หมายเหตุ บทสัมภาษณ์นี้ลงพิมพ์ในวารสารเทคโนโลยีวัสดุ ฉบับที่ 41 (ตุลาคม - ธันวาคม 2548) หน้า 43- 47 และสามารถดาวน์โหลดฉบับพิมพ์ได้ที่ http://www.mtec.or.th/index.php?option=com_wrapper&Itemid=195 ขอขอบคุณทางกองบรรณาธิการวารสารมา ณ ที่นี้ด้วยครับ |
มองวิทย์ด้วยจิตศิลป์
สัมภาษณ์ : กองบรรณาธิการวารสารเทคโนโลยีวัสดุ
ภาพ : ชุมพล พินิจธนสาร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์สรรเสริญ สันติวงศ์ หมวดวิชาทัศนศิลป์
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
คำถาม / ก่อนอื่น ขอเรียนถามในประเด็นพื้นฐานว่า ‘ความงาม’ ในทางศิลปะหรือมุมมองของศิลปินนั้นเป็นอย่างไร
อ.สรรเสริญ / ความงามของศิลปินทั่วไปอาจหมายถึงความพึงพอใจ
ความรู้สึกที่เกิดขึ้น สัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า งาม หรือมีภาพสุนทรียะ หรืออะไรบางอย่าง
มันไม่ใช่ความงามเฉพาะเปลือกนอกเท่านั้น
บางครั้งอาจเป็นสิ่งสวยงามที่เป็นรูปของฟอร์ม สี จังหวะ
หรืออะไรที่เรารู้สึกว่าบันเทิงใจ รื่นเริงใจ มันเป็นสิ่งงามสิ่งหนึ่ง แต่มันไม่ใช่แก่นแท้ของคนทำงานศิลปะที่ทำกันอย่างซีเรียสจริงจัง เพราะเขาพยายามหาความงามที่เป็นอุดมคติ
เป็นความงามที่สามารถเพื่อมวลมนุษย์ เพื่อยกระดับจิตใจได้ เพื่อทำให้เกิดปัญญา
หรือความคิดอื่น ๆ สำหรับความดี ความงาม ความสงบสุขของคนทั่วไป น่าจะเป็นแก่นตรงนี้มากกว่า
ศิลปินหลายท่านที่มีชื่อเสียงเขาจะมีตรงนี้อยู่
คำถาม / จากคำตอบของอาจารย์ มีคำหนึ่งที่ได้ยินมาก คือ ‘ใจ’ หรือ
‘กระทบใจ’ คำนี้เป็นคำสำคัญในเรื่องความงามหรือไม่
อ.สรรเสริญ / เข้าใจว่าคนที่เป็นศิลปินทุกคน
เขาจะมีความรู้สึกไวในส่วนที่มันกระทบใจสามารถแสดงออกมาได้ สามารถรู้สึก และสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาได้
อ.บุญส่ง / ในแง่ของศิลปินมีแรงดลใจบางอย่างที่อยากสร้างสรรค์งานขึ้นมา
เหมือนคนทั่วไปตัดสินพวกนี้โดยใส่คำบอกคุณสมบัติเข้าไป เช่น เสียงเพลงนี้เพราะ
หวานหู
คำถาม / แล้วในแง่ของศิลปินน่าจะมีความลึก หรือมีมิติที่กว้างขวางกว่านั้น
อ.บุญส่ง / ของคนทั่วไปอาจจะเป็นความถูกใจ ส่วนของศิลปินจะมีความคิดบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ถูกใจ
อย่างเช่นว่า มันมีคุณค่าบางอย่างในตัวงาน
อาจจะถูกใจคนบางคนหรือไม่ถูกใจคนบางคนก็ไม่ใช่เป็นเกณฑ์ แต่ว่าจะไปอิงกับการที่ศิลปินคนนั้นมีทัศนคติทางสุนทรียศาสตร์อย่างไร เช่น บางคนมองว่างานชิ้นนั้นเช่นงานจิตรกรรมภาพหนึ่ง
การวางองค์ประกอบที่มีความสมบูรณ์ในตัวมันเองหรือไม่ ศิลปินคนนั้นก็กำลังใช้การวางองค์ประกอบที่สมบูรณ์ในตัวมันเองเป็นเกณฑ์ในการตัดสินงาน
คำถาม / ถ้าอย่างนั้น ศิลปินแต่ละท่านอาจจะมีเกณฑ์บางอย่างที่คล้ายคลึงกัน
แต่บางอย่างก็อาจมีความชอบส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน ใช่หรือไม่
อ.บุญส่ง / ความจริงก็เป็นอย่างนั้น
ไม่ใช่ว่าทัศนะการมองทางสุนทรียศาสตร์จะเหมือนกัน เหมือนกับคำในทางวิทยาศาสตร์ว่า school of thought แต่ก็มีการเปลี่ยนไปตามยุคประวัติศาสตร์
บางสมัย บางทัศนะก็ถูกยึดเป็นแม่บท
มีอิทธิพลต่อคนทำงานศิลปะ เป็นการครอบงำในช่วงนั้น
คำถาม / การแบ่งช่วงศิลปะ โดยสกูล (school) นั้นคลุมความคิดของคนส่วนใหญ่ หรือคนจำนวนมากที่มีอิทธิพลต่องานศิลปะ
เป็นสาเหตุหลักหรือไม่
อ.บุญส่ง / ถ้าเป็นพวกที่จัดประวัติศาสตร์ศิลปะก็จะดูจากกระแสใหญ่ในแต่ละช่วงปี
คือ กระแสอะไรก็จะเรียกเป็นยุคสมัยนั้น เช่น ยุคเรอแนสซองส์ (Renaissance) และยุคบาโรค (Baroque)
อ.สรรเสริญ / พวกตระกูลเหล่านี้ก็มีความคิดที่อยู่เบื้องหลังงาน
ก็คือว่า แล้วแต่เขาจะให้ความสำคัญกับอะไร อย่างเช่น ยุคเรอแนสซองส์ ศิลปินหลุดออกมาจากแนวคิดแบบศาสนาในยุคกลาง จึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องอะไรที่ท้าทายมากขึ้น มันแสวงหามากขึ้น ไม่ใช่ติดอยู่กับเกณฑ์อย่างเดียว ก็เลยไปเอาความคิดของพวกกรีกหรือโรมันสมัยโบราณที่สุนทรียศาสตร์เจริญมาก
ๆ มากกว่าในยุคกลางด้วยซ้ำ ในแง่ให้ความสำคัญกับความเป็นจริงด้วย
ประสาทสัมผัสที่รู้สึกอยู่แค่เบื้องหน้าไม่ใช่ความรู้สึกอย่างเดียวในยุคกลาง
ก็เลยมารวมกัน มาศึกษาทั้งกรีก โรมันและยุคกลาง
เป็นยุคเรอแนสซองส์
อ.บุญส่ง / ศิลปินเป็นคนในสังคม
กระแสความคิดที่เกิดขึ้นในสังคมก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อ ความรู้สึก
ความต้องการของเขา และสะท้อนออกมาในงานศิลปะ เช่น ยุคกลางเป็นยุคที่ยาวนาน
อิทธิพลของศาสนาเข้ามาครอบคลุมลักษณะ กฎเกณฑ์บางอย่าง ส่วนใหญ่เป็นภาพทางศาสนา
พอในยุคเรอแนสซองส์ ความตื่นตัวไปสนใจงานกรีก-โรมันกลับมาอีกทีหนึ่ง
ก็เริ่มกลับมามีอิทธิพลกับศิลปินในยุคนั้น
คำถาม / ถ้าดูจากภาพกรีก-โรมันจะเห็นได้ว่า ภาพวาดหรือรูปปั้นของมนุษย์จะมีสัดส่วนที่มีอุดมคติมาก
ชายจะเป็นแบบนี้ หญิงจะมีรูปร่างแบบนี้ สวยงามแบบกรีก
ซึ่งยึดความจริงในธรรมชาติหรือหาฟอร์มที่เป็นอุดมคติใช่หรือไม่
อ.สรรเสริญ / ทั้ง 2 อย่างทั้งหาฟอร์มที่เป็นอุดมคติ
และความจริงที่มาจากธรรมชาติ เขามีการศึกษากายวิภาคอย่างละเอียด
ความเข้าใจในสัดส่วนมนุษย์แม่นยำ ถูกต้อง กล้ามเนื้อ
โครงกระดูกมนุษย์สามารถยืนอยู่ได้โดยไม่เอียง ไม่ล้ม มันยืนอยู่ได้เป็นธรรมชาติ
สวยงาม และสง่างาม กรีกยุคแรกๆ ก็ทำไม่ได้
แต่ในยุคหลังที่เป็นคลาสสิกจริงๆ สามารถดูแล้วเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตชีวามาก สง่างาม
ไม่ใช่แค่ตาเห็นอย่างเดียว เหมือนเขาคัดสรรสิ่งที่ดีเลิศ
เช่นคัดมนุษย์ที่มีรูปร่างดีที่สุดมา
คำถาม / ในยุคกรีก-โรมันถือว่าเป็นเกณฑ์ของยุคต้น ๆ ของสุนทรียศาสตร์เลยหรือไม่ หรือต้น ๆ
เขามีอยู่แล้ว
อ.บุญส่ง / ในสมัยแรก ๆ
ทั้งตะวันตกและตะวันออกความคิดด้านศิลปะ อย่างเช่นเมื่อจะวาดภาพถึงอยากจะลอกแบบให้เหมือนจริงก็ทำได้จำกัด
เนื่องจากความรู้เรื่องเพอร์สเปคทีฟ (perspective) ก็ไม่มี
ในเรื่องกายวิภาคก็ไม่มี มันเขียนสัดส่วนไม่ได้ ก็จะเขียนเป็นแค่ตัวโครง
เหมือนภาพเด็ก ๆ อย่างรูปผนังบนฝาถ้ำ แม้จะอยากวาดมากกว่านี้
แต่ไม่สามารถทำได้
อ.สรรเสริญ / ไม่สามารถแยกระยะสิ่งที่อยู่ข้างหน้า
กับข้างหลังได้ ไม่รู้วิธีอะไรที่จะแยกมัน
ตามันเห็นละแต่ความรู้เราไม่พอที่จะเขียนมัน แต่เขาก็ว่าในยุคกรีก-โรมันรู้วิธีแล้วว่าจะใช้เส้นในการนำสายตาเข้าไป
อ.บุญส่ง / แต่ความรู้พวกนี้มันก็หายไปในยุโรปยุคกลางที่เอาหนังสือพวกนี้ไปเข้าห้องสมุดแล้วเก็บไว้โดยพวกบาทหลวงไม่ให้ใครไปอ่าน
แล้วกลับมายุโรปอีกครั้งในสมัยสงครามครูเสด จากการที่นักรบชาวคริสต์ได้พบอารยธรรมดั้งเดิมของตนไปงอกงามอยู่ในอารยธรรมอิสลาม
เพราะความรู้ของพวกกรีก-โรมันเข้าไปอยู่ในพวกอิสลามและได้พัฒนาต่อยอดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปรัชญากรีก
การแพทย์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ จึงนำไปสู่ความสนใจในความคิดทางปรัชญาและวิทยาการของกรีกและโรมันใหม่
เกิดเป็นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ หรือเรอแนสซองส์
คำถาม / แล้วภาพอย่างไทยที่ไม่มีเพอร์สเปคทีฟเป็นเพราะอะไร
อ.สรรเสริญ / อุดมคติทางตะวันออกมีความคล้ายกันอย่างคือ
ไม่นิยมเลียนแบบจริง ๆ แบบถึงที่สุด
อ.บุญส่ง / ไม่เชิง
เพราะของจีนจะชื่นชมการวาดภาพที่เหมือนมาก เพราะมีบันทึกบรรยายไว้ว่า จิตรกรในสมัยก่อนของจีนมีชื่อเสียงมากเพราะเขียนภาพผลไม้แล้วนกโผมาจิกเพราะนึกว่าเป็นผลไม้จริง ๆ แต่สำหรับอิทธิพลของศาสนาพุทธนั้นมีลักษณะการบรรยายอุดมคติ ให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่เหมือนมนุษย์ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
พอศิลปินสร้างพระพุทธรูปก็สร้างตามอุดมคติ ไม่ได้สร้างเหมือนคนทั่วไป
อ.สรรเสริญ / ทั้งที่เริ่มแรกมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นแบบเหมือนจริงแล้ว พระพุทธรูปศิลปะคันธารราษฎร์ ก็ต้องกลายมาเป็นแบบอย่างที่เป็นอุดมคติ
เป็นความรู้สึกมากกว่าเรื่องประสาทสัมผัส
คำถาม / จริงหรือไม่ที่คนอินเดียแต่โบราณไม่นิยมสร้างรูปคนเพื่อเคารพบูชา แต่กรีกชอบมาก เช่น พวกเทพและเทพีทั้งหลาย
แล้วยุคนั้นในยุคพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมขึ้น
แล้วทำไมวัฒนธรรมพุทธของอินเดียถึงยอมให้มีรูปเคารพขึ้นมาได้
อ.บุญส่ง / การเปลี่ยนค่านิยมก็มีผล ในช่วงนั้นเป็นการปนของหลายเชื้อชาติ ตั้งแต่กรีกเข้ามาปกครอง ต่อมาพวกอิหร่าน
มองโกล เริ่มเข้ามา แต่ดั้งเดิมเองพวกที่อยู่ในเมโสโปเตเมียก็บูชารูปเคารพอยู่ รวมถึงพวกรูปสัตว์
แต่พวกอิสลามมองเป็นเรื่องงมงาย คัมภีร์อัลกุรอ่านไม่ให้บูชารูปเคารพ ศิลปะของอิสลามจะเป็นรูปทรงเรขาคณิต ไม่มีรูปแทนตัวบุคคล
คำถาม / เศรษฐกิจมีผลครอบงำศิลปะด้วยหรือครับ
อ.
สรรเสริญ / ในยุคเรอแนสซองส์
เขาบอกว่าระบบเศรษฐกิจมีตัวผลักดันอย่างรุนแรง
ไม่ใช่ว่าเกิดสงครามครูเสดอย่างเดียว ในยุคเรเรส์ซองส์ มีตระกลูเมดิซีที่เป็นพ่อค้าในสงคราม
และเปิดเส้นทางการค้าใหม่ทั้งในตะวันออก และตะวันตก ทำให้ร่ำรวยมหาศาลมาก
ความร่ำรวยก็ทำให้เขาเกิดความทะเยอทะยานจะสร้างเอเธนส์แห่งใหม่ จึงระดมนักปราชญ์ นักคิด นักเขียน
มาอยู่เป็นพ่อค้าต่างๆ เกิดตระกูลพ่อค้าต่างๆ เกิดการหลั่งไหลของศิลปินต่างๆ
มาชุมนุมกัน การขัดเกลาเหล่านี้ ในด้านของความคิด อุดมคติ
ปรัชญาศิลปินได้มีโอกาสศึกษาจากนักคิด นักเขียนเหล่านี้ และเอาความคิด ความรู้จากวิทยาการต่าง ๆ
มาสร้างเป็นงานศิลปะ เป็นการผสมผสานของความงามของจิตวิญญาณแบบคริสเตียนกับความรู้
มันเลยงดงามหมดจด เศรษฐกิจยุคนี้สำคัญมาก เกิดเป็นศิลปินเยอะ
ศิลปินก็ไม่ใช่เป็นคนไส้แห้งต่อไป สามารถมีชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตาในสังคม
เป็นบุคคลสำคัญขึ้นมาได้ ฮีโร่ในยุคเรอแนสซองส์ไม่ใช่อัศวิน
นักรบอีกต่อไป ความร่ำรวยของพ่อค้าต่าง ๆ
มีค่านิยมในการมีสมบัติวัตถุชั้นดีในการครอบครอง นี่คือสภาพของยุโรปในยุคศตวรรษที่
17
คำถาม / กรณีสัดส่วนทองคำ หรือ Golden
Ratio ซึ่งในยุคเรอแนสซองส์
ก็เชื่อว่า ดาวินชี ใช้สัดส่วนทองคำในงานของเขาแล้ว
แสดงว่าความรู้ในเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
อ.สรรเสริญ / เกิดในกรีก
และมาชัดเจนในยุด เพลโต้ อริสโตเติล ที่พยามยามหาสัดส่วนที่สมบูรณ์ที่พอเหมาะ
อย่างเช่นในงานละครประเภทโศกนาฏกรรม ทั้งเพลโต้ อริสโตเติล
พยายามค้นหาสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของความงามทั้งหลาย มันต้องประกอบไปด้วยอะไรที่เหมาะเจาะ
เหมาะสมที่สุด ก็คิดว่าในมนัสของพระเจ้า
หรืออุดมคติอะไรบางอย่างจะมีแบบที่สมบูรณ์ สวยงามที่สุด
อ.บุญส่ง / ความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าในยุคกลางของยุโรปก็มีพื้นฐานความคิดว่า
พระเจ้าคือสิ่งที่สมบูรณ์ และเมื่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาก็จะสมบูรณ์ด้วย และพอมาในยุคเรอแนสซองส์ ซึ่งกลับมาสนใจความคิดของกรีกอีกครั้ง
และมาสนใจหาสัดส่วนระหว่างประติมากรรมที่สมบูรณ์ เลยพยายามหาว่าอะไรคือสัดส่วนที่สมบูรณ์
เมื่อพบว่าเข้ากันได้ก็เอามากำหนดเป็นเกณฑ์ขึ้น
คำถาม
/
มีสิ่งใดที่มาเป็นตัวบอกเกณฑ์ หรือตัวที่ว่าสัดส่วนนี้เป็นสัดส่วนที่สมบูรณ์ที่สุด
อ.สรรเสริญ / สิ่งหนึ่งก็คือมนุษย์นั่นเอง
ที่พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมา ก็ต้องเป็นสิ่งที่สวยงาม สมบูรณ์ ฉะนั้น มันก็มีสัดส่วนเหมือนกับที่นิยายเรื่อง
ดาวินชี โค้ด ได้พูดถึง สัดส่วนที่ทุกส่วนสามารถคำนวณกันได้
อ.บุญส่ง / ต่อจากยุคเรอแนสซองส์
ก็มาต่อช่วงในตอนที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า พวกศิลปินรับความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยพัฒนาเทคนิคในการเขียนภาพให้แม่นยำมากขึ้น การที่ศิลปินคิดว่ามันมีสัดส่วนที่แน่นอน ผมว่ามันมีอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะวิทยาศาสตร์นั้นจะเกี่ยวข้องกับพวกสเกลต่าง ๆ
อ.สรรเสริญ / ในยุคเรอแนสซองส์ หลังจากพวก ลีโอนาโด ดาวินชี และ ไมเคิล แองเจโล ไปแล้ว เกิดยุดหลังเรอแนสซองส์ มีความเชื่อในการก่อสกูล
เขียนภาพที่มีอะคาเดมิก โดยเชื่อว่าเมื่อได้เรียนรู้จากสูตรจากดาวินชี ไมเคิล
แองเจโล หรือจากราฟาเอล พวกนี้ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นศิลปินที่ดีได้
ก่อนมาถึงยุคเรอแนสซองส์ที่เป็นยุคคลาสสิกใช้เวลานานมากก่อนมาถึงยุคไมเคิล
แองเจโล หลังยุดไมเคิล
แองเจโลไปศิลปินที่ทำงานในระดับใกล้เคียงกันมีมาก เพราะเรียนรู้สูตรต่างๆ ได้
ก็เลยเกิดอะคาเดมิกสกูล (academic school) เต็มไปหมดเลย ก็เชื่อว่าคนทุกคนสามารถเป็นศิลปินที่ดีได้ถ้าฝึกตามขั้นตอนตามนั้น
เหมือนมีมาตรฐานอยู่ แล้วแต่ใครจะมีอัจฉริยะภาพของแต่ละคน
คำถาม / ดูจากหนังสือทางด้านสุนทรียศาสตร์ในปัจจุบัน
ส่วนใหญ่จะเป็นทางตะวันตก จะเหมือนกับทางวิทยาศาสตร์ไหมที่โดนครอบงำโดยตะวันตกมาก
มันมีบางเล่มมีสุนทรียศาสตร์ตะวันออก มีการแยกแยะไหม
อ.บุญส่ง / ประการแรก หนังสือภาษาไทยทางด้านสุนทรียศาสตร์เรียบเรียงมาจากตำราของทางตะวันตก ก็เป็นไปในลักษณะนั้น
และประการต่อมา สุนทรียศาสตร์เองที่เป็นแขนงปรัชญา
ปรัชญาตะวันตกพยายามจะจัดระบบความเข้าใจต่อสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ปรัชญาตะวันออกนั้นมีความแตกต่าง อย่างในปรัชญาอินเดียก็สนใจการหาคำตอบว่าชีวิตที่เป็นอมตะหลังความตายเป็นอย่างไร แล้วเราจะหลุดพ้นได้อย่างไร ส่วนปรัชญาจีนจะหาคำตอบในการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันให้กลมกลืนกับสังคม
กับธรรมชาติ โจทย์คนละแบบ ในตะวันตกเรื่องสุนทรียศาสตร์ก็พยายามดูว่าอะไรเป็นเกณฑ์ว่าอะไรงาม
และมีค่าทางสุนทรียะ เกณฑ์ดังกล่าวใช้ได้ไหมเมื่อพิจารณาในเชิงเหตุผล
คำถาม / เป็นลักษณะของทางตะวันตกใช่หรือไม่ที่ต้องมีการทำให้เป็นมาตรฐาน
หรือ standardization
อ.บุญส่ง / คือการทำสแตนดาร์ดเป็นเครื่องช่วยในการทำอะไรต่อมิอะไรในวงการต่าง
ๆ นอกจากนี้มันอยู่ที่เรื่องการมองเวลาด้วย
เพราะในทางตะวันออกส่วนหนึ่งของการมองเวลามักมองเป็นแบบวัฎจักร ขณะที่ความคิดแบบสมัยใหม่ซึ่งเน้นการลดความศักดิ์สิทธิ์ลง
มองเวลาแบบเป็นเส้นตรง
ให้ความสำคัญกับความสามารถของมนุษย์เป็นผู้กำหนดชะตากรรมตนเองมากขึ้น ศิลปะสมัยใหม่อยู่บนความคิดที่ให้ความสำคัญกับศิลปินในฐานะที่เป็นปัจเจกชนผู้มีความสามารถในเชิงสร้างสรรค์
โลกทางศิลปะเป็นโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าโลกของชีวิตประจำวัน
ศิลปินเป็นผู้ฝากอัจฉริยภาพของตนในการสร้างงานศิลป์ให้ดำรงอยู่อย่างสถาวรในโลกแห่งศิลปะ
และความยิ่งใหญ่ของศิลปินอยู่ที่ตรงนี้
อ.บุญส่ง / สุนทรียศาสตร์
ในศตวรรษที่ 20 มักไม่พูดถึงความงาม
โดยถือว่าเป็นมโนทัศน์ที่คลุมเครือ บ่อยครั้งเป็นเพียงแค่อัตวิสัย (subjective)
และไม่ชัดเจน
จึงมีความพยายามสร้างมโนทัศน์ใหม่เข้ามาแทนที่ คือ ใช้ศัพท์จำพวก “การมีค่าทางสุนทรียะ”
หรือ ”การประสบความสำเร็จทางสุนทรียะ” เป็นต้น โดยนำมานิยามอีกครั้ง
เช่น สกูลที่เรียกว่า ฟอร์มัลลิซึม (formalism) เน้นการหา “รูปแบบที่มีนัยยะ” เช่นดูองค์ประกอบที่สมดุล เป็นต้น ถ้าเป็นพวกเอ็กเพรสชั่นนิซึม (expressionism) ก็จะเน้นในเรื่องของนการถ่ายทอดความรู้สึกของตัวผู้สร้างงาน และความสามารถถ่ายทอดความรู้สึกเข้าสู่ในตัวงานได้ เป็นต้น
แต่แม้พวกเหล่านี้จะยึดเกณฑ์ต่างกัน แต่ก็ยังมีจุดร่วมกันคือเขาคิดเหมือนกันคือไม่เอามามโนทัศน์ความงามมาเป็นเกณฑ์ในการใช้ตัดสินงานศิลป์ มโนทัศน์ความงามถือเป็นความคิดเก่า แต่ปัจจุบันนี้
วงการสุนทรียศาสตร์กลับมาให้ความสนใจกับมโนทัศน์เรื่องความงามอีก
อ.สรรเสริญ / ในยุคปัจจุบันศิลปะมันแห้งแล้ง
มันเต็มไปด้วยความคิด เลยอยากกลับไปหาอะไรที่ละเมียดละไม
ด้วยสภาพแวดล้อมที่แย่อยู่แล้ว อยากจะเสพศิลปะที่เป็นแบบเก่า อยากจะหวนหาอดีตบ้าง
พวกเพนติ้ง (painting) ก็กลับมา
สมัยก่อนพูดกันว่า “Painting is dead.”
อ.บุญส่ง / อย่างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่นิยมสร้างตึกเป็นรูปทรงเรขาคณิต
แยกฟังก์ชันของส่วนทำงานที่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นสถาปัตยกรรมแบบโพสต์โมเดิร์น (Post-modern) จะไม่ยึดเกณฑ์แบบนั้น
อย่างเช่นเอาเฟอร์นิเจอร์ต่างยุคสมัยมารวมกันได้
โต๊ะไม่เข้าชุดกัน ไม่ร่วมสมัยกัน ขอให้จัดวางแล้วลงตัว และพอใจ ก็ยอมรับได้ นี่แสดงว่า ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนมันก็ยังวงเวียนอยู่กับการให้คุณค่าของคนอยู่
คำถาม / อาจารย์มีอะไรฝากถึงแวดวงด้านวิทยาศาสตร์ไหม
ในมุมมองของศิลปินในแง่ของสุนทรียศาสตร์
อ.สรรเสริญ / แม้ในด้านวิทยาศาสตร์
หรือ สุนทรียศาสตร์ มันก็มีจุดมุ่งหมายไม่ต่างกันคือ ก็เพื่อจรรโลงมนุษย์
จรรโลงโลก
และก็ต่างมีอุดมคติในการสร้างอารยธรรมความเจริญของมนุษย์ทั้งส่วนที่เป็นวัตถุ
และทางด้านจิตใจ เหมือนกันคือ
เราต่างพยายามสร้างอารยธรรมโลกให้เจริญอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
อ.บุญส่ง / ทั้งศิลปิน หรือ
นักวิทยาศาสตร์มีความกระตือรืนร้นที่จะอยากรู้อะไรที่ลึกซึ้งกว่าในสิ่งที่อยู่รอบข้างตัวเอง
และพยายามพัฒนาเครื่องมือหรือเครื่องช่วยอะไรมาช่วยตัวเองรู้ให้ลึกซึ้งได้
และบ่อยครั้งทั้งสองวงการก็เกื้อกูลกัน เช่นความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์สามารถทำให้วงการศิลปะมีเทคนิคมากขึ้น
อ.สรรเสริญ / บ่อยครั้งศิลปะก็เสริมสร้างจินตนาการให้วิทยาศาสตร์
ฝันว่าจะบินได้ ฝันว่าจะไปดวงจันทร์
เหมือนแรงดลใจ บันดาลใจหลาย ๆ อย่าง
บางทีที่ศิลปากรก็จัดกิจกรรมมาเจอกันระหว่างกลุ่มศิลปะกับวิทยาศาสตร์
เพราะอยากจะเห็นความเหมือน และความแตกต่างของศิลปะ และของวิทยาศาสตร์ว่า
มันส่งเสริมกันได้อย่างไรบ้าง
เรารู้จักคุณค่าของทั้ง 2 อย่างอย่างถ่องแท้
คำถาม / หากคนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์
ซึ่งไม่เคยรู้เรื่องทางศิลปะมาก่อน แต่อยากเข้าใจงานด้านศิลปะจะเริ่มต้นอย่างไร
อ.บุญส่ง / เริ่มที่ตัวเองรู้สึกชอบใจ
ถูกใจ คือ มีแรงดลใจบางอย่างให้สนใจศิลปะ
ต้องมีจุดเริ่มจุดหนึ่งก่อน
อย่าเพิ่งไปสนใจว่าคนในวงการศิลปะเขาตั้งเกณฑ์อะไร อย่าไปสนใจมากนักว่าศิลปินเขาใช้เกณฑ์อะไรตัดสินงาน
มีศิลปินน้อยคนที่มีความสามารถในการไตร่ตรองสะท้อนตนเอง (self-reflection)
เวลาเราอ่านแผ่นพับที่ศิลปินเขียนที่แจกในงานแสดงศิลปะ
บ่อยครั้งศิลปินมักเขียนไปตามความนึกคิดความเข้าใจของตนเองโดยไม่มีการไตร่ตรองสะท้อนที่จริงจัง
ซึ่งไม่ช่วยเรามากเท่าไรในการเข้าใจศิลปะ
เอาเป็นว่าถ้ามีความสนุกกับการติดตามศิลปะก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว
No comments:
Post a Comment