Sunday, April 13, 2014

สิทธิมนุษย์ (The Rights of Man)

หมายเหตุ บทความนี้ผมแปลลงใน สุวิชญาจารย์ รวมบทความทางวิชาการเพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอมอร นิรัญราช และอาจารย์เชษฐา พวงหัตถ์ เนื่องในวาระอายุครบ 60 ปี (นครปฐม: ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555) ซึ่งมีอาจารย์พิพัฒน์ สุยะ เป็นบรรณาธิการ




สิทธิมนุษย์ (The Rights of Man)[1]
นอรร์เบร์โต บ็อบบิโอ (Norberto Bobbio)[2] - เขียน
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์แปล

หมายเหตุผู้แปล ผู้แปลเลือกแปลบทความนี้เพื่อเป็นเกียรติแด่กัลยาณมิตรสองท่านในวาระเกษียณอายุราชการ นอกจากอุทิศตนให้กับงานด้านการสอนหนังสือและการเขียนงานวิชาการแล้วทั้งอาจารย์เอมอร นิรัญราช และอาจารย์เชษฐา พวงหัตถ์ ต่างก็ได้อุทิศเวลาส่วนหนึ่งของชีวิตให้กับการต่อสู้เพื่อให้เกิดสังคมไทยที่ดีขึ้น  พวกเราได้ร่วมรณรงค์ในการต่อสู้ปกป้องความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยมาตลอด แม้ว่าอาจมีหลายครั้งที่เราต่างมีทัศนะแตกต่างกันในบางประเด็น แต่ก็มีจิตใจร่วมที่เป็นหนึ่งเดียวกันคือความปรารถนาให้สังคมไทยและสังคมโลกเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ยุติธรรมขึ้นกว่าเดิม และมีหลายครั้งที่เราต่างก็ต้องเผชิญหน้ากับแรงต้านจากผู้มีอำนาจหรือคนรอบข้างที่เสียประโยชน์หรือไม่เข้าใจ แต่เราก็ได้ฝ่าฟันมาด้วยกันโดยไม่ระย่อหรือยอมสยบต่ออำนาจหรือกระแสต้านที่เราพิจารณาเห็นแล้วว่าไม่ถูกต้อง (กรณีหลังสุดคือการรณรงค์ให้ยกเลิกหรือมีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112)  สำหรับตัวผู้แปลเอง กำลังใจจากเพื่อนทั้งสองคนที่มีให้ในการฝ่าฟันด้วยกันและในยามที่ผู้แปลต้องเผชิญความยากลำบากเป็นการเฉพาะนั้นเป็นความอบอุ่นแห่งชีวิตที่ผู้แปลซาบซึ้งใจมาตลอด ณ ทุกครั้งที่หวนคำนึงถึง
.....................................................................................................................................................................................................................


ข้อยึดถือพื้นฐานทางปรัชญาของรัฐเสรีนิยมซึ่งเป็นรัฐที่เป็นที่เข้าใจกันว่ามีอำนาจจำกัดและอยู่ในตำแหน่งตรงกันข้ามกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์นั้น ได้รับการวางรากฐานไว้ในหลักคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติที่พัฒนามาโดยสำนักสิทธิตามธรรมชาติ (หรือกฎหมายธรรมชาติ) หลักคิดนี้ถือว่ามนุษย์ กล่าวคือ บุคคลทุกคนไม่มีข้อยกเว้น ต่างครอบครองสิทธิพื้นฐานจำนวนหนึ่ง ดังเช่นสิทธิต่อชีวิต เสรีภาพ ความมั่นคง และความเป็นสุข อันเป็นการครอบครองสิทธิเหล่านี้ตามธรรมชาติ และด้วยเหตุนี้จึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเจตจำนงของเจ้าตัวเอง หรือยิ่งกว่านั้น เจตจำนงของคนคนอื่นหรือของคนจำนวนหนึ่ง ว่าต้องการสิทธิดังกล่าวหรือไม่  รัฐ หรือกล่าวในเชิงที่เป็นรูปธรรมขึ้นคือกลุ่มชนผู้ซึ่ง ณ ช่วงเวลาหนึ่งพึงใจกับอำนาจอันชอบธรรมที่ได้มาที่จะบังคับบุคคลอื่นให้เชื่อฟังคำสั่งของพวกเขานั้น จักต้องเคารพสิทธิเหล่านี้ จักต้องไม่ละเมิด และจักต้องให้ประกันสิทธิดังกล่าวต่อการละเมิดที่อาจเป็นไปได้ไม่ว่าในกรณีใดๆที่จักถูกกระทำโดยผู้อื่น การให้สิทธิแก่ใครสักคนก็คือการตระหนักรู้ว่าบุคคลที่กำลังพิจารณานั้นมีศักยภาพที่จะกระทำหรือไม่กระทำตามที่เจ้าตัวพอใจ และรวมถึงอำนาจที่จะต่อต้าน อันมีผลต่อตัวเขาเองในท้ายที่สุด (ที่จะตัดสินใจ) ในการใช้กำลัง (ของเขาเองหรือของคนอื่นๆ) ต่อใครก็ตามที่อาจจะละเมิดสิทธิดังกล่าว  เพื่อที่ว่าผู้ที่อาจละเมิดสิทธิของเขาได้นั้นในทางกลับกันมีหน้าที่ (หรือพันธะ) ที่จะละเว้นการกระทำใดๆซึ่งอาจเข้าไปแทรกแซงด้วยวิถีหนึ่งใดต่อศักยภาพที่เขาจะกระทำหรือไม่กระทำดังกล่าว  “สิทธิ” และ “หน้าที่” เป็นความคิดที่นำมาซึ่งอำนาจในการกำหนด และด้วยเหตุนี้ความคิดเรื่องดังกล่าวจึงถือเอาไว้แต่ต้นแล้วถึงการดำรงอยู่ของบรรทัดฐานหรือกฎของความประพฤติอันมีลักษณะที่ในขณะที่กฎนี้ตระหนักถึงศักยภาพของตัวประธานที่จะกระทำหรือไม่กระทำดังที่เจ้าตัวพึงพอใจนั้น ก็ได้เรียกร้องเอาในขณะนั้นเลยด้วยว่าคนอื่นๆทุกคนจักต้องละเว้นจากการกระทำทั้งปวงที่อาจจะปิดกั้นการแสดงออกศักยภาพดังกล่าวไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง อาจนิยามหลักคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาติได้ว่าเป็นการยืนยันถึงการดำรงอยู่ของกฎหมายที่ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยเจตจำนงของมนุษย์ และโดยตามนั้นเป็นกฎหมายที่มีมาก่อนการก่อตัวขึ้นของกลุ่มทางสังคมใดๆ กล่าวคือ กฎหมายดังกล่าวสามารถทำให้ชัดเจนได้ด้วยการสืบค้นอย่างเป็นเหตุผล สิทธิและหน้าที่นั้นมีแหล่งที่มาจากกฎหมายเหล่านั้น ดังเช่นเดียวกันกับที่มีที่มาจากกฎทางศีลธรรมหรือกฎหมายที่ใช้ตัดสิน และโดยที่สืบเนื่องมาจากการที่มีแหล่งที่มาจากกฎหมายธรรมชาตินี่เอง จึงเป็นสิทธิและหน้าที่ตามธรรมชาติ เราได้กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วถึงหลักคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาติว่าเป็นข้อยึดถือพื้นฐาน “ทางปรัชญา” ของความคิดเสรีนิยม นี่ก็เพราะว่าหลักคิดนี้รองรับการกำหนดข้อจำกัดของอำนาจบนพื้นฐานของการสร้างมโนทัศน์เชิงสมมติฐานและมีลักษณะแบบทั่วไปเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องสนใจการตรวจสอบเชิงประจักษ์ประเภทใดๆหรือใช้การพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์  ในหนังสือ Treatise of Government ส่วนที่สอง ล็อก (Locke)[3] ซึ่งเป็นหนึ่งในบิดาของเสรีนิยมสมัยใหม่ ใช้การบรรยายถึงสภาวะตามธรรมชาติเป็นจุดตั้งต้นโดยเขาได้บรรยายว่าเป็นสภาวะของเสรีภาพและความเสมอภาคสมบูรณ์ สภาวะดังกล่าวถูกปกครองด้วยกฎแห่งธรรมชาติซึ่ง “สั่งสอนปวงมนุษย์ผู้มีเจตจำนงและปรึกษามัน ด้วยเหตุที่ทุกคนต่างเสมอภาคกันและเป็นอิสระ จึงไม่มีใครที่อาจทำอันตรายต่อผู้อื่นในแง่ของชีวิต สุขภาพ เสรีภาพ และสิ่งที่เขาครอบครอง”[4]
               คำบรรยายดังกล่าวนี้เป็นผลจากการสร้างใหม่เชิงจินตนาการเกี่ยวกับสมมติฐานสภาวะเริ่มแรกของมนุษย์  และจุดมุ่งหมายหลักก็คือเพื่อช่วยให้ล็อกมีเหตุผลที่มีน้ำหนักพอในการให้ความชอบธรรมที่จะจำกัดอำนาจของรัฐ โดยข้อเท็จจริงแล้วหลักคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาตินั้นเป็นความคิดที่รองรับคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาเหนือ (1776) และคำประกาศสิทธิมนุษย์ในการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) ซึ่งเราค้นพบจากประกาศทั้งสองฉบับว่าเป็นการยืนยันหลักการพื้นฐานของรัฐเสรีนิยมว่าเป็นรัฐที่มีอำนาจจำกัด “จุดมุ่งหมายของการสมาคมทางการเมืองในทุกสมาคมคือการปกป้องสิทธิตามธรรมชาติที่ไม่มีวันหมดอายุของมนุษย์” (มาตราสองของคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษย์และของพลเมือง ปี 1789)
              ในฐานะที่เป็นทฤษฎีที่ได้รับการพัฒนาอย่างหลากหลายโดยนักปรัชญา นักเทววิทยาและนักกฎหมาย หลักคิดเรื่องสิทธิของมนุษย์อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการสร้างความเป็นเหตุผลที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ เกี่ยวกับเรื่องราวอันเป็นผลจากการต่อสู้ดิ้นรนที่มีมานับศตวรรษก่อนหน้านี้  โดยเฉพาะในอังกฤษ ระหว่างกษัตริย์กับพลังทางสังคมอื่น  ในกฎบัตรที่เรียกกันว่าแม็กนา คาร์ตา (Magna Carta) ซึ่งกษัตริย์จอห์นจำต้องยินยอมด้วยในปี 1215 นั้น  เราค้นพบถึงการตระหนักรู้ในสิ่งที่ในศตวรรษต่อๆมาได้เรียกขานกันว่า “สิทธิของมนุษย์”  กล่าวคือ สิทธิเหล่านี้ได้รับการเรียกขานในฐานะที่เป็น “เสรีภาพ (liberties)” (libertates, franchises, freedoms) หรือในฐานะที่เป็นอาณาบริเวณของการกระทำและกรรมสิทธิ์ของปัจเจกบุคคลที่มีต่อผลประโยชน์อันได้รับการตระหนักรู้ ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่ได้รับการปกป้องจากอำนาจบังคับของกษัตริย์ แม้ว่าตัวข้อสัญญาตกลงและสิ่งที่ต่อเนื่องตามมาจะมีรูปแบบทางด้านกฎหมายในแบบเป็นการยินยอมจากองค์อธิปัตย์ (ในสมัยนั้นคือกษัตริย์) แต่โดยความเป็นจริงแล้วเป็นผลของข้อสัญญาที่แท้จริงที่กระทำระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกัน  ตัวข้อสัญญาซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นสัญญาสวามิภักดิ์ (pactum subjectionis) นั้น ให้ความใส่ใจต่อสิทธิและหน้าที่แบบต่างตอบแทนกันในความสัมพันธ์กันทางการเมือง กล่าวคือ ในความสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่ (ขององค์อธิปัตย์) ที่จะปกป้อง และหน้าที่ (ของผู้อยู่ใต้การปกครอง) ที่จะเชื่อฟัง (ที่เรียกว่า “พันธะทางการเมือง” ของเขา)  วัตถุประสงค์หลักของกฎบัตรว่าด้วย “เสรีภาพ” ก็คือการนิยามรูปแบบและข้อจำกัดของการเชื่อฟัง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ของพันธะทางการเมืองของผู้อยู่ใต้การปกครอง และรูปแบบหรือข้อจำกัดที่ตรงกรณีกันของสิทธิที่จะควบคุมสั่งการขององค์อธิปัตย์  กฎบัตรโบราณเหล่านี้เป็นดังเช่นเดียวกับกฎบัตรที่ได้รับการสถาปนาขึ้นให้เป็นธรรมนูญ อันได้รับการยินยอม (octroyées) โดยกษัตริย์ภายใต้ธรรมนูญระหว่างยุคฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ[5]  และช่วงนับจากนั้นมา (ซึ่งรวมถึงธรรมนูญอัลเบอร์ไทน์ ของปี 1848[6]) ถืออย่างเป็นที่ยอมรับกันว่ามีรูปแบบทางด้านกฎหมายในแบบเป็นการยินยอมแต่ฝ่ายเดียวในส่วนขององค์กษัตริย์ แม้ว่าโดยความเป็นจริงแล้วจะเป็นผลจากข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายก็ตาม  อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการปั้นแต่งทางกฎหมายอย่างเป็นรูปแบบทางการ อันมีจุดประสงค์เพียงเพื่อปกป้องหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของกษัตริย์ และเพื่อผดุงไว้ซึ่งรูปแบบรัฐบาลภายใต้อำนาจกษัตริย์ ทั้งๆที่การจำกัด (อำนาจ) ได้บังคับใช้อย่างเป็นจริงกับอำนาจแบบจารีตของผู้ถือครองอำนาจสูงสุด (คือกษัตริย์)
             แน่นอนว่า ประเด็นนี้ก็เช่นกัน เราได้ตัวอย่างอีกตัวอย่างของการแสดงตัวแบบกลับหัวกลับหางกันของลำดับเหตุการณ์ระหว่างเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์กับข้อตกลงทางด้านกฎหมายและการให้ความชอบธรรมทางเหตุผลซึ่งเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้ให้กำเนิดขึ้น กล่าวคือ ในทางประวัติศาสตร์ รัฐเสรีนิยมเป็นผลจากการสึกกร่อนของอำนาจสัมบูรณ์ขององค์อธิปัตย์ที่ค่อยๆสึกกร่อนเพิ่มขึ้นและดำเนินไปเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นผลจากการแตกหักทางการเมืองในแบบปฏิวัติซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่เกิดวิกฤติอย่างยิ่ง (ดังเช่นช่วงศตวรรษที่ 17 และปลายศตวรรษที่ 18 ในฝรั่งเศส)  รัฐเสรีนิยมได้รับความชอบธรรมอย่างเป็นเหตุเป็นผลในฐานะที่เป็นผลจากการตกลงกันระหว่างปัจเจกบุคคลผู้มีเสรีตั้งแต่เริ่มแรกและผู้ซึ่งมาร่วมกันกำหนดข้อผูกมัดที่สำคัญต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสถาวรและสันติ วิถีของประวัติศาสตร์ดำเนินจากสภาวะเริ่มแรกของความเป็นทาส และดำเนินไปด้วยกระบวนการทำให้เป็นเสรีทีละเล็กทีละน้อย จนสู่การได้ชัยโดยผู้อยู่ในอาณาบริเวณของเสรีภาพที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ตัวหลักคิดดังกล่าวกลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ โดยการถือเอาสมมติฐานสภาวะแรกเริ่มของเสรีภาพและการมองมนุษย์ในแบบที่เป็นอิสระโดยธรรมชาติเป็นจุดตั้งต้น ที่นำมาสู่การสร้างสังคมการเมืองในฐานะที่เป็นสังคมที่อำนาจอธิปัตย์ถูกจำกัด ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่หลักคิด ซึ่งในที่นี้คือหลักคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ ที่กลับวิถีของประวัติศาสตร์ โดยปฏิบัติต่อเรื่องจุดกำเนิดหรือรากฐานในฐานะที่เป็นเรื่องที่เกิดก่อน (prius) ทั้งๆที่เป็นผลในทางประวัติศาสตร์  อันเกิดขึ้นตามหลัง (posterius)
              มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดระหว่างการยืนยันสิทธิตามธรรมชาติกับทฤษฎีสัญญาทางสังคม (the social contract) หรือทฤษฎีสัญญา  ความคิดที่ว่าการใช้อำนาจทางการเมืองจะมีความชอบธรรมก็ต่อเมื่อมีฐานอยู่บนการยินยอมจากคนผู้ซึ่งอยู่ใต้อำนาจทางการเมืองนั้น (ข้อสรุปอีกข้อของล็อก) และดังนั้นจึงมีฐานอยู่บนความเห็นพ้องระหว่างผู้ที่ตัดสินใจยอมให้ตัวพวกเขาอยู่ภายใต้อำนาจที่สูงกว่า กับผู้ซึ่งการใช้อำนาจเป็นที่ได้รับการไว้วางใจนั้น ความคิดดังกล่าวมีแหล่งที่มาจากการกำหนดหลักการพื้นฐานที่ว่าปัจเจกบุคคลครอบครองสิทธิซึ่งไม่ได้ขึ้นต่อสถาบันของอำนาจอธิปัตย์ และบทบาทหน้าที่หลักของสถาบันดังกล่าวคือการยอมให้มีการทำให้สิทธิเหล่านั้นเกิดเป็นจริงขึ้นได้เท่าที่จะเป็นไปได้โดยบริบูรณ์โดยไปกันได้กับชีวิตทางสังคมที่มีความมั่นคง  จุดเชื่อมต่อระหว่างหลักคิดเรื่องสิทธิมนุษย์กับทฤษฎีสัญญาอยู่ที่การสร้างมโนทัศน์ของสังคมในแบบปัจเจก อันเป็นมโนทัศน์ที่ทั้งสองความคิดยึดถือร่วมกัน กล่าวคือ การสร้างมโนทัศน์ที่ถือว่าปัจเจกบุคคลโดยเฉพาะ ผู้มีผลประโยชน์และความต้องการของตัวเขาเอง ผู้ซึ่งครอบครองรูปแบบของสิทธิอันเป็นผลจากการยอมรับกฎหมายธรรมชาติซึ่งเป็นสมมติฐาน ปัจเจกบุคคลนี้ต้องมาก่อนและแต่ต้นก่อนการสถาปนาสังคม การสร้างมโนทัศน์เช่นนี้นำมาเปรียบเทียบความแตกต่างได้จากการสร้างมโนทัศน์แบบเน้นการเป็นองคาพยพเดียวกัน ซึ่งมองสังคมว่ามาก่อนตัวปัจเจกบุคคล  หรือการถือว่าองค์รวมทางสังคมสำคัญกว่าส่วนที่มาประกอบกันเป็นสังคม (ตามวิธีคิดแบบอารีสโตเติลซึ่งเคยมีอิทธิพลมายาวนาน) ทฤษฎีสัญญาสังคมสมัยใหม่เป็นจุดเปลี่ยนที่แท้จริงในประวัติศาสตร์ทางความคิดทางการเมือง จากที่เคยถูกครอบงำมาโดยแนวคิดเรื่ององคาพยพ จวบจนนักทฤษฎีสัญญาทางสังคมได้กลับความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคม และไม่มองสังคมเป็นข้อเท็จจริงตามธรรมชาติที่เป็นอิสระจากเจตจำนงของปัจเจกบุคคล แต่มองเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยปัจเจกบุคคลตามจินตภาพและความชอบใจของพวกเขาเองเพื่อส่งเสริมการสร้างความพึงพอใจตอบรับกับผลประโยชน์และความต้องการของพวกเขาและการใช้สิทธิของพวกเขาอย่างเต็มเปี่ยม  ในทางกลับกัน การตกลงที่นำไปสู่การกำเนิดสังคมได้รับการถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ อันถือตามทฤษฎีสิทธิตามธรรมชาติ  โดยเป็นผลจากกฎหมายธรรมชาติซึ่งให้สิทธิตามธรรมชาติจำนวนหนึ่งแก่ปัจเจกบุคคลทุกคน อันสามารถเป็นที่พึงพอใจก็แต่การอยู่ภายใต้ปริบทของรูปแบบของการดำรงอยู่ร่วมกันที่มีการจัดระเบียบและเป็นเสรี ซึ่งได้รับการประกันความมั่นคงโดยข้อตกลงอย่างจงใจ กล่าวคือ ข้อตกลงที่เรียกร้องทั้งสองฝ่ายให้ยอมสละสิทธิจำนวนหนึ่งที่เป็นของแต่ละปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง
                ปราศจากการปฏิวัติแบบคอปเปอร์นิคัสนี้ ซึ่งยินยอมให้ปัญหาของรัฐได้รับการมองเป็นครั้งแรกผ่านสายตาของผู้อยู่ใต้การปกครองยิ่งกว่าผ่านสายตาของผู้ปกครอง หลักการของรัฐเสรีนิยม ซึ่งโดยแรกสุดและเป็นที่สุดนั้นเป็นหลักการจำกัดทางกฎหมายต่อการใช้อำนาจรัฐ ก็จักไม่อาจเป็นไปได้  ปราศจากปัจเจกบุคคลนิยม ก็จักไม่อาจมีเสรีนิยม


[1] บทความแปลนี้มาจากบทที่ 2 ใน Norberto Bobbio. 2005 [1988]. Liberalism and Democracy. New York, London: Verso. ในปัจจุบันเราจะคุ้นเคยกับคำว่า “สิทธิมนุษยชน (Human Rights)” มากกว่า

[2] นักปรัชญากฎหมายและการเมืองชาวอิตาลี (1909-2004) ในระหว่างช่วงปลายชีวิตได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในปัญญาชนอิตาลีที่อายุมากที่สุดและฉลาดที่สุด และมีผลงานเป็นเล่มหนังสือร่วมสี่สิบเล่ม ผู้แปลมีโครงการจะเขียนวิเคราะห์ความคิดของเขาในประเด็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาโดยเปรียบเทียบกับความคิดในเรื่องนี้ของนักทฤษฎีการเมืองและกฎหมายชาวเยอรมันคนสำคัญอีกคนคือคาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) ผู้แปล
[3] จอห์น ล็อก (John Locke, 1632-1704) นักปรัชญาประสบการณ์นิยมชาวอังกฤษ ผู้มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อแนวคิดเสรีนิยม - ผู้แปล
[4] J. Locke. 1970[1690] Two Treatises of Civil Government. London: Dent. P.119.
[5] ยุคฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษเริ่มปี 1660 หลังสงครามกลางเมืองช่วงปี 1642 1651 เมื่อกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ได้ปกครองอังกฤษ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์ผู้แปล
[6] ธรรมนูญสมัยกษัตริย์ชาร์ลส์ อัลเบิร์ต แห่งราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย (the Kingdom of Sardinia) ช่วงอิตาลียังไม่ได้รวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมนูญที่ให้มีรัฐสภาแต่อำนาจทางการบริหารยังอยู่กับกษัตริย์ ธรรมนูญนี้มีชื่อเรียกในภาษาอิตาเลียนว่า Statuto Albertino ผู้แปล

No comments: