Thursday, October 3, 2013

ความเป็นชาติ : รัฐชาติและชาตินิยมในยุคโลกาภิวัตน์


หมายเหตุ บทความนี้ลงพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 21, 2 (ธันวาคม 2541-พฤษภาคม 2542) : 24-73.

                    ความเป็นชาติ : รัฐชาติและชาตินิยมในยุคโลกาภิวัตน์
                                                    บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์*

นำความ
         โลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ในทุกวันนี้เป็นโลกที่มีการลากเส้นแบ่งเขตบนแผนที่อย่างเป็นทางการเพื่อแสดงถึงเขตแดนภายใต้การปกครองของรัฐชาติต่างๆ เรา, คนส่วนใหญ่ในโลกใบนี้, ต่างถือสัญชาติหนึ่งใดไว้อันแสดงถึงการสังกัดเป็นพลเมืองของรัฐชาติหนึ่งใด[1] รัฐชาติที่เราถือสัญชาตินั้นมีอาณาเขตที่แน่นอนอยู่ พื้นที่แห่งหนึ่งใดในโลกและมีการจัดการการปกครองของตนเอง ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐชาติอื่นๆในระดับหนึ่งหรือได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์กรระหว่างประเทศเช่นสหประชาชาติ อันถือว่าเป็นการรับรองอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจในการปกครองตนเองของรัฐชาตินั้นๆ  นี่คือข้อเท็จจริงพื้นฐานที่เราต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้ว
โลกปัจจุบันนั้นเป็นโลกที่เราทุกคนต่างจำเป็นต้องเป็นคนของรัฐชาติหนึ่งใด เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ในการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่[2]
      ในแง่หนึ่ง  รัฐชาติที่เราคุ้นเคยนี้เป็นผลมาจากกระบวนการพัฒนาสู่ความทันสมัย
[Modernization] อันเป็นส่วนหนึ่งของสภาพการณ์แบบสมัยใหม่ [Modernity] ที่แยกการปกครองทางโลกออกจากโลกอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอย่างแจ่มชัด  ศาสนจักรที่เคยทรงอำนาจปกครองเหนืออาณาจักรดังที่เคยปรากฏในยุคกลางนั้นถูกลดบทบาทลง แม้จะอาจยังดำรงบทบาทสำคัญและอิทธิพลในอาณาบริเวณทางจิตใจของผู้คน อาณาบริเวณทางการปกครอง ทางสังคมและทางเศรษฐกิจนั้นได้รับการยอมรับทั่วไปว่าเป็นพื้นที่ทางการที่รัฐชาติมีหน้าที่เข้าไปดูแล, จัดการ, และจัดระเบียบโดยตรง
         รัฐชาติเป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสามศตวรรษที่ผ่านมานับจากศตวรรษที่ 18 ในด้านหนึ่ง รัฐชาติมีพัฒนาการมาจากรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเป็นความพยายามของฝ่ายกษัตริย์ยุโรปราชวงศ์ต่างๆที่พยายามรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่ตัวกษัตริย์ และลดบทบาทและอำนาจของศาสนจักรภายใต้การนำขององค์สันตปาปา รัฐชาติแรกสุดในความหมายแบบสมัยใหม่กำเนิดจากการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี ค.. 1776 และกำเนิดจากการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี ค.. 1789 ซึ่งได้นำความคิดที่ถือว่าองค์อธิปัตย์ของรัฐก็คือประชาชน (พลเมือง) และเจตจำนงทั่วไปของประชาชน (พลเมือง) คือผลประโยชน์ของชาติ มาจัดรูปแบบการปกครองที่เป็นรูปธรรมขึ้น
         ความคิดแบบชาตินิยม [Nationalism] ได้ปรากฏตนขึ้นในยุคใหม่ในฐานะอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกผู้ปกครองรัฐนำมาใช้ในรัฐชาติเพื่อปลุกเร้าอารมณ์รวมหมู่ของพลเมืองในรัฐตนให้อุทิศตนเพื่อรัฐและใช้เป็นกาวประสานความแตกต่างที่เป็นจริงที่ปรากฏในประชากรพื้นถิ่นต่างๆที่ถูกรวมมาเป็นพลเมืองอยู่ใต้ร่มธงแห่งรัฐเดียวกัน   รัฐชาติและความคิดแบบชาตินิยมจึงได้กลายเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันและกันในการดำรงสถานะในยุคใหม่ จากพื้นฐานที่ชนกลุ่มใหญ่ภายในรัฐชาติหนึ่งๆมักมีบทบาทครอบงำการปกครองของรัฐชาตินั้นๆ แบบแผนการใช้ชีวิตของกลุ่มตนจึงถูกนำมาส่งเสริม กำหนด กระทั่งบังคับ ให้เป็นรูปแบบพื้นฐานทางจารีตของรัฐชาตินั้นๆ  ความคิดแบบชาตินิยมที่เรียกร้องพลเมืองให้มีความจงรักภักดีต่อชาติตนจึงถูกย้ำให้เป็นเรื่องของการปกป้องสายเลือดหรือชาติพันธุ์  และมีการสร้างมายาภาพเรื่องความเป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมซึ่งอิงการมีชาติพันธุ์เดียวกันที่เรียกกันว่าความคิดชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์ [Ethnic Nationalism] ผลิตผลจากชาตินิยมในรูปนี้ก็คือจักรวรรดินิยม [Imperialism] ของรัฐชาติตะวันตกในศตวรรษที่ 19
         โดยดำเนินไปภายใต้กระแสความยึดมั่นว่าอารยธรรมของชาวยุโรปเหนือกว่าอารยธรรมอื่นๆ ซึ่งเราเรียกว่าความคิดแบบเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง [Eurocentrism] เมื่อชาวยุโรปแผ่ขยายอารยธรรมสมัยใหม่ของตนเข้าสู่ดินแดนต่างๆทั่วโลกโดยอิงอาศัยอำนาจที่เหนือกว่าทางการผลิต ทางเทคโนโลยี และทางการทหาร เป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุน ก็ได้ส่งผลให้ชนพื้นเมืองในดินแดนต่างๆทั่วโลกต่างต้องทำการปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นอาณานิคมหรือถูกบังคับให้ต้องปรับตัวภายใต้ระบบอาณานิคม รวมทั้งการปรับตัวเพื่อสลัดแอกให้พ้นสภาพอาณานิคม  การเกิดขึ้นและการแผ่ขยายของรูปแบบของหน่วยจัดการทางการปกครองและทางการเมืองที่เรียกว่ารัฐชาตินี้จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
         ความคิดแบบชาตินิยมทางชาติพันธุ์อาจพัฒนาไปสู่ความคิดแบบคลั่งชาติ [Chauvinism] หรือความคิดแบบคลั่งเผ่าพันธุ์ [Ethnocentrism] ที่ถึงขั้นทำลายล้างกลุ่มชนที่มองว่าเป็นศัตรูได้เสมอดังปรากฎชัดในชาตินิยมของเยอรมนีในยุคนาซีช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  ในรัฐชาติเกิดใหม่ในเอเชียและแอฟริกาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือในรัฐชาติเกิดใหม่แถบยุโรปตะวันออกในปัจจุบัน
         จากการขยายตัวของระบบทุนนิยมในระดับโลกอันเป็นด้านหนึ่งของกระบวนการที่เราเรียกว่ากระแสโลกาภิวัตน์ยุคปัจจุบัน และการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆรวมทั้งความไม่ลงตัวระหว่างการเปิดเสรีทางการค้ากับลัทธิกีดกันทางการค้าในประเทศต่างๆ ชาตินิยมกลายเป็นแนวคิดที่ถูกนำมาส่งเสริมเพื่อให้แพร่หลายขึ้นใหม่โดยรัฐบาลในหลายประเทศ ชาตินิยมเป็นแนวคิดที่ควรได้รับการส่งเสริมหรือไม่? ชาตินิยมในฐานะปรากฏการณ์สมัยใหม่ดังกล่าวนี้จะเป็นเช่นไรในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ในศตวรรษที่ 21? บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะวิเคราะห์พื้นฐานทางเหตุผลของแนวคิดชาตินิยมเพื่อตอบคำถามว่า ชาตินิยมเป็นทางเลือกที่ควรเลือกหรือไม่? เมื่อเรากล่าวถึง ความเป็นชาติ เรากำลังกล่าวถึงอะไร? ความเข้าใจในเรื่องนี้จะช่วยให้เราตอบกับตัวเราเองได้ว่า เราควรเดินไปทางไหน ทั้งนี้อยู่บนการตระหนักว่าการทำตัวเป็นแกะที่พร้อมจะถูกจ่าฝูงและฝูงเดินนำไปต้อยๆโดยไม่่รู้คิดนั้นไม่ใช่วิสัยของผู้ใช้ปัญญาจะพึงกระทำโดยแท้!

พัฒนาการทางความหมายของคำว่าชาติ
         พัฒนาการทางความหมายของคำว่า ชาติ สะท้อนให้เห็นถึงกำเนิดของรัฐชาติ
         คำว่า ชาติ [nation] ตามความหมายแต่แรกสุดก็คือ รากเหง้า สายที่สืบลงมา กล่าวคือ กำพืดหรือกำเนิดนั่นเอง [ดู Hobsbawm 1990: chapter1 และ Habermas 1996: 494-495] คนทุกคนมีกำพืด กล่าวคือ ต้องกำเนิดจากใครบางคน ตัวเราแต่ละคนนั้นสืบสายเลือดมาจากบรรพบุรุษ ตามความหมายเช่นนี้ หากเราไม่ได้มีกำพืดเดียวกันจริงก็ถือได้ว่าเราเป็นคนละชาติกัน ชาติของชาวนาคนหนึ่งก็คือสายที่สืบมาจากบรรพบุรุษของชาวนาผู้นั้น ส่วนชาติของกษัตริย์สักองค์หนึ่งก็คือสายบรรพบุรุษของกษัตริย์องค์นั้น ชาติของชาวนาคนดังกล่าวจึงเป็นคนละชาติกับชาติของกษัตริย์องค์ดังกล่าวตามความหมายนี้
         กล่าวให้เห็นชัดขึ้น หากเรานำข้อความในเพลงปลุกใจเพลงหนึ่งที่มีความว่า บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า มาพิจารณาตามนัยนี้ ข้อความนี้จะเป็นข้อความที่ไม่สื่อความหมายเว้นเสียแต่คนไทยปัจจุบันทุกคนเป็นญาติพี่น้องสืบสายเลือดบรรพบุรุษเดียวกันมาจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง ดังนั้นข้อความในเพลงดังกล่าวจะสื่อความหมายก็ต่อเมื่อมีประเทศหรือชาติไทยในความหมายสมัยใหม่คือรัฐชาติไทยซึ่งเพิ่งเกิดมาไม่ถึงร้อยปีนี้เอง[3] (แต่โบราณในที่นี้จึงมีอายุไม่ถึงร้อยปีเท่านั้น ไม่ใช่เจ็ดร้อยกว่าปีอย่างที่พยายามอ้างๆกัน)[4]
         คนทุกคนมีถิ่นเกิด กล่าวคือ ตอนเกิดต้องเกิด ที่ใดที่หนึ่ง ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง  คำว่า ชาติ ได้กินความในเวลาต่อมาโดยหมายถึงที่ที่เกิด บ้านเกิดหรืออาณาบริเวณรายรอบพื้นที่ที่ใครคนนั้นถือกำเนิดขึ้น (ซึ่งนครในสมัยนั้นไม่กว้างขวางเท่าไร) เช่นเกิดที่สุโขทัย ก็หมายถึงพื้นที่ของบ้านหรือเหย้าที่คนคนนั้นคลอดออกมา หมู่บ้านที่คนคนนั้นคลอด หรือนครที่คนคนนั้นคลอด       ตามความหมายนี้ เราเรียกคนที่เกิดที่อยุธยาว่าคนอยุธยา และเรียกคนที่เกิดที่สุโขทัยว่าคนสุโขทัย ถ้านำความหมายนัยนี้มาใช้ในปัจจุบัน เราก็จะกล่าวได้ว่า ถ้าใครบังเอิญมีสายเลือดไทยแต่ไปเกิดที่นิวยอร์ค กล่าวคือมีบ้านเกิดที่นั่น เราก็เรียกเขาว่าเป็นคนนิวยอร์ค ขณะที่ใครอีกคนที่เกิดที่กรุงเทพก็เรียกว่าคนกรุงเทพนั่นเอง (ถ้ายอมให้ใช้เรียกเขตแดนให้กว้างขึ้นก็ต้องเรียกคนที่เกิดที่อเมริกาว่าคนอเมริกาและให้เรียกเฉพาะคนที่เกิดที่พื้นที่ที่เมืองไทยรายหลังนี้ว่าคนไทย)
         ในเวลาต่อมาคำว่า ชาติ ได้ถูกใช้เรียกกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างเป็นแบบของตนเองแยกให้เห็นเด่นชัดได้จากกลุ่มอื่น เช่นกลุ่มในสมาคมช่างฝีมือในยุคกลางในยุโรป นอกจากนี้ยังถูกใช้เป็นคำเรียกคนต่างถิ่นเช่นพวกพ่อค้า กองทหาร หรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในยุคนั้น เป็นต้น สมมติเราเรียกคนพวกหนึ่งว่า พ่อค้าชาติเวนิซ ก็หมายถึง กลุ่มพ่อค้าที่ปักหลักทำการค้าอยู่ที่แถบเมืองเวนิซและได้เดินทางมาทำการค้าที่เมืองเรา กองทหารชาติเวนิซ ก็หมายถึงกลุ่มทหารที่รับจ้างเป็นทหารประจำอยู่ที่นครเวนิซและได้เดินทางมาทำธุระที่เมืองของเรา
         ไม่ว่า ชาติ จะถูกใช้เรียกสายเลือดหรือถิ่นเกิดหรือกลุ่มตามพัฒนาการของคำดังกล่าว     แต่ ชาติ ในความหมายสมัยใหม่ที่หมายถึงรัฐซึ่งมีประชากรที่ถือสัญชาติว่าเป็นพลเมืองหรือประชาชนของรัฐนั้น (อันไม่คลุมถึงคนต่างด้าวที่มาปักหลักทำมาหากินอยู่ในเขตแดนของรัฐนั้น) และอยู่ใต้รัฐบาลที่มีอำนาจกลางคอยจัดการผลประโยชน์ของรัฐอันถือว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมของสมาชิกทั้งสังคม  ชาติ ในความหมายเช่นนี้เป็นของใหม่มากโดยปรากฏเค้าเงื่อนชัดขึ้นในคำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมืองในการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี ค.. 1789   ชาติ ในความหมายสมัยใหม่ก็คือ ชาติคือรัฐซึ่งก็คือประชาชน  ความหมายนี้หมายรวมเอาทั้งที่ตั้ง ตัวการปกครอง และผู้เป็นองค์อธิปัตย์ เข้าไว้ด้วยกัน ชาติ กับ รัฐ กลุ่มชนที่อาจสืบสายเลือดมาด้วยกันและได้มาอยู่ในพื้นที่หรืออาณาเขตเดียวกัน นัยที่รวมเป็นสิ่งเดียวกันนี้เรียกว่า รัฐชาติ ตรงนี้คือความหมายแบบสมัยใหม่ รัฐชาติประกอบไปด้วยพลเมืองที่อาจมีชาติพันธุ์เดียวกันหรือไม่ก็ได้ อาจมีวัฒนธรรมร่วมกันหรือมีความต่างทางวัฒนธรรม อาจมีถิ่นฐานดั้งเดิมบนพื้นที่เดียวกันหรือต่างภูมิลำเนา แต่ภายใต้เขตแดนปัจจุบันของรัฐชาตินั้นๆ เมื่อคนคนหนึ่งได้เป็นสมาชิกของรัฐชาตินั้นๆจนเรียกสถานะได้ว่าเป็นพลเมือง เขาคนนั้นจะมีศักดิ์ศรีมีสิทธิและพันธะพื้นฐานเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆและได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักของกฎหมายอย่างเสมอภาคกัน ดังนั้นรัฐชาติก็คือรัฐของพลเมือง พลเมืองไม่ใช่ไพร่ที่ต้องขึ้นต่อมูลนายดังรัฐแบบราชอาณาจักร และไม่ใช่พสกนิกรที่ขึ้นต่อพระราชาดังรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สิทธิทางการเมืองดังเช่นการออกเสียงแสดงมติซึ่งแต่เดิมมีแต่ในหมู่พวกเจ้า, ขุนนางและนักบวชในระดับสูงเท่านั้น ในบัดนี้กลายเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้เป็นพลเมืองไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือคหบดีสืบตระกูลเก่าแก่ ประชาชนหรือพลเมืองคือเจ้าของอธิปไตยไม่ใช่กษัตริย์[5] เจตนารมย์ของสังคมก็คือเจตนารมย์ร่วมของพลเมืองหรือประชาชน  ผลประโยชน์ของสังคมก็คือผลประโยชน์ของประชาชน

รัฐชาติกับชาตินิยม
         ในสมัยของโรมัน ชาติ [natio][6]มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า gens และ populus ซึ่งมีความหมายชี้ถึงผู้คนหรือชนเผ่าที่ยังไม่ถูกจัดระเบียบเป็นชุมชนทางการเมือง โดยมักใช้เรียกพวกที่ถูกถือว่าเป็นพวกคนป่า [savage] พวกคนเถื่อน [barbaric] หรือพวกนอกศาสนา [pagan] ความหมายเช่นนี้ยังได้ใช้กันต่อๆมาตลอดยุคกลางจนถึงศตวรรษที่15         แม้แต่ค้านท์ [Kant]นักปรัชญาคนสำคัญที่ถือกันว่าเป็นผู้ตกผลึกความคิดของสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา [the Enlightenment] ซึ่งเป็นสกุลที่ให้อิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ [ดู บุญส่ง 2539-2540: 64-68] ก็ยังใช้คำว่า ชาติ [nation] ในความหมายของ gens อันหมายถึงชุมชนของผู้คนที่สืบจากกำพืดเดียวกัน ผู้ซึ่งมาอยู่ร่วมกันตั้งถิ่นฐานในแถบพื้นที่ใกล้เคียงกันและโดยทางวัฒนธรรมนั้นมีภาษา ประเพณีหรือจารีตร่วมกัน แต่ยังไม่ได้ถูกรวมเข้าด้วยกันทางการเมืองในรูปแบบการจัดการของรัฐ [Habermas 1996: 494-495]  คำคำนี้จึงมีนัยแตกต่างไปจากคำว่า civitas ซึ่งหมายถึงพลเมืองในประชุมชนทางการเมือง[7] จนถึงกลางศตวรรษที่18ความหมายตามนัยที่ต่างกันทั้งสองนี้ก็ยังถูกใช้ปะปนกันอยู่
         ในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาปี ค.. 1776[8] และในคำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมืองซึ่งสภาปฏิวัติแห่งชาติที่นำโดยคณะผู้นำการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี ค.. 1789 เป็นผู้ร่างต่างได้ย้ำชัดถึงสิ่งที่เรียกว่าสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งไม่มีใครอาจพรากจากไปได้ สิทธิจำพวกดังกล่าวนี้เป็นของมนุษย์ทุกๆคนไม่ใช่เฉพาะคนพวกใดพวกหนึ่ง  สิทธิเหล่านี้ได้แก่ สิทธิในชีวิต, เสรีภาพ, และการแสวงหาความสุข รัฐชาติแรกสุดจึงตั้งต้นด้วยการชี้นำจากความคิดแบบเสรีนิยม [Liberalism] ซึ่งให้ความสำคัญต่อเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเน้นความเป็นรัฐแบบสัญญาประชาคม [social contract] ซึ่งกำกับการด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ปัจเจกบุคคลแต่ละคนซึ่งมีสิทธิที่ไม่อาจพรากจากไปได้อันถือเป็นสิทธิธรรมชาตินี้ต่างตกลงปลงใจที่จะให้มีการปกครองขึ้นโดยยอมสละการใช้เสรีภาพอย่างไม่มีข้อจำกัดมาอยู่ภายใต้การปกครองดังกล่าว ซึ่งจะมีตัวแทนทำหน้าที่บริหารและมีกฎหมายกำหนดหน้าที่และสิทธิของพลเมือง แต่ละคนต่างยอมสละเสรีภาพที่จะทำตามอำเภอใจ (อันอาจคุกคามและแย่งชิงชีวิตและทรัพย์สินจากผู้อื่นโดยใช้กำลัง)มาเป็นการยอมรับเสรีภาพภายใต้กฎหมายแทน[9]
         เสรีภาพประกอบด้วยความสามารถที่จะกระทำสิ่งใดก็ตามโดยไม่ก่ออันตรายกับผู้อื่น ดังนั้น การใช้อำนาจตามสิทธิธรรมชาติของแต่ละคนจึงไม่มีข้อจำกัดเว้นเสียแต่การใช้แบบดังที่ว่ามานั้น ซึ่งจะประกันให้กับสมาชิกอื่นๆในสังคมธำรงความพึงพอใจในการใช้สิทธิอย่างเดียวกัน ข้อจำกัดดังกล่าวนี้จักกระทำได้ก็แต่ภายใต้การกำหนดโดยกฎหมายเท่านั้น [Declaration of the Rights of Man and the Citizen 1789 ฉบับตีพิมพ์ในEncyclopedia Americana Vol.8: 595]
         ผู้บริหารรัฐจึงมีหน้าที่โดยพื้นฐานในการให้ประกันความอยู่สุขและความมั่นคงในชีวิตแก่ประชาชน (พลเมือง) และประชาชนมีสิทธิพื้นฐานที่จะโค่นล้มผู้บริหารและการปกครองที่ทำละเมิดต่อการประกันพื้นฐานดังกล่าวได้ ดังนั้นการเป็นพลเมืองของรัฐหนึ่งใดจึงเป็นเสมือนการเข้าทำสัญญาประชาคมในรัฐนั้นๆร่วมกันกับปัจเจกบุคคลคนอื่นๆ แต่ละคนจึงมีสิทธิและหน้าที่ที่ถูกกำหนดจากการเป็นพลเมืองในรัฐนั้นๆอย่างเสมอภาคกัน เช่นทุกคนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หรือลงประชามติในเรื่องที่กระทบกับวิถีของทั้งสังคม มีสิทธิในทรัพย์สิน มีหน้าที่ต้องเสียภาษีและปกป้องประเทศจากการรุกราน เป็นต้น รัฐจึงก่อให้เกิดชาติขึ้น ชาติมาหลังรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชาติกำเนิดตามการกำเนิดของรัฐ รัฐชาติจึงเป็นรัฐที่กำหนดความเป็นชาติ  และรัฐชาติในสมัยแรกเริ่มนั้นมีพื้นฐานแบบประชาธิปไตย[10]
         การได้สถานะของการเป็นพลเมืองจะนำไปสู่การได้สิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียมกันภายใต้การคุ้มครองจากกฎหมายของรัฐ ในแง่นี้ พลเมืองในรัฐชาติจึงถือได้ว่ามีความเสมอภาคกันมากกว่าสังคมในยุคกลางที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างขุนนางกับชาวนาในผืนดินของขุนนางแบบไม่เสมอภาคแต่ผูกกันด้วยหลักแห่งความภักดีและการคุ้มครองต่างตอบแทนโดยมีระบบอภิสิทธิ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ได้เป็นพลเมืองของรัฐนั้นๆก็เป็นเสมือนไม่ได้เข้าร่วมในการทำสัญญาประชาคมกับปัจเจกบุคคลอื่นที่เป็นพลเมืองในรัฐดังกล่าว จึงเป็นคนนอกและไม่ได้สิทธิที่พลเมืองของรัฐนั้นได้ ประชาธิปไตยในรัฐชาติจึงเป็นประชาธิปไตยในวงแคบเฉพาะพลเมืองของรัฐตน ขณะเดียวกันพลเมืองก็ถูกเรียกร้องให้มีความภักดีต่อรัฐเช่นกันและอาจต้องยอมถึงกับสละชีพตนในคราวจำเป็นเพื่อปกป้องชาติที่กำเนิดขึ้นมานี้ ในแง่นี้ เราจะเห็นได้ว่าความคิดแบบที่เรียกว่าชาตินิยมที่เน้นความเป็นพลเมือง [Civic Nationalism] นั้นเป็นความคิดพื้นฐานของรัฐชาติตั้งแต่สมัยแรกเริ่มด้วยเช่นกัน

กระแสชาตินิยมในรัฐชาติ
         กล่าวอย่างกว้างๆ ชาตินิยมคือแนวความคิดที่เน้นว่าผลประโยชน์ของชาติเป็นสิ่งที่สำคัญแรกสุดเหนือผลประโยชน์ของกลุ่ม ของชนชั้น หรือของปัจเจกบุคคล ชาติกำเนิดหลังรัฐก็จริงแต่ชาติก็ไม่ได้กำเนิดขึ้นมาลอยๆแต่มีฐานอยู่บนกลุ่มชนส่วนใหญ่ที่มาประกอบเป็นพลเมืองของรัฐนั้นๆ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน หรืออยู่ในสายวัฒนธรรมเดียวกัน หรือนับถือนิกายทางศาสนาเดียวกัน หรือมีประวัติความเป็นมาร่วมกันในอดีตบนผืนแผ่นดินดังกล่าว ในแง่นี้ เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ชาตินิยมอ้างอิงถึงว่าเป็นรากฐานจึงเป็นเรื่องของ สายเลือด หรือ วัฒนธรรม หรือ จารีต หรือ แผ่นดิน  และมักอ้างว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์
         กระแสชาตินิยมในรัฐชาติจะย้ำว่ารัฐชาติของตนต้องถูกปกครองโดยคนในชาติของตน
สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของชาติตนถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่รัฐชาติอื่นๆหรือองค์กรระหว่างประเทศจะต้องให้ความเคารพ เมื่อชนกลุ่มน้อยในรัฐชาติแห่งใดประกาศอ้างสิทธิประเภทดังกล่าวนี้เพื่อขอแยกดินแดนออกจากรัฐนั้นๆ เราจึงเรียกกระแสการเรียกร้องเช่นนี้ว่ากระแสแบบชาตินิยม
         แม้ว่าความคิดแบบเน้นการผูกพันกับสายเลือดหรือถิ่นเกิดหรือวัฒนธรรมจะเป็นแนวความคิดที่มีมาแต่โบราณ  แต่ในแง่หนึ่ง ชาตินิยมเป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่ เพราะอิงพื้นฐานกับความคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมืองในกรอบของรัฐชาติซึ่งเน้นสถานะของการเป็นพลเมืองว่าเท่าเทียมกันและนำไปสู่การได้สิทธิพื้นฐานภายใต้การคุ้มครองจากกฎหมายในแบบเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชาตินิยมนั้นอิงหลักการพื้นฐานของรัฐชาติสมัยใหม่ซึ่งได้อิทธิพลจากแนวคิดแบบเสรีนิยมที่เน้นการเป็นองค์อธิปัตย์ของประชาชนหรือพลเมืองและผลประโยชน์แห่งชาติถูกนิยามว่าเป็นการแสดงออกของเจตน์จำนงทั่วไปของพลเมือง แต่ชาตินิยมตีความเจตน์จำนงของประชาชนนี้ให้เป็นเรื่องของการธำรงไว้ซึ่งเอกภาพที่มีฐานอยู่บนชาติพันธุ์หรือถิ่นกำเนิดหรือวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ ตามแต่จะใช้อ้างอิงแตกต่างกันไปในแต่ละนักชาตินิยมและตามภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของการกำเนิดรัฐชาตินั้นๆ
         การที่เราถือเกิดมาในสังคมหนึ่งใด ชาตินิยมอ้างว่าเราเป็นคนของสังคมนั้นๆ ตัวตนของเราและการมีเอกลักษณ์อย่างมีความหมายนั่นเป็นเพราะการที่เราเป็นคนของสังคมที่เรากำเนิดมานั่นเอง ชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์หรือเน้นวัฒนธรรมจะนิยามการกำเนิดครอบคลุมถึงกรณีของการสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษแม้จะไปเกิดที่ถิ่นอื่นก็ตาม การหาพบรากเหง้าของตนนี้จึงเป็นเสมือนการค้นพบตนเองและเป็นการนำคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตที่แท้จริงกลับคืนมาสู่ตัวเอง ในแง่นี้ เอกลักษณ์ของสังคมซึ่งใช้การนิยามจากรากเหง้าจึงเป็นเอกลักษณ์ของตัวตนของเราโดยบริบูรณ์ การสูญเสียเอกลักษณ์นี้ไปจึงเป็นการสูญเสียตัวตนของเราโดยสิ้นเชิง ซึ่งเท่ากับการดำรงชีวิตต่อไปอย่างไร้ความหมาย การสละแม้ชีพตนหรือต้องกำจัดพวกอื่นเพื่อปกป้องเอกลักษณ์นี้จึงมีคุณค่าสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด  ในแง่นี้ เราจะเห็นได้ว่าความคิดแบบคลั่งชาติและแบบคลั่งเผ่าพันธุ์นั้นมีพื้นฐานอยู่ในแนวคิดชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์หรือเน้นวัฒนธรรม และในรัฐชาติหนึ่งๆ เมื่อชนชาติพันธุ์ที่เป็นชนส่วนใหญ่ในรัฐชาตินั้นมีความคิดชาตินิยมแบบนี้ การใช้เครื่องมือทางการเมืองเพื่อบีบชนชาติพันธุ์ส่วนน้อยให้ทิ้งเอกลักษณ์ของตนและปรับตนรับเอกลักษณ์ที่กำหนดโดยชนส่วนใหญ่นี้จึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากและนำความขัดแย้งทางสังคมมาให้ เพราะภายใต้แรงบีบดังกล่าวบ่อยครั้งกลับทำให้ชนกลุ่มน้อยมุ่งปกป้องเอกลักษณ์ของกลุ่มตนอย่างมุ่งมั่นเพื่อต่อต้านการครอบงำจากชนส่วนใหญ่จนเกิดเป็นกระแสชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์หรือเน้นวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย   ตัวอย่างในแบบนี้มีปรากฏมาตลอดในประวัติศาสตร์อันไม่จำเป็นต้องยกมากล่าวอีกในที่นี้  เราจึงกล่าวได้ว่า กระแสชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมเป็นกระแสที่มีความใจแคบ กล่าวคือ ใช้อ้างเพื่อให้ความชอบธรรมกับการกระทำของพวกตัวเองแต่ไม่ยอมให้กลุ่มอื่นใช้อ้างเช่นเดียวกัน
         ต่อไปนี้เราจะได้ลองพิจารณาข้อวิพากษ์ต่างๆที่มีต่อความคิดแบบชาตินิยม

ความพร่องเหตุผลของความคิดแบบชาตินิยม
         ฟูกูยามา [Fukuyama 1992: chapter 25] นักรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงได้วิพากษ์แนวคิดชาตินิยมว่า ชาตินิยมเป็นแนวคิดที่ไม่เป็นเหตุผลอย่างเต็มที่ เพราะแม้จะขยายกลุ่มคนที่ตนยอมรับว่ามีสิทธิพื้นฐานจากแค่พวกเจ้าและขุนนางมาสู่คนทั่วไป แต่ก็จำกัดให้สิทธิเฉพาะพลเมืองในรัฐตนหรือกลุ่มที่มีชาติพันธุ์เดียวกัน ดังนั้นแม้จะเป็นประชาธิปไตยและเน้นความเสมอภาคมากกว่าพวกราชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่อาจนับได้ว่าเป็นแนวคิดแบบสากลนิยมที่ยอมรับการตระหนักในความเป็นมนุษย์อันมีสิทธิพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในดินแดนใดๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชาตินิยมยอมรับว่าพลเมืองของตนหรือกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีที่เราต้องยอมรับ แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆที่เหลือนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฟูกูยามาเห็นว่าปัญหาที่เกิดตามมา (และได้เคยเกิดขึ้นมาจริงๆแล้ว) ก็คือ
    1. การตระหนักในศักดิ์ศรีมนุษย์แบบนี้มีศักยภาพในการที่จะก่อความขัดแย้งกับกลุ่มอื่นๆที่แสวงหาการตระหนักถึงศักดิ์ศรีของกลุ่มตนเช่นกัน
    2. เป็นไปได้เต็มที่ที่ความคิดแบบนี้จะพัฒนาเป็นความคิดแบบจักรวรรดินิยม [Imperialism] โดยถือว่าพวกตนเองนั้นเหนือกว่าคนอื่น และเหมาะสมกว่าที่จะเป็นพวกที่ไปปกครองคนกลุ่มอื่น
         ดังที่ผู้เขียนได้แสดงไว้ในตอนก่อนหน้านี้แล้วว่า ชาตินิยมเป็นปรากฏการณ์ในยุคใหม่ในความหมายที่ว่าอิงพื้นฐานกับความคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมืองในกรอบของรัฐชาติ โดยอิงหลักการเน้นความเสมอภาคของพลเมืองในรัฐตน เมื่อพิจารณาข้อวิพากษ์ของฟูกูยามาเราจะเห็นได้ว่าฟูกูยามามองข้ามความแตกต่างที่สำคัญระหว่างแนวคิดชาตินิยมแบบเน้นความเป็นพลเมืองกับแนวคิดชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรม แม้ว่าชาตินิยมทั้งสองแบบจะเน้นความเสมอภาคของสมาชิกของกลุ่ม แต่กลุ่มของชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์นั้นแคบกว่า กล่าวคือ แม้ภายในรัฐชาติเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์อื่นซึ่งเป็นพลเมืองเหมือนกันกลับถูกถือว่าด้อยกว่าหรือถูกจำกัดสิทธิ ในรัฐนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยิวที่ถือสัญชาติเยอรมันกลับได้รับการปฏิบัติแตกต่างและถูกจำกัดสิทธิอย่างเป็นทางการ ชนชาติกลุ่มน้อยในรัฐทางแอฟริกาหรือในเอเชียเช่นในพม่าถูกชนชาติส่วนใหญ่ริดรอนสิทธิต่างๆและกำหนดการเลือกปฏิบัติอย่างแจ่มชัด ชนผิวดำในรัฐทางใต้ของอเมริกาในกลางศตวรรษนี้ก็เผชิญปัญหาในแนวเดียวกันจากพวกเหยียดผิว
         ชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์จึงเป็นชาตินิยมที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าชาตินิยมแบบเน้นความเป็นพลเมืองแม้แต่ภายในเขตรัฐชาติตน ขณะที่ชาตินิยมแบบเน้นความเป็นพลเมืองเปิดกว้างมากกว่าโดยถือว่าการเป็นพลเมืองมาก่อนชาติพันธุ์ เผ่าพันธุ์ ผิวสี หรือวัฒนธรรมหรือความเชื่อในลัทธิทางศาสนา กล่าวคือ พลเมืองแต่ละคนอาจมีกำเนิดที่แตกต่างกันมา สืบเชื้อสายและมีลักษณะทางกายภาพภายนอกรวมทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน แต่เมื่อเป็นพลเมืองของรัฐเดียวกันและเข้าร่วมในกิจกรรมสาธารณะ พวกเขามีสิทธิและหน้าที่และศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน ไม่มีใครกันเขาออกไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ยิ่งกว่านั้น ชาตินิยมในแบบนี้โดยแนวคิดไม่จำเป็นต้องปฏิเสธความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของมนุษย์ในรัฐอื่นๆ กล่าวคือ ไม่จำเป็นต้องยึดแค่ความเสมอภาคและประชาธิปไตยในรัฐตนแต่ยังขยายออกไปให้ครอบคลุมถึงคนอื่นๆได้   พัฒนาไปสู่แนวคิดเรื่องการยอมรับและพิทักษ์ศักดิ์ศรีมนุษย์โดยไม่จำกัดแค่ด้วยการสังกัดรัฐตนได้เช่นกัน    โดยพื้นฐานความคิดจึงไม่ได้ขัดกันกับความคิดแบบสากลนิยมที่ฟูกูยามาชื่นชม เว้นแต่เมื่อถูกนำไปผูกกับความคิดเรื่อง เอกลักษณ์แห่งชาติซึ่งนักชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์ชอบใช้อ้างว่าเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นชาติ
         ปัญหาตามมาสองประการที่ฟูกูยามาชี้ให้เห็นนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นผลโดยตรงจากความคิดชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์หรือเน้นวัฒนธรรมนั่นเอง จักรวรรดินิยมในประวัติศาสตร์เป็นตัวอย่างที่แจ่มชัดถึงฐานความคิดที่วางอยู่บนแนวคิดชาตินิยมแบบหลัง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโคโซโวที่ชาวเซิร์บกระทำต่อชาวมุสลิม แนวคิดแบบ Zionism ของชาวยิวในอิสราเอลที่ส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติรวมทั้งการใช้ความรุนแรงกับชาวปาเลสไตน์ มุสลิมหัวรุนแรงที่มุ่งทำลายล้างชาวยิว การปฏิบัติต่อชนผิวดำของชนผิวขาวในแอฟริกาใต้ก่อนยุคประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา ทหารไทยจำพวกที่มีแนวคิดแบบคลั่งชาติที่ประกาศปกป้องเผ่าพันธุ์ไทยและมองผู้ที่คิดแตกต่างเป็นอริราชย์ศัตรูที่ต้องกำจัดทิ้ง ตัวอย่างการใช้ความรุนแรงเหล่านี้มีพื้นฐานบนแนวคิดชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัด   และหากเราจะตระหนักในข้อเท็จจริงปัจจุบันที่ว่ารัฐชาติแทบทั้งหมดเป็นรัฐที่ประกอบไปด้วยพลเมืองที่มีหลากเชื้อสายต่างเผ่าพันธุ์ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีรัฐชาติใดในปัจจุบันที่มีความเป็นเนื้อเดียวกันทางสายเลือด เราจึงควรตระหนักด้วยว่า แนวคิดชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมนั้นถือได้ว่าเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติเพียงไร!

จิตวิเคราะห์ความคิดแบบชาตินิยม
          หลังการล่มสลายของการปกครองระบอบคอมมิวนิสม์ในยุโรปตะวันออกและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตมีรัฐชาติใหม่ๆจำนวนมากเกิดขึ้นพร้อมๆกันกับการเกิดกระแสชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมในรัฐใหม่เหล่านั้นที่อ้างความแตกต่างทางสายเลือด ทางศาสนา และเกิดความขัดแย้งกันเองจนถึงขั้นต้องใช้กำลังอาวุธเข้าประหัตประหารกันภายในรัฐและระหว่างรัฐ จนกระทั่งถึงขนาดพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังที่เกิดขึ้นเช่นในยูโกสลาเวียเป็นต้น การมุ่งกลับไปอิงรากเหง้าไม่ว่าจะเป็นชนชาติหรือศาสนาหรือวัฒนธรรมดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าเป็นการกลับไปหาโล่ป้องกันจากอดีต กระบวนการดังกล่าวนี้มีพื้นฐานทางจิตมาจากการเกลียดชังตัวตนหลังจากได้เผชิญความกดดันจากทรราชย์เบ็ดเสร็จนิยมในอดีตซึ่งได้พยายามสลายเอกลักษณ์แห่งตัวตนที่อิงกับปัจเจกภาพ, วัฒนธรรม, และประวัติศาสตร์[11] เพื่อให้เป็นคนแบบใหม่ที่มีตัวตนแบบใหม่[12]  นี่คือการวิเคราะห์ของคริสเตวา [Kristeva 1993]นักปรัชญาฝรั่งเศส  ซึ่งเสนอคำอธิบายแนวคิดชาตินิยมเชิงจิตวิเคราะห์ไว้ว่า ตัวตนที่ถูกเกลียดชังนี้มีสองตัวตน กล่าวคือ
     1.การเกลียดคนอื่นที่ไม่ได้ร่วมชาติกำเนิดกับเรา โดย ตัวฉัน ถอยตนค้นหาวัยเด็กที่ล่วงเลยมาและถอยเข้าหาหมู่ญาติใกล้ชิดด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นที่ที่ ตัวฉัน ให้ความไว้วางใจได้มากกว่าที่จะไว้วางใจ คนต่างพวก [foreigners] หรือคนอื่นที่ไม่ได้ร่วมชาติกำเนิดเดียวกับตัวเรา
     2.การเกลียดตนเอง เมื่อผ่านการเผชิญกับความรุนแรง และเมื่อตัวปัจเจกบุคคล ตัวฉัน นี้เกิดความสิ้นหวังต่อคุณสมบัติของตนเอง เกิดหวั่นเกรงต่อเสรีภาพของตนเองซึ่งต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่มากเกินไป จึงถอยตนถอนตัวเข้าสู่โล่ปกป้องของครอบครัว, ชาติพันธุ์, กลุ่มวัฒนธรรม,หรือกลุ่มผิวสี
         จากการเกลียดชังที่ปกป้องตนนี้เองที่ค่อยๆเฉได้ง่ายๆเข้าสู่การเกลียดชังที่ถึงขั้นต้องใช้การประหัตประหาร จากการอยู่ในสภาพของ ดวงจิตที่บาดเจ็บนี้เราก็หันไปรอบๆทำการโจมตีชาติบ้านใกล้เรือนเคียงที่ต่างก็เผชิญความเจ็บปวดอยู่เช่นกันจากทรราชย์เบ็ดเสร็จทางการเมืองและทางศาสนาในอดีต ตรงนี้จึงเป็นการมองหาช่วงที่เปราะในสายโซ่ของความเกลียดชังเพื่อให้มาเป็นแพะรับบาปจากความตกอับของตนเอง
         คริสเตวาเห็นว่าสภาพจิตของการกลับเข้าหากำเนิดอย่างไม่สิ้นสุดนี้ก็เพื่อจะได้หนีให้พ้นจากกำเนิดของตนเอง [Kristeva 1993: 4] กล่าวอีกนัยหนึ่ง การกลับสู่กำเนิดนั้นที่จริงเพื่อหนีจากกำเนิดเพราะไม่พอใจในกำเนิดนั่นเอง แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าเราเป็นใคร แต่เพราะเราเป็นของกลุ่ม ดังนั้นเราก็ขอแค่ติดตามกลุ่มไปก็เท่านั้น     ตรรกแห่งการคิดเช่นนี้ก็ได้ชักนำตัวเราไปสู่วัตรแห่งการกระเสือกกระสนหากำเนิด
         แนวคิดชาตินิยมดังกล่าวจึงเป็นเพียงแค่ปฏิกิริยาของความเกลียดชังตัวตนของตนเอง และถ่ายโอนความเกลียดตัวตนของตนเองนี้ไปสู่คนอื่น(ตัวตนอื่น )แทน กระนั้น คริสเตวาก็ยังเห็นว่ารัฐชาติยังคงมีความสำคัญ แม้ว่าโลกปัจจุบันจะมีการเปิดพรมแดนโยกย้ายถ่ายโอนประชากรด้วยการอพยพ,การตั้งถิ่นฐานใหม่หรือการลี้ภัยจากรัฐหนึ่งไปยังอีกรัฐ แม้ว่าจะมีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับยุโรปและระดับโลกก็ตาม คริสเตวาเห็นว่า ชาติหรือรัฐชาตินี้จะยังคงดำรงอยู่และยืนยงต่อไปแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนภายในตัวรัฐชาติก็ตาม คำถามที่สำคัญกว่าก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้รัฐชาติมีตัวตนในแบบชาตินิยมดังกล่าว?
         ไม่ว่าก่อนศตวรรษที่ 18 ชาติจะหมายถึงอะไรก็ตาม ชาติในฐานะมโนทัศน์ที่ถูกใช้เพื่อเชื่อมปัจเจกบุคคลเข้ามาในสังคมโดยมีหัวใจที่การเน้นเสรีภาพส่วนบุคคล ชาติในนัยนี้ปรากฏและก่อรูปโดยการปฏิวัติฝรั่งเศส ข้อเท็จจริงที่ว่าเราเป็นคนของกลุ่มและมีกำเนิดในกลุ่ม กล่าวคือ เราเกิดมาในครอบครัว ในถิ่นที่ที่หนึ่งใด ในหมู่คนแวดล้อมเช่นไร ร่างกายทางกายภาพที่เราได้มา (หน้าตา ผิวสี เป็นต้น) และร่างกายทางวัฒนธรรมที่เราได้มา (ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม เป็นต้น) ซึ่งได้ให้เอกลักษณ์หรือตัวตนของเราแก่เรา ข้อเท็จจริงนี้ไม่ใช่ข้อบังคับให้เราเดินตามแนวคิดแบบชาตินิยม แต่กลับเป็นข้อเลือกให้กับเรา ชาติตามนัยนี้มีหน้าที่ที่จะสนับสนุนให้ปัจเจกบุคคลแต่ละคนสามารถเลือกกลุ่มที่ตนสมัครใจเข้าเป็นสมาชิกเพื่อการกำหนดเอกลักษณ์ของตนได้  มีหน้าที่ที่จะต้องกระตุ้นให้ตัวปัจเจกบุคคลผู้ที่ทำการเอกลักษณ์ตนเองให้อยู่ภายใต้หัวชื่อเรียกหนึ่งใดของกลุ่มหนึ่งใดยังสามารถที่จะคิดและใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกับคนต่างพวก [foreigners] ผู้ซึ่งเป็นคนอื่นที่เอกลักษณ์ตนเองให้อยู่ภายใต้หัวชื่ออื่นได้ จนเกิดเป็นสังคมที่ยอมรับความแตกต่างกันระหว่างคนต่างพวกได้  ตรงนี้เองคือความหมายของชาติที่เน้นเสรีภาพส่วนบุคคลซึ่งเป็นพื้นฐานของบูรณภาพในชาติ และอยู่บนทัศนะแบบถือว่าเราต่างเป็นมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน [Cosmopolitanism] ซึ่งคริสเตวาสนับสนุน[13][Kristeva 1993: 15]
         ที่จริงแล้ว  ในคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษย์และพลเมืองเมื่อครั้งปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.. 1789 นั้นมีการแยกความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับพลเมือง ในการยอมรับว่าองค์อธิปัตย์ของชาติก็คือพลเมือง แต่ตามความเป็นจริง กลุ่มชนที่ครอบงำหลักทางสังคมในตอนนั้นเป็นพวกที่ครอบงำทั้งสังคมนั่นเอง และตรงนี้เป็นสิ่งที่คริสเตวาเห็นว่าได้สร้างข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ขึ้นและส่งนัยที่อันตรายทางศีลธรรมซึ่งเราจำเป็นจะต้องข้ามไปให้พ้น  เราต้องพึ่งหลักการสากลที่ข้ามชาติที่เกี่ยวกับมนุษย์ โดยการกลับไปต่อเนื่องความคิดกับมรดกทางความคิดของพวกสโตอิกและออกัสทีน [the Stoic and Augustinian] รวมทั้งการรับความหมายของคำว่าความต่างพวก [foreignness] จากแนวคิดนักคิดฝรั่งเศสสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา
         คริสเตวา [Kristeva 1993 : 17-30] ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของ คนต่างพวก [foreigners] ไว้ดังนี้
     1. ตามเทพปกรณัมของกรีกนั้นผู้หญิงเป็นคนแปลกหน้าคนแรกสุด เมื่อชายในตระกูล Danaides ปฏิเสธการแต่งงานกับญาติหญิงของตน ผู้หญิงที่ถูกปฏิเสธการแต่งงานได้พากันฆ่าตัวตายในวันแต่งงานของพวกตระกูล Danaides คริสเตวาเสนอว่าปกรณัมเรื่องนี้แสดงสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีการแต่งงานในกลุ่มสายเลือดเดียวกันไปสู่สังคมที่มีการเลือกคู่จาก ต่างแดน ซึ่งเป็นคนที่อยู่นอกตระกูล การแต่งงานแบบนี้จึงเป็นการทำสัญญาระหว่างคนแปลกหน้า [strangers] และแสดงสัญลักษณ์ของความรุนแรง (ความก้าวร้าวที่ถูกกดอัดไว้) ที่รองรับพันธะของการแต่งงานระหว่างคนแปลกหน้า
    2. ชาวกรีกเรียกพวกที่ไม่ได้ใช้ภาษาแม่เป็นภาษากรีกว่าพวก barbarians กล่าวคือพูดออกเสียงแล้วฟังเป็น บลา-บลา กล่าวคือ พวกกรีกฟังแล้วไม่เข้าใจ ชาวกรีกใช้คำว่า metic หมายถึงชนต่างถิ่นที่เข้ามาพำนักอยู่ในแถบชานนครของชาวกรีกและไม่มีสิทธิเช่นพลเมืองแต่มีส่วนในการร่วมสร้างเศรษฐกิจให้กับนครรัฐต่างๆของชาวกรีก ชาวกรีกยอมรับคนเข้าเมืองเหล่านี้ด้วยดีบนฐานของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันและให้ความคุ้มครองแต่ไม่ใช่มุ่งหมายรวมเอามาเข้าเป็นเอกภาพเดียวกันกับชาวกรีก อย่างไรก็ตาม เมื่อการค้าขายและการเดินทางระหว่างพวกกรีกกับพวกที่ไม่ใช่กรีกมีถี่ขึ้นในช่วงหลังสงคราม Median และหลังสงคราม Peloponnesian ความคิดในเรื่องการประสานกันเป็นพลเมืองก็เกิดขึ้นดังปรากฏในข้อเขียนของอริสโตเติลเรื่อง Politics และให้อิทธิพลต่อความคิดของนักปรัชญาสโตอิกในยุคโรมัน
    3. หลัก oikeiosis อันเป็นหลักการแห่งการสมานกันระหว่างจักรวาลกับสิ่งมีชีวิต และระหว่างแต่ละคนกับตัวเขาเอง ซึ่งในท้ายที่สุดนำไปสู่การเกิดเมกะโพลิสหรือมหานคร [megapolis] นคร [polis] ขนาดใหญ่ซึ่งรวมเอาทั้งจักรวาลนับจากพลเมืองถึงดวงดาว รวมทั้งชาวกรีกและพวก barbarians รวมหมดทั้งพวกทาสและเสรีชน ตามหลักของพวกสโตอิกนี้นี่คือความหมายแบบสากลนิยมแบบหนึ่งดังที่เมนานเดอร์ [Menander] กล่าวไว้ว่า ฉันเป็นมนุษย์ และไม่มีมนุษย์ใดเป็นคนต่างพวกสำหรับฉัน อย่างไรก็ตาม ชาวสโตอิกยังคงถือว่าพวกตนซึ่งเป็นคนที่ใช้เหตุผลและสติปัญญากำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตมีความสมบูรณ์ในตัวเองไม่เหมือนคนอื่นๆซึ่งไม่ได้ร่วมการมีเหตุผลกับพวกเขา ความเป็นสากลนิยมในแบบของสโต อิกในที่นี้จึงไม่ใช่เป็นในแบบที่เคารพคนอื่น และคนอื่นๆจึงเป็นสิ่งที่มีความแปลกในแง่นี้
    4. พอลชาวยิวจากซิลีเซีย (นักเดินทางแห่งเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกช่วง ค.. 45-60)ได้ สร้างความคิดเรื่อง ecclesia อันเป็นความคิดที่มีส่วนใกล้เคียงกับความคิดในเรื่องเมกะโพลิส ecclesia เป็นชุมชนที่ยอมรับชนต่างพวกไม่ว่าจะเป็นคนพวกที่ถูกถือว่าเป็นพวกชายขอบของสังคม เช่น พ่อค้า กะลาสีเรือ พวกลี้ภัย ยิวที่ไม่เดินตามพวกถือเคร่งแบบดั้งเดิม และพวกผู้หญิง ชนเหล่านี้ในบัดนี้จะไม่ใช่ทั้งกรีกหรือยิวอีกต่อไป แต่จะเป็น สิ่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ชุมชนนี้จึงไม่ใช่ชุมชนทางการเมือง แต่เป็นชุมชนของปัจเจกบุคคลที่ก้าวข้ามพ้นการสังกัดชาติหนึ่งใดโดยอาศัยความมีศรัทธาต่อองค์พระคริสต์ ชุมชนนี้จึงเป็นชุมชนที่อ้าแขนรับทุกๆคนที่ยอมรับศรัทธาในพระคริสต์ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเคยถูกจัดให้เป็นคนต่างพวกใน ที่ใด ชุมชนนี้ต่างกลายเป็นพวกเดียวกัน
    5. ในยุคกลางของยุโรป ออกัสติน [Augustine] ได้รับอิทธิพลทางความคิดข้างต้นและแสดงออกมาในความคิดเรื่อง civitas peregrina อันเป็นอาณาบริเวณแห่งเสรีภาพแต่เพียงแห่งเดียวที่ไปพ้นอาณาบริเวณแห่งการเอารัดเอาเปรียบ การเข้าถึงอาณาบริเวณดังกล่าวนี้ต้องอาศัยการถอยห่างฉีกตนจากเอกลักษณ์ของตนในอดีตและเข้ามายอมขึ้นต่อ civitas ที่ไร้พรมแดนนี้ ที่ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือต่างตอบแทนอย่างเป็นสากลไม่ว่าผู้ใด
    6. แม้ว่าในความคิดชาตินิยมแบบศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิวจะถือว่าชาวยิวเท่านั้นที่เป็นชนชาติที่ถูกเลือกจากพระเจ้า แต่ในตัวความคิดนี้เองก็มีวิธีการจัดการกับความต่างพวกแต่ดั้งเดิมไว้  ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่คริสเตวาเห็นว่าช่วยชี้ทางแก้ปัญหาปัจจุบันโดยเฉพาะของอิสราเอลได้
         เรื่องมีอยู่ว่า ชาวยิวชื่อ Elimelech ได้ไปตั้งถิ่นฐานในโมอาบ [Moab] และบุตรของเขาทั้งสองคนได้สมรสกับเจ้าหญิงชาวโมอาบที่ชื่อรูธ [Ruth] และโอร์พาห์ [Orpah] ทั้งที่มีข้อห้ามไม่ให้ชาวยิวสมรสกับคนต่างพวกโดยเฉพาะพวกโมอาบด้วยเหตุว่าชนเหล่านั้นเคยเป็นศัตรูกับชาวยิวในยุคเอ็กโซดัส [Exodus] หลังจากฝ่ายชายตายรูธและนาโอมิ [Naomi] ผู้เป็นแม่ยายได้อพยพกลับไปยังแคว้นยูเดียและยอมรับศรัทธาในพระเจ้าของชาวยิว เมื่อรูธแต่งงานใหม่กับโบอาส [Boas] และมีบุตรชื่อโอเบด [Obed] ผู้ รับใช้ พระเจ้า  โอเบดผู้นี้เองที่เป็นบิดาของอิไซอาห์ [Isaiah] บิดาแห่งดาวิด [David] กษัตริย์ยิวเลืองนาม นามของรูธได้หายไปในระหว่างนามของนาโอมิกับโบอาส คริสเตวาสรุปว่า เรื่องของรูธคนต่างพวกนี้เองที่เตือนเราว่า การเผยตนให้ปรากฏของพระเจ้าต้องอาศัยความไม่เหมือนกัน อาศัยคนอื่นที่แตกต่างอย่างยิ่ง อาศัยการรับรองความต่างพวกซึ่งในตอนแรกถูกถือว่าเป็นความตกต่ำอย่างยิ่ง  ตามกฎหมายของยิว คำว่า คนต่างพวกมีความหมายเอกลักษณ์กับคนเปลี่ยนศาสนา [proselyte] คำเดียวกันแต่ชี้ถึงความเป็นจริงสองอย่างจนดูราวกับคนต่างพวกที่เราอาจจินตนาการถึงได้นั้นก็มีแต่คนที่ยอมรับกฎและประเพณีของชาวยิวเท่านั้น ต่างพวกจึงเป็นความจำเป็นในการยืนยันศรัทธาต่อพระเจ้า ต่างพวกก็คือพวกเมื่อมีศรัทธาเดียวกัน
    7. ในยุคใหม่เท่านั้นที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ความต่างพวกถูกยกขึ้นมาในระดับของมโนทัศน์และความเป็นจริงทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มงวดในเรื่องนี้ แม้ว่าเราจะสืบทอดทางความคิดมาจากแนวคิดนักคิดฝรั่งเศสสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญาผู้ซึ่งต่อสู้กับความบ้าคลั่งทางศาสนาในทุกประเภท แต่ต้องไม่ลืมถึงความน่าสะพรึงกลัวที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อโรเบสปิแอร์และพวกกำจัดศัตรูโดยมุ่งเป้าไปที่คนต่างพวก โดยออกกฎหมายให้ประหารคนต่างถิ่นได้โดยอ้างเรื่องชาตินิยม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสิทธิของมนุษย์(ไม่ว่าจะเป็นใคร ต่างถิ่นหรือไม่ต่างถิ่น)กับสิทธิของพลเมือง มงเตสกิเออ [Montesquieu- 1689-1755] ผู้เขียน The Spirit of Laws ประกาศปกป้องสิทธิของมนุษย์ว่าอยู่เหนือสิทธิของพลเมือง ดิเดอโร[Diderot- 1713-1784] ในงานที่ชื่อว่า Rameaus Nephew ได้เสนอวิธีการยอมรับความแปลกหน้าด้วยการที่ใส่ความแปลกหน้าให้กับตัวเรา ตัวเรา ก็คือ เขา คนแปลกหน้าสำหรับเรา การตระหนักในความแปลกหน้าของตัวเองเพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจคนต่างพวกที่อยู่ภายนอกตัวเราได้อย่างซาบซึ้งขึ้นแทนที่จะบีบคั้นให้พวกเขาต้องมาตกอยู่ใต้แบบแผนที่กดดันของเรา คริสเตวาเห็นว่านี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากงานของนักคิดฝรั่งเศสในยุคใหม่
         สิทธิที่จะมีหมายหัวเรียกชื่อที่แตกต่างอย่างมีศักดิ์ศรีและความพยายามที่จะล้มล้างสัจธรรมแบบสัมบูรณ์และแทนที่ด้วยสัจธรรมแบบเฉพาะนั้นเป็นปรากฏการณ์ในยุคปัจจุบัน   สำหรับคริสเตวาแล้ว การที่เราสืบสายเลือดจากใคร เกิดในถิ่นไหน เติบโตจากสภาพทางวัฒนธรรมเช่นไร ข้อเท็จจริงทางชีววิทยาและทางสังคมเหล่านี้ผูกเราเข้ากับพื้นที่ที่เราเรียกว่า  บ้าน แผ่นดินแม่ ชาตินิยมใช้การอ้างความเป็นพวกดังกล่าวนี้เพื่อแยกพวก และ ทำลายล้างพวก ในนามของความ รักชาติ ความรักชาติตามเช่นนัยนี้จึงถูกอ้างให้เป็นสัจธรรมสัมบูรณ์และเพิกเฉยต่อสิทธิที่แต่ละคนจะมีหมายหัวเรียกชื่อที่แตกต่างอย่างมีศักดิ์ศรี  ชาติหรือรัฐชาติมีหน้าที่พิทักษ์เสรีภาพส่วนบุคคล ขณะที่ชาตินิยมเป็นของอันตราย  เอกภาพในชาติไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการใช้การแบ่งพวกแบบที่ชาตินิยมกระทำ แต่ด้วยการสนับสนุนหลักการและวิธีคิดที่ทำให้ความแปลกหน้าหรือความต่างพวกกลายเป็นพวกเดียวกับเราด้วยการยอมรับความต่างเช่นที่พวกเขายอมรับความต่างของเราเช่นกัน เพื่อให้อยู่ด้วยกันในโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างนี้ได้อย่างเป็นปกติ
         คริสเตวาจึงเสนอให้เรามีชาติแต่ไม่มีชาตินิยม [Nations without Nationalism] ดังชื่อหนังสือของเธอ  แม้ว่ารัฐชาติจะยังดำรงอยู่ แต่ชาตินิยมไม่ควรที่จะส่งเสริมให้ดำรงอยู่ต่อไป รัฐชาติที่ไม่มีแนวคิดชาตินิยมเป็นรัฐที่เปิดต่อการยอมรับคนแปลกหน้า ยอมรับความแตกต่างของคนอื่นจากตัวเรา เช่นที่เรียกร้องอีกฝ่ายให้มีสภาพจิตที่เปิดกว้างเช่นนี้เช่นเดียวกัน พลเมืองในรัฐเช่นนี้เองที่จะไม่ถูกกดดันจากรัฐจนต้องเกิดความพยายามสร้างตัวตนที่มีฐานอยู่บนความเกลียดชังหรือต้องพึ่งการสร้างปกรณัมเรื่องการกำเนิดและการกลับสู่รากเหง้า

ความใจกว้างที่จำกัดของความคิดแบบชาตินิยม
         วัลเซอร์ [Walzer 1997: 24-30 ] นักปรัชญาสังคมเลืองนามเห็นว่า  ในความเป็นจริงแล้ว
    1. รัฐชาติไม่ได้มีประชากรที่เป็นเนื้อเดียวกันไม่ว่าจะเป็นในแง่ของชาติพันธุ์หรือในแง่ของความเชื่อทางศาสนา ความเป็นเนื้อเดียวกันเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในโลกปัจจุบัน
    2. รัฐชาติไม่เคยเป็นกลางในแง่ของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ชนกลุ่มใหญ่อันเป็นกลุ่มชนที่ครอบงำหลักทางสังคมได้เข้าไปจัดระเบียบชีวิตสังคมส่วนรวมในแบบที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชนกลุ่มตนเป็นหลัก และหากดำเนินการไปได้อย่างที่ตั้งใจ ก็จะเป็นการต่อเนื่องประวัติศาสตร์และธำรงวัฒนธรรมของกลุ่มตนไว้สืบไป กลไกทางการเมืองของรัฐจึงเป็นเพียงจักรกลสำหรับการทำการผลิตซ้ำทางประวัติศาสตร์และทางวัฒนธรรมในระดับชาติของกลุ่มครอบงำดังกล่าว การมุ่งแสวงหาความเป็นรัฐก็เพื่อที่กลุ่มครอบงำดังกล่าวจะได้ใช้เป็นช่องทางในการเข้ามาควบคุมวิถีของการทำการผลิตซ้ำในแบบข้างต้น  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  รัฐชาติก็คือระบบการจัดการทางการเมืองซึ่งให้ทั้งอำนาจและข้ออ้างสำหรับการอ้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจเพื่อดำรงแบบแผนดำเนินชีวิตของกลุ่มตนให้ยืนยงยาวนานและครอบงำแบบแผนชีวิตของชนกลุ่มอื่นๆที่เป็นพลเมืองในรัฐชาติเดียวกันนั้น ดังที่สมาชิกในกลุ่มดังกล่าวอาจมีความทะเยอทะยานในการที่จะขยายอำนาจทางการเมืองหรือเข้าครอบงำการเติบโตทางเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองภายในรัฐ เราจะเห็นได้ว่า พฤติกรรมเช่นนี้สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ในการดิ้นรนข้ามกาลเวลา และอารมณ์ดังกล่าวนี้ก็ได้ถูกใช้เป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมต่อการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว
    3. หากเราพิจารณาในแง่ของความใจกว้างต่อความแตกต่างในรูปแบบการดำเนินชีวิต รัฐชาติที่เป็นเสรีนิยมและเป็นประชาธิปไตยโดยทั่วไปอาจมีความใจกว้างต่อชนกลุ่มน้อย ความใจกว้างนี้อาจแสดงออกในรูปแบบที่หลากหลาย กระนั้น การให้ท้องถิ่นถึงกับมีการดำเนินการปกครองเป็นอิสระกลับเป็นเรื่องยาก และเหตุผลสำคัญก็อยู่ตรงที่กลุ่มครอบงำหลักเองนั้นไม่อยากเห็นสมาชิกในกลุ่มตนต้องไปตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของ ชนต่างพวก ทั้งๆที่พำนักอยู่ใน บ้าน ของตนเอง ความใจกว้างจึงไม่เน้นให้กับในฐานะของกลุ่ม แต่จะมีให้กับในฐานะของปัจเจกบุคคลที่เป็นพลเมืองของรัฐชาตินั้นๆ  แต่ละคนในฐานะที่เป็นพลเมืองนั้นถือได้ว่ามีลักษณะที่เป็นมาตรฐานของการเป็น ประเภท ที่เรียกว่า พลเมือง กล่าวคือ ต่างมีสิทธิและหน้าที่พื้นฐานเช่นเดียวกัน ต่างได้รับการคาดหวังให้เข้าร่วมในทางบวกกับวัฒนธรรมทางการเมืองของชนส่วนใหญ่ พวกเขาอาจก่อตั้งองค์กรหรือสมาคมเพื่อการช่วยเหลือกัน หรือก่อตั้งโรงเรียนเฉพาะ (เช่น สอนศาสนา สอนภาษาถิ่นของชนกลุ่มน้อย เป็นต้น) หรือก่อตั้งสมาคมทางวัฒนธรรม ก่อตั้งโรงพิมพ์ ฯลฯ แต่การที่กลุ่มจะมีการปกครองตนเองเป็นอิสระหรือสามารถมีอำนาจทางกฎหมายเป็นเอกเทศนั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ดังนั้นในฐานะปัจเจกบุคคลมีสิทธิแต่ในฐานะกลุ่มไม่มีหรือมีแต่ถูกจำกัด

    4. รัฐชาติเป็นชีวิตรวมหมู่แบบสาธารณะ [the public collective] ขณะที่ชีวิตรวมหมู่แบบเฉพาะ [the private collective] ก็ยังดำรงอยู่ในรูปของกลุ่มของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์หรือทางศาสนาหรือทางวัฒนธรรมหรือทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าโดยหลักการรัฐชาติจะไม่บังคับปัจเจกบุคคลให้ละทิ้งการแสดงออกทางวัฒนธรรมของกลุ่มตน         แต่การอ้างที่จะแสดงออกทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยในอาณาบริเวณของชีวิตรวมหมู่แบบสาธารณะนั้นกลับสร้างความกังวลใจให้กับชนกลุ่มใหญ่ที่ครอบงำพื้นที่ดังกล่าว  ในความเป็นจริงจึงมีการกดดันให้ปัจเจกบุคคลปรับตัวทำตามวัฒนธรรมของชนกลุ่มใหญ่ อย่างน้อยที่สุดก็ในเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติสาธารณะ (เช่น การสวมผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิมอาจโดนห้ามในอาณาบริเวณทางการ เช่น ในศาล ในสถานศึกษา เป็นต้น อาณาบริเวณส่วนบุคคลของปัจเจกบุคคลที่เป็นสมาชิกของรัฐนั้นๆจึงเป็นเพียงบริเวณเดียวที่รัฐชาติใจกว้างพอให้แสดงออกทางวัฒนธรรม ดังที่ชาวยิวเยอรมันในศตวรรษที่ 19 กล่าวว่า เยอรมันบนท้องถนน ยิวที่บ้าน” [Walzer 1997: 26]

    5. รัฐชาติส่วนใหญ่มักถือว่าภาษาเป็นกุญแจไปสู่ความมีเอกภาพ จึงมีการสร้างกระบวนการกำหนดมาตรฐานของภาษา (นักวิชาการที่ไม่ตระหนักก็มักพยายามปกป้อง ความบริสุทธิ์ของภาษาแห่งชาติไว้  ขณะที่คนทั่วไปกลับพร้อมมากกว่าที่จะยอมรับการใช้ภาษาในแบบของชนกลุ่มน้อยหรือของต่างชาติ เพราะเราไม่ควรลืมว่า ขณะที่ภาษาของชนกลุ่มใหญ่เข้าครอบงำชนกลุ่มน้อย ภาษาก็ถูกปรับเปลี่ยนไปโดยการใช้ของชนกลุ่มน้อยดังกล่าวเช่นกัน) เพื่อบีบภาษาถิ่นให้เปิดทางให้กับภาษา (ถิ่น) ของส่วนกลาง และไม่เต็มใจที่จะเปิดให้ภาษาอื่นมีบทบาทเกินกว่าการสื่อสารภายในครอบครัวหรือกลุ่มกำเนิดหรือกลุ่มทางศาสนา นอกจากนี้ชนกลุ่มใหญ่ที่ครอบงำชาติมักยืนกรานให้ชนกลุ่มน้อยต้องเรียนภาษาและใช้ภาษาของชนกลุ่มใหญ่ในกิจกรรมสาธารณะ เช่น เมื่อไปออกเสียงเลือกตั้ง ไปศาล  ในการทำสัญญาหรืองานทางนิติกรรม เป็นต้น และชนกลุ่มน้อยเมื่อจะท้าทายการครอบงำจากชนกลุ่มใหญ่จึงมักยืนกรานสิทธิที่จะใช้ภาษาตนในกิจทางสาธารณะ และหากมีความเข้มแข็งพอโดยเฉพาะถ้าครองพื้นที่จริงเป็นฐานไว้ ภาษาของกลุ่มดังกล่าวก็อาจได้รับการรับรองให้เป็นภาษาทางการที่สอง  การเมืองของภาษาจึงเป็นเรื่องของการที่แบบแผนครอบงำหลักของชนส่วนใหญ่ถูกท้าทายหรือถูกเสริมพลังให้
    6. แม้ว่ารัฐชาติจะไม่ใจกว้างนักกับกลุ่ม  แต่รัฐชาติจะบีบกลุ่มให้ใจกว้างกับปัจเจกบุคคล ทั้งนี้เป็นผลมาจากความพยายามเปลี่ยนรูปกลุ่มให้กลายเป็นสมาคมประเภทที่เกิดจากความสมัครใจของสมาชิก กลุ่มเป็นสิ่งที่ถูกจับจ้องและสอดส่องเพื่อตรวจสอบโดยชนกลุ่มใหญ่ เมื่อกลุ่มทางวัฒนธรรมกลายเป็นสมาคมที่เกิดจากความสมัครใจ เมื่อนัยยะของการเป็นสมาชิกกลุ่มเป็นไปแบบเสรี การจัดการก็ต้องหลวมขึ้น การควบคุมภายในต่อสมาชิกก็อ่อนลง  หากตัวหลักการของกลุ่มเองไม่เชื้อเชิญสมาชิก ตัววัฒนธรรมไม่ดึงดูดใจ องค์กรไม่ให้บริการที่ดี  สมาชิกก็จะลดจำนวนลงหรือกระจัดกระจาย หรือรักษาไว้ได้แค่สมาชิกผู้เชื่อมั่นจำนวนน้อยหากกลุ่มวางกฎเกณฑ์แบบปิดมากขึ้น ลักษณะเด่นของกลุ่มรวมทั้งวิถีชีวิตของกลุ่มอาจค่อยๆถูกดูดกลืนไปโดยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ทางการสนับสนุน
    7. กระนั้น ภายใต้แรงกดดันจากชนกลุ่มใหญ่ที่ครอบงำชาติ ชนกลุ่มน้อยเองภายใต้ความกลัวการถูกดูดกลืนอาจพยายามในทุกวิถีทางทั้งทางสังคมและทางจิตวิทยาในการต่อต้านและมุ่งมั่นสู่การปกป้องเอกลักษณ์ของตนและกลุ่มที่มีเอกลักษณ์ร่วมกัน หากชนกลุ่มน้อยได้ครอบครองบางพื้นที่ในรัฐอย่างเข้มแข็งก็อาจมุ่งมั่นที่จะแยกตัวออกเป็นอิสระเป็นรัฐของตนเองหรือแยกออกไปรวมกับรัฐใกล้เคียงที่มีพื้นฐานทางเอกลักษณ์ร่วมกันเช่นมีชาติพันธุ์หรือศาสนาเดียวกัน
    8. เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น รัฐชาติเองก็อาจยอมรับให้มีการใช้ภาษาของชนกลุ่มน้อยในกิจสาธารณะหรือยอมให้มีการจัดการการปกครองการบริหารในกลุ่มของตนได้ แต่ให้ได้แค่ในขอบเขตที่จำกัด และบ่อยครั้งอาจพยายามให้ชนกลุ่มใหญ่ย้ายถิ่นฐานเข้าไปตั้งรกรากในดินแดนที่มีปัญหา (จนอาจกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยเคยเป็นชนกลุ่มใหญ่อยู่ก่อน) และในช่วงที่มีสงคราม ชนกลุ่มน้อยก็มักถูกระแวงในความจงรักภักดีต่อรัฐชาติเสมอ โดยเฉพาะเมื่อพวกนักการเมืองระดับชาติที่เป็นนักชาตินิยมพยายามทำให้ชนเหล่านั้นดูเป็นพวกอันตรายในสายตาของคนทั่วไป ความใจกว้างจะหมดลงเมื่อคนอื่นถูกมองว่าเป็นตัวอันตราย
         เราจะเห็นได้ว่าลักษณะสำคัญของรัฐชาติตามความเป็นจริงก็คือชนกลุ่มใหญ่เป็นสิ่งที่คงทน ความเป็นชาติคือสิ่งที่ชนกลุ่มใหญ่กำหนดขึ้น ซึ่งมักอยู่บนฐานของการกดชนกลุ่มน้อยไว้  ในที่นี้ความขัดแย้งในตัวหลักการเองก็ได้ถูกเผยออกมาให้เห็นชัด เพราะเราจะเห็นได้ว่าแบบแผนของรัฐชาติก็คือ ไม่มีการตระหนักรู้ให้กับกลุ่มในฐานะที่เป็นตัวตนทางการ ปัจเจกบุคคลดำเนินการกระทำในชุมชนไปกับปัจเจกบุคคล ชนกลุ่มใหญ่ที่ครอบงำระดับชาติเท่านั้นที่กระทำในฐานะที่เป็นชุมชน วัลเซอร์จึงกล่าวว่า ความใจกว้างในรัฐชาติจึงมีแหล่งที่มาเพียงแหล่งเดียว และมันจะเคลื่อนหรือไม่เคลื่อนก็แต่ในทิศทางเดียวเท่านั้น [Walzer 1997: 30 ]
         ปัญหาดังกล่าวนี้จะมีทางแก้ไขอย่างไร? เรายังจำเป็นต้องใช้รูปแบบรัฐชาติต่อไปในการดำเนินชีวิตทางการเมืองและสังคมหรือไม่? ก่อนอื่นใด เราจะได้พิจารณาถึงแรงผลักทางอารมณ์ร่วมหมู่ที่ให้พลังกับรัฐชาติก่อน

ชาตินิยมเป็นเรื่องของการสร้างอารมณ์สะเทือนใจ
         แนวคิดชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์ซึ่งอ้างว่ากำเนิดของเราทำให้ตัวตนของเราเป็นของเผ่าพันธุ์ ตัวตนของเราเป็นสิ่งที่สืบทอดมา ไม่ใช่เกิดจากการเลือก  และเรามีหน้าที่ปกป้องเผ่าพันธุ์แม้ต้องสละชีพให้หรือต้องสังหารศัตรูก็ตาม อิกนาเทียฟ [Ignatieff 1993: 1-11] ตั้งข้อสังเกตว่า หากแนวคิดแบบชาตินิยมจะให้ความชอบธรรมต่อการฆ่าศัตรูหรือการยอมตายเพื่อแสดงความภักดีได้  แนวคิดเช่นนี้จะชวนเชื่อได้ก็เมื่อได้อ้างเอาจากธรรมชาติด้านที่ดีกว่าของคนเรา  ไม่ใช่อ้างจากสัญชาติญาณส่วนที่เลวสุดของมนุษย์ เนื่องจากการฆ่าเป็นเรื่องที่เคร่งเครียด ผู้ที่จะกระทำก็จะต้องคิดว่าเขามีเหตุผลที่ดีที่จะกระทำเรื่องเช่นนี้เพื่อให้คิดถึงตนเองในทางที่ดีได้ หากการใช้ความรุนแรงเช่นนี้จะชอบธรรมได้ ก็จะถูกกระทำไปโดยการอ้างว่าทำในนามของของสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน ซึ่งอิกนาเทียฟได้ถามว่า จะมีอะไรดีไปกว่าการอ้างความรักในบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา?
         อิกนาเทียฟได้ตั้งประเด็นที่ชวนให้เราคิดต่อไปว่า นักชาตินิยมเป็นพวกที่มีอารมณ์สะเทือนใจ ระหว่างพวกเซิร์บกับพวกโครแอตในโครเอเชียที่มีปัญหาเชื้อชาติและการฆ่าแบบกวาดล้างเผ่าพันธุ์ หลังยิงศัตรูนักฆ่าเหล่านี้ก็มักร้องเพลงรำลึกถิ่นหรือท่องข้อความบางท่อนที่แสดงถึงมหากาพย์ของชนชาติตน จุดมุ่งหมายที่แฝงไว้ในอารมณ์สะเทือนใจดังกล่าวก็คือการส่งนัยว่าพวกเขาอยู่ในอ้อมโอบของความรักมากกว่าที่จะอยู่ในเหตุผล และเป็นความรักในแบบที่แทบจะเป็นชะตากรรม อีกทั้งแข็งแกร่งกว่าเจตจำนงของตนเอง อิกนาเทียฟเสนอว่า ความรักเช่นนี้ช่วยเสริมความเชื่อที่ว่านี่เป็นเรื่องของชะตากรรมที่แม้ว่าจะโศกกำสรดแต่ก็เป็นพันธะของเราที่จะต้องฆ่า ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดคำถามชวนคิดตามมาว่า หากเราขจัดอารมณ์สะเทือนใจเช่นนี้ทิ้งไป ความต้องการและการอ้างว่าตัวเราเป็นของเผ่าพันธุ์อันเป็นสิ่งที่ชาตินิยมนำเสนอมานี้จะยังคงประสบความสำเร็จในการชักจูงใจหรือไม่?
         นักชาตินิยมอ้างว่ารูปแบบ การเป็นของ ชาติ (เผ่าพันธุ์) นี้เหนือกว่ารูปแบบ การเป็นของ ในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นของครอบครัว ของงาน หรือของเพื่อนฝูง  นักชาตินิยมอ้างว่ารูปแบบอื่นๆที่ว่ามานี้จะมีความมั่นคงได้อย่างไรหากท่านไม่มีชาติให้ปกป้อง และนี่คือสิ่งที่ให้ประกันต่อการยอมสังเวยให้ชาติ หากปราศจากชาติ คุณค่าต่างๆที่ตัวปัจเจกบุคคลจะได้มาก็จะเป็นเพียงสิ่งที่ไร้คุณค่า! ด้วยตรรกทางความคิดที่ว่า ที่ที่ตัวเราขึ้นต่อ (เป็นของ) ที่นั้น เป็นที่ที่ตัวเรามีความปลอดภัย และที่ที่ตัวเรามีความปลอดภัยก็คือที่ที่ตัวเราขึ้นต่อ (เป็นของ) [Ignatieff 1993:  6 ] การเป็นของเผ่าพันธุ์นี้เองจึงเป็นเกราะป้องกันตัวเราจากความรุนแรง ดังนั้น หากชาตินิยมจะชวนเชื่อก็เป็นเพราะมันให้ประกันต่อการใช้ความรุนแรง และมันก็จะชวนเชื่ออีกเช่นกันก็เป็นเพราะมันให้ประกันการป้องกันต่อความรุนแรง ภาพของนักรบผู้นำจึงเป็นภาพของผู้ปกป้องประชาชนของเขา หากเขาฆ่าใคร เขาทำอย่างนั้นก็เพื่อปกป้องที่มาอันสูงส่ง กล่าวคือปกป้องผู้บริสุทธิ์ (ประชากรของเผ่าพันธุ์ตน)
         ผู้เขียนเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของอิกนาเทียฟในที่นี้ และขอย้ำด้วยว่ากลไกป้องกันตนทางจิตวิทยาของนักชาตินิยมต่อการกระทำที่ถือได้ว่า โหดเหี้ยม ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งบำบัดจิตให้ นักรบแห่งเผ่าพันธุ์ เหล่านี้ดำรงชีวิตปกติในโลกได้ โดยการแปรความหมายของการทำลายล้างให้เป็นการสร้างสรรค์ ปีศาจก็ได้กลายเป็นนักบุญในท้ายที่สุด! นักชาตินิยมจึงไม่อยากย้ำในเรื่องการคำนึงด้วยเหตุผล แต่มักเน้นการปลุกเร้าอารมณ์สะเทือนใจแทน

เอกลักษณ์และสำนึกแห่งชาติเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ในจินตนาการ!
         สาธารณรัฐเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่สองฟื้นตัวขึ้นมาใหม่พร้อมกับความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการทางสังคม ความมั่นใจของพลเมืองเยอรมันต่อระเบียบทางการเมืองภายในรัฐของตนที่เราเรียกว่า ความเชื่อมั่นของพลเมืองต่อระบบ นั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะก่อให้เกิดสภาพจิตแบบประชาธิปไตย ซึ่งทำให้พลเมืองตื่นตัวต่อการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างตั้งใจ? สำหรับฮาเบอร์มาส [Habermas 1997: 163] นักปรัชญาคนสำคัญแล้วคำตอบก็คือ ไม่เพียงพอ     
         ฮาเบอร์มาสชี้ว่า การที่มหาชนรัฐหนึ่งใดจะมีเสถียรภาพสูงสุดได้ก็ตราบเท่าที่หลักการในรัฐธรรมนูญของรัฐนั้นได้หยั่งรากลงในความเชื่อมั่นและในการปฏิบัติของพลเมืองของรัฐนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง  การที่พลเมืองในรัฐหนึ่งใดมีความเชื่อมั่นต่อหลักการของระบอบการปกครองตามที่แสดงไว้ในรัฐธรรมนูญและพลเมืองก็ได้แสดงความเชื่อมั่นออกมาเป็นการปฏิบัติ (อันสะท้อนถึงตัวหลักการนั้น) เป็นสิ่งที่สร้างเสถียรภาพที่ยืนยงให้กับรัฐดังกล่าว  พื้นฐานทางจิตแบบประชาธิปไตยของพลเมืองเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยภายในรัฐเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับสังคมปรากฏเป็นความเป็นจริงทางสังคม ฮาเบอร์มาสเห็นว่าสภาพจิตในแบบดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในปริบทของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบที่เป็นเสรีและมีการโต้แย้งเหตุผลกัน โดยเกิดผ่านการวิพากษ์และการเผชิญหน้ากันในอาณาบริเวณที่เรียกว่า อาณาบริเวณสาธารณะ [public sphere] หรือพื้นที่ทางสังคม เครือข่ายของการแสดงออกทางทัศนะและแรงผลักดันต่างๆ เครือข่ายของรูปแบบทางการสื่อสารและทางการปฏิบัติ เครือข่ายเช่นนี้ไม่อาจสร้างขึ้นมาได้โดยอาศัยเพียงวิธีการทางการบริหารจัดการของผู้บริหารรัฐ เครือข่ายดังกล่าวยังเป็นตัวใช้ตรวจสอบอารยธรรมทางการเมืองของชุมชนนั้นๆได้ด้วย เยอรมนีในปัจจุบันมีอารยะทางการเมืองแค่ระดับที่เรียนรู้ที่กล้าที่จะเผชิญหน้าอย่างเป็นสาธารณะกับอดีตผิดพลาดที่ขมขื่น เช่นการยอมรับความผิดพลาดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลก[14]
         ฮาเบอร์มาสชี้ว่า รัฐชาติและประชาธิปไตยเป็นคู่แฝดที่เกิดจากการปฏิวัติฝรั่งเศส  เมื่อมองจากแง่ของวัฒนธรรม ทั้งสองสิ่งนี้ล้วนยืนอยู่ใต้เงาของชาตินิยม [Habermas 1996: 493] เราจะย้อนกลับไปดูพัฒนาการกำเนิดรัฐชาติอีกสักนิดเพื่อความเข้าใจสิ่งที่ฮาเบอร์มาสวิเคราะห์ไว้
         เริ่มต้นจากการที่รูปแบบการปกครองแบบจักรวรรดิอันเป็นรูปแบบการปกครองก่อนสมัยใหม่นั้นมีความไม่มั่นคง และต่อมาเกิดรูปแบบสมาพันธรัฐในแถบนครในยุโรปกลางโดยเฉพาะในแถบสวิส (สวิสเซอร์แลนด์ปัจจุบัน) ที่สร้างการถ่วงดุลย์ความตึงเครียดเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ลงได้ภายใต้การสร้างรูปแบบสมาคมของพลเมืองที่หลากวัฒนธรรมขึ้นอย่างประสบผล ในท้ายที่สุด การกำเนิดของรัฐที่มีดินแดนในครอบครองที่แน่นอนและใช้การบริหารปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลางได้ส่งผลทางลึกต่อโครงสร้างระบบรัฐของยุโรป รัฐแบบรวมศูนย์อำนาจเหล่านี้มีกำเนิดมาจากรัฐแบบราชอาณาจักรและได้อาศัยกระบวนการเปิดประชาธิปไตยตามแนวของฝรั่งเศสพัฒนาเป็นรัฐชาติขึ้นมา
         รัฐที่เกิดในรูปแบบนี้ช่วยค้ำประกันการสร้างเขตพรมแดนที่แบ่งชัด อันช่วยให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสามารถขยายตัวไปทั่วโลก (ประเด็นหลังนี้จะขยายความในบทถัดไป) เหตุที่ทำเช่นนี้ได้ก็เป็นเพราะว่า
    1. รัฐชาติจัดวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการบริหารการปกครองที่กำกับโดยกฎหมายและให้ประกันอาณาบริเวณ (ที่กำหนด) ที่ตัวปัจเจกบุคคลและการกระทำในแบบรวมหมู่จะดำเนินไปได้อย่างเป็นอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงโดยรัฐ
    2. รัฐชาติจัดวางรากฐานสำหรับสร้างความเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างพลเมืองที่มีชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันให้เป็นไปได้ที่จะเดินหน้าไปกับการสร้างรัฐบาลที่มีรูปแบบประชาธิปไตย แม้การกระทำดังนี้จะจ่ายไปด้วยการกดขี่และการกดดันชนกลุ่มน้อย
         ภายใต้กระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ได้ฉีกดึงผู้คนออกจากตำแหน่งเดิมของตนในระดับชั้นทางสังคม ถูกเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากถิ่นเดิม  และถูกแยกเดี่ยวจากกลุ่มเดิมให้เป็นปัจเจกบุคคลซึ่งถือเป็นหน่วยย่อยที่เป็นสมาชิกพื้นฐานของสังคม และนำเข้ามาสู่กระบวนการสร้างบูรณภาพของพลเมืองที่กำกับโดยผู้นำรัฐเพื่อสร้างเอกภาพทางวัฒนธรรม เมื่อรัฐใช้ช่องทางของการสื่อสารมวลชนที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าวมาแพร่กระจายและสร้างสำนึกและความคิด จึงเกิดจิตสำนึกทางการเมืองของการเป็นสมาชิกของชาติขึ้น
         โดยสรุป รัฐชาตินั้นตั้งต้นที่พื้นฐานแบบประชาธิปไตยในเรื่องสิทธิและศักดิ์ศรีอันเสมอภาคกันของพลเมือง (ประชาชน) ในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากรัฐแบบราชอาณาจักร, แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, หรือแบบจักรวรรดิ กระนั้นทั้งรัฐชาติและประชาธิปไตยในช่วงดังกล่าวก็ดำเนินไปใต้เงาของความคิดแบบชาตินิยม ความคิดเรื่องชาติในความหมาย จิตวิญญาณของประชาชน [the spirit of the people][15] ซึ่งเป็นรูปแบบสมัยใหม่ของการสร้างเอกลักษณ์แบบรวมหมู่ ได้ถูกใช้เป็นแรงผลักเพื่อสร้างความมั่นใจต่อระบบใหม่ที่เกิดขึ้น ประชาชนที่เป็นพลเมืองผู้ที่มีความภูมิใจในการเป็นพลเมืองของรัฐนั้นเป็นตัวเคลื่อนทางการเมืองที่สำคัญในช่วงการก่อรูปและการธำรงรัฐแบบสมัยใหม่นี้ สิ่งที่เรียกว่า การตระหนักรู้ตนเองหรือจิตสำนึกแห่งชาติ ที่มีฐานอยู่บนการอิงกำเนิด, ภาษา, และประวัติศาสตร์ร่วม ซึ่งสร้างนัยของการเป็นของชุมชน จึงเป็นความคิดที่รัฐจำเป็นต้องปลูกฝังเพื่อทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของรัฐนั้นๆได้ตระหนักถึงการอยู่ภายใต้รูปแบบอย่างใหม่ทางการเมืองของการที่ต่างเป็นของกันและกัน [Habermas 1997: 171] ชาติตามนัยแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา เป็นสิ่งประดิษฐ์ในจินตนาการที่มักถูกอ้างว่าเป็นสิ่งธรรมชาติและมีการเติบโตแบบธรรมชาติ เพื่อให้เชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นโดยพื้นฐานต่อการสร้างเอกลักษณ์ของตัวตนของเราอย่างมีความหมาย
         ความคิดเรื่องชาติแบบสมัยใหม่นั้นผูกอยู่กับมโนทัศน์เรื่องเสรีภาพที่เสมอภาคกันสามประการ กล่าวคือ
    1. เสรีภาพส่วนบุคคลของพลเมือง ซึ่งรัฐต้องให้ความเคารพ เสรีภาพส่วนนี้จะถูกให้ประกันโดยการออกเป็นกฎหมายเชิงยืนยันสิทธิและเสรีภาพ [positive laws]
    2. เสรีภาพในแง่ที่ถือว่าตัวพลเมืองแต่ละคนเป็นสิ่งที่มีเอกองค์อำนาจทางการเมือง (จึงเป็นเจ้าของอธิปไตยได้)
    3.ความคิดเรื่องเสรีภาพของชาติ ซึ่งเป็นมโนทัศน์แบบเฉพาะและนำไปสู่ความคิดแบบที่ถือว่าอิสรภาพของชาติตนนั้นต้องปกป้องหากจำเป็นโดยผู้เป็น บุตรสืบสายโลหิต ในที่นี้ชาติเปรียบเป็นพ่อ พลเมืองก็เปรียบเป็นบุตร[16]
         รัฐเรียกร้องพลเมืองให้ยอมตายเพื่อปกป้องบ้านเมืองเพื่อพิทักษ์ประโยชน์สุขของส่วนรวม หน้าที่ทั่วไปทางทหารได้กลายเป็นหน้าที่ของพลเมืองนับจากการปฏิวัติฝรั่งเศส[17]  เสรีภาพแห่งชาติกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รองรับ [trancendence] รัฐสมัยใหม่ที่พยายามลบล้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ดังที่ลดบทบาทของศาสนจักรให้จำกัดอยู่แต่ในอาณาบริเวณส่วนบุคคลของผู้คน)
         รัฐชาติจึงมีธรรมชาติสองด้าน ด้านแรกคือความคิดเรื่องพลเมือง ซึ่งเป็นฐานสร้างความชอบธรรมให้กับประชาธิปไตย อีกด้านคือการกำเนิดรัฐแบบ Volksgenossen ซึ่งอ้างอิงรากฐานทางวัฒนธรรมร่วมเพื่อนำมาเป็นตัวสร้างบูรณการในชาติ  ในด้านแรก พลเมืองดำรงตนเองในฐานะสิ่งที่มีเอกองค์อิสระทางการเมืองและเข้าสมาคมทางการเมืองอย่างเสรีและเสมอภาคกัน นี่คือด้านที่เป็นความคิดแบบสากลนิยม ในด้านที่สอง Volksgenossen คือการที่ถือว่าพลเมืองของชาติตนนั้นเป็นคนของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งใด  ต่างถูกผูกเข้ามาด้วยกันโดยการใช้ภาษาร่วมเดียวกันและมีชะตากรรมทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน [Habermas 1997: 173-174] นี่เป็นด้านที่เป็นความคิดแบบเน้นความเป็นเฉพาะที่มาจากชะตากรรมทางประวัติศาสตร์  โดยอ้างเอาจากภาวะของความบังเอิญที่เราเกิดมาในชุมชนหนึ่งใด สืบเชื้อสายมาจากคนหมู่ใด อ้างเอาปริบทของการกำเนิดของเรามาย้ำว่าเราต้องมีความภักดีต่อกลุ่มตน และอ้างด้วยว่าผืนแผ่นดินที่เราเหยียบอยู่นี้ ทำกินอยู่นี้ ตั้งรกรากอยู่นี้ เป็นอาณาบริเวณที่ต้องปกปักรักษาไว้ให้กับสายเลือดแบบเดียวกับเราไปนิรันดร ชาติตามนัยแบบหลังนี้ [Volksnation] จึงเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์[18]ขึ้นมาแต่มักจินตนาการตนเองว่าเป็นการเติบโตขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติและใช้นำไปเปรียบเทียบกับกฎหมายเชิงยืนยัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในรัฐ เพื่อแสดงสถานะว่าเหนือกว่า
         ฮาเบอร์มาสเห็นว่า ประวัติศาสตร์ของจักรวรรดินิยมในช่วง ค.. 1871-  .. 1914 และกระแสแนวคิดแบบชาตินิยมในศตวรรษที่ 20 แสดงถึงความคิดเรื่องชาติที่แผ่อำนาจของตนออกไปโดยมีฐานแทบบริบูรณ์ในรูปแบบของการอ้างชาติแบบเน้นวัฒนธรรม รัฐชาติปกป้องอาณาเขตและพรมแดนทางสังคมของตนเองด้วยอาการแทบเรียกได้ว่าประสาท [Habermas 1997: 176] ความกลัวว่าจะถูกครอบงำหรือถูกแย่งชิงอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์และทางสังคมของตนทำให้นักการเมืองฉวยโอกาสหรือใช้เป็นช่องทางนำตนขึ้นสู่อำนาจได้ง่ายๆด้วยการปลุกกระแสรักชาติ ซึ่งมักมีการขานรับจากประชากรบางกลุ่มเสมอ และอาจมีการสอดใส่การปลุกเร้าความเห่อเหิมในคุณสมบัติแห่งชาติตน (ที่ประดิษฐ์ขึ้นมา) จนเกิดเป็นกระแสคลั่งชาติที่ประชาชนคล้อยตามและกระเหี้ยนกระหือกับการขยายอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์และทางสังคมของตนทับของรัฐชาติอื่น ลัทธิจักรวรรดินิยมและกระแสฟาสซิสม์เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดในเรื่องนี้ เราจึงกล่าวได้ว่า คนอย่างฮิตเลอร์ นายพลโตโจ หรือจอมพลสฤษดิ์ ต่างก็เป็นนักฉวยโอกาสจากอาการประสาทแห่งชาติดังกล่าว และเราก็ยังคงพบเห็นนักฉวยโอกาสประเภทนี้ปรากฏตนให้เห็นเป็นระยะๆเสมอมา
         การที่พลเมืองมีความตระหนักถึงความจำเป็นแรกสุดของการได้สิทธิพื้นฐานในการกำหนดชีวิตของประเทศ ด้านที่เป็นพื้นฐานทางประชาธิปไตยนี้อาจถูกดูดกลืนไปโดยชาติในจินตนาการแบบ Volksgenossen ซึ่งนำความสำคัญของกลุ่มมาก่อนสิทธิของปัจเจกบุคคลในฐานะพลเมือง ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า เอกลักษณ์แห่งชาติ หรือ สำนึกแห่งชาติ การกำหนดจากกลุ่มก็อาจเพิกสิทธิพื้นฐานของปัจเจกบุคคลในการดำเนินชีวิตแบบของตัวเองลง นี่คือจุดอันตรายที่เราต้องพยายามป้องกัน
         ฮาเบอร์มาสเสนอว่า พลเมืองที่เป็นประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีรากฐานอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า เอกลักษณ์แห่งชาติ หรือ สำนึกแห่งชาติ อันเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางจินตนาการซึ่งปฏิเสธความหลากหลายของรูปแบบชีวิตทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน [Habermas 1996: 500]   พลเมืองที่เป็นประชาธิปไตยต่างถูกเรียกร้องให้ปรับตนเข้าสู่วัฒนธรรมทางการเมืองร่วมทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่ทำให้การดำรงอยู่ของความแตกต่างในรูปแบบชีวิตข้างต้นเป็นไปได้ หัวใจของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอยู่ตรงที่ว่า ไม่มีใครที่จะถูกกันเอาออกไปจากชุมชนทางการเมือง  และบูรณภาพของแต่ละปัจเจกบุคคลสามารถที่จะสร้างขึ้นมาได้จากการเป็นพลเมืองในพหุสังคมที่ยอมรับความแตกต่างของรูปแบบชีวิตที่หลากหลาย การอิงเอกภาพที่อ้างเอาการมีความเป็นเนื้อเดียวกันมาก่อนโดยการสืบสายเลือดลงมานั้นเป็นสิ่งที่ขัดกันโดยพื้นฐานกับเอกภาพของพหุสังคม
         ในพหุสังคมซึ่งเป็นชุมชนทางการเมืองที่กำหนดชะตากรรมของตนเอง เอกภาพแสดงออกโดยความเห็นพ้องร่วมโดยรูปแบบ อันได้แก่การยอมรับว่า [Habermas 1996: 496]   
    1. พลเมืองสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้โดยถือหลักการที่เป็นประโยชน์เสมอกันสำหรับทุกคน และดังนั้นจึงได้การยอมรับจากทุกฝ่าย การมาสมาคมกันในรูปแบบเช่นนี้อยู่ภายใต้โครงสร้างของความสัมพันธ์ในแบบที่มีการตระหนักต่อกันและกันว่าต่างฝ่ายต่างมีเสรีและเสมอภาคกันอันควรได้รับการนับถือและปกป้องเช่นเดียวกัน
    2. การนับถือและปกป้องที่มีให้แต่ละคนนั้นมีสามด้าน ด้านที่หนึ่งก็คือในฐานะปัจเจกบุคคลที่ไม่มีสิ่งอื่นใดมาแทนที่ได้ ด้านที่สองคือฐานะของการเป็นสมาชิกกลุ่มทางวัฒนธรรมหรือทางชาติพันธุ์หนึ่งใด ด้านที่สามคือฐานะของการเป็นพลเมืองอันเป็นสถานะของการเป็นสมาชิกในชุมชนทางการเมือง ทั้งสามด้านนี้จักต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนให้การตระหนักต่อกันและกัน
        เมื่อเราขจัดมายาภาพเรื่องเอกภาพแห่งเผ่าพันธุ์ลงได้แล้ว การตระหนักว่าในสังคมของเรานั้นมีคนอื่นที่มีรูปแบบชีวิตและกำเนิดและวัฒนธรรมต่างจากเราและดำเนินชีวิตทางสังคมอยู่ร่วมกับเรา  ข้อเท็จจริงนี้เตือนเราว่า หากจะมีสิ่งที่เรียกว่าเอกภาพระหว่างกัน สิ่งนั้นย่อมไม่อาจนิยามจากการอ้างกำเนิดหรือรากเหง้าที่มีมาก่อนตัวเราแล้วเหมาว่าเป็นของร่วมที่ทุกคนต้องเดินตาม เอกภาพระหว่างกันที่อยู่บนฐานของการยอมรับความหลากหลายของรูปแบบชีวิตจึงต้องอยู่บนฐานของการตระหนักในแบบข้างต้นดังที่ฮาเบอร์มาสได้วิเคราะห์ให้เห็น
 
ตัวเหนี่ยวรั้งมโนทัศน์เรื่องชาติ
         การวิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องชาติเป็นการอิงกรอบทางทฤษฎีในการมองปรากฏการณ์ ขณะที่ตัวปรากฏการณ์เองก็เป็นผลมาจากความคิดที่ถูกผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น ในบทนี้เราจะพิจารณาปัญหาของกรอบการมองที่นิยมใช้กัน        
         นีลเซนและคณะ [Couture, Nielsen & Seymour 1996: 56-61]ได้แสดงให้เห็นว่า เราไม่อาจแยกชาตินิยมในแบบเน้นชาติพันธุ์กับแบบเน้นพลเมืองออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง เพราะจะนำไปสู่แนวคิดสุดโต่งที่ปลายทางทั้งสองข้าง อันได้แก่ แนวคิดสากลนิยมแบบนามธรรมและแนวคิดที่เน้นความเป็นเฉพาะอย่างสุดโต่ง  ซึ่งจะทำให้เรามองข้ามข้อเท็จจริงหลายประการ
         ในด้านแรก ดังที่รอว์ลส์ [John Rawls] นักปรัชญาการเมืองและสังคมคนสำคัญในปัจจุบันชี้ให้เห็น พหุสังคมร่วมสมัยต้องการรัฐบาลและกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ข้ามพ้นการถือข้างในทัศนะเฉพาะที่มองว่าชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ตรงนี้แสดงถึงข้อจำกัดของแนวคิดเน้นชาติพันธุ์แบบสุดโต่ง ซึ่งเรียกร้องให้รัฐถือข้างการมองชีวิตที่ดีตามสายตาของกลุ่มชาติพันธุ์ตนเท่านั้น ซึ่งการเรียกร้องเช่นนี้ขัดกับตัวหลักการพื้นฐานของรัฐสมัยใหม่เอง ในด้านที่สองจากข้อเท็จจริงโดยเฉพาะในรัฐแบบสหชาติ [the multination state] ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันที่ต่างต้องการการปกป้องทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ในรัฐธรรมนูญของรัฐเหล่านี้จึงมักไม่ค่อยอ้างถึงหลักการสากลและถือว่ารัฐบาลต้องทำอะไรมากไปกว่าแค่การโปรโมตความรักรัฐธรรมนูญ จึงนำไปสู่แนวคิดแบบชาตินิยมทางวัฒนธรรม [Cultural Nationalism] ตรงนี้แสดงถึงข้อจำกัดของแนวคิดสากลนิยมแบบนามธรรมที่ละเลยข้อเท็จจริงทางสังคมที่ปรากฏให้เห็นชัด
         เพื่อให้เราไม่สับสน เมื่อเรากล่าวถึง วัฒนธรรม  เราจำเป็นต้องแยกระหว่างโครงสร้างของวัฒนธรรมกับลักษณะทางวัฒนธรรม
    1. โครงสร้างของวัฒนธรรม หมายถึงชุดเฉพาะของสถาบันต่างๆ เช่น ภาษา รัฐธรรมนูญ ระบบรัฐสภา ระบบกฎหมาย สถาบันทางความยุติธรรม ระบบการศึกษา ตลอดจนสถาบันทางวัฒนธรรมเฉพาะเจาะจงจำพวก พิพิธภัณฑ์  หนังสือพิมพ์  โรงละคร ห้องสมุด ฯลฯ เป็นต้น
    2. ลักษณะทางวัฒนธรรม หมายถึงสีสันเฉพาะที่ระบายลงไปในโครงสร้างของวัฒนธรรมในช่วงเวลาหนึ่งใด ชนกลุ่มใหญ่ในชุมชนชาติในช่วงเวลาหนึ่งใดได้ส่งเสริมและใช้กลไกอำนาจรัฐที่ตนครอบงำทำให้ค่านิยมเฉพาะของกลุ่มตนกลายเป็นลักษณะทางวัฒนธรรมของชาติในช่วงเวลานั้น  ลักษณะทางวัฒนธรรมนี้จึงอาจดำรงอยู่จริงในช่วงเวลาหนึ่งใด และอาจเปลี่ยนแปลงไปในอีกเวลาหนึ่ง การดำรงอยู่และการเปลี่ยนแปลงนี้มักจะเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างทางวัฒนธรรมเดียวกัน
         ดังนั้น การที่รัฐทำการปกป้องโครงสร้างที่แตกต่างกันทางวัฒนธรรมจึงไม่ขัดกับหลักเสรีนิยม  แต่หากประกาศพันธะที่จะโปรโมตลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมก็จะกำลังทำสิ่งที่ขัดกับหลักเสรีนิยม           เมื่อพิจารณา ชาติ ตามนัยของโครงสร้างทางวัฒนธรรมและลักษณะทางวัฒนธรรมก็จะทำให้เราถอยห่างจากความหมายของ ชาติ ในแบบเน้นความบริสุทธิ์ทางวัฒนธรรมซึ่งในความเป็นจริงเป็นเพียงการสนองความต้องการและความชอบของคนบางกลุ่มที่มักเป็นชนกลุ่มใหญ่ในชุมชนทางการเมืองที่มีทั้งชนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อยที่แตกต่างกันอยู่ปะปนกัน
         ตั้งต้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของสิ่งที่เรียกว่า ชาติในเชิงวัฒนธรรม เคยเป็นในแบบโอบเข้ามารวมเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือ มีความสามารถที่จะประสานปัจเจกบุคคลที่มีกำเนิดแตกต่างกันรวมทั้งพวกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่รวมถึงชนกลุ่มน้อยให้เข้ามายอมรับและร่วมใช้วัฒนธรรมสาธารณะร่วมกับชนกลุ่มใหญ่ในระดับหนึ่ง เมื่อเราพิจารณาให้ดีจะพบว่าแม้ว่าจะมีวัฒนธรรมสาธารณะ ชาติก็ยังอาจมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ เพราะว่าเมื่อเรากล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมสาธารณะ นั้น เรากำลังเข้าใจในแง่ของโครงสร้างทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ในแง่ของลักษณะทางวัฒนธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในฐานะที่เป็นชุมชนทางการเมือง ต้องมีโครงสร้างทางวัฒนธรรม ส่วนลักษณะทางวัฒนธรรมนั้นเป็นเพียงสีสันที่มีการปรับเปลี่ยนได้เสมอโดยโครงสร้างทางวัฒนธรรมอาจยังคงเดิม ความหลากวัฒนธรรมนั้นอยู่ในส่วนของลักษณะทางวัฒนธรรม ซึ่งรัฐชาติไม่ควรส่งเสริมเฉพาะลักษณะทางวัฒนธรรมเฉพาะของกลุ่มหนึ่งใดที่อาจเข้ามามีอิทธิพลสำคัญในช่วงเวลาหนึ่งใด  หากยังสับสนตรงประเด็นนี้ก็จะทำให้การวิเคราะห์นั้นผิดพลาดไป
         เป็นความจริงที่ว่าไม่เป็นชาติหากไม่มีชนกลุ่มใหญ่ และสถาบันสาธารณะที่ทั้งสังคมใช้ร่วมกันอาจสะท้อนเนื้อหาส่วนใหญ่ของชนกลุ่มใหญ่ในรัฐนั้นๆ แต่แค่นี้ไม่อาจทำให้บดบังลักษณะที่เป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมโดยรวมไปได้ ตัวเหนี่ยวรั้งสามประการที่ควรใช้กำกับการวิเคราะห์ในเรื่องนี้จึงช่วยให้เราไม่สับสนในการวิเคราะห์ ตัวเหนี่ยวรั้งนี้ได้แก่
    1. เราควรข้ามพ้นการแบ่งคู่แยกชัดระหว่างนิยามแบบเน้นชาติพันธุ์กับแบบเน้นความเป็นพลเมือง (ตรงนี้เป็นการเตือนให้ระวังในเรื่องของรายละเอียด โดยดูประกอบกับข้อ 3. ซึ่งแสดงรูปแบบที่หลากหลายของรัฐชาติ และการสรุปไปสุดโต่งสองทางดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น)
    2. เราไม่ควรมีอคติในการเลือกชื่นชมเฉพาะต่อรัฐชาติหรือรัฐแบบสหชาติ เราควรยอมรับวิธีการเข้าถึงปัญหาในแบบเน้นเชิงปฏิบัติและอิงปริบท ความยืดหยุ่นในการพิจารณาโดยอิงปริบทมีความสำคัญมากกว่าการยึดมุมมองจาก (ความชื่นชมใน) ตัวแบบของชุมชนทางการเมืองหนึ่งใด และตรงนี้เองที่เป็นการสร้างดุลย์ที่ละเอียดอ่อนพอระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ ดังนั้นเราจึงไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูปมาก่อนปริบทในการตอบว่า หากมีการแยกตัวออกจากรัฐเดิมไปตั้งรัฐใหม่สมควรไหม เพราะเราต้องดูเป็นกรณีไป บางกรณีรวมกันดีกว่า บางกรณีแยกตัวดีกว่า
    3. เราต้องยอมรับว่ามีรูปแบบที่แตกต่างของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเราต้องแยกให้เห็นประเภทที่แตกต่างของกลุ่มทางวัฒนธรรม แล้วเล็งเห็นถึงลักษณะความต้องการเฉพาะของกลุ่มเหล่านี้ เพื่อที่จะได้กำหนดพันธะเฉพาะในรูปแบบความสัมพันธ์ภายในกลุ่มเหล่านี้ เราได้พบว่ามีรูปแบบที่แตกต่างของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เกิดลักษณะปัญหาที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
       3.1  บางรัฐเป็นชุมชนซึ่งประกอบไปด้วยปัจเจกบุคคลที่มีกำเนิดต่างชาติพันธุ์กัน เราเรียกว่าเป็นรัฐแบบหลากชาติพันธุ์ [polyethnic]
       3.2  บางรัฐนอกจากจะมีชนกลุ่มใหญ่(ที่มักมีอิทธิพลครอบงำโครงสร้างทางวัฒนธรรม)แล้วยังมีชนกลุ่มน้อยหลากกลุ่มที่มีความเชื่อและรูปแบบทางวัฒนธรรมเฉพาะของตนเองแตกต่างกัน เราเรียกว่ารัฐแบบหลากวัฒนธรรม [pluricultural]
       3.3  บางรัฐประกอบไปด้วยหลายๆรัฐมารวมกันอีกทีหนึ่ง เราเรียกว่ารัฐแบบสหชาติหรือสหรัฐ [multination states]
         ชุมชนที่ต่างประเภทกันต้องการการจัดการทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ในฐานะรัฐชาติเท่านั้นที่ภายใต้สถานการณ์เฉพาะอาจอ้างสิทธิกำหนดชะตากรรมของตนเองได้อย่างเต็มที่โดยรัฐชาติอื่นไม่อาจเข้าไปแทรกแซงได้ ดังนั้น หนทางเดียวที่จะจัดการกับลักษณะที่มีความหลากหลายที่ปรากฏในรัฐได้อย่างแจ่มชัดก็คือการผ่านนโยบายทางสังคมที่ยอมรับความหลากหลายนี้อย่างชัดเจนออกมาใช้เป็นทางการ  ด้วยวิธีการนี้เท่านั้นที่จะบรรลุความสมดุลย์ที่ละเอียดอ่อนระหว่างสิทธิของปัจเจกบุคคลกับสิทธิแบบรวมหมู่[19]
         ข้อเสนอของนีลเซนและคณะในประการหลังนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ดังที่เราอาจดูได้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและเหตุการณ์ปัจจุบันร่วมสมัยเรา  การไม่ยอมรับสภาพที่เป็นจริงว่าในสังคมหนึ่งๆมีปัจเจกบุคคลและกลุ่มที่แตกต่างทางวัฒนธรรมดำรงอยู่ร่วมกับเราเท่ากับเป็นการปิดกั้นแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมอันเป็นผลมาจากความแตกต่างดังกล่าว นอกจากที่เป็นการแสดงถึงระดับอารยะทางการเมืองที่ต่ำของสังคมของเราที่ไม่กล้าเผชิญหน้าความเป็นจริง ยังเป็นการเก็บกดตัวปัญหาเพื่อรอการระเบิดครั้งใหญ่ เมื่อพิจารณาในแง่นี้ เราก็ควรเห็นพ้องด้วยว่าการผลักดันนโยบายของทางการที่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นการตั้งต้นการแก้ปัญหาที่ช่วยเปิดทางออกให้กับเราอย่างแท้จริง
        
รัฐชาติและชาตินิยมภายใต้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมและกระแสโลกาภิวัตน์
         ภายใต้รูปแบบของรัฐชาติที่มุ่งลดบทบาททางอาณาจักรของศาสนจักรลงให้เหลือแค่อิทธิพลในอาณาบริเวณส่วนบุคคล พรมแดนที่แแน่นอนคือขอบเขตของอำนาจทางการเมืองการปกครองของแต่ละรัฐชาติ ภายใต้แนวคิดแบบเสรีนิยมอาณาบริเวณทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ครอบทับอาณาบริเวณทางการเมืองและทางสังคม[20] รัฐชาติในยุคแรกต่างได้รับอิทธิพลแนวคิดดังกล่าว อาณาบริเวณทางเศรษฐกิจในแต่ละรัฐถูกปล่อยให้เป็นอาณาบริเวณที่เป็นอิสระอันดำเนินไปตามกฎของกลไกตลาด โดยรัฐมีความระมัดระวังที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงโดยไม่จำเป็น และยังถือโอกาสขยายอำนาจไปพร้อมกันกับการขยายตัวในระดับโลกของระบบทุนนิยม การค้าทั่วโลกดำเนินไปโดยกลไกทางการค้าของมันเองและล้มความพยายามที่จะถูกแทรกแซงโดยรัฐด้วยรูปแบบต่างๆ ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่เมื่อรัฐเข้ามาควบคุมการค้าบางอย่าง ตลาดมืดก็เกิดขึ้นมาคู่เคียงกันสลายการควบคุมเบ็ดเสร็จลง นี่คือข้อเท็จจริงทั่วไปที่เราพบเห็นเป็นปกติ แม้แต่ในสภาวะสงครามกลไกทางการค้าก็ยังแสวงหารูปแบบในการดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Schindlers List อาจสังเกตด้านนี้ที่สะท้อนไว้ชัดในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว
         ทุนนิยมโลกภายใต้การปฏิวัติทางการสื่อสารที่ทำให้โลกแคบเข้าราวกับอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน สภาพโลกาภิวัตน์ทางการสื่อสารและทางเศรษฐกิจส่งผลสำคัญต่อการธำรงบูรณภาพของรัฐชาติที่อิงการอ้างเอกลักษณ์แห่งชาติที่สร้างขึ้นมา ในโลกที่ความแตกต่างในทุกรูปแบบชีวิตเปิดให้เราเห็นผ่านสื่อต่างๆอย่างแจ่มชัด การตระหนักในการดำรงอยู่ของคนอื่นเป็นสภาพบังคับที่ทำให้เราไม่อาจปิดหูปิดตาตนเองได้ ไม่เพียงแค่ความเย่อหยิ่งในเอกลักษณ์แห่งชาติตนที่ประดิษฐ์ขึ้นจะเริ่มสั่นคลอน รัฐชาติกำลังเผชิญหน้ากับการท้าทายจากการถูกลดบทบาทและทอนอาณาบริเวณที่ตนเองเคยมีอำนาจ  การแทรกแซงเข้ามาทางการเมืองการปกครองจากองค์กรระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่มีให้เห็นถี่ขึ้น การอ้างสิทธิพื้นฐานสำคัญของรัฐชาติ กล่าวคือ สิทธิของการกำหนดชะตากรรมของตนเองซึ่งมักใช้เป็นข้ออ้างเพื่อไม่ให้รัฐชาติอื่นเข้ามาแทรกแซงนั้นกลับถูกโต้แย้งสิทธิเช่นนั้นทั้งจากองค์กรระหว่างประเทศ จากรัฐชาติอื่น และจากกระแสประชาสังคมของพลเมืองภายในรัฐตนเอง การโต้แย้งความไม่สมเหตุสมผลของการอ้างสิทธิของรัฐชาติในการกำหนดชะตากรรมตนเองโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐชาติอื่นแสดงออกให้เห็นแจ่มชัดดังตัวอย่างจากรายงานของคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งขององค์การสหประชาชาติดังนี้
         จากเหตุผลทั้งหมดที่ได้แจกแจงมา หลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยและแบบแผนที่ทอนมาจากหลักการดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องได้รับการปรับให้ตระหนักถึงความเป็นจริงที่ได้เปลี่ยนแปลงไป รัฐจักยังคงทำหน้าที่สำคัญพื้นฐาน และจักยังคงมีอำนาจที่จะกระทำภาระหน้าที่เหล่านี้อย่างมีประสิทธิผล ทว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้จักต้องอยู่บนการยินยอมอันต่อเนื่องและเป็นตัวแทนถึงประชาธิปไตยของประชาชน นอกจากนี้ ยังต้องถูกจำกัดด้วยผลประโยชน์พื้นฐานของมนุษยชาติ ซึ่งในสถานการณ์ที่เข้มงวดจะถูกถือว่าเป็นสิ่งที่เหนือกว่าสิทธิทั่วไปของรัฐแต่ละรัฐ [The Commission on Global Governance 1995 : 71]        
         นอกจากการขยายตัวของตลาดโลกที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประดารัฐชาติถูกผูกเข้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจเดียวกันทั่วโลก อันทำให้กระบวนการไหลเวียนของทุนและการผลิตสินค้าดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยไร้พรมแดนกีดกัน นอกจากการขยายตัวของระบบการสื่อสารสมัยใหม่และสื่อทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่ส่งผลทางลึกต่อโลกของการรับรู้และโลกในประสาทสัมผัสของเรา [ดู บุญส่ง 2537] โลกาภิวัตน์ยังเป็นกระบวนการที่ครอบคลุมถึงด้านของการโยกย้ายถิ่นฐานขนานใหญ่ การส่งผ่านเทคโนโลยีแและอาวุธข้ามชาติ การค้ายาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ ปํญหาในด้านสิ่งแวดล้อมโลกซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดน รัฐชาติและชาตินิยมจะเป็นอย่างไร นอกไปจากการท้าทายข้างต้นที่เราได้กล่าวมาแล้ว?
    1. ฮาเบอร์มาสเห็นว่า โลกาภิวัตน์ปัจจุบันสะท้อนถึงขั้นก้าวสู่ระดับนามธรรม  ซึ่งคุกคามต่อการสลายกาวทางสังคมที่เคยเชื่อมส่วนต่างๆที่อยู่แยกจากกันให้เชื่อมเข้ามาด้วยกันในสังคมแบบรัฐชาติ  ผลสำคัญที่ตามมาก็คือ รัฐชาติจะยิ่งถูกลดบทบาทและถูกจำกัดอำนาจมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง สำหรับพลเมืองแล้วจะได้รับการเรียกร้องให้พัฒนาศักยภาพทางการเมืองบนฐานในระดับเหนือรัฐ (ข้ามชาติ) มากขึ้น [Habermas 1997: 168-169] กล่าวคือ ด้วยกระแสของการเคลื่อนไหวแบบประชาสังคมในระดับข้ามชาติ[21]ดังเช่น การเคลื่อนไหวของขบวนการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ของขบวนการสิทธิมนุษยชน ของขบวนการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
    2. วัลเลอร์สไตน์ [Wallerstein] ชี้ว่า ประชาชนในรัฐชาติในแถบเอเชีย,ละตินอเมริกา,และแอฟริกาที่เคยใช้แนวคิดชาตินิยมหรือสังคมนิยมต่อสู้กับจักรวรรดินิยมต่างอยู่ในสภาพที่สิ้นศรัทธาต่อรัฐของตนเองที่เคยได้รับการเชื่อถือว่าเป็นตัวแทนของความเป็นสมัยใหม่ในการปลดปล่อยมนุษย์ [a modernity of liberation] แม้ว่าพวกเขายังคงมีความปรารถนาในการปลดปล่อยอยู่ [Wallerstein 1995: 484] กระนั้น แนวทางที่เป็นทางออกต่อการต่อสู้กับความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและทางสังคมที่เป็นทางเลือกใหม่ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็น
    3. กิดเดนส์ [Giddens]เสนอว่า กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยกำลังดำเนินไปในสองด้านในการต่อสู้กับรูปแบบอำนาจที่ดำรงอยู่มาก่อนเพื่อนำกระบวนการสื่อสารแบบประชาธิปไตยเข้ามาแทนที่ ด้านแรกคือในอาณาบริเวณชีวิตส่วนบุคคล เช่นการที่ผู้หญิงพยายามยืนยันความเป็นอิสระของตนจากการพึ่งพิง/ขึ้นต่อผู้ชาย เป็นต้น ด้านที่สองคือในระดับโลก เช่นการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน ขบวนการสันติภาพ ขบวนการสิ่งแวดล้อม และขบวนการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งท้าทายอำนาจของรัฐชาติที่ดำรงอยู่ ขณะที่เปิดทางให้องค์กรนานาชาติและเครือข่ายความร่วมมือระดับโลกระหว่างปัจเจกบุคคลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น [Giddens 1990: 291 ; Giddens 1993 ] เรายังไม่เข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่แต่อยู่ในช่วงที่ความเป็นสมัยใหม่กำลังเดินเครื่องเต็มที่ หากกระบวนการสื่อสารแบบประชาธิปไตยสามารถเข้ามาแทนที่รูปแบบทางอำนาจเดิมๆได้สำเร็จ การเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงก็จะลดลง
    4. กระนั้น เราก็กำลังอยู่ในยุคสมัยที่ความเสี่ยงใหม่ๆเกิดขึ้นมาเสมอและในหลายกรณีเราไม่รู้จะจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร แม้แต่ระบบความรู้ของเราก็ไม่ช่วยชี้ทางให้
       4.1  ในประเด็นนี้ ฮาเบอร์มาสได้ชี้ถึงปัญหาของการเกิดพวกที่จัดเข้าชนชั้นไม่ได้ [underclass] กล่าวคือคนที่หลุดจากการได้ประโยชน์จากการที่โครงสร้างสังคมโลกกำลังปรับตัว เมื่ออำนาจทางการผลิตอยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นผู้กำหนดการทำการผลิตโดยเหนือการควบคุมจากรัฐและอาศัยบทบาทของกองทุนทางการเงินระหว่างประเทศเป็นตัวกดดันให้แต่ละรัฐชาติลดทอนรายจ่ายเชิงสวัสดิการสังคมหรือทางการสาธารณสุขลง รวมทั้งยอมรับภาวะที่มีระดับการว่างงานสูงเพื่อแลกกับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในระหว่างประเทศได้ พวกตกชนชั้นภายในแต่ละรัฐจึงเพิ่มจำนวนขึ้น ขณะที่พลังอำนาจในอดีตเช่นพลังแรงงาน พลังชนชั้นกลาง เป็นต้น ก็เสื่อมถอยในระดับสำคัญ กล่าวคือ ไม่สามารถเป็นสิ่งที่ข่มขู่อำนาจข้ามรัฐดังกล่าวอย่างได้ผล ไม่เหมือนที่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานในอดีตเคยคุกคามรัฐเพื่อการต่อรองได้ในยุคอุตสาหกรรมหรือที่ชนชั้นกลางเคยต่อรองกับรัฐได้ในช่วงที่ผ่านมา พลังโลกที่สามที่เคยข่มขู่โลกที่หนึ่งก็ไม่อาจทำเช่นนั้นได้อีกต่อไปเช่นกัน  สิ่งที่เราคาดหมายได้ก็คือสภาพที่อาจเกิดการลุกฮือต่อต้านเชิงทำลายล้างโดยไม่มีจุดหมาย และการตอบกลับจากผู้ครองอำนาจรัฐด้วยการกดดันอย่างเต็มที่ [Habermas 1997: 179-180]
         ความเสี่ยงแบบใหม่ที่เรากำลังจะเผชิญในแง่นี้ก็คือภาวะของการถูกกดดันจนในท้ายที่สุดระเบิดเป็นความรุนแรงแต่ไม่มีจุดหมายหรือทิศทางที่จะไป (ไม่มีเป้าหมายของสังคมที่จะมุ่งไป) ดังนั้นแม้แต่การสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าจ่ายไปเพื่อแลกกับอะไรที่ดีขึ้นหรือเปล่า เราอาจเสริมความให้กับฮาเบอร์มาสว่า เราไม่อาจคาดหวังว่ารัฐชาติจะช่วยแก้ไขปัญหาให้ เพราะตัวรัฐเองก็ยังไม่รู้จะเอาตัวรอดได้หรือไม่ ความคิดแบบชาตินิยมก็ไม่ช่วยอะไรเช่นกันนอกจากสร้างปัญหาเสริมเพิ่มเข้ามา นอกจากนี้ กระแสชาตินิยมในปัจจุบันเองยังเป็นการสะท้อนถึงความพยายามดิ้นรนอย่างสิ้นหวังในโลกที่เอกลักษณ์ต่างๆกำลังถูกสลายลงอย่างต่อเนื่อง
       4.2  กิดเดนส์ยกตัวอย่างของการสุ่มเสี่ยงที่ถูกทำการผลิตขึ้น [ manufactured risk] อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
         วิทยาศาสตร์ได้รับการเชื่อถือว่าช่วยให้ทำนายเกี่ยวกับโลกได้มากขึ้น บ่อยครั้งมันเป็นเช่นนั้น แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนใหม่ๆ ที่โดยมากมีลักษณะส่งผลกระทบในระดับโลก ซึ่งโดยส่วนใหญ่เราไม่อาจใช้ประสบการณ์ในอดีตของเราช่วยแก้ไขได้ [Giddens 1996]
         ยกตัวอย่างเช่นปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมี นักชีววิทยาชีวิตสัตว์ป่าค้นพบว่า ประชากรสัตว์ต่างๆในโลกแสดงปรากฏการณ์ของการเป็นหมัน อวัยวะเพศถูกทำลาย ร่างกายผิดรูปทรง เป็นต้น งานวิจัยบางชิ้นชี้ถึงความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ระหว่างระดับเนื้อเยื่อมะเร็งกับจำนวนสเปิร์มที่ลดลง นอกจากนี้ยังค้นพบการเพิ่มขึ้นของความผิดปกติที่อวัยวะเพศทั้งในเด็กชายและเด็กหญิง มีผลการสรุปที่แสดงความเกี่ยวพันระหว่างสารเคมีในสิ่งแวดล้อมกับผลกระทบต่อฮอร์โมนของมนุษย์ ในท้องตลาดมีสารสังเคราะห์ทางเคมีไม่ต่ำกว่า 50 ชนิดที่ผลิตเพื่อการค้า สารจำนวนไม่น้อยถูกใช้ในการผลิตของที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น พลาสติก สเปรย์ น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น นอกไปจากพวกยาฆ่าแแมลงที่ยังนิยมใช้กันทั่วไป ขณะที่ประเด็นนี้ส่อนัยในการทำลายล้างการสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์ ข้อสรุปที่ได้กลับเป็นแค่คร่าวๆแค่ว่า เราไม่รู้อย่างแน่ชัดว่าผลจากการปนเปื้อนจะรุนแรงเพียงไร และยังไม่มีกลุ่มที่จะทำการควบคุมที่หันมาใส่ใจ เพราะว่าสารเหล่านั้นยังมีวางขายอยู่ทั่วไป (โดยทางการเองอนุญาต) มีผู้เสนอให้กวาดเก็บสารเคมีทั้งหมดและยกเลิกการใช้ยาฆ่าแมลงโดยบริบูรณ์ และเพื่อกันการนำเสนอสารตัวใหม่เข้ามาแทนในท้องตลาด ควรยุติการผลิตสารสังเคราะห์ทางเคมีต่างๆโดยสิ้นเชิง เพื่อยุติการเสี่ยงภัยจากการปนเปื้อนอันยากจะควบคุมผล แต่การแตะการผลิตสารเคมีเป็นการแตะกระบวนการการผลิตทางอุตสาหกรรมเคมี รายงานจำนวนมากที่อุตสาหกรรมดังกล่าวให้ทุนสนับสนุนได้นำเสนอข้อสรุปที่แย้งการโจมตีข้างต้น การปะทะกันที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญด้วยกัน ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่ากรณีเช่นนี้เป็นกรณีประเภทที่ข้อเท็จจริงยังเป็นปัญหาถกเถียงและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างก็ยังไม่เห็นพ้องกัน กิดเดนส์ชี้ว่าความเสี่ยงที่เพิ่งเกิดขึ้นในแบบนี้แม้จะแน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการต่อต้านจากอุตสาหกรรมที่สูญเสียผลประโยชน์ แต่ตัวความเสี่ยงเองก็ยังเป็นผลจากลักษณะใหม่ของการสุ่มเสี่ยงที่ถูกทำการผลิตขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดบรรยากาศใหม่ทางศีลธรรม กล่าวคือ กระบวนการนำขึ้นสู่การตัดสินใจสาธารณะเกิดขึ้นจากการคุกคามโดยนักขุดคุ้ย (เช่น นักสิ่งแวดล้อม) ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ดังตัวอย่างการปนเปื้อนที่ได้ยกมานั้นมีเพียงแค่บางส่วนและไม่อาจนำไปสู่ข้อสรุปที่แน่นอน พวกที่ตอบโต้ก็ใช้การกล่าวอ้างว่า อย่าทำให้สาธารณชนตื่นตระหนกถ้าข้อมูลยังไม่เพียงพอชี้ชัด ขณะที่นักสิ่งแวดล้อมก็โต้แย้งกลับว่า หลักการของการเตือนไว้ล่วงหน้ามีความสำคัญ เมื่อเราเผชิญหน้ากับนวัตกรรมใหม่ๆทางเทคโนโลยีภาระของการพิสูจน์ต่อสังคมควรอยู่บนรายจ่ายของฝ่ายผู้ผลิตแทนที่จะเป็นฝ่ายที่เป็นเหยื่อ
         กรณีข้างต้นนี้ผลในทางทำลายของสารเคมีหากจะมีมันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว การทดสอบเพื่อดูผลกระทบในระยะยาวเองก็เป็นไปไม่ได้ ผลิตภัณฑ์ที่ถูกแยกออกมาทดสอบก็ยังอาจส่งผลในแง่การปนเปื้อนเมื่อไปผสมกับสารเคมีอื่นได้อีก ปฏิกิริยาต่อการสุ่มเสี่ยงนี้แตกต่างกันไปแต่ความตึงเครียดก็เกิดขึ้นทั้งกับรัฐบาล ตัวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มประชาชนที่ต้องการให้มีการประกันความปลอดภัย กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสุ่มเสี่ยงในแบบที่ปัจเจกบุคคลจะต้องตัดสินใจในระดับชีวิตประจำวัน ตัวอย่างอื่นๆก็เช่น มีการแนะนำให้กินปลาซึ่งมีสารที่ช่วยลดการอุดตันในเส้นเลือดหัวใจ แต่ก็มีคำแนะนำว่าอย่ากินปลาเพราะปลารับการปนเปื้อนสารเคมีที่ปะปนในน้ำมาสะสมไว้ในตัว ความเสี่ยงเหล่านี้เรารู้ว่าเป็นเรื่องจริงและส่งผลกระทบถึงเราได้ แต่เราจะตัดสินใจอย่างไรในเรื่องนี้ดี? โดยที่เราก็รู้แน่ๆว่าจะปล่อยให้ธรรมชาติตัดสินก็ไม่ได้!
    5. ฟูกูยามาชี้ว่า ชาตินิยมจะยังคงเข้มข้นในประเทศโลกที่สาม ในยุโรปตะวันออก และในอดีตสหภาพโซเวียต และจะยังดำรงอยู่ต่อไปในแถบที่กล่าวมาอีกยาวนานกว่าในยุโรปหรืออเมริกา ภาพเช่นนี้อาจหลอกตาให้เราคิดว่ายุคปัจจุบันเป็นช่วงพุ่งขึ้นของชาตินิยม โดยที่เราลืมสังเกตไปว่ามันกำลังตกต่ำลงทีละน้อยในแถบถิ่นกำเนิดของมัน ฟูกูยามาเห็นว่า พลังทางเศรษฐกิจ (ของระบบทุนนิยม) เป็นตัวสนับสนุนการเกิดกระแสชาตินิยม ภายใต้พรมแดนที่กำหนดชัด, การปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ, และการผลักดันให้มีการใช้ภาษาทางการ พลเมืองแบบใหม่ก็ได้เกิดขึ้นแทนชนชั้นในแบบเก่า แต่พลังทางเศรษฐกิจเดียวกันก็กำลังสนับสนุนการสลายพรมแดนและนำตลาดโลกเดียวที่มีบูรณภาพเข้ามาแทนที่ [Fukuyama 1992 : 275] ฟูกูยามาเห็นว่า ชาตินิยมปัจจุบันกำลังเดินไปในกระแสแบบเดียวกับที่มุสตาฟา เคมาล อะตาเตอร์กกระทำ (ในการสร้างประเทศตุรกียุคใหม่) กล่าวคือ ถือว่าภารกิจของตนคือการรวบรวมและชำระเอกลักษณ์แห่งชาติขึ้นภายในผืนแผ่นดินถิ่นเกิดที่สืบทอดมา จริงๆแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า ชาตินิยมที่บรรลุวุฒิภาวะทุกกระแสกำลังดำเนินผ่านกระบวนการ ทำให้เป็นแบบอะตาเตอร์ก [Turkification] ชาตินิยมดังว่านี้ดูเหมือนว่าจะไม่อาจสร้างจักรวรรดิใหม่ขึ้นมาได้ ชาตินิยมพวกนี้ทำได้แค่แตกสลายจักรวรรดิที่ดำรงอยู่เท่านั้น [Fukuyama 1992: 272] เมื่อมองในแง่นี้ ชาตินิยมในยุคปัจจุบันก็ไม่มีพลังอะไรมากนัก และไม่อาจดำรงสถานะเป็นสิ่งคุกคามใหม่ได้ กลับตกอยู่ใต้สภาวะถูกชักนำทิศทางจากระบบทุนนิยมโลกเองด้วยซ้ำไป ชาตินิยมจึงอาจยังดำรงอยู่ได้ต่อไป แต่มีสถานะเช่นศาสนาที่มีอิทธิพลแค่ทางวัฒนธรรม ขณะที่หมดพลังทางการเมือง

ความเป็นชาติเป็นเพียงเรื่องสมมติ!
         เราจะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์ของการแพร่หลายของแนวคิดชาตินิยมในปัจจุบันถูกมองว่าเป็นอาการบางอย่างที่สะท้อนการเปลี่ยนย้ายเชิงโครงสร้างในระดับสำคัญอันเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ตัวกระแสชาตินิยมเองไม่น่าจะมีพลังอะไรที่จะท้าทายโครงสร้างดังกล่าวได้ และเราก็กำลังเป็นประจักษ์พยานถึงการหมดความหมายทางการเมืองของแนวคิดแบบชาตินิยมเช่นที่เคยเกิดกับแนวคิดทางศาสนามาก่อน ตัวรูปแบบรัฐชาติเองก็กำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายที่ทำให้แม้ว่ารัฐชาติจะดำรงอยู่ต่อไปได้อีก บทบาทสำคัญที่เคยมี อำนาจภายในขอบเขตพรมแดนของรัฐที่เคยมี และเสรีภาพหรืออำนาจอธิปไตยที่เคยอ้างเพื่อกันการแทรกแซงจากภายนอก สิ่งเหล่านี้กำลังถูกท้าทาย ถูกจำกัดอำนาจ ตัวท้าทายสำคัญคือโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก บทบาทของบรรษัทข้ามชาติ, ขององค์กรนานาชาติ, และเครือข่ายของปัจเจกบุคคลระดับข้ามชาติ พลังเหล่านี้ทำให้เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างรัฐชาติเบลอไป ขณะที่ปัญหาสำคัญที่มนุษย์ไม่ว่าที่ใดกำลังเผชิญก็มีลักษณะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระเทือนข้ามชาติข้ามพรมแดน อันไม่อาจแก้ไขได้ภายในรัฐเดียวอย่างเห็นได้ชัด
         ความเป็นชาติที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นตามจินตนาการในท้ายที่สุดก็ถูกค้นพบว่าไม่มีอะไรนอกจากจินตนาการ! ชาติเป็นเพียงสิ่งสมมติ เกิดขึ้นมาในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์บางช่วงของมนุษย์ที่เรียกว่ายุคใหม่ สิ่งสมมติในแง่หนึ่งก็คือสิ่งที่เกิดตามอำเภอใจ แล้วก็จะเปลี่ยนไปในเงื่อนไขอีกเวลา นี่คือความเป็นปกติ ขณะที่ตัวมนุษย์ยังดำรงอยู่และยังต้องดิ้นรนต่อไปในการเอาตัวรอด คนเราอาจมีความผูกพันกับสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยมานาน แต่เมื่อต้องจากลากันจริงๆแล้ว เราก็ต้องทำใจ การผูกติดแต่อดีตไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ปัญหาที่มนุษย์เราในปัจจุบันต่างต้องเผชิญต่อไปคือ เราจะเอาอะไรที่ดีกว่ามาทดแทน? คำเตือนจากประธานาธิบดีวักลาฟ ฮาเวลแห่งสาธารณรัฐเชกน่าจะช่วยชี้ทางแก่เราได้
         นี่ย่อมหมายความว่าเราทุกคนต่างต้องรับผิดชอบต่อทั้งโลกอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เรื่องของความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงแต่รวมถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมและเรื่องอื่นๆอีก โลกทางการเมืองปัจจุบันขาดแคลนความรู้สึกแห่งการรับผิดชอบในระดับโลกดังกล่าวนี้ [Havel 1994: 60-61]
         สำนึกของการเป็นคนในโลกที่เผชิญปัญหาร่วมกันอยู่และจะช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างไรนี้ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการแสวงหาความเป็นชาติ  ตัว เรา ที่ใหญ่กว่าตัว เรา ที่สังกัดชาติ คนอื่น หรือ เขา ที่กลายมาเป็น เรา นี้เองที่ยังคงให้ความหวังกับโลกในยุคปัจจุบันและยุคถัดไป!

                                                     การอ้างอิง
ชัยอนันต์ และ พีรศักย 2524. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ พีรศักย จันทวรินทร์ [รวบรวม]
                    ข้อมูลพื้นฐานกึ่งศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย.
                    กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย,2524.
ไชยรัตน์ 2540.  ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่/
               ขบวนการเคลื่อนไหวประชาสังคมในต่างประเทศ. กรุงเทพฯ:ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา
                    มหาวิทยาลัยเกริก,2540.
บุญส่ง 2537. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. โลกหลังยุคใหม่ (5) : ความหมายของมนุษย์ในโลกภายใต้เทคโนโลยีข่าวสาร, ไทยไฟแนนเชี่ยล (1 มี.. 2537).
บุญส่ง 2538-39. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. ประชาธิปไตย,ขบวนการทางสังคม และชนชั้น:ความสำคัญของผู้กระทำแบบรวมหมู่, วารสารร่มพฤกษ์ 14 (พฤศจิกายน 2538-พฤษภาคม 2539): 113-137.
บุญส่ง 2539. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. ประชาธิปไตยในศตวรรษที่21: ภาพเหมือนของโลกในวัยเถื่อน, เอกสารประกอบการสัมมนา 2500ปีประชาธิปไตยกับขบวนการประชาชน,จัด ห้องสัมมนา1304 มหาวิทยาลัยเกริก, 26-27 .. 2539 เวลา 9.00-16.00.(ฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่อยู่ในระหว่างดำเนินการตีพิมพ์ใน รวมบทความหลายผู้เขียนชุด  2500 ปีประชาธิปไตย)
บุญส่ง 2539-40. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่[Postmodernism], วารสารร่มพฤกษ์ 15 (ตุลาคม 2539-มกราคม 2540): 57-102.
Aristotle 1995. Aistotle. POLITICS. Barker, Ernest[tran.] Oxford:Oxford University Press,1995.
Bottomore 1993. Bottomore, Tom. POLITICAL SOCIOLOGY. 2nd ed.  London:Pluto Press,1993.
Cohen 1996.  Cohen, Joshua[ed.] FOR LOVE OF COUNTRY.Boston:Beacon Press,1996.
Couture, Nielsen & Seymour 1996. Couture, Jocelyne, Nielsen,Kai & Seymour, Michel[eds.]
        RETHINKING NATIONALISM.Calgary,Alberta,Canada: University of Calgary Press,1996.
Gardels 1991. Gardels, Nathan. Two Concepts of Nationalism:An Interview with Isaiah Berlin,   THE NEW YORK REVIEW OF BOOKS [November 21,1991]
Giddens 1990. Giddens,Anthony. THE CONCEQUENCES OF MODERNITY.   Cambridge:Polity,1990.
Giddens 1993. Giddens, Anthony.
Modernity,History,Democracy, THEORY AND SOCIETY 22[1993] : 289-292.
Giddens 1996. Giddens, Anthony. Why Sounding the Alarm on Chemical Contamination is not  Necessarily Alarmist. LONDON REVIEW OF BOOKS[September 5,1996.]
Fukuyama 1992.  Fukuyama, Francis.THE END OF HISTORY AND THE LAST MAN. New York:The Free Press,1992.
Habermas 1996.   Habermas, Jurgen. BETWEEN FACTS AND NORMS. Cambridge,Massachusetts:The MIT Press,1998.
Habermas 1997.   Habermas, Jurgen. A BERLIN REPUBLIC: WRITINGS ON GERMANY.
                       Lincoln:University of Nebraska Press,1997.
Havel 1994.  Havel, Vaclav. Out of Unity,Discord,
                 INDEX ON CENSORSHIP 3[1994]: 59-65.
Hobsbawm 1990. Hobsbawm, E.J. NATIONS AND NATIONALISM SINCE 1780. Cambridge: Cambridge University Press,1994.
Ignatieff 1993.   Ignatieff, Michael. BLOOD AND BELONGING. London:Vintage,1994.
Kristeva 1993.   Kristeva, Julia. NATION WITHOUT NATIONALISM. New York:Columbia University Press,1993.
Nussbaum 1996. Nussbaum, Martha C. Patriotism and Cosmopolitanism. in Cohen 1996.
Muller 1997.    Muller, Jan. Carl Schmitt-An Occasional Nationalist?, HISTORY OF EUROPEAN IDEAS 23[1997]:19-34.
Taylor 1996.       Taylor, Charles. Why Democracy Needs Patriotism in Cohen 1996.
The Commission on Global Governance 1995. The Commission on Global Governance. OUR GLOBAL NEIGHBOURHOOD. Oxford:Oxford University Press,1995.
Wallerstein 1995. Wallerstein, Immanuel. The End of What Modernity?.  THEORY AND SOCIETY 24 [1995]:471- 488.
Wallerstein 1996. Wallerstein, Immanuel. Neither Patriotism nor Cosmopolitanism. in Cohen 1996.
Walzer 1996.      Walzer, Michael. Spheres of Affection. in Cohen 1996.
Walzer 1997.      Walzer, Michael.ON TOLERATION.
              New Haven and London:Yale University Press,1997.




ผู้เขียนขอขอบคุณ อ.สาวิตรี ทองอุไร และ อ.กรกช อัตตวิริยะนุภาพ แห่งภาควิชาภาษาเยอรมัน ที่ให้คำแนะนำในการแทนเสียงภาษาเยอรมัน

*  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

[1]   ยังมีชนเร่ร่อนบางส่วนที่ไม่มีสัญชาติสังกัดรัฐใด เช่น พวกเบดูอินบางส่วนในตะวันออกกลาง หรือพวกโรมานีในยุโรปตะวันออกที่มักเรียกกันว่าพวกยิปซี

[2]   จากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ลี้ภัยที่อพยพจากรัฐชาติหนึ่งเข้าไปยังอีกรัฐชาติหนึ่งต่างดิ้นรนเพื่อให้ได้สัญชาติใหม่ในรัฐชาติอื่น และการที่กลุ่มชนไร้สังกัดที่ยังไม่ได้รับสัญชาติจากรัฐใดๆต่างดิ้นรนแสวงหาการได้สัญชาติเพื่อค้ำประกันสถานะทางการเมืองและทางสังคมของตน ข้อเท็จจริงนี้ถือได้ว่าเป็นดัชนีชี้ชัดในความข้อนี้

[3]   การเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น อาจถือได้ว่าเป็นความจำเป็นในการดิ้นรนเพื่อการดำรงสถานะของชนชั้นนำไทยทางการปกครองในยุคล่าอาณานิคมโดยมหาอำนาจตะวันตก จากการแบ่งเขตขยายอิทธิพลระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสส่งผลให้เกิดสภาพของพรมแดนที่ต้องกำหนดชัดว่าเป็นอาณาเขตของรัฐสยามอันแตกต่างไปจากสภาพที่มีการเหลื่อมพื้นที่ในยุครัฐแบบราชอาณาจักร พื้นที่ในขอบเขตนี้เองที่กลายมาเป็นพื้นที่ของรัฐชาติไทยสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐชาติไทยนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อหลังการปฏิวัติปี พ.. 2475 โดยเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ถือว่าองค์อธิปัตย์คือประชาชน รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามจึงไม่ใช่รัฐชาติหรือประเทศไทยแม้ว่าจะได้ครองพื้นที่ในขอบเขตเดียวกันก็ตาม ความสับสนในเรื่องนี้ทำให้นักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญที่มากเกินไปกับเรื่องการเสียดินแดนให้มหาอำนาจตะวันตก ความใหม่ ของประเทศไทยไม่ใช่อะไรที่เป็นปมด้อย เพราะความใหม่ นี้ส่งนัยที่แจ่มชัดถึงการตั้งต้นที่แตกหักจากทิศทางในอดีต อาจกล่าวได้ว่า รัฐชาติหรือประเทศไทยนี้เริ่มเกิดปมด้อยต่อความใหม่อย่างจริงจังเมื่อความคิดชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์ได้รับการส่งเสริมและตอกย้ำ โดยเฉพาะเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้นครองอำนาจ ปมเด่นในเรื่องความใหม่นี้ก็ถูกย้ำให้เป็นปมด้อยต่อๆมาโดยทางการไทย

[4]   แม้กระทั่งหากเราจะให้คำว่าไทย ในเนื้อเพลงดังกล่าวให้หมายถึงคนชาติพันธุ์ไตหรือไท ความที่ว่าปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า ก็จะหมายถึงคนละเมืองคนละเหย้าตามแต่ที่คนๆนั้นขึ้นสังกัดหรือผูกพันตัวเองด้วย ชาวไทในอาณาจักรล้านนาก็ปกบ้านป้องเมืองล้านนา ชาวไทในอาณาจักรอยุธยาก็ปกบ้านป้องเมืองอยุธยา และบางครั้งชาวไทในอาณาจักรล้านนาก็ปกบ้านป้องเมืองตนจากการรุกรานของชาวไทในอาณาจักรอยุธยา ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ตรงนี้จึงควรเป็นที่พึงตระหนักกันไว้ให้มาก ชาวเชียงใหม่คนที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษยุคที่ยังมีอาณาจักรล้านนา ชาวไทยทางอีสานคนที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษยุคที่ยังมีอาณาจักรล้านช้าง ชาวไทยอีสานที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเขมรในราชอาณาจักรเขมร ชาวไทยมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษยุคพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง ชาวไทยภาคกลางที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษมาจากอาณาจักรอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์ คนเหล่านี้ย่อมมีบรรพบุรุษเป็นศัตรูกัน รบราฆ่าฟันกัน ปกบ้านป้องเมืองกันคนละบ้านคนละเมืองตามเช่นที่เป็นจริงในยุคสมัยนั้นนั่นเอง! ภาพบรรพบุรุษร่วมของคนไทยที่ช่วยกันปกบ้านป้องเมืองตามที่ชอบอ้างๆกันเพื่อปลุกใจให้รักชาตินั้นที่จริงก็เป็นเพียงนิยายที่ไม่สมจริงเท่านั้นเอง!


[5]   ในประกาศของคณะราษฎร์ฉบับที่ 1 ซึ่งแจกจ่ายในวันทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.. 2475 นั้นได้ระบุชัดถึงการปกป้องศักดิ์ศรีของมนุษย์แม้ว่าจะไม่ได้ใช้คำๆนี้โดยตรง ดังข้อความที่ว่ารัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส(ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์  และได้กล่าวถึงการเป็นองค์อธิปัตย์ของประชาชนหรือพลเมืองไว้ชัดว่า  ราษฎรทั้งหลาย พึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง” [ดูประกาศฉบับเต็มได้ใน ชัยอนันต์ และ พีรศักย 2524: 1-3]
      
[6]   รากคำในภาษาละตินของ nation คือ natio ซึ่งภาษาในกลุ่มภาษา Romance เช่นฝรั่งเศส สเปน อิตาลี เป็นต้นได้รับอิทธิพลมา คำว่า natie ในภาษาเยอรมันแถบล่างในยุคกลางก็มีที่มาจากคำละตินดังกล่าว คำเยอรมันคำนี้มีความหมายเช่นเดียวกับภาษาฝรั่งเศสยุคกลางที่หมายถึงกลุ่มที่สืบสายเลือดหรือสายกำเนิดมาด้วยกัน [Geschlecht] [ดูHobsbaum 1990: chapter 1]

[7]    ความคิดเรื่องพลเมือง มีอิทธิพลจากนักคิดกรีก เช่น อริสโตเติล [ดูรายละเอียดของความคิดของอริสโตเติลในเรื่องนี้ได้ใน Aristotle 1995]

[8]   ดูคำแปลบางส่วนและการอธิบายความคิดพื้นฐานของคำประกาศนี้ได้ใน บุญส่ง 2539-2540: 60-63

[9]   เราจะเห็นถึงอิทธิพลทางความคิดของจอห์น ล็อก [John Locke] ในที่นี้ได้อย่างแจ่มชัด
[10]   Bottomore มีความเห็นว่า กำเนิดของรัฐชาติซึ่งตั้งต้นในยุโรปตะวันตกและในสหรัฐอเมริกานั้นอาศัยสภาพการณ์ที่สำคัญสองประการ ประการแรกได้แก่ พัฒนาการของรัฐบาลรวมศูนย์อำนาจแบบสมัยใหม่ ซึ่งดำเนินการโดยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงศตวรรษที่ 16 - 18  ประการที่สองได้แก่ การกำเนิดแนวคิดแบบชาตินิยมโดยกลุ่มทางสังคมที่แสวงหาอำนาจในการปกครองตนเอง ซึ่งกลุ่มทางสังคมเหล่านั้นอาศัยอยู่ ณ พื้นที่หนึ่งใดและมีภาพลักษณ์ของตนเองว่าเด่นในทางชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมหนึ่งใดและได้ดิ้นรนเพื่อให้กลุ่มประชากรของตนเป็นองค์อธิปัตย์แทนอำนาจของราชวงศ์ [Bottomore 1993:76]


[11]   ลองดูตัวอย่างจากกรณีของเขมรแดงสมัยพลพตครองอำนาจ เมื่อตีพนมเปญแตก สิ่งแรกสุดที่เขมรแดงประกาศก็คือการลบศักราชเป็นศูนย์และตั้งต้นนับศักราชใหม่ มองในแง่สัญลักษณ์ เราสามารถเข้าใจได้ว่า อดีตหรือประวัติศาสตร์ที่ให้เอกลักษณ์กับตัวตนของคนเขมรแต่ละคนนั้นถึงจุดจบแล้ว นับแต่นี้แต่ละคนจะเป็นคนคนใหม่ที่มีตัวตนใหม่ ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงกำลังเริ่ม แต่ละคนก็จะได้เริ่มมีเอกลักษณ์ซึ่งเป็นตัวตนใหม่ กล่าวคือกำเนิดใหม่อีกครั้งในตัวตนที่พรรคต้องการ

[12]   ตามที่ปรากฏในประเทศที่อยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์ การประกาศตัวตนให้มีความแตกต่างไปจากที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์รับรองเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจพรรค การไม่ดำเนินไปตามแนวทางที่พรรควางไว้เสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่ากำลังทรยศต่อพรรคและประชาชน ดังนั้นไม่ว่าโดยพื้นฐานตัวเราจะมีปัจเจกภาพอย่างไร มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมอย่างไร ในทางการเราจึงจำเป็นต้องแสดงออกในแบบที่พรรครับรองโดยไม่อาจวางใจคนรอบข้างซึ่งอาจแอบสังเกตว่าเราทำนอกกรอบหรือไม่เพื่อไปรายงานพรรค นี่คือลักษณะของอำนาจเบ็ดเสร็จที่เข้ามาควบคุมแม้ในอาณาบริเวณที่เป็นส่วนตัว


[13] ลองเทียบความคิดในแนวนี้กับของนัสบอมนักปรัชญาปัจจุบันที่สนับสนุนแนวคิดของการเป็นพลเมืองโลก [ดู Nussbaum 1996] รวมทั้งข้อวิจารณ์จากวัลเซอร์ [Walzer 1996] จากเทเลอร์ [Taylor 1996]  และจากวัลเลอร์สไตน์ [Wallerstein 1996]
[14]    การที่รัฐบาลไทยและกองทัพไทยยังคงอ้างว่าการสังหารนักศึกษาและประชาชนในกรณี 14 และ 6 ตุลา และกรณีพฤษภาทมิฬต่างเป็นเรื่องที่ไม่ควรถามหาคนผิด และเห็นควรให้ใช้แค่เป็นเรื่องสอนใจให้คนไทยสามัคคีกันนั้น หากสังคมไทยยังคงเห็นคล้อยตาม ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความต่ำอารยธรรมทางการเมืองของสังคมไทยอย่างแท้จริงตามนัยนี้ เพราะสังคมไทยยังไม่กล้าเผชิญกับความผิดพลาดในอดีตอย่างกล้ายอมรับและสอบสวนอย่างจริงจังในทางสาธารณะเพื่อสรุปความถูกผิด เช่นเดียวกับการที่ทางการญี่ปุ่นยังไม่กล้าบรรจุเรื่องความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นที่กระทำต่อชาวจีนและชาวเกาหลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไว้ในแบบเรียน

[15]   ความคิดเรื่องชาติ ในความหมายเชิงวัฒนธรรมนั้นได้อิทธิพลจากนักคิดในศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะ แฮร์เดอร์ [Johann Gottfried Herder]  ตามความหมายนี้ คนแต่ละกลุ่มจะมีสิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณแห่งชาติ” [Volksgeist หรือ Nationalgeist ] ซึ่งเป็นชุดของวิถีประเพณี รูปแบบการดำเนินชีวิต วิถีในการรับรู้ ในการประพฤติ อันมีคุณค่าเพราะว่าเป็นของกลุ่มดังกล่าว เป็นส่วนทั้งหมดของชีวิตทางวัฒนธรรมซึ่งผ่านประสบการณ์ร่วมทางประวัติศาสตร์ที่สมาชิกของกลุ่มมีส่วนร่วมเผชิญกันมา ความคิดนี้มีอิทธิพลสูงต่อการเกิดรัฐชาติเยอรมนี นักปรัชญาสำคัญเช่นเฮเกลก็ให้การสนับสนุนแนวคิดนี้ [ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Gardels 1991]
[16]   ลองเปรียบเทียบกับบางประเทศที่ทางการพยายามอ้างว่ามีพ่อของแผ่นดินเป็นตัวบุคคลเช่นกษัตริย์ เราจะพบว่านัยเช่นประการหลังนี้เป็นความพยายามเอาแนวคิดของรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสวมใส่ให้กับรัฐชาติแบบสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ผลก็คือความอิหลักอิเหลื่อที่เห็นได้ชัด ชาติเป็นพ่อเพราะชาติเป็นผลรวมของปัจเจกบุคคลหรือประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่หากพ่อเป็นตัวบุคคลบางคน  พ่อของแผ่นดินในที่นี้เองก็กำลังอ้างว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของตน ดังนั้น การยอมรับพ่อของแผ่นดินที่เป็นตัวบุคคลดังกล่าวจึงเป็นการยอมรับว่าประชาธิปไตยไม่มีความหมายและไม่ใช่เป้าหมายของระบอบการปกครองของตนนั่นเอง! เราต้องไม่ลืมว่ารัฐของพลเมืองไม่ใช่รัฐของพสกนิกร และรัฐของพสกนิกรโดยพื้นฐานไม่ใช่รัฐประชาธิปไตย!

[17]   ทหารในรัฐแบบเดิมนั้นถ้าไม่เป็นทหารรับจ้างก็เป็นการถูกเกณฑ์ไปรบเพื่อแสดงความภักดีภายใต้ระบบอุปถัมภ์ระหว่างนายกับบ่าว ขุนนางกับไพร่  กษัตริย์กับขุนนาง ทหารแบบสมัยใหม่ที่เป็นทหารอาชีพเพิ่งเกิดในยุคใหม่  ดังนั้น ที่ทางกองทัพไทยชอบอ้างว่า ในอดีตคนไทยทุกคนเป็นทหาร จึงเป็นความเข้าใจผิดอันเกิดจากการไม่รู้จริงในประวัติศาสตร์ หากไม่ใช่เพราะแกล้งเข้าใจผิดเพราะต้องการใช้ประโยชน์ในบางเรื่อง

[18]   นักชาตินิยมในศตวรรษที่ 20  เช่น คาร์ล ชมิตต์ [Carl Schmitt] ยอมรับว่าจำเป็นต้องสร้างปกรณัมเรื่องสำนึกแห่งชาติ เพื่อเป็นแรงผลักพลเมืองให้คล้อยตาม ชาติจำเป็นต้องมีศัตรู เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นคุณค่าที่จะปกป้องชาติตน ชมิตต์เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนรัฐนาซีเยอรมนี [ดู Muller 1997]
[19]   นีลเซนและคณะเห็นว่า มโนทัศน์ของชาติแบบที่เป็นที่ยอมรับได้จะต้องเกี่ยวข้องกับความลงดุลย์ระหว่างลักษณะทางอัตวิสัยกับทางภาววิสัย, ต้องไปกันได้กับเสรีนิยม, ต้องเป็นผลจากการมีดุลยภาพสะท้อน [reflective equilibrium] ในระดับกว้าง

[20]   ดูแผนภูมิแสดงความแตกต่างระหว่างรัฐในแนวคิดแบบเสรีนิยมกับแนวแบบมหาชนรัฐ และการจัดวางตำแหน่งของอาณาบริเวณทางการเมืองกับทางสังคมและทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันได้ใน บุญส่ง 2539  และการวิเคราะห์ปัญหาของประชาธิปไตยปัจจุบัน ใน บุญส่ง 2538-2539

[21]   งานที่เป็นภาษาไทยที่นำเสนอภาพการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ได้แจ่มชัด โปรดดู ไชยรัตน์ 2540

No comments: