Thursday, October 3, 2013

นักศึกษากับความเป็นประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย



นักศึกษากับความเป็นประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

                กล่าวได้ว่า นักศึกษาเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญสำหรับความเป็นประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย      ยิ่งกว่านั้นการสืบเนื่องของสปิริตที่ได้จากการใช้ชีวิตภายใต้วัฒนธรรมประชาธิปไตยภายในมหาวิทยาลัยนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตทางสังคมในสังคมภายนอกมหาวิทยาลัยอย่างมีความหมาย

ทำไมนักศึกษาจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญสำหรับประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย?
              มหาวิทยาลัยนั้นเป็นสังคมของคนประเภทที่ถูกเรียกว่า"ปัญญาชน"    ตามความหมายโดยนัยสำคัญ ปัญญาชนก็คือ บุคคลผู้รู้จักใช้สติปัญญานำทางชีวิตอย่างถูกทาง  คนเหล่านี้จึงเป็นเสรีชนผู้ซึ่งมีความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระและได้นำเอาความคิดเห็นของตนมาแลกเปลี่ยนกันบนฐานของเหตุผลเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดในแต่ละเรื่อง  กฎเกณฑ์หลักกฎเกณฑ์เดียวที่ยึด อีกทั้งเป็นแนวกำหนดการปฏิบัติทั่วไปก็คือการที่หากไม่มีเหตุผลที่ดีกว่าในเรื่องนั้น  เราก็ต้องยอมรับเหตุผลที่ดีที่สุดในขณะนั้นเป็นแนวชี้นำไปก่อน

              ตรงนี้เองเป็นตัวชี้ว่า สังคมมหาวิทยาลัยนั้นเป็นสังคมของประชาธิปไตยทางตรง  กล่าวคือ   การใช้สิทธิในการแสดงออกความคิดเห็นเพื่อให้เกิดผลทางการปฏิบัติโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน   มหาวิทยาลัยต้องมีกระบวนการหยั่งเสียงเพื่อฟังมติของคนในส่วนต่างๆ ในมหาวิทยาลัย   เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนในเชิงเหตุผลขึ้นจนนำไปสู่การค้นพบเหตุผลที่ดีที่สุดในเรื่องนั้นๆ  สังคมมหาวิทยาลัยจึงเป็นสังคมของความเสมอภาคด้วย  เสรีชนในมหาวิทยาลัยต่างเสมอกันโดยศักดิ์และต่างดำรงสถานะของผู้มีสิทธิในการนำเสนอความคิดเห็นของตนเองให้สมาชิกอื่นได้ร่วมพิจารณา ไม่ใช่เฉพาะผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางส่วนเท่านั้นที่มีสิทธิเช่นนี้

              นี่คือลักษณะหนึ่งของความเป็นมหาวิทยาลัยตามอุดมคติ   และเป็นดัชนีวัดว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นเข้าใกล้ความเป็นสถาบันทางการอุดมศึกษามากน้อยเพียงไร หรือรกไปด้วยราคาคุยแต่ในความเป็นจริงไม่ใช่

             ในแง่หนึ่งความเฟื่องฟูของกิจกรรมนักศึกษาจึงเป็นตัววัดด้วยเช่นกัน   กิจกรรมนักศึกษานั้นก็คือกระบวนการแสดงออกทางความคิดเห็นผ่านรูปธรรมของการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ  กิจกรรมนักศึกษาในที่นี้จึงไม่จำเป็นต้องผ่านองค์กรนักศึกษาที่มีอยู่ แต่อาจปรากฏเป็นรูปของกลุ่มอิสระซึ่งอาจมีสมาชิกเพียงไม่กี่คนก็ได้     และดำเนินกิจกรรมนั้นไปโดยมีใจอยากจะทำ

             นักศึกษาจะพัฒนาวุฒิภาวะทางการใช้วิจารณญาณได้ก็โดยการได้ฝึกใช้ผ่านการใช้ชีวิตทางสังคม  ซึ่งในที่นี้ส่วนหนึ่งก็คือสังคมมหาวิทยาลัยนั่นเอง  กลุ่มอิสระที่เกิดขึ้นมากมายจักสะท้อนถึงความพยายามกำหนดชีวิตทางสังคมของตนเองขึ้นภายในมหาวิทยาลัย     การมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มอิสระต่างๆทำให้เกิดความมีชีวิตชีวาในสถาบันขึ้น

             โดยพื้นฐานแล้วกิจกรรมนักศึกษาไม่สมควรเป็นเรื่องของการบังคับให้ทำ  ในมหาวิทยาลัยอาจมีนักศึกษาบางส่วนไม่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆเลยนอกจากการค้นคว้าทางวิชาการ   เราต้องยอมรับทางเลือกเช่นนี้ด้วย   กิจกรรมนักศึกษาควรวางอยู่บนการเคารพในกันและกัน     อันหมายความว่ามีน้ำจิตน้ำใจต่อกันดั่งเป็นพี่น้อง    แต่ไม่ใช่อ้างการมีอำนาจในฐานะคนที่เข้ามาก่อนหรือความเป็นรุ่นพี่มาใช้บังคับคนที่เข้ามาทีหลังตามอำเภอใจ  ด้วยเหตุว่าการกระทำเช่นนี้เองจักเป็นการทำลายพื้นฐานสำคัญของความเป็นมหาวิทยาลัย      กล่าวคือ สภาพที่มีการเคารพการใช้สติปัญญาและความคิดเห็นอิสระของแต่ละคน

            พื้นฐานของความเป็นปัญญาชนนั้นไม่ได้ตั้งต้นที่การเคารพคนที่มีอาวุโสกว่า   แต่อยู่ที่การเคารพคนในการใช้สติปัญญาแสดงออก เคารพในเหตุผลที่ดี

             ความเป็นประชาธิปไตยในส่วนของนักศึกษาตรงนี้จึงมีสองระดับด้วยกัน
๑.  ในระดับระหว่างนักศึกษาด้วยกัน          ต้องเคารพและยอมรับทางเลือกของแต่ละคน ถ้าไม่เห็นด้วยก็ดำเนินไปโดยการชี้แจงเหตุผลแลกเปลี่ยนกัน แต่ไม่ใช่โดยการใช้อาวุโสบังคับ
๒.     ในระดับสัมพันธ์กับส่วนอื่นในมหาวิทยาลัย        ต้องมีความกล้าในการแสดงความคิดเห็นของตน    รู้จักรักษาผลประโยชน์ตนในสิ่งที่ตนควรได้   มหาวิทยาลัยไม่ได้ต้องการนักศึกษาที่หัวอ่อน แต่ต้องการคนที่รู้คิดและกล้าทำ คนเหล่านี้เองจึงจะไปเป็นหลักในสังคมต่อไปได้

              ความเป็นประชาธิปไตยในส่วนของนักศึกษานี้จึงเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการสร้างชีวิตของมหาวิทยาลัยให้ดำเนินไปตามทิศทางอย่างที่ควรจะเป็น    สปิริตที่นักศึกษาได้จากการใช้ชีวิตภายใต้วัฒนธรรมเช่นนี้เองจักเป็นสิ่งติดตัวสำคัญ    เป็นคุณสมบัติที่ให้ความหมายต่อการดำรงชีวิตทางสังคมในโลกภายนอกมหาวิทยาลัยต่อไป    เราลองมาใช้จินตนาการกันดู สังคมของเราจะเป็นเช่นไรหากผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นเป็นอิสระและกล้าแสดงออกเพื่อยืนยันความคิดเห็นของตนเอง ขณะที่ก็มีความใจกว้างในการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและพยายามใช้วิจารณญาณนี้เพื่อให้ได้เหตุผลที่ดีที่สุดในเรื่อง   แล้วก็นำไปปฏิบัติต่อไป
  
            สังคมที่เต็มไปด้วยเสรีชนที่นำทางชีวิตด้วยปัญญาดังนี้ย่อมมีความแตกต่างโดยนัยสำคัญเมื่อนำไปเทียบเคียงกับสังคมไทยปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด

หมายเหตุ บทความนี้พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รังสิต, 13 กรกฎาคม 2538 หน้า 5 และได้รับการขอนำไปพิมพ์ที่อื่นอีกหลายครั้ง 

No comments: