หมายเหตุ
บทความนี้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยไฟแนนเชี่ยล ฉบับวันที่ ๑๙ ต.ค.
๒๕๓๖
“การดำรงอยู่ทางชนชั้นไม่ได้เป็นตัวชี้ว่าชนชั้นนั้นๆต้องมีการปฏิบัติการณ์ในรูปเดียวกันหรืออยู่ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน”
๒๐ปี ๑๔ ตุลา (ตอนที่๒): วิวาทะเรื่องชนชั้นกลางคืออะไร
บุญส่ง
ชัยสิงห์กานานนท์
นักเรียนนักศึกษาและประชาชนร่วมแสนที่เดินขบวนไปชุมนุมกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงวันที่
๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๖
เพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลจอมพลถนอมให้ปล่อยตัวคณะผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ๑๓คนที่ถูกตำรวจจับตัวไว้และให้รัฐบาลเร่งรัดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนตุลาปี
๒๕๑๗ คนเหล่านี้เป็นใครกัน? อยู่ร่วมชนชั้นเดียวกันใช่ไหม? ใช่หรือไม่ที่พวกเขาคือชนชั้นกลาง?
ยิ่งกว่านั้นคำว่า "ชนชั้นกลาง"
เป็นคำที่มีความหมายหรือไม่? ชนชั้นกลางคืออะไร?
เช่นเดียวกันคนร่วมแสนที่ชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวงก่อนจะเคลื่อนตัวไปตามถนนราชดำเนินผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนไปถูกหยุดด้วยตำรวจที่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าในตอนค่ำของคืนวันที่
๑๗
พฤษภาคม ๒๕๓๕ พวกเขาเป็นใครกัน? ใช่กลุ่มชนที่มีการเรียกขานกันว่า
"ชนชั้นกลาง" ใช่หรือไม่? ชนชั้นกลางคืออะไร?
ในร่างเอกสาร "ข้อเสนอจัดงานเฉลิมฉลอง ๒๐ ปี ๑๔ ตุลาคม" ของคณะผู้ประสานงานฯ
ดังกล่าวในหน้าแรกได้เขียนถึงกรณีเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาไว้ว่า "เป็นครั้งแรกที่ประชาชนไทย อันมีเยาวชนนักเรียนนิสิตนักศึกษาเป็นหัวหอก สามารถโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารของกลุ่มจอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร อันทรงพลัง ซึ่งไม่เพียงทำให้การเมืองไทยในช่วง
๓ ปีต่อมาเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างสมบูรณ์เท่านั้น หากเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมแบบแบ่งยุคแบ่งสมัยอีกครั้งหนึ่งอีกด้วย กล่าวคือ
เปิดทางให้กับการเคลื่อนไหวรักชาติรักประชาธิปไตยอย่างขนานใหญ่ ประชาชนชั้นล่างและคนชั้นกลางขึ้นสู่เวทีการเมืองระดับชาติ..." นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการเรียกขานสถานภาพทางสังคมของกลุ่มคนที่เข้าใจกันว่ามีบทบาททางสังคมที่สำคัญในปัจจุบัน เมื่อเร็วๆนี้เองศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เอแบรทได้จัดพิมพ์หนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งมีชื่อว่า
"ชนชั้นกลางบนกระแสประชาธิปไตย" (กรุงเทพ: ศูนย์หนังสือจุฬาฯ, ๒๕๓๖) อันเป็นหนังสือรวมบทความนักวิชาการไทยชื่อดังเช่น นิธิเอียวศรีวงศ์ ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นต้น นักวิชาการเหล่านี้เขียนถึงอะไร?
"และแน่นอนทีเดียว ชนชั้นใดเขียนประวัติศาสตร์ก็จะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของชนชั้นเขา
ผลก็คือทฤษฎีชนชั้นกลางได้อุบัติขึ้นอ้างว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาตั้งแต่ ๒๔๗๕
ถึง ๑๔ ตุลา
ถึง ๑๗-
๒๐ พฤษภาคม
ก็คือการต่อสู้ของชนชั้นกลาง
ทฤษฎีนี้ได้ดึงเอาชนชั้นกลางกับประชาธิปไตยมาควบคู่กัน
ทำให้ดูราวกับว่าชนชั้นนี้ได้นำมาซึ่งประชาธิปไตยทั้งในอดีตและจะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในอนาคต" (ยุค ศรีอาริยะ, "จาก ๑๔
ตุลา ถึง ๑๗- ๒๐ พฤษภาคม บทวิจารณ์ทฤษฎีชนชั้นกลาง" จดหมายข่าวครป., ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๘
มิ.ย.- ส.ค., ๒๕๓๖, หน้า
๒๒) นี่คือท่อนหนึ่งจากข้อเขียนของอดีต
(?) มาร์กซิสต์ไทยที่ได้เขียนขึ้นเพื่อวิจารณ์การใช้ทฤษฎีชนชั้นกลางในการวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ของสังคมไทย
เราจะมองข้ามความไม่ระวังของยุค ศรีอาริยะที่ยืนยันการมีอยู่ของชนชั้นกลางไว้เองโดยไม่ตั้งใจในข้อความที่ยกมาข้างต้น
และเราจะมาใส่ใจในส่วนที่ยุคเขียนในทำนองว่า การที่ชนชั้นกลางเป็นผู้ผลักดันประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าวเป็นเพราะว่าคนเขียนประวัติศาสตร์นั้นเป็นพวกปัญญาชน"กลุ่มคนที่เขาคิดว่าเขาคือสมาชิกของชนชั้นกลาง"
ดังนั้นประวัติศาสตร์แบบนี้จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ให้ความสำคัญอยู่ที่บทบาทของชนชั้นกลาง
โดยที่ตั้งใจ
กำหนดให้ชนชั้นกลางกับประชาธิปไตยเป็นของคู่กัน ซึ่งสิ่งที่ยุคต้องการชี้ก็คือ นี่คือมายาภาพ!
ข้าพเจ้าจะแสดงให้เห็นว่า
เรากล่าวถึงชนชั้นกลางในฐานะที่เป็นชนชั้นหนึ่งได้อย่างมีความหมาย
หากเรากล่าวถึงมโนทัศน์ "ชนชั้น" อย่างมีความหมายได้ ในการถกเถียงตรงประเด็นนี้จะมีการตีความทฤษฎีที่เสนอในเรื่องนี้บางทฤษฎีที่ยุคเองมีการอ้างเอามาใช้วิจารณ์ผู้อื่น
ได้แก่ทฤษฎีชนชั้นของปูลองซ่า[1] (Nicos Poulantzas- ซึ่งยุค ศรีอาริยะ
สะกดชื่อสกุลผิดโดยไปเขียนว่า
Pouluntzus
ถึง ๕ ครั้งในบทความเท่าที่มีปรากฏชื่อปูลองซ่า จึงไม่น่าจะเป็นความผิดพลาดอันเกิดจากคนเรียงพิมพ์พิมพ์ผิดเป็นแน่)
ไม่เพียงเท่านั้น เรายังกล่าวได้ด้วยว่าชนชั้นกลางมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุคใหม่ของสังคมไทย
โดยพิจารณาผ่านเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา
มาจนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และจะตอบคำถามที่นักวิชาการไทยส่วนหนึ่งมักถามแล้วไม่ตอบคือคำถามที่ว่า
"ทหารไทยอยู่ในชนชั้นไหน?"
ที่สำคัญกว่าก็คือ
ความเข้าใจที่ได้ทั้งหมดนี้จะช่วยชี้ทางบางหนทางให้กับสังคมไทยได้หรือไม่
และได้อย่างไiบ้าง(ตรงนี้ก็คือคำตอบว่าทำไมเราจึงมาให้เวลาอภิปรายกันตรงประเด็นนี้)
ส่วนผลพลอยได้อื่นๆได้แก่
การแสดงให้เห็นว่านักประวัติศาสตร์อย่างเช่นนิธิ เอียวศรีวงศ์
ผิดพลาดอย่างไรในเรื่องนี้ตรงพื้นฐานที่สุด แนววิเคราะห์สังคมแบบของ น.พ. ประเวศ วะสี
ทำไมเราจึงกล่าวได้ว่าเป็นแนววิเคราะห์สังคมแบบ "เด็กๆ" และไม่อาจนำทางสังคมไทยได้
ชนชั้นกับอำนาจ
"กล่าวโดยสั้นๆ ความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่ก่อรูปเป็นองค์รวมหน่วยที่แสดงตนออกมาให้เห็นในแบบเรียบง่าย
ไม่มากเกินไปกว่าที่โครงสร้างหรือการปฏิบัติการณ์ได้ก่อรูปออกมา
ทว่าความสัมพันธ์แบบนี้จักเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและเป็นความสัมพันธ์ที่เคลื่อนไปจากที่และถูกกำหนดในท้ายที่สุดจากอำนาจทางเศรษฐกิจ
อำนาจทางการเมืองหรือทางอุดมการณ์ไม่ใช่การแสดงตัวออกมาอย่างเรียบง่ายของอำนาจทางเศรษฐกิจ เราอาจยกตัวอย่างมาได้มากมายในกรณีของชนชั้นหนึ่งใดซึ่งครอบงำทางเศรษฐกิจแต่ไม่ครอบงำทางการเมือง
หรือครอบงำทางอุดมการณ์แต่ไม่ครอบงำทางเศรษฐกิจหรือทางการเมือง ชนชั้นหนึ่งใดอาจจักมีศักยภาพที่จะตระหนักถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (ปัญหาของลัทธิสหภาพแรงงาน) แต่ไร้ศักยภาพที่จะตระหนักรู้ผลประโยชน์ทางการเมือง ชนชั้นหนึ่งใดอาจจักมีอำนาจทาง
เศรษฐกิจโดยไม่มีอำนาจทางการเมืองมา
'ตรงต้องกัน' หรือกระทั่งอาจมีอำนาจทางการเมืองโดยไร้ซึ่งอำนาจทางอุดมการณ์ที่มา
'ตรงต้องกัน'ก็ได้" (Nicos Poulantzas, "Class
Power" ,p.152)
จากข้อความที่ยกมาสรุปได้
(เขียนใหม่ให้อ่านง่ายขึ้นเพื่อหน่วยงานความมั่นคงของไทยจะได้อ่านได้รู้เรื่อง
ข้าพเจ้าเห็นใจท่านเหล่านี้เต็มประดา ด้วยเหตุว่าเรื่องที่ต้องใช้กึํนมากหน่อย
พวกท่านเหล่านี้อาจรู้สึกว่าตนขาดอะไรไปที่จะใช้เป็นเครื่องช่วยทำความเข้าใจ ดังที่มักแสดงด้วยพฤติกรรมให้เราได้เห็นว่าขาดไปจริงๆอยู่บ่อยครั้งนั่นเอง) ว่าปูลองซ่าคิดว่า
๑.แม้ว่าอำนาจทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนดในท้ายที่สุดในแง่การแสดงตัวของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
แต่จักไม่แสดงตัวออกมาแบบไม่ซับซ้อนหรือหาตำแหน่งแห่งที่ได้ง่ายๆ
และถึงจะมีกรณีที่แสดงออกมาให้เห็นได้ง่ายก็ไม่ใช่กรณีของอำนาจทางการเมืองหรือทางอุดมการณ์
๒.การที่ชนชั้นหนึ่งใดได้ครอบงำทางด้านใดด้านหนึ่งไม่จำเป็นต้องครอบงำได้ในทุกๆด้าน
กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจแต่ไม่มีอำนาจทางการเมืองก็ได้
ดังกรณีเช่นกลุ่มพ่อค้าในเมืองไทยในสมัยอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์ (คำว่า 'พ่อค้า' กับคำว่า 'ชนชั้นกลาง' ไม่ใช่คำที่ใช้แทนที่กันได้ นิธิมีแนวโน้มเข้าใจประเด็นนี้ผิดดังที่มักแสดงความสับสนให้เราเห็นได้เมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมของชนชั้นกลางแล้วนำเอาลักษณะทางวัฒนธรรมของกลุ่มพ่อค้ามากล่าวแทน-ดังปรากฏในบทความเช่น "วัฒนธรรมของคนชั้นกลางไทย" ใน,สังศิต พิริยะรังสรรค์และผาสุก พงษ์ไพจิตร,
ชนชั้นกลางบนกระแสประชาธิปไตยไทย, อ้างแล้วข้างต้น
-ประเด็นความเข้าใจผิดนี้เราจะดูรายละเอียดในตอนหลัง) กรณีที่ใกล้ๆเห็นชัดได้แก่การมีอำนาจทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางไทยในสมัยจอมพลสฤษดิ์แต่ไม่มีอำนาจทางการเมืองโดยตรง
และยังอยู่ใต้อำนาจอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่ถูกปลูกฝังเป็นอุดมการณ์แห่งชาติโดยจอมพลสฤษดิ์ เหตุการณ์๑๔ตุลาจึงมีส่วนสำคัญในแง่เปิดตรงโครงสร้างให้กลุ่มชนชั้นกลางได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองและสร้างอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จในเวลาต่อมาดังปรากฏการณ์พฤษภาทมิฬซึ่งเป็นการปิดฉากการสร้างกำแพงกั้นชนชั้นกลางไม่ให้เข้ามามีอำนาจทางการเมือง รวมทั้งเป็นการแสดงอำนาจท้าทายทางการเมืองและทางอุดมการณ์ในลำดับต่อมาดังที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
ดังที่เรากำลังได้เห็นถึงการถอยห่างจากอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นการถอยห่างที่แสดงตนเองมากขึ้นผ่านปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมรูปแบบต่างๆ
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าชุดคำอธิบายดังกล่าวของปูลองซ่ามีพลังทางการอธิบายสูง
และเราเอาประสบการณ์เราในสังคมไทยมาเป็นข้อสนับสนุนได้ดังยกมาให้เห็น
ยุค
ศรีอาริยะได้วิจารณ์การใช้ทฤษฎีชนชั้นกลางว่า "หากนำทฤษฎีของชนชั้นกลางมาใช้วิเคราะห์เหตุการณ์
๑๗- ๒๐ พฤษภาคมก็จะสร้างปัญหามากมายในการวิเคราะห์เช่นกัน เราลองมาตั้งคำถามว่าใครคือชนชั้นกลาง
ข้าราชการ นายทหาร นายพัน นายร้อย สมาชิกพรรคมารที่สนับสนุนสุจินดาเป็นชนชั้นกลางใช่หรือไม่
ถ้าตอบว่าใช่
ทฤษฎีชนชั้นกลางก็จะมีปัญหาทันที
เพราะกลายเป็นว่าชนชั้นกลางทำสงครามกับชนชั้นกลาง มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และนี่ย่อมหมายความว่า การดำรงอยู่ทางชนชั้นและรอยเชื่อมทางชนชั้นหาได้มีความหมายในทางเป็นจริงไม่" (หน้า๒๒)
หรือในอีกที่ "...จะอธิบายได้อย่างไรว่าในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม คนที่อาจเรียกได้ว่าเป็น'ชนชั้นกลาง'เป็นจำนวนมากได้หันไปเป็นสมาชิกของกลุ่มลูกเสืชาวอบ้าน,กลุ่มนวพลและอื่นๆหันกลับมาเผชิญหน้ากับตัวแทนทางชนชั้น 'ตนเอง' ได้อย่างไร" (หน้า๒๓)
ตรงนี้ตอบยุคได้ไม่ยาก
วิธีการแรกคือจัดประเภททางชนชั้นให้ชัดเจนขึ้นเช่นนักศึกษาอาจจัดเป็นชนชั้นนายทุนน้อย
ดังนั้นการปะทะกันของสองฝ่ายคือความต่างทางชนชั้นอยู่แล้ว แต่การตอบแบบนี้อาจยุ่งยากมากในเชิงรายละเอียด เราก็ยังมีวิธีการอื่นๆอีก เช่นตอบแบบปูลองซ่า
ด้วยการตอบว่าความขัดแย้งในตัวอย่างที่ยุคยกมาไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร การดำรงอยู่ทางชนชั้นไม่ได้เป็นตัวชี้ว่าชนชั้นนั้นๆต้องมีการปฏิบัติการณ์ในรูปเดียวกันหรืออยู่ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน ดังข้อความที่ยกมาให้เห็น
ชนชั้นกลางในยุโรปในแต่ละที่ไม่ได้อยู่ใต้อุดมการณ์เดียวกัน เพราะอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอยู่อาจไม่ใช่อำนาจครอบงำหลักในสังคมนั้นก็ได้
ในแง่นี้ชนชั้นกลางในดินแดนนั้นอาจอยู่ใต้อำนาจทางการเมืองหรือทางอุดมการณ์ของรัฐหรือผู้ครองรัฐดังกล่าว
อุดมการณ์แบบเสรีนิยมจึงอาจไม่เป็นอุดมการณ์หลักของชนชั้นกลางในดินแดนนั้นๆในเวลานั้นๆก็ได้
ความซับซ้อนตรงนี้มีมากขึ้นหากเป็นในดินแดนเดียวกัน
จริงอยู่แม้ว่าชนชั้นกลางอาจจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจกระจายในกลุ่มตนแต่เมื่อถูกครอบงำจากอำนาจทางอุดมการณ์ของชนชั้นอื่นเช่นจากศักดินาหรือฟาสซิสม์
กระแสส่วนใหญ่ของคนชนชั้นดังกล่าวจึงอาจอยู่ภายใต้อุดมการณ์หนึ่ง
ขณะที่ก็มีกระแสก้าวหน้าที่อยู่ใต้อุดมการณ์ที่ต่างกันได้ ปูลองซ่าได้เตือนเราว่าอย่าสับสนระหว่างการดำรงอยู่ทางชนชั้นกับการมีอำนาจ ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่เรื่องที่การดำรงอยู่ทางชนชั้นไม่มีความหมายในทางเป็นจริง
ฐานทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุดเป็นตัวตัดสิน คำถามย้อนกลับจึงมีอยู่ว่าในตัวอย่างที่ยุคยกมาโดยลึกๆเป็นความขัดกันในชนชั้นเดียวกันทางฐานเศรษฐกิจหรือไม่
หรือยุทธวิธีที่ใช้มีความต่างกันในคนชั้นกลางคนละพวก หรือฐานทางอุดมการณ์มีส่วนทำให้เลือกใช้ยุทธศาสตร์ต่างกัน
เช่นฝ่ายยืนข้างสุจินดา หากสุจินดาและพวกชนะ
สุจินดาจะเป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นกลางหรือไม่ ข้าพเจ้าขอตอบเลยว่าสุจินดาไม่ทำเช่นนั้นแน่ เพราะเป็นการฆ่าตัวตาย แต่แน่ๆอำนาจทางการเมืองและทางอุดมการณ์จักยังไม่อยู่ในมือชนชั้นกลางแน่นอน
เมื่อมองในแง่นี้หากสุจินดาชนะชนชั้นกลางก็ยังอยู่แต่ไม่มีบทบาทเป็นอำนาจครอบงำหลัก
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ผลประโยชน์ทั่วไปทางชนชั้นของชนชั้นกลางยังไม่ปรากฏเป็นรูปผลประโยชน์ทั่วไปของทั้งสังคมและได้อำนาจบังคับทางสังคมให้สอดคล้องกับผลประโยชน์นี้ดังที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อุดมการณ์ที่มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับชนชั้นตนอย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ชัยชนะในเดือนพฤษภาจึงเป็นชัยชนะสำคัญในการได้อำนาจครอบงำหลักเพื่อใช้บรรลุเป้าหมายหลักทางสังคมนั่นเอง
๑๔ตุลามีส่วนสำคัญในการเปิดทางสายนี้ไว้ให้ (ดังจักได้กล่าวต่อไป)
ตามนิยามของปูลองซ่า
อำนาจจึงเป็นศักยภาพของชนชั้นทางสังคมในการตระหนักรู้ได้ถึงผลประโยชน์ทางภววิสัยเฉพาะเจาะจง
คำว่าทางภววิสัยในที่นี้คือการที่ผลประโยชน์ของชนชั้นกลางได้รับการทำให้เป็นสากลและมีผลบังคับทางสังคม
กล่าวคือทั้งสังคมถูกทำให้ยอมรับว่าเป็นผลประโยชน์ทั่วไปของสังคม
ตรงนี้ต้องระวังความสับสนในความหมายของคำว่าภววิสัยที่ปูลองซ่าใช้ด้วย
ยุคเองมีข้อผิดพลาดในการอ่านปูลองซ่าซึ่งเราจะได้กล่าวถึงต่อไป และประเด็นที่ชัดเจนในตอนนี้ (แม้ว่าเรายังไม่ได้ตอบว่าชนชั้นกลางคืออะไร ดูชนชั้นดูอย่างไร) ก็คือการนิยามชนชั้นกลางนั้นไม่คลุมเครือ จุดสับสนอยู่ที่ไม่คิดให้ชัด หรือพยายามตอบคำถามที่คิดว่าตอบไม่ได้
ตรงนี้นั่นเองจึงเป็นจุดตั้งต้นของความคลุมเครือที่แท้จริง.
(หมายเหตุ- บทความนี้ยังมีต่ออีกหลายตอน
ดังที่ท่านผู้อ่านคงได้เห็นแล้วว่าเป็นการถกเถียงในประเด็นใหญ่
ในตอนต่อไปเราจะวิพากษ์ยุค นิธิ และคนอื่นๆ
เพื่อนำไปสู่คำตอบในตอนท้ายว่าเราได้อะไรจาก ๒๐ ปีที่ผ่านมาของเหตุการณ์๑๔ตุลา
และสังคมไทยควรเดินไปทางไหน ท่านผู้อ่านคงสังเกตได้ว่าไม่มีที่ใดในบทความที่ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้าเป็นมาร์กซิสต์
จึงไม่ควรสรุปอะไรเช่นนั้น นี่ไม่ใช่เพราะการเป็นมาร์กซิสต์มีอะไรน่ารังเกียจ
คนที่คิดเช่นนั้นนั่นแหละน่ารังเกียจ! เพราะแสดงว่าไม่รู้จริง
ท่านคงจะเห็นได้ว่าข้าพเจ้าใช้วิธีการเอาดาบที่อีกฝ่ายใช้มาสู้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นถ้าอีกฝ่ายเปลี่ยนอาวุธข้าพเจ้าก็จะลองใช้อาวุธแบบนั้นสู้ตาม)
[1]
Nicos Poulantzas เป็นนักคิดชาวกรีกที่ย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศส
ในที่นี้ ออกเสียงชื่อสกุลของเขาตามเสียงในภาษาฝรั่งเศส แต่ถ้าออกเสียงตามภาษากรีก
จะเรียกว่า นิคอส พูลัธซาส ตามชื่อในภาษากรีกคือ Νίκος Πουλαντζάς