Wednesday, October 2, 2013

โลกาภิวัตน์ (Globalisation/ Globalization)


หมายเหตุ บทความนี้นำมาจากบทบรรณาธิการที่ผมเขียนให้กับวารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 24   ฉบับที่ 1 -2 (มิถุนายน2544-พฤษภาคม 2545)  ฉบับโลกาภิวัตน์
โดยผมตัดส่วนที่เขียนถึงบทความอื่นที่ลงในวารสารฉบับนี้ออกไป เหลือเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหาของผมครับ


บทบรรณาธิการ
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์


        ในทุกวันนี้ เราต่างคุ้นเคยกันดีกับคำว่าโลกาภิวัตน์ (globalisation / globalization )   และเป็นข้อเท็จจริงเช่นกันที่ความเข้าใจของเราที่มีต่อโลกาภิวัตน์มีความแตกต่างกันไป รวมถึงปฏิกิริยาตอบรับของแต่ละคนต่อสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์นี้ก็แตกต่างกัน  โลกาภิวัตน์คืออะไร?  โลกาภิวัตน์เป็นความเป็นจริงหรือเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในรูปแบบอุดมการณ์แบบหนึ่ง?  เราควรมีปฏิกิริยาอย่างไรดีต่อสิ่งนี้?  คำถามชุดดังกล่าวนี้เป็นคำถามที่เปิดประเด็นสู่หัวเรื่องหลักของวารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรฉบับนี้ 

         ในรายงานปี 1995 ของคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสหประชาชาติ คือ The Commission on Global Governance ได้นำเสนอไว้ว่า

         คำว่าโลกาภิวัตน์นั้นแต่แรกสุดถูกใช้เพื่อบรรยายถึงด้านสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในระดับเปลี่ยนย้ายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก   แต่กระนั้น กิจกรรมอีกหลายประการซึ่งออกไปในทางลบกว่า อันรวมถึงการค้ายาเสพติด การก่อการร้าย การค้าวัสดุด้านนิวเคลียร์  ก็ล้วนถูกกระทำในระดับโลกาภิวัตน์เช่นกัน  การเปิดเสรีทางการเงินการคลังที่ดูเหมือนจะได้สร้างโลกไร้พรมแดนขึ้นนั้น ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับอาชญากรรมข้ามชาติ และก่อปัญหานานัปการให้กับประเทศที่ยากจนกว่า  ความร่วมมือกันระดับโลกได้กำจัดไข้ทรพิษ และยังได้กำจัดวัณโรคและอหิวาตกโรคไปจากพื้นที่มากมายยิ่ง   แต่กระนั้น ในบัดนี้โลกก็กลับต้องดิ้นรนเพื่อป้องกันการกลับฟื้นคืนมาใหม่ของโรคร้ายดั้งเดิมเหล่านี้ และยังต้องพยายามควบคุมการแพร่กระจายในระดับโลกของโรคเอดส์[1]

         นี่คือการยอมรับความจริงที่ว่า กระแสและสภาพการณ์แบบโลกาภิวัตน์นั้นมีทั้งด้านสร้างสรรค์และด้านลบ และทั้งสองด้านก็เอื้ออำนวยต่อพัฒนาการของกันและกัน อันส่งผลทางตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกในเวลานี้
         โลกาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน แสดงออกในกิจกรรมของมนุษย์หลายด้าน ไม่ใช่แค่เพียงด้านทางเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียวอย่างที่มักเข้าใจกัน เราอาจกล่าวโดยภาพรวมได้ว่า เมื่อเรากล่าวถึงโลกาภิวัตน์ เรากำลังกล่าวถึงกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในด้านใดด้านหนึ่งดังต่อไปนี้

1. โลกาภิวัตน์ทางเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร  โดยอาศัยสื่อสมัยใหม่ในยุคหลังๆนี้  เช่น ดาวเทียม อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์ไร้สาย ทำให้เกิดสภาพแบบที่มาร์แชล แมคลูฮัน(Marshall McLuhan)เคยเรียกไว้ว่า หมู่บ้านโลก” (Global village)   เมื่อการรับรู้ข่าวสารและการติดต่อสื่อสารทั่วถึงกันทุกพื้นที่ในโลกเป็นไปได้ในแบบทันใดและทันใจ

2. โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ การขยายตัวครอบโลกของตลาดทุนทางการเงินการคลัง  ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาพทุนนิยมระดับโลกาภิวัตน์   โดยอิงอาศัยการเอื้อควมเป็นไปได้ในการโยกย้ายเงินทุนเข้าออกรัฐชาติต่างๆ จากการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบอิเล็กโทรนิคซึ่งเป็นผลจากโลกาภิวัตน์ทางเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร  ทำให้การเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของทุนทางการเงินการคลังข้ามพรมแดนเกิดขึ้นได้จริงเป็นครั้งแรกในโลก

3. โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม  จากสภาพของการขยายตัวครอบโลกทางวัฒนธรรมในแบบตะวันตก โดยเฉพาะที่นำโดยอเมริกา  ได้ส่งผลในด้านกลับ คือการเกิดกระแสต่อต้านจากวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆทั่วโลก จนเกิดการเมืองของการแข่งขันกันในการสร้างเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของชุมชนต่างๆทั่วโลก ทั้งเพื่อแสดงความเหมือนและความเป็นพวก และแสดงความแตกต่างเป็นแบบเฉพาะ ในโลกที่ความหลากหลายทางเอกลักษณ์ปรากฏตัวขึ้นอย่างฉับพลันและเสนอตัวออกมาท้าทายกันในปัจจุบันโดยอาศัยโลกาภิวัตน์ทางเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร

4. โลกาภิวัตน์ของเครือข่ายอาชญากรรม ที่เชื่อมต่อเครือข่ายอาชญากรรมท้องถิ่นเข้ากับระดับข้ามชาติ อิงอาศัยความร่วมมือระหว่างกันและกัน แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก  โดยดำเนินการในสิ่งผิดกฎหมายต่างๆข้ามรัฐ  เช่น ค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน ค้าผู้หญิงและเด็ก นำแรงงานเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย  ค้าอาวุธสงครามต่างๆ  ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ในการก่อการร้ายและการโจรกรรมรูปแบบต่างๆ  ความร่วมมือข้ามชาติเช่นนี้กระทำโดยอาศัยการใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ในข้อที่ 1 และข้อที่ 2 นั่นเอง

         ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในจำนวนที่มากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต และเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมแหล่งต่างๆทั่วทั้งโลก แม้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆดังกล่าวอาจจะยังกระจายไม่ทั่วถึง แต่ก็กล่าวได้ว่าได้ให้อิทธิพลใหม่ๆทั้งทางตรงและทางอ้อมสู่ผู้คนมากมาย เมื่อมีช่องทางเปิดให้  คำถามที่ตามมาก็คือ เราจะรับมือกับโลกาภิวัตน์ด้านต่างๆอย่างไรจึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อ   แน่นอนว่าสังคมไทยต้องการการคิดอย่างเอาจริงเอาจังในเริ่องนี้
         
.......
         ภายใต้การเกิดสภาพพหุสังคมในทุกแดนดิน อันเป็นผลมาจากการลี้ภัย การโยกย้ายถิ่นฐานและการอพยพข้ามรัฐของผู้คนทั่วโลก ทั้งที่เป็นผลมาจากปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม  ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย  ตลอดจนปัญหาการเผชิญหน้ากันระหว่างเครือข่ายประชาชนข้ามรัฐกับบรรษัทข้ามชาติ  สังคมไทยในวันนี้จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงนั้นต้องอาศัยการย่างก้าวอย่างชาญฉลาด อย่างรู้เท่าทันสถานการณ์  และนี่คือบทบาทหลักบทบาทหนึ่งของวารสารทางวิชาการที่จะทำหน้าที่ช่วยเป็นสติให้กับสังคม อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบทางวิชาการเพื้อเอื้อประโยชน์สุขกลับสู่สังคมนั่นเอง


  




     

      






[1] The Commission on Global Governance. 1995. Our global neighbourhood. Oxford: Oxford University Press. : 10- 11.

No comments: