบางหนทางให้กับสังคมไทยได้หรือไม่ และได้อย่างไiบ้าง(ตรงนี้ก็คือคำตอบว่าทำไมเราจึงมาให้เวลาอภิปรายกันตรงประเด็นนี้) ส่วนผลพลอยได้อื่นๆได้แก่ การแสดงให้เห็นว่านักประวัติศาสตร์อย่างเช่นนิธิ เอียวศรีวงศ์ ผิดพลาดอย่างไรในเรื่องนี้ตรงพื้นฐานที่สุด  แนววิเคราะห์สังคมแบบของ น.. ประเวศ วะสี  ทำไมเราจึงกล่าวได้ว่าเป็นแนววิเคราะห์สังคมแบบ "เด็กๆ" และไม่อาจนำทางสังคมไทยได้

ชนชั้นกับอำนาจ
         "กล่าวโดยสั้นๆ  ความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่ก่อรูปเป็นองค์รวมหน่วยที่แสดงตนออกมาให้เห็นในแบบเรียบง่าย   ไม่มากเกินไปกว่าที่โครงสร้างหรือการปฏิบัติการณ์ได้ก่อรูปออกมา  ทว่าความสัมพันธ์แบบนี้จักเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและเป็นความสัมพันธ์ที่เคลื่อนไปจากที่และถูกกำหนดในท้ายที่สุดจากอำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจทางการเมืองหรือทางอุดมการณ์ไม่ใช่การแสดงตัวออกมาอย่างเรียบง่ายของอำนาจทางเศรษฐกิจ  เราอาจยกตัวอย่างมาได้มากมายในกรณีของชนชั้นหนึ่งใดซึ่งครอบงำทางเศรษฐกิจแต่ไม่ครอบงำทางการเมือง หรือครอบงำทางอุดมการณ์แต่ไม่ครอบงำทางเศรษฐกิจหรือทางการเมือง    ชนชั้นหนึ่งใดอาจจักมีศักยภาพที่จะตระหนักถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (ปัญหาของลัทธิสหภาพแรงงานแต่ไร้ศักยภาพที่จะตระหนักรู้ผลประโยชน์ทางการเมือง   ชนชั้นหนึ่งใดอาจจักมีอำนาจทาง
เศรษฐกิจโดยไม่มีอำนาจทางการเมืองมา 'ตรงต้องกันหรือกระทั่งอาจมีอำนาจทางการเมืองโดยไร้ซึ่งอำนาจทางอุดมการณ์ที่มา 'ตรงต้องกัน'ก็ได้" (Nicos  Poulantzas, "Class Power" ,p.152)
         จากข้อความที่ยกมาสรุปได้ (เขียนใหม่ให้อ่านง่ายขึ้นเพื่อหน่วยงานความมั่นคงของไทยจะได้อ่านได้รู้เรื่อง ข้าพเจ้าเห็นใจท่านเหล่านี้เต็มประดา ด้วยเหตุว่าเรื่องที่ต้องใช้กึํนมากหน่อย  พวกท่านเหล่านี้อาจรู้สึกว่าตนขาดอะไรไปที่จะใช้เป็นเครื่องช่วยทำความเข้าใจ    ดังที่มักแสดงด้วยพฤติกรรมให้เราได้เห็นว่าขาดไปจริงๆอยู่บ่อยครั้งนั่นเอง) ว่าปูลองซ่าคิดว่า

 .แม้ว่าอำนาจทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนดในท้ายที่สุดในแง่การแสดงตัวของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ     แต่จักไม่แสดงตัวออกมาแบบไม่ซับซ้อนหรือหาตำแหน่งแห่งที่ได้ง่ายๆ และถึงจะมีกรณีที่แสดงออกมาให้เห็นได้ง่ายก็ไม่ใช่กรณีของอำนาจทางการเมืองหรือทางอุดมการณ์

 .การที่ชนชั้นหนึ่งใดได้ครอบงำทางด้านใดด้านหนึ่งไม่จำเป็นต้องครอบงำได้ในทุกๆด้าน

         กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจแต่ไม่มีอำนาจทางการเมืองก็ได้   ดังกรณีเช่นกลุ่มพ่อค้าในเมืองไทยในสมัยอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์ (คำว่า 'พ่อค้า' กับคำว่า 'ชนชั้นกลาง' ไม่ใช่คำที่ใช้แทนที่กันได้    นิธิมีแนวโน้มเข้าใจประเด็นนี้ผิดดังที่มักแสดงความสับสนให้เราเห็นได้เมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมของชนชั้นกลางแล้วนำเอาลักษณะทางวัฒนธรรมของกลุ่มพ่อค้ามากล่าวแทน-ดังปรากฏในบทความเช่น "วัฒนธรรมของคนชั้นกลางไทย" ใน,สังศิต พิริยะรังสรรค์และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ชนชั้นกลางบนกระแสประชาธิปไตยไทย, อ้างแล้วข้างต้น -ประเด็นความเข้าใจผิดนี้เราจะดูรายละเอียดในตอนหลัง)  กรณีที่ใกล้ๆเห็นชัดได้แก่การมีอำนาจทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางไทยในสมัยจอมพลสฤษดิ์แต่ไม่มีอำนาจทางการเมืองโดยตรง และยังอยู่ใต้อำนาจอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่ถูกปลูกฝังเป็นอุดมการณ์แห่งชาติโดยจอมพลสฤษดิ์ เหตุการณ์๑๔ตุลาจึงมีส่วนสำคัญในแง่เปิดตรงโครงสร้างให้กลุ่มชนชั้นกลางได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองและสร้างอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จในเวลาต่อมาดังปรากฏการณ์พฤษภาทมิฬซึ่งเป็นการปิดฉากการสร้างกำแพงกั้นชนชั้นกลางไม่ให้เข้ามามีอำนาจทางการเมือง   รวมทั้งเป็นการแสดงอำนาจท้าทายทางการเมืองและทางอุดมการณ์ในลำดับต่อมาดังที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน      ดังที่เรากำลังได้เห็นถึงการถอยห่างจากอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นการถอยห่างที่แสดงตนเองมากขึ้นผ่านปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมรูปแบบต่างๆ
         ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าชุดคำอธิบายดังกล่าวของปูลองซ่ามีพลังทางการอธิบายสูง และเราเอาประสบการณ์เราในสังคมไทยมาเป็นข้อสนับสนุนได้ดังยกมาให้เห็น

         ยุค ศรีอาริยะได้วิจารณ์การใช้ทฤษฎีชนชั้นกลางว่า "หากนำทฤษฎีของชนชั้นกลางมาใช้วิเคราะห์เหตุการณ์ ๑๗- ๒๐ พฤษภาคมก็จะสร้างปัญหามากมายในการวิเคราะห์เช่นกัน  เราลองมาตั้งคำถามว่าใครคือชนชั้นกลาง ข้าราชการ นายทหาร นายพัน นายร้อย สมาชิกพรรคมารที่สนับสนุนสุจินดาเป็นชนชั้นกลางใช่หรือไม่ ถ้าตอบว่าใช่  ทฤษฎีชนชั้นกลางก็จะมีปัญหาทันที เพราะกลายเป็นว่าชนชั้นกลางทำสงครามกับชนชั้นกลาง มันเกิดขึ้นได้อย่างไร  และนี่ย่อมหมายความว่า  การดำรงอยู่ทางชนชั้นและรอยเชื่อมทางชนชั้นหาได้มีความหมายในทางเป็นจริงไม่" (หน้า๒๒) หรือในอีกที่ "...จะอธิบายได้อย่างไรว่าในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์   ตุลาคม  คนที่อาจเรียกได้ว่าเป็น'ชนชั้นกลาง'เป็นจำนวนมากได้หันไปเป็นสมาชิกของกลุ่มลูกเสืชาวอบ้าน,กลุ่มนวพลและอื่นๆหันกลับมาเผชิญหน้ากับตัวแทนทางชนชั้น 'ตนเอง' ได้อย่างไร" (หน้า๒๓)
         ตรงนี้ตอบยุคได้ไม่ยาก วิธีการแรกคือจัดประเภททางชนชั้นให้ชัดเจนขึ้นเช่นนักศึกษาอาจจัดเป็นชนชั้นนายทุนน้อย ดังนั้นการปะทะกันของสองฝ่ายคือความต่างทางชนชั้นอยู่แล้ว   แต่การตอบแบบนี้อาจยุ่งยากมากในเชิงรายละเอียด    เราก็ยังมีวิธีการอื่นๆอีก เช่นตอบแบบปูลองซ่า ด้วยการตอบว่าความขัดแย้งในตัวอย่างที่ยุคยกมาไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร การดำรงอยู่ทางชนชั้นไม่ได้เป็นตัวชี้ว่าชนชั้นนั้นๆต้องมีการปฏิบัติการณ์ในรูปเดียวกันหรืออยู่ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน  ดังข้อความที่ยกมาให้เห็น ชนชั้นกลางในยุโรปในแต่ละที่ไม่ได้อยู่ใต้อุดมการณ์เดียวกัน  เพราะอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอยู่อาจไม่ใช่อำนาจครอบงำหลักในสังคมนั้นก็ได้    ในแง่นี้ชนชั้นกลางในดินแดนนั้นอาจอยู่ใต้อำนาจทางการเมืองหรือทางอุดมการณ์ของรัฐหรือผู้ครองรัฐดังกล่าว อุดมการณ์แบบเสรีนิยมจึงอาจไม่เป็นอุดมการณ์หลักของชนชั้นกลางในดินแดนนั้นๆในเวลานั้นๆก็ได้  ความซับซ้อนตรงนี้มีมากขึ้นหากเป็นในดินแดนเดียวกัน จริงอยู่แม้ว่าชนชั้นกลางอาจจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจกระจายในกลุ่มตนแต่เมื่อถูกครอบงำจากอำนาจทางอุดมการณ์ของชนชั้นอื่นเช่นจากศักดินาหรือฟาสซิสม์  กระแสส่วนใหญ่ของคนชนชั้นดังกล่าวจึงอาจอยู่ภายใต้อุดมการณ์หนึ่ง ขณะที่ก็มีกระแสก้าวหน้าที่อยู่ใต้อุดมการณ์ที่ต่างกันได้  ปูลองซ่าได้เตือนเราว่าอย่าสับสนระหว่างการดำรงอยู่ทางชนชั้นกับการมีอำนาจ  ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่เรื่องที่การดำรงอยู่ทางชนชั้นไม่มีความหมายในทางเป็นจริง ฐานทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุดเป็นตัวตัดสิน   คำถามย้อนกลับจึงมีอยู่ว่าในตัวอย่างที่ยุคยกมาโดยลึกๆเป็นความขัดกันในชนชั้นเดียวกันทางฐานเศรษฐกิจหรือไม่    หรือยุทธวิธีที่ใช้มีความต่างกันในคนชั้นกลางคนละพวก หรือฐานทางอุดมการณ์มีส่วนทำให้เลือกใช้ยุทธศาสตร์ต่างกัน  เช่นฝ่ายยืนข้างสุจินดา  หากสุจินดาและพวกชนะ  สุจินดาจะเป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นกลางหรือไม่  ข้าพเจ้าขอตอบเลยว่าสุจินดาไม่ทำเช่นนั้นแน่ เพราะเป็นการฆ่าตัวตาย แต่แน่ๆอำนาจทางการเมืองและทางอุดมการณ์จักยังไม่อยู่ในมือชนชั้นกลางแน่นอน เมื่อมองในแง่นี้หากสุจินดาชนะชนชั้นกลางก็ยังอยู่แต่ไม่มีบทบาทเป็นอำนาจครอบงำหลัก กล่าวอีกอย่างหนึ่ง    ผลประโยชน์ทั่วไปทางชนชั้นของชนชั้นกลางยังไม่ปรากฏเป็นรูปผลประโยชน์ทั่วไปของทั้งสังคมและได้อำนาจบังคับทางสังคมให้สอดคล้องกับผลประโยชน์นี้ดังที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อุดมการณ์ที่มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับชนชั้นตนอย่างแท้จริง
         ด้วยเหตุนี้ชัยชนะในเดือนพฤษภาจึงเป็นชัยชนะสำคัญในการได้อำนาจครอบงำหลักเพื่อใช้บรรลุเป้าหมายหลักทางสังคมนั่นเอง ๑๔ตุลามีส่วนสำคัญในการเปิดทางสายนี้ไว้ให้ (ดังจักได้กล่าวต่อไป)
         ตามนิยามของปูลองซ่า  อำนาจจึงเป็นศักยภาพของชนชั้นทางสังคมในการตระหนักรู้ได้ถึงผลประโยชน์ทางภววิสัยเฉพาะเจาะจง  คำว่าทางภววิสัยในที่นี้คือการที่ผลประยชน์ของชนชั้นกลางได้รับการทำให้เป็นสากลและมีผลบังคับทางสังคม กล่าวคือทั้งสังคมถูกทำให้ยอมรับว่าเป็นผลประโยชน์ทั่วไปของสังคม  ตรงนี้ต้องระวังความสับสนในความหมายของคำว่าภววิสัยที่ปูลองซ่าใช้ด้วย
         ยุคเองมีข้อผิดพลาดในการอ่านปูลองซ่าซึ่งเราจะได้กล่าวถึงต่อไป   และประเด็นที่ชัดเจนในตอนนี้ (แม้ว่าเรายังไม่ได้ตอบว่าชนชั้นกลางคืออะไร ดูชนชั้นดูอย่างไร) ก็คือการนิยามชนชั้นกลางนั้นไม่คลุมเครือ  จุดสับสนอยู่ที่ไม่คิดให้ชัด  หรือพยายามตอบคำถามที่คิดว่าตอบไม่ได้ ตรงนี้นั่นเองจึงเป็นจุดตั้งต้นของความคลุมเครือที่แท้จริง.

(หมายเหตุ- บทความนี้ยังมีต่ออีกหลายตอน     ดังที่ท่านผู้อ่านคงได้เห็นแล้วว่าเป็นการถกเถียงในประเด็นใหญ่ ในตอนต่อไปเราจะวิพากษ์ยุค นิธิ และคนอื่นๆ เพื่อนำไปสู่คำตอบในตอนท้ายว่าเราได้อะไรจาก ๒๐ ปีที่ผ่านมาของเหตุการณ์๑๔ตุลา และสังคมไทยควรเดินไปทางไหน  ท่านผู้อ่านคงสังเกตได้ว่าไม่มีที่ใดในบทความที่ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้าเป็นมาร์กซิสต์ จึงไม่ควรสรุปอะไรเช่นนั้น   นี่ไม่ใช่เพราะการเป็นมาร์กซิสต์มีอะไรน่ารังเกียจ  คนที่คิดเช่นนั้นนั่นแหละน่ารังเกียจเพราะแสดงว่าไม่รู้จริง  ท่านคงจะเห็นได้ว่าข้าพเจ้าใช้วิธีการเอาดาบที่อีกฝ่ายใช้มาสู้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นถ้าอีกฝ่ายเปลี่ยนอาวุธข้าพเจ้าก็จะลองใช้อาวุธแบบนั้นสู้ตาม)
        
        


[1] Nicos Poulantzas เป็นนักคิดชาวกรีกที่ย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศส ในที่นี้ ออกเสียงชื่อสกุลของเขาตามเสียงในภาษาฝรั่งเศส แต่ถ้าออกเสียงตามภาษากรีก จะเรียกว่า นิคอส พูลัธซาส ตามชื่อในภาษากรีกคือ Νίκος Πουλαντζάς   

Saturday, October 5, 2013

20 ปี 14 ตุลา (ตอนที่ 1): ตามหาเวลาที่หายไป


หมายเหตุ ผมได้เขียนบทความชุด ๒๐ ปี ๑๔ ตุลา ไว้เมื่อปี ๒๕๓๖ รวม ๖ ตอนเพื่อถกประเด็นทางความคิดกับนักคิดของไทยหลายคน ดังเช่น ยุค ศรีอารยะ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ประเวศ วะสี สุลักษ์ ศิวลักษณ์ โดยลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทยไฟแนนเชี่ยล  ปีนี้เป็นปีที่ครบ ๔๐ ปี ๑๔ ตุลา ประเด็นที่ผมนำเสนอในบทความชุดนี้ผมเห็นว่าน่าจะยังมีประโยชน์ในการเข้าใจสังคมไทยอยู่บ้าง แม้ว่าความคิดปัจจุบันของผมในเรื่องนี้บางประเด็นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม    (บทความตอนที่หนึ่งนี้เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ ๗ ต..๒๕๓๖)

  "วันเวลาเช่นนั้นได้นำเราเข้าไปอยู่ในโลกของพวกเขาเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง ตรงที่นั้นเองเราได้พบว่าสำหรับคนบางคนแล้วเช่นดังหนุ่มสาวเหล่านั้นที่ตายไป   เวลาของเขาที่เราหาพบได้ชักนำเราให้ได้กลับไปชื่นชมกับจิตใจของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง โลกของพวกเขาเป็นอมตะตลอดไป  ไม่ว่าเวลาส่วนอื่นๆของพวกเขาจะหายไปอย่างไร เวลาตรงส่วนนี้ก็ยังคงอยู่ตลอดไปให้เราเข้าไปค้นหาเข้าไปร่วมรับรู้ความรู้สึกนึกคิดอย่างเข้าใจและห่วงใย  จึงไม่สำคัญเลยสำหรับวันเวลาที่เขาควรจะมีต่อไป   เพราะความหมายของเขาในเวลาเท่าที่มีอยู่เป็นสิ่งที่มีที่อยู่อันถาวรในทางสังคม มนุษย์นั้นเป็นอมตะได้ในเวลาเช่นนั้น”

                ๒๐ ปี ๑๔ ตุลา (ตอนที่หนึ่ง): ตามหาเวลาที่หายไป            
                        บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
                   

เด็กสองคนเมื่อวันนั้น
         มีภาพอยู่สองภาพที่ให้ความรู้สึกขัดแย้งกันเมื่อเราดูภาพถ่ายของเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาประชาชนในบริเวณสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่  ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  ภาพแรกเป็นภาพเด็กชายวัยแปดเก้าขวบกำลังยืนฉี่ใส่ศพนักศึกษาที่ถูกฆ่าตายตรงบริเวณสนามหลวง ส่วนอีกภาพเป็นภาพของเด็กชายวัยเจ็ดแปดขวบถูกตำรวจบังคับให้ถอดเสื้อแล้วเอาสองมือประกบกันบนศีรษะยืนอยู่ด้านหลังนักศึกษาชายผู้หนึ่งที่ยืนอยู่ในท่าแบบเดียวกัน
         เด็กคนหนึ่งกระทำสิ่งเยาะเย้ยคนอื่น(อาจเป็นด้วยผู้ใหญ่ในบริเวณนั้นบอกให้ทำ)เด็กอีกคนหนึ่งยืนรอการเยาะเย้ยจากคนอื่นที่เป็นฝ่ายกระทำในเหตุการณ์(อาจเป็นด้วยตามผู้ใหญ่เข้าไปอยู่ในธรรมศาสตร์ก่อนเกิดเหตุการณ์)  เด็กสองคนยืนอยู่กันคนละฝ่ายโดยอาจเข้าใจหรืออาจไม่เข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น      และบริเวณตรงกลางก็คือช่องกว้างที่ถ่างเด็กทั้งสองทิ่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันและยังไม่เป็นผู้ใหญ่ให้ออกห่างจากกันจนกลายเป็นคนละฝ่าย กลายเป็นผู้รับบทกระทำการที่ต่างลักษณะ
         จากวันนั้นถึงวันนี้สิบเจ็ดปีต่อมาเด็กชายทั้งสองคนถ้ายังมีชีวิตอยู่พวกเขาจะเป็นอย่างไรถ้าได้มาพบกันเข้าโดยบังเอิญและมีเวลาพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน พวกเขาจะเป็นเพื่อนกันในท้ายที่สุดหรือเป็นศัตรูกัน ภาพที่ดูขัดกันนี้จักคลี่คลายตัวไปอย่างไรและในวันนี้เมื่อพวกเขาได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วและรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันนั้น พวกเขาแต่ละคนจะรู้สึกอย่างไร
         เรารู้อยู่อย่างหนึ่งว่าภาพทั้งสองภาพมีโอกาสปรากฏต่อสายตาของคนไทยทั่วๆไปในปีพอศอนั้นอยู่เพียงชั่วขณะ  คณะทหารที่ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้งที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำและมีหัวหน้าพรรคคือ ม...เสนีย์  ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี คณะทหารคณะที่เรียกตนเองว่า"คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน"นี้เมื่อยึดอำนาจได้ในตอนค่ำวันดังกล่าวก็ได้สั่งห้ามการจำหน่ายจ่ายแจกหนังสือพิมพ์ทุกฉบับและได้ตั้งกรรมการเซ็นเซอร์ข่าวที่ไม่ประสงค์ให้มีการเผยแพร่ในเวลาต่อมา  ภาพทั้งสองภาพจึงเป็นที่รับรู้กันในวงแคบกว่าจะได้รับการตีพิมพ์อย่างเปิดเผยภายในประเทศก็อีกหลายๆปีต่อมา
         เราสงสัยว่าถ้าในปีพอศอนั้นภาพทั้งสองปรากฏให้เห็นในการรับรู้ของคนทั่วไปใครต่อใครจะรู้สึกกันอย่างไร?
         บทความชุดนี้จะเป็นการวิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมในสังคมไทย และจะมีการเสนอทางออกของสังคมไทยจากปัญหาดังกล่าว  ในตอนที่หนึ่งนี้เราจะตั้งต้นไม่ใช่ที่เหตุการณ์๑๔ตุลา แต่จะเรียนรู้บทเรียนบางบทเรียนจากเหตุการณ์สามปีหลังต่อมา

ผู้ใหญ่สองคนในวันเวลาที่ต่างกัน
         หลังจากนักศึกษาประชาชนได้ชัยชนะในการโค่นล้มระบอบเผด็จการของถนอมประภาสในช่วงเหตุการณ์ที่เรียกว่า "วันมหาวิปโยค๑๔ตุลาในปี๒๕๑๖ เพียงสามปีต่อมาก็ได้เกิดเหตุการณ์สังหารโหดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ ๖ ตุลาคม ปี ๒๕๑๙  และตามมาด้วยการรัฐประหารของคณะทหารที่เรียกตนเองว่า "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในค่ำวันเดียวกัน คณะทหารดังกล่าวได้ตั้งให้พลเรือนผู้หนึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งได้ดำเนินการบริหารประเทศอย่างไม่แคร์ต่อใจของคณะทหารนี้  รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อมาอีกไม่นานนักก่อนจะถูกกลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งมาจี้ลงไป
         อีกหลายสิบปีต่อมาเมื่อประเทศไทยมีนายกฯเป็นอดีตทหารและเป็นหนึ่งในผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ในตอน ๖ ตุลา นายกฯที่เป็นอดีตนายทหารที่มีพ่อเป็นผู้ก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งเมื่อปี ๒๔๙๐   อันนำประเทศไทยเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารซ้ำซากจากทหาร  เขาผู้นี้ก็ได้ถูกทำรัฐประหารจากคณะทหารอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ"  คณะทหารดังกล่าวนี้ก็ได้ตั้งให้พลเรือนผู้หนึ่งขึ้นเป็นนายกฯ   และพลเรือนผู้นี้ก็ดำเนินการบริหารประเทศแบบไม่เอาใจคณะทหารดังกล่าวเท่าไร  เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ในเวลาต่อมาคณะทหารดังกล่าวจึงวางการณ์ให้นายทหารพวกตัวแทรกเข้ามาเป็นนายกฯได้ในท้ายที่สุด และผู้คนก็พากันออกมาคัดค้าน มีการปิดล้อมจากทหารการสังหารและการทำร้าย  อันตามมาด้วยการต่อต้านในรูปแบบต่างๆจากประชาชนจนสถานการณ์พลิกกลับและคณะทหารกลุ่มดังกล่าวก็ต้องหมดบทบาทไป
         ขณะที่พลเรือนคนแรกได้พยายามปกปิดความเป็นจริงของเหตุการณ์ช่วงดังกล่าวโดยอาศัยกฎหมายเผด็จการ พลเรือนคนที่สองก็ได้อำนาจที่ได้รับมอบจากเผด็จการคลี่คลายความเป็นจริงของอีกเหตุการณ์ขึ้น    อาจเป็นไปได้ว่าในปีพอศอนี้ภาพเหตุการณ์ที่ปรากฏให้คนทั่วๆไปได้เห็นไม่เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมเอาไว้ได้จากฝ่ายกุมอำนาจรัฐ เราไม่รู้ว่าถ้าพลเรือนคนแรกต้องอยู่ในสังคมที่ปกปิดข่าวสารไว้ไม่ได้  เขาจะดำเนินบทบาทอย่างไร จะทำการแบบเดิมเหมือนที่เขาได้ทำจริงเมื่อปีพอศอโน้นหรือไม่
         แต่เรารู้อยู่อย่างหนึ่งว่า แม้พลเรือนทั้งสองคนจะจบมาจากต่างประเทศเดียวกัน (คืออังกฤษ) และเคยเป็นข้าราชการมาเช่นกันแม้จะต่างหน่วยงานกัน  มีบุคลิกภาพเด็ดขาดเช่นกัน ขึ้นสู่อำนาจพร้อมกับความประหลาดใจจากคนทั่วไปเช่นกัน คนหนึ่งยังอยู่ในใจคนจำนวนไม่น้อยอย่างชื่นชม ขณะที่อีกคน(คือคนแรก)มีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ชิงชัง
        ในปีที่พลเรือนคนแรกเป็นนายกฯ   พลเรือนคนหลังถูกกล่าวหาต่างๆนาๆพร้อมกับการถูกคุกคามต่อสวัสดิภาพในชีวิต    อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์ที่คนๆแรกได้ประโยชน์ เมื่อคนๆหลังได้เป็นนายกฯ  พลเรือนคนแรกก็อยู่ของตัวเองไปและไม่มีใครใส่ใจมากนักว่าเขาอยู่อย่างไร

เด็กสาวสองคนในชะตากรรมที่ต่างกัน
         ภาพของเด็กสาวคนหนึ่งซึ่งเป็นนักศึกษานอนเปลือยกายหลังพิงพื้นหญ้าในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   มีคนผู้ชายอยู่กลุ่มหนึ่งคนหนึ่งสวมแว่นเรย์แบนด์สีดำทำท่ารูดซิบกางเกงเหมือนจะทำอะไรเด็กสาวผู้นี้   มีไม้เปื้อนเลือดทิ้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและที่บริเวณช่องคลอดของเด็กสาวมีรอยเปื้อนเลือดกองใหญ่    ภาพเด็กสาวอีกคนในอีกหลายสิบปีต่อมานั่งชันเข่าร้องไห้อย่างคุมสติไม่อยู่โดยหลังพิงกำแพงอาคารอยู่ตรงบริเวณถนนราชดำเนินในบริเวณใกล้เคียงมีคนนอนก้มหน้าลงเรียงรายกันอยู่และมีทหารถือปืนสงครามเดินไปมา
         เด็กสาวสองคนในคนละเวลากัน คนหนึ่งตายไปและคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ คนหลังมีคนปลอบโยน   คนแรกร่างกายต้องไปนอนอยูในสถานเก็บศพเพื่อให้ญาติมาเดินหา  ภาพของคนหลังมีตีพิมพ์หราปรากฏทั่วไปในหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น  ขณะที่ภาพของคนแรกน้อยคนเต็มทีที่ได้เห็นและไม่ปรากฏให้เห็นต่อคนทั่วไปในช่วงเวลาดังกล่าว   เด็กสาวสองคนมีคนเห็นใจมากมายเมื่อได้รู้เห็น  ไม่ว่าเป็นหรือตาย  เราไม่รู้ว่าเด็กสาวคนแรกจะเป็นอย่างไรหากมีชีวิตรอดมาได้และดำเนินชีวิตต่อมา      เรารู้ว่าอย่างน้อยเด็กสาวคนหลังยังได้ความอบอุ่นจากคนจำนวนไม่น้อย
         และเรารู้ยิ่งกว่านั้นด้วยว่า   กลุ่มคนทรามที่กระทำต่อเด็กสาวคนแรกไม่ถูกลงโทษจากรัฐ เช่นกันกับกลุ่มคนทรามกลุ่มหลังที่สร้างความตระหนกให้กับเด็กสาวคนหลังก็ไม่ถูกรัฐลงโทษ

คนหนุ่มสองคนในชะตากรรมเดียวกัน
         ตอนที่เขาวิ่งออกไปด้านประตูหน้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อหาทางหลบไปทางสนามหลวง   ชายหนุ่มคิดไม่ถึงว่านักกีฬาของทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเขาที่เลือกเอาตัวเองมาเป็นส่วนการ์ดป้องกันเพื่อนๆนักศึกษาจากหลายสถาบันต้องมานอนจุกลุกไม่ขึ้นเพราะแรงโดดถีบเข้ามาของเจ้าพวกกระทิงแดงที่รับจ้างมากำจัดพวกเขา    ตอนที่หลายๆตีนกระทืบกันเข้ามาแล้วแขนของเขาไม่มีแรงยกขึ้นมากันส่วนต่างๆของร่างกาย เขาก็ยังคลางแคลงใจว่าไฉนตนเองจึงหมดเรี่ยวแรงเอาได้โดยไวนักทั้งๆที่รักบี้กีฬาที่ใช้ความทรหดก็เป็นกีฬาที่เขาได้ฝึกเล่นเป็นประจำ  ตอนที่เขาถูกลากไปตามพื้นถนนก่อนสติจะเลอะเลือนไปเขาก็ยังแปลกใจที่เรี่ยวแรงตนเองไม่เหลืออยู่อีกเลย   ใครๆที่เห็นเขาตอนถูกรัดคอด้วยเชือกดึงขึ้นไปแขวนห้อยกับกิ่งต้นมะขามก็อาจเวทนาว่าเขาน่าจะวิ่งหนีได้ทัน หากดูรูปร่างของเขาเทียบกับเจ้าหนุ่มนักศึกษาตัวเล็กๆอีกคนที่โดนเอาไม้แหลมตอกทะลุอกหรือเจ้าหนุ่มรายที่โดนลากไปเผาใต้กองยางรถตรงสนามหลวงพร้อมกับเด็กสาวอีกคน
         ตอนที่เขาวิ่งออกไปทางสนามหลวงเพื่อหลบไปทางวัดมหาธาตุ  ชายหนุ่มที่ชอบเล่นกีฬาอย่างเขาและเชื่อในพลังทางกายภาพของตัวเองจนอาสาเป็นการ์ดโพกผ้าดำก็คิดไม่ถึงว่ากระสุนจากทหารจะพุ่งเข้าศีรษะเขาอย่างรวดเร็วจนเขาเบี่ยงตัวหลบไม่ทัน  ใครที่เห็นสมองของเขาแตกกระจายก็อาจเห็นใจว่ากระโดดไปอีกนิดเดียวก็พ้นทางปืนแล้วไม่น่าเหมือนเจ้าหนุ่มร่างบางและตาเฒ่าอืดอาดที่โดนส่องเปรี้ยงเดียวหัวกระจุยโดยไม่มีโอกาสวิ่ง
         เด็กหนุ่มสองคนที่อยู่ในคนละยุคกันนี้ต่างก็เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเช่นกัน  คนหนึ่งเรียนมหาวิทยาลัยปิด อีกคนเรียนมหาวิทยาลัยเปิด  แต่ต่างก็ได้เรียนคณะแบบเดียวกันคือคณะรัฐศาสตร์    และมาตายนอกมหาวิทยาลัยของตัวคือไปตายใกล้บ้านเพื่อนที่เรียกว่าธรรมศาสตร์   คนหนุ่มคนหลังโชคดีกว่าบ้างตรงตายโดยไม่โดนทรมานมากและไม่โดนเอาศพประจาน เราไม่รู้ว่าหากสองหนุ่มนี้ยังมีชีวิตอยู่ในอนาคตเขาจะเป็นอะไร   แต่เรารู้ว่าเขาเป็นคนกล้าและนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารักเขาเมื่อนึกถึง
         ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าคนที่ฆ่าเขานั้นก็เก่งเพียงแค่เป็นหมาหมู่รุมหรือเก่งแต่เอาอาวุธมาสู้คนมือเปล่า และก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐหน้าไหนกล้าไปจัดการกับคนขี้ขลาดเหล่านั้น ทั้งๆที่หลักฐานมีอยู่โทนโท่

เราได้อะไรจากการหาวันเวลาที่ผ่านเลย
         เหตุการณ์ในวันที่หกตุลาและเหตุการณ์เดือนพฤษภาไม่ใช่นิทาน แต่สิ่งที่มีเหมือนกันก็คือบทเรียนที่เราเรียนรู้ได้ บทเรียนนี้คืออะไร? เราใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง?
         เรายังไม่สรุปบทเรียนทั้งหมดในตอนนี้แต่จะกล่าวถึงเพียงสองสามประเด็นที่เกี่ยวกับเนื้อหาหลักของเราในเวลานี้
         แรกสุด คนหนุ่มสาวเหล่านั้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน  โชคดีบ้างกว่ากันเนื่องจากตัวแปรที่เกี่ยวข้องเอื้อให้ในการประสบชะตากรรมที่ต่างกัน ทั้งหมดต่างมีสิ่งหนึ่งร่วมกันก็คือการมีโอกาสของการใช้เวลาในชีวิตน้อยกว่าพวกเรา  กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เวลาในชีวิตของพวกเขานั้นหายไปในช่วงที่ยาวทีเดียว เมื่อมองจากแง่อายุขัยของคนๆหนึ่ง
         ประการต่อมา   เด็กสองคนนั้นมีเวลาเสี้ยวหนึ่งให้เขาเข้าไปค้นหาจากความทรงจำเมื่อพวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบันนี้  วันเวลานั้นหลบอยู่ในตัวพวกเขามันไม่หายไปไหน เพียงแต่เขาอาจไม่ไปค้นหามัน
         ประการที่สาม   คนผู้ใหญ่สองคนนั้นที่เป็นผู้เริ่มชราในปัจจุบันมีเวลาเสี้ยวหนึ่งในวันเวลาที่จำความได้แม่นยำเก็บไว้ในตัว มันไม่อาจหายไปไหนเว้นเสียแต่แกล้งไม่จดจำซึ่งก็คือรูปแบบหนึ่งของการหลอกตัวเองถ้ากระทำ  เวลาเช่นนี้ไม่ต้องตามหาก็มักจะกลับมาเยือนเขาเสมอ  สำหรับผู้ใหญ่บางคนนี่กลับเป็นความน่าสะพึงกลัวอันอยากให้เวลาเหล่านั้นหายไป
         ประการที่สี่ ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวันเวลานั้นๆหรือรับรู้เหตุการณ์อื่นอยู่   การตามหาเวลาที่ไม่ใช่ของตนโดยตรงอาจได้พบเวลาของคนอื่นที่หายไป   วันเวลาเช่นนั้นได้นำเราเข้าไปอยู่ในโลกของพวกเขาเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง  ตรงที่นั้นเองเราได้พบว่าสำหรับคนบางคนแล้วเช่นดังหนุ่มสาวเหล่านั้นที่ตายไป   เวลาของเขาที่เราหาพบได้ชักนำเราให้ได้กลับไปชื่นชมกับจิตใจของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง   โลกของพวกเขาเป็นอมตะตลอดไป    ไม่ว่าเวลาส่วนอื่นๆของพวกเขาจะหายไอย่างไร เวลาตรงส่วนนี้ก็ยังคงอยู่ตลอดไปให้เราเข้าไปค้นหา เข้าไปร่วมรับรู้ความรู้สึกนึกคิดอย่างเข้าใจและห่วงใย จึงไม่สำคัญเลยสำหรับวันเวลาที่เขาควรจะมีต่อไป   เพราะความหมายของเขาในเวลาเท่าที่มีอยู่เป็นสิ่งที่มีที่อยู่อันถาวรในทางสังคม มนุษย์นั้นเป็นอมตะได้ในเวลาเช่นนั้น
         สำหรับพวกคนที่กระทำกับพวกเขาเราก็ยังสัมผัสได้ถึงความเป็นอมตะเช่นกัน อมตะในแง่นี้ไม่ได้มากับความอบอุ่นที่นักค้นหาเวลานำพาเอาไปให้  ในวันเวลาที่เราหาพบการปรากฏของพวกเขาก็มีความหมายเพียงเป็นตัวเสริมภาพให้คนหนุ่มสาวที่ถูกพวกเขากระทำได้มีความหมายที่ถาวรนั่นเอง

        ในการตามหาเวลาเช่นนั้นเราก็ได้ค้นพบเช่นกันถึงความหมายของการเป็นมนุษย์ 

(หมายเหตุ-บทความชุดนี้ในตอนต่อๆไปจะตั้งต้นการทำความกระจ่างในข้อถกเถียงเรื่องดังต่อไปนี้ อะไรคือชนชั้นกลาง? กระแสความคิดใดในปัจจุบันที่นำเราไปผิดทาง?  สังคมไทยควรไปทางไหน?)



Friday, October 4, 2013

มองวิทย์ด้วยจิตศิลป์

หมายเหตุ บทสัมภาษณ์นี้ลงพิมพ์ในวารสารเทคโนโลยีวัสดุ ฉบับที่  41 (ตุลาคม - ธันวาคม  2548) หน้า 43- 47 และสามารถดาวน์โหลดฉบับพิมพ์ได้ที่ http://www.mtec.or.th/index.php?option=com_wrapper&Itemid=195  ขอขอบคุณทางกองบรรณาธิการวารสารมา ณ ที่นี้ด้วยครับ


มองวิทย์ด้วยจิตศิลป์
สัมภาษณ์ : กองบรรณาธิการวารสารเทคโนโลยีวัสดุ
ภาพ : ชุมพล  พินิจธนสาร

ผู้ช่วยศสตราจารย์บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์สรรเสริญ สันติวงศ์ หมวดวิชาทัศนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

คำถาม / ก่อนอื่น ขอเรียนถามในประเด็นพื้นฐานว่า ความงาม  ในทางศิลปะหรือมุมมองของศิลปินนั้นเป็นอย่างไร

.สรรเสริญ / ความงามของศิลปินทั่วไปอาจหมายถึงความพึงพอใจ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น สัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า งาม  หรือมีภาพสุนทรียะ หรืออะไรบางอย่าง มันไม่ใช่ความงามเฉพาะเปลือกนอกเท่านั้น บางครั้งอาจเป็นสิ่งสวยงามที่เป็นรูปของฟอร์ม สี จังหวะ หรืออะไรที่เรารู้สึกว่าบันเทิงใจ รื่นเริงใจ มันเป็นสิ่งงามสิ่งหนึ่ง แต่มันไม่ใช่แก่นแท้ของคนทำงานศิลปะที่ทำกันอย่างซีเรียสจริงจัง  เพราะเขาพยายามหาความงามที่เป็นอุดมคติ เป็นความงามที่สามารถเพื่อมวลมนุษย์ เพื่อยกระดับจิตใจได้ เพื่อทำให้เกิดปัญญา หรือความคิดอื่น ๆ สำหรับความดี ความงาม ความสงบสุขของคนทั่วไป  น่าจะเป็นแก่นตรงนี้มากกว่า ศิลปินหลายท่านที่มีชื่อเสียงเขาจะมีตรงนี้อยู่

คำถาม / จากคำตอบของอาจารย์ มีคำหนึ่งที่ได้ยินมาก คือ  ใจ หรือ กระทบใจ คำนี้เป็นคำสำคัญในเรื่องความงามหรือไม่

.สรรเสริญ / เข้าใจว่าคนที่เป็นศิลปินทุกคน เขาจะมีความรู้สึกไวในส่วนที่มันกระทบใจสามารถแสดงออกมาได้ สามารถรู้สึก และสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาได้

.บุญส่ง / ในแง่ของศิลปินมีแรงดลใจบางอย่างที่อยากสร้างสรรค์งานขึ้นมา เหมือนคนทั่วไปตัดสินพวกนี้โดยใส่คำบอกคุณสมบัติเข้าไป เช่น เสียงเพลงนี้เพราะ หวานหู

คำถาม / แล้วในแง่ขอศิลปินน่าจะมีความลึก หรือมีมิติที่กว้างขวางกว่านั้น
.บุญส่ง / ของคนทั่วไปอาจจะเป็นความถูกใจ  ส่วนของศิลปินจะมีความคิดบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ถูกใจ อย่างเช่นว่า มันมีคุณค่าบางอย่างในตัวงาน อาจจะถูกใจคนบางคนหรือไม่ถูกใจคนบางคนก็ไม่ใช่เป็นเกณฑ์ แต่ว่าจะไปอิงกับการที่ศิลปินคนนั้นมีทัศนคติทางสุนทรียศาสตร์อย่างไร เช่น บางคนมองว่างานชิ้นนั้นเช่นงานจิตรกรรมภาพหนึ่ง การวางองค์ประกอบที่มีความสมบูรณ์ในตัวมันเองหรือไม่ ศิลปินคนนั้นก็กำลังใช้การวางองค์ประกอบที่สมบูรณ์ในตัวมันเองเป็นเกณฑ์ในการตัดสินงาน

คำถาม / ถ้าอย่างนั้น ศิลปินแต่ละท่านอาจจะมีเกณฑ์บางอย่างที่คล้ายคลึงกัน แต่บางอย่างก็อาจมีความชอบส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน ใช่หรือไม่

.บุญส่ง / ความจริงก็เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าทัศนะการมองทางสุนทรียศาสตร์จะเหมือนกัน เหมือนกับคำในทางวิทยาศาสตร์ว่า school of thought  แต่ก็มีการเปลี่ยนไปตามยุคประวัติศาสตร์ บางสมัย บางทัศนะก็ถูกยึดเป็นแม่บท มีอิทธิพลต่อคนทำงานศิลปะ เป็นการครอบงำในช่วงนั้น

คำถาม / การแบ่งช่วงศิลปะ โดยสกูล (school) นั้นคลุมความคิดของคนส่วนใหญ่ หรือคนจำนวนมากที่มีอิทธิพลต่องานศิลปะ เป็นสาเหตุหลักหรือไม่

.บุญส่ง / ถ้าเป็นพวกที่จัดประวัติศาสตร์ศิลปะก็จะดูจากกระแสใหญ่ในแต่ละช่วงปี คือ กระแสอะไรก็จะเรียกเป็นยุคสมัยนั้น เช่น ยุคเรอแนสซองส์ (Renaissance) และยุคบาโรค (Baroque)

.สรรเสริญ / พวกตระกูลเหล่านี้ก็มีความคิดที่อยู่เบื้องหลังงาน ก็คือว่า แล้วแต่เขาจะให้ความสำคัญกับอะไร อย่างเช่น ยุคเรอแนสซองส์  ศิลปินหลุดออกมาจากแนวคิดแบบศาสนาในยุคกลาง จึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องอะไรที่ท้าทายมากขึ้น  มันแสวงหามากขึ้น ไม่ใช่ติดอยู่กับเกณฑ์อย่างเดียว ก็เลยไปเอาความคิดของพวกกรีกหรือโรมันสมัยโบราณที่สุนทรียศาสตร์เจริญมาก ๆ มากกว่าในยุคกลางด้วยซ้ำ ในแง่ให้ความสำคัญกับความเป็นจริงด้วย  ประสาทสัมผัสที่รู้สึกอยู่แค่เบื้องหน้าไม่ใช่ความรู้สึกอย่างเดียวในยุคกลาง ก็เลยมารวมกัน มาศึกษาทั้งกรีก โรมันและยุคกลาง  เป็นยุคเรอแนสซองส์

.บุญส่ง / ศิลปินเป็นคนในสังคม กระแสความคิดที่เกิดขึ้นในสังคมก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อ ความรู้สึก ความต้องการของเขา และสะท้อนออกมาในงานศิลปะ เช่น ยุคกลางเป็นยุคที่ยาวนาน อิทธิพลของศาสนาเข้ามาครอบคลุมลักษณะ กฎเกณฑ์บางอย่าง ส่วนใหญ่เป็นภาพทางศาสนา พอในยุคเรอแนสซองส์ ความตื่นตัวไปสนใจงานกรีก-โรมันกลับมาอีกทีหนึ่ง ก็เริ่มกลับมามีอิทธิพลกับศิลปินในยุคนั้น

คำถาม / ถ้าดูจากภาพกรีก-โรมันจะเห็นได้ว่า ภาพวาดหรือรูปปั้นของมนุษย์จะมีสัดส่วนที่มีอุดมคติมาก ชายจะเป็นแบบนี้ หญิงจะมีรูปร่างแบบนี้ สวยงามแบบกรีก ซึ่งยึดความจริงในธรรมชาติหรือหาฟอร์มที่เป็นอุดมคติใช่หรือไม่

.สรรเสริญ / ทั้ง 2 อย่างทั้งหาฟอร์มที่เป็นอุดมคติ และความจริงที่มาจากธรรมชาติ เขามีการศึกษากายวิภาคอย่างละเอียด ความเข้าใจในสัดส่วนมนุษย์แม่นยำ ถูกต้อง กล้ามเนื้อ โครงกระดูกมนุษย์สามารถยืนอยู่ได้โดยไม่เอียง ไม่ล้ม มันยืนอยู่ได้เป็นธรรมชาติ สวยงาม และสง่างาม  กรีกยุคแรกๆ ก็ทำไม่ได้ แต่ในยุคหลังที่เป็นคลาสสิกจริงๆ สามารถดูแล้วเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตชีวามาก สง่างาม ไม่ใช่แค่ตาเห็นอย่างเดียว เหมือนเขาคัดสรรสิ่งที่ดีเลิศ เช่นคัดมนุษย์ที่มีรูปร่างดีที่สุดมา

คำถาม / ในยุคกรีก-โรมันถือว่าเป็นเกณฑ์ของยุคต้น ๆ ของสุนทรียศาสตร์เลยหรือไม่ หรือต้น ๆ เขามีอยู่แล้ว

.บุญส่ง / ในสมัยแรก ๆ ทั้งตะวันตกและตะวันออกความคิดด้านศิลปะ อย่างเช่นเมื่อจะวาดภาพถึงอยากจะลอกแบบให้เหมือนจริงก็ทำได้จำกัด  เนื่องจากความรู้เรื่องเพอร์สเปคทีฟ (perspective) ก็ไม่มี ในเรื่องกายวิภาคก็ไม่มี มันเขียนสัดส่วนไม่ได้ ก็จะเขียนเป็นแค่ตัวโครง เหมือนภาพเด็ก ๆ  อย่างรูปผนังบนฝาถ้ำ แม้จะอยากวาดมากกว่านี้ แต่ไม่สามารถทำได้

.สรรเสริญ / ไม่สามารถแยกระยะสิ่งที่อยู่ข้างหน้า กับข้างหลังได้ ไม่รู้วิธีอะไรที่จะแยกมัน ตามันเห็นละแต่ความรู้เราไม่พอที่จะเขียนมัน แต่เขาก็ว่าในยุคกรีก-โรมันรู้วิธีแล้วว่าจะใช้เส้นในการนำสายตาเข้าไป

.บุญส่ง / แต่ความรู้พวกนี้มันก็หายไปในยุโรปยุคกลางที่เอาหนังสือพวกนี้ไปเข้าห้องสมุดแล้วเก็บไว้โดยพวกบาทหลวงไม่ให้ใครไปอ่าน  แล้วกลับมายุโรปอีกครั้งในสมัยสงครามครูเส จากการที่นักรบชาวคริสต์ได้พบอารยธรรมดั้งเดิมของตนไปงอกงามอยู่ในอารยธรรมอิสลาม เพราะความรู้ของพวกกรีก-โรมันเข้าไปอยู่ในพวกอิสลามและได้พัฒนาต่อยอดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปรัชญากรีก การแพทย์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์  จึงนำไปสู่ความสนใจในความคิดทางปรัชญาและวิทยาการของกรีกและโรมันใหม่ เกิดเป็นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ หรือเรอแนสซองส์

คำถาม / แล้วภาพอย่างไทยที่ไม่มีเพอร์สเปคทีฟเป็นเพราะอะไร

.สรรเสริญ / อุดมคติทางตะวันออกมีความคล้ายกันอย่างคือ ไม่นิยมเลียนแบบจริง ๆ  แบบถึงที่สุด

.บุญส่ง / ไม่เชิง เพราะของจีนจะชื่นชมการวาดภาพที่เหมือนมาก เพราะมีบันทึกบรรยายไว้ว่า จิตกรในสมัยก่อนของจีนมีชื่อเสียงมากเพราะเขียนภาพผลไม้แล้วนกโผมาจิกเพราะนึกว่าเป็นผลไม้จริง ๆ   แต่สำหรับอิทธิพลของศาสนาพุทธนั้นมีลักษณะการบรรยายอุดมคติ ให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่เหมือนมนุษย์ เป็นลักษณะมหาบุรุษ พอศิลปินสร้างพระพุทธรูปก็สร้างตามอุดมคติ ไม่ได้สร้างเหมือนคนทั่วไป

.สรรเสริญ / ทั้งที่เริ่มแรกมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นแบบเหมือนจริงแล้ว พระพุทธรูปศิลปะคันธารราษฎร์ ก็ต้องกลายมาเป็นแบบอย่างที่เป็นอุดมคติ เป็นความรู้สึกมากกว่าเรื่องประสาทสัมผัส

คำถาม / จริงหรือไม่ที่คนอินเดียแต่โบราณไม่นิยมสร้างรูปคนเพื่อเคารพบูชา แต่กรีกชอบมาก เช่น พวกเทพและเทพีทั้งหลาย แล้วยุคนั้นในยุคพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมขึ้น แล้วทำไมวัฒนธรรมพุทธของอินเดียถึงยอมให้มีรูปเคารพขึ้นมาได้

.บุญส่ง / การเปลี่ยนค่านิยมก็มีผล ในช่วงนั้นเป็นการปนของหลายเชื้อชาติ ตั้งแต่กรีกเข้ามาปกครอง   ต่อมาพวกอิหร่าน มองโกล เริ่มเข้ามา  แต่ดั้งเดิมเองพวกที่อยู่ในเมโสโปเตเมียก็บูชารูปเคารพอยู่ รวมถึงพวกรูปสัตว์  แต่พวกอิสลามมองเป็นเรื่องงมงาย  คัมภีร์อัลกุรอ่านไม่ให้บูชารูปเคารพ ศิลปะของอิสลามจะเป็นรูปทรงเรขาคณิต ไม่มีรูปแทนตัวบุคคล

คำถาม / เศรษฐกิจมีผลครอบงำศิลปะด้วยหรือครับ
. สรรเสริญ / ในยุคเรอแนสซองส์ เขาบอกว่าระบบเศรษฐกิจมีตัวผลักดันอย่างรุนแรง  ไม่ใช่ว่าเกิดสงครามครูเสอย่างเดียว ในยุคเรเรส์ซองส์ มีตระกลูเมดิซีที่เป็นพ่อค้าในสงคราม และเปิดเส้นทางการค้าใหม่ทั้งในตะวันออก และตะวันตก  ทำให้ร่ำรวยมหาศาลมาก ความร่ำรวยก็ทำให้เขาเกิดความทะเยอทะยานจะสร้างเอเธนส์แห่งใหม่  จึงระดมนักปราชญ์ นักคิด นักเขียน มาอยู่เป็นพ่อค้าต่างๆ เกิดตระกูลพ่อค้าต่างๆ เกิดการหลั่งไหลของศิลปินต่างๆ มาชุมนุมกัน การขัดเกลาเหล่านี้ ในด้านของความคิด อุดมคติ ปรัชญาศิลปินได้มีโอกาสศึกษาจากนักคิด นักเขียนเหล่านี้  และเอาความคิด ความรู้จากวิทยาการต่าง ๆ มาสร้างเป็นงานศิลปะ เป็นการผสมผสานของความงามของจิตวิญญาณแบบคริสเตียนกับความรู้ มันเลยงดงามหมดจด เศรษฐกิจยุคนี้สำคัญมาก เกิดเป็นศิลปินเยอะ ศิลปินก็ไม่ใช่เป็นคนไส้แห้งต่อไป สามารถมีชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตาในสังคม เป็นบุคคลสำคัญขึ้นมาได้  ฮีโร่ในยุคเรอแนสซองส์ไม่ใช่อัศวิน นักรบอีกต่อไป ความร่ำรวยของพ่อค้าต่าง ๆ มีค่านิยมในการมีสมบัติวัตถุชั้นดีในการครอบครอง นี่คือสภาพของยุโรปในยุคศตวรรษที่ 17

คำถาม / กรณีสัดส่วนทองคำ หรือ Golden Ratio  ซึ่งในยุคเรอแนสซองส์ ก็เชื่อว่า ดาวินชี ใช้สัดส่วนทองคำในงานของเขาแล้ว แสดงว่าความรู้ในเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

.สรรเสริญ / เกิดในกรีก และมาชัดเจนในยุด เพลโต้ อริสโตเติล  ที่พยามยามหาสัดส่วนที่สมบูรณ์ที่พอเหมาะ อย่างเช่นในงานละครประเภทโศกนาฏกรรม ทั้งเพลโต้ อริสโตเติล พยายามค้นหาสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของความงามทั้งหลาย มันต้องประกอบไปด้วยอะไรที่เหมาะเจาะ เหมาะสมที่สุด  ก็คิดว่าในมนัสของพระเจ้า หรืออุดมคติอะไรบางอย่างจะมีแบบที่สมบูรณ์ สวยงามที่สุด

.บุญส่ง / ความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าในยุคกลางของยุโรปก็มีพื้นฐานความคิดว่า พระเจ้าคือสิ่งที่สมบูรณ์ และเมื่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาก็จะสมบูรณ์ด้วย  และพอมาในยุคเรอแนสซองส์ ซึ่งกลับมาสนใจความคิดของกรีกอีกครั้ง และมาสนใจหาสัดส่วนระหว่างประติมากรรมที่สมบูรณ์ เลยพยายามหาว่าอะไรคือสัดส่วนที่สมบูรณ์ เมื่อพบว่าเข้ากันได้ก็เอามากำหนดเป็นเกณฑ์ขึ้น

คำถาม / มีสิ่งใดที่มาเป็นตัวบอกเกณฑ์ หรือตัวที่ว่าสัดส่วนนี้เป็นสัดส่วนที่สมบูรณ์ที่สุด

.สรรเสริญ / สิ่งหนึ่งก็คือมนุษย์นั่นเอง ที่พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมา ก็ต้องเป็นสิ่งที่สวยงาม สมบูรณ์  ฉะนั้น มันก็มีสัดส่วนเหมือนกับที่นิยายเรื่อง ดาวินชี โค้ด ได้พูดถึง สัดส่วนที่ทุกส่วนสามารถคำนวณกันได้

.บุญส่ง / ต่อจากยุคเรอแนสซองส์ ก็มาต่อช่วงในตอนที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า พวกศิลปินรับความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยพัฒนาเทคนิคในการเขียนภาพให้แม่นยำมากขึ้น  การที่ศิลปินคิดว่ามันมีสัดส่วนที่แน่นอน ผมว่ามันมีอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์ด้วย  เพราะวิทยาศาสตร์นั้นจะเกี่ยวข้องกับพวกสเกลต่าง ๆ

.สรรเสริญ / ในยุคเรอแนสซองส์ หลังจากพวก ลีโอนาโด ดาวินชี และ ไมเคิล แองเจโล ไปแล้ว เกิดยุดหลังเรอแนสซองส์ มีความเชื่อในการก่อสกูล เขียนภาพที่มีอะคาเดมิก โดยเชื่อว่าเมื่อได้เรียนรู้จากสูตรจากดาวินชี ไมเคิล แองเจโล หรือจากราฟาเอล พวกนี้ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นศิลปินที่ดีได้ ก่อนมาถึงยุคเรอแนสซองส์ที่เป็นยุคคลาสสิกใช้เวลานานมากก่อนมาถึงยุคไมเคิล แองเจโล  หลังยุดไมเคิล แองเจโลไปศิลปินที่ทำงานในระดับใกล้เคียงกันมีมาก เพราะเรียนรู้สูตรต่างๆ ได้ ก็เลยเกิดอะคาเดมิกสกูล (academic school) เต็มไปหมดเลย ก็เชื่อว่าคนทุกคนสามารถเป็นศิลปินที่ดีได้ถ้าฝึกตามขั้นตอนตามนั้น เหมือนมีมาตรฐานอยู่ แล้วแต่ใครจะมีอัจฉริยะภาพของแต่ละคน

คำถาม / ดูจากหนังสือทางด้านสุนทรียศาสตร์ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นทางตะวันตก จะเหมือนกับทางวิทยาศาสตร์ไหมที่โดนครอบงำโดยตะวันตกมาก มันมีบางเล่มมีสุนทรียศาสตร์ตะวันออก มีการแยกแยะไหม

.บุญส่ง / ประการแรก หนังสือภาษาไทยทางด้านสุนทรียศาสตร์เรียบเรียงมาจากตำราของทางตะวันตก ก็เป็นไปในลักษณะนั้น  และประการต่อมา สุนทรียศาสตร์เองที่เป็นแขนงปรัชญา ปรัชญาตะวันตกพยายามจะจัดระบบความเข้าใจต่อสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา  ปรัชญาตะวันออกนั้นมีความแตกต่าง อย่างในปรัชญาอินเดียก็สนใจการหาคำตอบว่าชีวิตที่เป็นอมตะหลังความตายเป็นอย่างไร  แล้วเราจะหลุดพ้นได้อย่างไร  ส่วนปรัชญาจีนจะหาคำตอบในการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันให้กลมกลืนกับสังคม กับธรรมชาติ โจทย์คนละแบบ   ในตะวันตกเรื่องสุนทรียศาสตร์ก็พยายามดูว่าอะไรเป็นเกณฑ์ว่าอะไรงาม และมีค่าทางสุนทรียะ เกณฑ์ดังกล่าวใช้ได้ไหมเมื่อพิจารณาในเชิงเหตุผล

คำถาม / เป็นลักษณะของทางตะวันตกใช่หรือไม่ที่ต้องมีการทำให้เป็นมาตรฐาน หรือ standardization

.บุญส่ง / คือการทำสแตนดาร์ดเป็นเครื่องช่วยในการทำอะไรต่อมิอะไรในวงการต่าง ๆ  นอกจากนี้มันอยู่ที่เรื่องการมองเวลาด้วย เพราะในทางตะวันออกส่วนหนึ่งของการมองเวลามักมองเป็นแบบวัฎจักร  ขณะที่ความคิดแบบสมัยใหม่ซึ่งเน้นการลดความศักดิ์สิทธิ์ลง มองเวลาแบบเป็นเส้นตรง  ให้ความสำคัญกับความสามารถของมนุษย์เป็นผู้กำหนดชะตากรรมตนเองมากขึ้น ศิลปะสมัยใหม่อยู่บนความคิดที่ให้ความสำคัญกับศิลปินในฐานะที่เป็นปัจเจกชนผู้มีความสามารถในเชิงสร้างสรรค์  โลกทางศิลปะเป็นโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าโลกของชีวิตประจำวัน ศิลปินเป็นผู้ฝากอัจฉริยภาพของตนในการสร้างงานศิลป์ให้ดำรงอยู่อย่างสถาวรในโลกแห่งศิลปะ และความยิ่งใหญ่ของศิลปินอยู่ที่ตรงนี้  

.บุญส่ง / สุนทรียศาสตร์ ในศตวรรษที่ 20  มักไม่พูดถึงความงาม โดยถือว่าเป็นมโนทัศน์ที่คลุมเครือ บ่อยครั้งเป็นเพียงแค่อัตวิสัย (subjective) และไม่ชัดเจน   จึงมีความพยายามสร้างมโนทัศน์ใหม่เข้ามาแทนที่ คือ ใช้ศัพท์จำพวก “การมีค่าทางสุนทรียะ”  หรือ ”การประสบความสำเร็จทางสุนทรียะ”  เป็นต้น โดยนำมานิยามอีกครั้ง เช่น สกูลที่เรียกว่า ฟอร์มัลลิซึม (formalism)  เน้นการหารูปแบบที่มีนัยยะ  เช่นดูองค์ประกอบที่สมดุล เป็นต้น     ถ้าเป็นพวกเอ็กเพรสชั่นนิซึม (expressionism) ก็จะเน้นในเรื่องของนการถ่ายทอดความรู้สึกของตัวผู้สร้างงาน และความสามารถถ่ายทอดความรู้สึกเข้าสู่ในตัวงานได้  เป็นต้น  แต่แม้พวกเหล่านี้จะยึดเกณฑ์ต่างกัน แต่ก็ยังมีจุดร่วมกันคือเขาคิดเหมือนกันคือไม่เอามามโนทัศน์ความงามมาเป็นเกณฑ์ในการใช้ตัดสินงานศิลป์  มโนทัศน์ความงามถือเป็นความคิดเก่า   แต่ปัจจุบันนี้ วงการสุนทรียศาสตร์กลับมาให้ความสนใจกับมโนทัศน์เรื่องความงามอีก

.สรรเสริญ / ในยุคปัจจุบันศิลปะมันแห้งแล้ง มันเต็มไปด้วยความคิด เลยอยากกลับไปหาอะไรที่ละเมียดละไม ด้วยสภาพแวดล้อมที่แย่อยู่แล้ว อยากจะเสพศิลปะที่เป็นแบบเก่า อยากจะหวนหาอดีตบ้าง พวกเพนติ้ง (painting) ก็กลับมา สมัยก่อนพูดกันว่า Painting is dead.”  

.บุญส่ง / อย่างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่นิยมสร้างตึกเป็นรูปทรงเรขาคณิต แยกฟังก์ชันของส่วนทำงานที่ชัดเจน  แต่ถ้าเป็นสถาปัตยกรรมแบบโพสต์โมเดิร์น (Post-modern) จะไม่ยึดเกณฑ์แบบนั้น อย่างเช่นเอาเฟอร์นิเจอร์ต่างยุคสมัยมารวมกันได้ โต๊ะไม่เข้าชุดกัน ไม่ร่วมสมัยกัน ขอให้จัดวางแล้วลงตัว และพอใจ ก็ยอมรับได้    นี่แสดงว่า ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนมันก็ยังวงเวียนอยู่กับการให้คุณค่าของคนอยู่

คำถาม / อาจารย์มีอะไรฝากถึงแวดวงด้านวิทยาศาสตร์ไหม ในมุมมองของศิลปินในแง่ของสุนทรียศาสตร์
.สรรเสริญ / แม้ในด้านวิทยาศาสตร์ หรือ สุนทรียศาสตร์ มันก็มีจุดมุ่งหมายไม่ต่างกันคือ ก็เพื่อจรรโลงมนุษย์ จรรโลงโลก และก็ต่างมีอุดมคติในการสร้างอารยธรรมความเจริญของมนุษย์ทั้งส่วนที่เป็นวัตถุ และทางด้านจิตใจ  เหมือนกันคือ เราต่างพยายามสร้างอารยธรรมโลกให้เจริญอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

.บุญส่ง / ทั้งศิลปิน หรือ นักวิทยาศาสตร์มีความกระตือรืนร้นที่จะอยากรู้อะไรที่ลึกซึ้งกว่าในสิ่งที่อยู่รอบข้างตัวเอง และพยายามพัฒนาเครื่องมือหรือเครื่องช่วยอะไรมาช่วยตัวเองรู้ให้ลึกซึ้งได้ และบ่อยครั้งทั้งสงวงการก็เกื้อกูลกัน เช่นความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์สามารถทำให้วงการศิลปะมีเทคนิคมากขึ้น

.สรรเสริญ / บ่อยครั้งศิลปะก็เสริมสร้างจินตนาการให้วิทยาศาสตร์ ฝันว่าจะบินได้ ฝันว่าจะไปดวงจันทร์  เหมือนแรงดลใจ บันดาลใจหลาย ๆ อย่าง บางทีที่ศิลปากรก็จัดกิจกรรมมาเจอกันระหว่างกลุ่มศิลปะกับวิทยาศาสตร์ เพราะอยากจะเห็นความเหมือน และความแตกต่างของศิลปะ และของวิทยาศาสตร์ว่า มันส่งเสริมกันได้อย่างไรบ้าง  เรารู้จักคุณค่าของทั้ง  2 อย่างอย่างถ่องแท้

คำถาม / หากคนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่เคยรู้เรื่องทางศิลปะมาก่อน แต่อยากเข้าใจงานด้านศิลปะจะเริ่มต้นอย่างไร

.บุญส่ง / เริ่มที่ตัวเองรู้สึกชอบใจ ถูกใจ คือ มีแรงดลใจบางอย่างให้สนใจศิลปะ  ต้องมีจุดเริ่มจุดหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจว่าคนในวงการศิลปะเขาตั้งเกณฑ์อะไร  อย่าไปสนใจมากนักว่าศิลปินเขาใช้เกณฑ์อะไรตัดสินงาน มีศิลปินน้อยคนที่มีความสามารถในการไตร่ตรองสะท้อนตนเอง (self-reflection)  เวลาเราอ่านแผ่นพับที่ศิลปินเขียนที่แจกในงานแสดงศิลปะ บ่อยครั้งศิลปินมักเขียนไปตามความนึกคิดความเข้าใจของตนเองโดยไม่มีการไตร่ตรองสะท้อนที่จริงจัง ซึ่งไม่ช่วยเรามากเท่าไรในการเข้าใจศิลปะ  เอาเป็นว่าถ้ามีความสนุกกับการติดตามศิลปะก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว