Sunday, April 13, 2014

จาก จอห์น สจ๊วต มิลล์ สู่ 2475 และการเป็นประชาชนของระบอบประชาธิปไตย

หมายเหตุ บทความนี้เป็นบทความหนึ่งในบทความชุด โลกหลังยุคใหม่  ที่ผมเขียนลงหนังสือพิมพ์  ต่อมาผมได้นำมาเผยแพร่อีกครั้งในเฟซบุ๊กของผม และทางมติชนได้ขอนำไปลงในเว็บ www.matichon.co.th โดยตั้งชื่อให้ใหม่เนื่องจากตรงกับวันปฏวัติ 2475 ครับ ผมเห็นว่าเข้าท่าดีเลยขอคงชื่อตามนี้




บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ : จาก จอห์น สจ๊วต มิลล์ สู่ 2475 และการเป็นประชาชนของระบอบประชาธิปไตย

ลงในเว็บ มติชน วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เวลา 22:30:48 น.
อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร



24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญของชาติไทย เป็นจุดตั้งต้นของระบอบประชาธิปไตยในสยาม ซึ่งได้มาจากต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้กำเนิดระบอบการปกครองที่ถือว่าพลเมืองไทยทุกคนเสมอภาคกันโดยศักดิ์ศรีและสิทธิ์ และต่างเป็นเจ้าของแผ่นดินไทย ประชาชนนอกจากมีสิทธิพื้นฐานยังต้องมีหน้าที่อะไรต่อระบอบการปกครองบ้าง ผมขอนำบทความเก่าที่ผมเคยเขียนไว้ ซึ่งประเด็นยังทันสมัยอยู่มาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งครับ

แต่ขอเสริมก่อนสักนิดว่าในย่อหน้าที่พูดถึงนักการเมืองไร้คุณภาพนั้นอยู่ในบริบทของปีที่ลงบทความนี้ และในปัจจุบันต้องคลุมถึงกลุ่มอำนาจเก่า ตลอดจนกลุ่มเคลื่อนไหวฟากประชาชนพวกที่เรียกร้องอำนาจเก่าให้มาแทรกแซงทางการเมือง ดังเช่นการเรียกร้องทหารให้ออกมาทำรัฐประหาร การวิ่งเข้าหาผู้มีอิทธิพลฝ่ายอำนาจเก่าเพื่อขอการสนับสนุน อันเป็นพฤติกรรมที่มุ่งทำลายล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
 
..............................................................................

โลกหลังยุคใหม่ (ตอนที่๑๑) :ประชาธิปไตย,ประชาชนและอำนาจ
 

มนุษย์คือผู้สร้างสถาบันทางการเมือง!
 
"ดังนั้น ก่อนอื่นใดเราจงจดจำไว้ด้วยว่า สถาบันทางการเมือง (อย่างไรก็ตามข้อความนี้อาจถูกลืมไปในช่วงเวลาหนึ่ง) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้าง มีที่มาและดำรงตัวมันเองอยู่ได้โดยขึ้นกับเจตจำนงของมนุษย์ มนุษย์ไม่ได้ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าแห่งฤดูร้อนแล้วก็ได้พบว่าสถาบันทางการเมืองได้ผุดโผล่ขึ้นมาแล้ว อีกทั้งมันก็ไม่คล้ายกันกับต้นไม้ ซึ่งเมื่อเพาะไปก็ กำลังเติบโตไปในขณะที่มนุษย์ กำลังนอนหลับอยู่ในทุกช่วงตอนของการดำรงอยู่ของมัน สถาบันทางการเมืองถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่โดยตัวมนุษย์ผู้มีความตั้งใจ ดังนั้นจึงเป็นเช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆที่มนุษย์สร้างมันขึ้น มันอาจได้รับการสร้างอย่างดีหรืออย่างแย่ก็ได้ การตัดสินใจและความมีทักษะ (ของมนุษย์) อาจถูกใช้ในการผลิตมันขึ้นหรือให้ไปในทางกลับกันก็ได้" [John Stuart Mill, "CONSIDERATIONS ON REPRESENTATIVE GOVERNMENT" in ON LIBERTY & OTHER ESSAYS, Oxford : Oxford University Press, 1992:207- ต่อไปจะเรียกว่า CORG]
 
นี่คือคำเตือนจากจอห์น สจ๊วต มิลล์นักปรัชญาเมื่อต้นศตวรรษที่ ๑๙ ผู้เป็นหนึ่งในผู้วางพื้นฐานระบบคิดของเสรีนิยมประชาธิปไตย เราจะเห็นได้ว่าคำเตือนดังกล่าวนี้ยังเตือนมาถึงสังคมไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กลุ่มนักการเมือง กลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ตลอดจนตัวประชาชนทั่วไปเอง 

ในยุคสมัยที่คำว่า "หลักการ" ถูกใช้แทนน้ำยาบ้วนปากเพื่อดับความเหม็นภายในปาก สถาบันทางการเมืองที่ได้ถูกเหล่านักการเมืองด้อยคุณภาพสร้างอย่างจงใจจนไปสู่สภาพที่กลับกันในความหมายว่าเสื่อมลงอย่างสุดๆ ทำอย่างไรเราจึงจักไปพ้นสภาพการณ์และกลุ่มชนอันน่าเบื่อหน่ายเหล่านั้น? เราจะมาพิจารณากัน
 
ความรับผิดชอบของประชาชน
 
มิลล์ได้เตือนเราว่า 

"...จงจดจำไว้ด้วยว่าจักรกลทางการเมืองไม่ได้กระทำการด้วยตัวมันเอง ก็ดังที่มันถูกสร้างขึ้นในแรกสุดโดยมนุษย์ จักรกลทางการเมืองถูกดำเนินการก็โดยมนุษย์ กระทั่งโดยคนธรรมดาๆนี่แหละ มันต้องการการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังจากคนเหล่านั้นไม่ใช่เพียงการยินยอมอย่างง่ายๆ จักรกลทางการเมืองจักต้องได้รับการปรับให้เหมาะกับความสามารถและคุณสมบัติที่มีอยู่ของคนเหล่านั้นดังเท่าที่ทำได้ ตรงนี้เองบ่งชี้ถึงสภาวการณ์สามประการ ประชาชนผู้ซึ่งรูปแบบรัฐบาลแบบนั้นๆมีขึ้นมาเพื่อพวกเขา พวกเขาเหล่านี้จักต้องมีเจตจำนงที่จะยอมรับรูปแบบการปกครองนั้นๆ หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่เป็นในแบบที่พวกเขาไม่มีความประสงค์ต่อการปกครองรูปแบบนั้นๆ นี่ก็เพื่อสู้กับอุปสรรคที่ยากจะเอาชัยอันอาจเกิดขึ้นกับการก่อร่างสร้างรูปการปกครองแบบนั้นๆ ประชาชนจะต้องมีเจตจำนงและมีความสามารถที่จะทำในสิ่งที่จำเป็นเพื่อปกป้องให้รูปแบบการปกครองนั้นๆดำรงอยู่ได้ นอกจากนี้พวกเขายังต้องมีเจตจำนงและความสามารถที่จะทำในสิ่งที่รูปแบบการปกครองแบบนั้นได้เรียกร้องให้ประชาชนกระทำเพื่อช่วยให้การปกครองแบบนั้นๆบรรลุเป้าประสงค์ คำว่า กระทำในที่นี้ ต้องเป็นที่เข้าใจด้วยว่าได้รวมเอาถึงการมีความอดทนไม่ด้อยไปกว่าที่มีการแสดงออกโดยตัวการกระทำการ ประชาชนจักต้องสามารถตอบสนองต่อสภาพที่ต้องกระทำและสภาพที่ต้องเหนี่ยวรั้งตนเองไว้ สภาพเหล่านี้เป็นสภาพที่จำเป็นทั้งในแง่เพื่อปกปักรักษาการปกครองแบบนั้นๆที่ได้ดำรงอยู่ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ หรือช่วยให้ตัวการปกครองเองบรรลุเป้าหมายของระบอบได้ อันเป็นการนำไปสู่ผลที่ช่วยในการสนับสนุนการปกครองแบบนั้นๆ..." [CORG:207-208] 

เราจะเห็นได้ว่าต้นตำรับเสรีนิยมประชาธิปไตยได้ชี้ว่า รูปแบบการปกครองใดๆจักดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยองค์ประกอบสามประการคือ
 
๑. ประชาชนหรือผู้อยู่ใต้การปกครอง คนเหล่านี้อันเป็นกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายของระบอบการปกครองนั้น ต้องมีความต้องการรูปแบบการปกครองดังกล่าว
 
๒. นอกจากประชาชนต้องมีความต้องการรูปแบบการปกครองนั้นๆแล้ว พวกเขายังต้องสามารถทำสิ่งต่างๆที่จำเป็นในการปกป้องรูปแบบการปกครองนั้นๆไว้ เพื่อรักษาการปกครองดังกล่าวให้ดำรงอยู่ได้
 
๓. ประชาชนต้องมีความต้องการรูปแบบการปกครองนั้นและยังสามารถที่จะทำในสิ่งที่ระบอบการปกครองดังกล่าวเรียกร้องให้พวกเขาปฏิบัติในลักษณะเพื่อช่วยให้ระบอบบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ การกระทำในที่นี้รวมเอาทั้งการได้ลงมือกระทำการและการรู้จักบังคับตนเองให้ไม่กระทำการบางเรื่องด้วย
 
ในที่นี้มีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ที่ยกมาสนับสนุนได้ว่าคำกล่าวข้างต้นเป็นจริง หากผู้อยู่ใต้การปกครองไม่ต้องการระบอบการปกครองนั้น อาจวางเฉยปล่อยให้ระบอบล่มสลายไปเมื่อมีภัยต่อระบอบมาถึง หรืออาจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการล้มระบอบเอง การล่มสลายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติปี ๒๔๗๕ เองก็สะท้อนถึงความจริงข้อนี้ การยอมรับระบอบใหม่โดยปริยาย อีกทั้งไม่มีความพยายามล้มล้างระบอบใหม่ (นอกไปจากความพยายามทำรัฐประหารจากกลุ่มผู้สนับสนุนผู้ครองอำนาจเก่า เช่นความพยายามทำรัฐประหารโดยกลุ่มพระองค์เจ้าบวรเดช) เป็นตัวชี้อย่างหนึ่งถึงการยอมรับระบอบการปกครองที่เปลี่ยนไป 

ประชาธิปไตยในอเมริกาและการพิทักษ์สิทธิของปัจเจกบุคคลในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกันตามที่บัญญัติไว้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐนั้น อาจไม่มีผลในการปฏิบัติจริงได้เลย หากไม่มีปัจเจกบุคคลมากมายที่พยายามสู้เพื่อพิทักษ์หลักการพื้นฐานดังกล่าว ไม่ว่าในอเมริกาจะยังคงมีปัญหาภายในเช่นไร เราก็ยังเห็นได้ว่ามีความพยายามจากคนเล็กๆจำนวนมากมายที่พยายามผลักดันให้อเมริกาดำเนินไปในแนวทางที่ถูกต้องตามพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ (อันมีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐธรรมนูญอะไรก็ได้) นี่คือตัวอย่างของการปกป้องระบอบอันแสดงตัวออกมาในรูปแบบหนึ่ง 

ฝรั่งเศสในช่วงยึดครองของเยอรมนีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม้ว่าจะต้องสูญเสียสภาพรัฐประชาธิปไตยไป แต่การต่อต้านทั้งในรูปของการไม่ร่วมมือกับทหารเยอรมันหรือการเข้าร่วมกลุ่มใต้ดินทำการต่อต้านโดยตรง ล้วนมีผลให้การปกครองที่เยอรมนีสถาปนาขึ้นในฝรั่งเศส (ภายใต้รัฐบาลเปแตง) เวลานั้นดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นและช่วยเปิดทางให้ทัพของสัมพันธมิตรทำการรุกได้คล่องตัวขึ้น ฟาสซิสม์ในท้ายที่สุดจึงไม่อาจสถาปนาตนเองขึ้นได้ในฝรั่งเศส
 
กรณีของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในอเมริกานั้นยังเป็นตัวอย่างของการสนองตอบต่อสิ่งที่ระบอบเรียกร้องให้กระทำ เมื่อใครสักคนในดินแดนนั้นพยายามปกป้องสิทธิของตนที่ระบอบรับรองไว้ เขาผู้นั้นได้กระทำในสิ่งที่ระบอบการปกครองนั้นเรียกร้องเขา การกระทำเช่นนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ตัวระบอบการปกครองเองเข้าใกล้เป้าหมายของระบอบได้มากขึ้น ทหารในอเมริกาแค่คิดว่าจะทำรัฐประหารหรือออกมาปรามการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนก็อาจเกิดความไม่มั่นใจขึ้นได้ว่าตนเองทำถูกหรือไม่ สุดท้ายเขาอาจเลิกล้มความตั้งใจไป การไม่กระทำเช่นที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งที่ระบอบของอเมริกาเรียกร้องเช่นกัน โดยคาดหวังผลก็คือการพิทักษ์สิทธิของปัจเจกบุคคลของระบอบประชาธิปไตย (นายทหารไทยที่ชอบพูดจาไม่เข้าท่า เช่นชอบปรามการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนไม่ว่าต่อเรื่องภายในหรือภายนอกประเทศ ก็ขอให้ระวังไว้ด้วย ในระบอบประชาธิปไตยจะแค่ไม่คิดจะทำรัฐประหารยังไม่พอ ท่านนั้นยังมีหน้าที่ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องในพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนและยังต้องส่งเสริมการเรียกร้องสิทธิดังกล่าวอีกด้วย การออกมาปรามแบบที่ชอบทำจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดอย่างยิ่ง! จงเลิกกระทำเช่นนั้นได้แล้ว!)
 
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าประชาชนภายใต้แต่ละระบอบการปกครองหนึ่งใดต่างก็จักต้องมีหน้าที่ต่อระบอบดังกล่าวภายใต้สภาวการณ์สามประการข้างต้น ในระบอบประชาธิปไตยของเรา ประชาชนย่อมมีหน้าที่ที่จักต้องกระทำเช่นกัน การละเลยอย่างใดอย่างหนึ่งจนเกิดสภาพการณ์ตรงกันข้ามจากสามประการข้างต้น ย่อมส่งผลให้ระบอบการปกครองของเราต้องสะดุดไปด้วย การขาดความรับผิดชอบต่อระบอบนั้นเกิดขึ้น ณ ตรงนี้
 
แบบไหนที่เรียกว่าทำลายอำนาจของตนเอง?
 
ในสังคมไทยมีคนจำพวกหนึ่งที่ชอบแสดงความรำคาญเมื่อมีการเรียกร้องในเรื่องของสิทธิหรือในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยบ่นว่าในทำนองว่ากระทบความสงบในการทำมาหากินของตนเอง ที่จริงแล้วคำบ่นว่าของคนเหล่านี้โดยมากมักเป็นสิ่งที่เราไม่จำต้องใส่ใจก็ได้ ทำไม? เราจะเห็นได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยเหล่านี้บ่นก็บ่นกันไป แต่เมื่อมีการเรียกร้องอะไรแล้วเกิดผลก่อตัวเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้นอย่างจริงจัง คนเหล่านี้เองก็จะปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเมื่อวันเวลาผ่านไปพักใหญ่พวกเขาก็จะเลิกบ่นและยอมรับกับสภาพใหม่ที่เกิดขึ้น จำนวนไม่น้อยในหมู่คนเหล่านี้ก็คือคนที่มีสถานะทางสังคมในกลุ่มชนชั้นกลางประเภทที่ไม่ตื่นตัวทางการเมืองและค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม 


นี่คือตัวอย่างของกลุ่มชนที่ทำลายอำนาจของตนเองในการต่อรองทางสังคมอำนาจในที่นี้ก็คือการมีศักยภาพที่จะกระทำการจนเกิดผลที่คาดหวังในระดับหนึ่งได้ ประชาชนที่มีอำนาจก็คือกลุ่มชนที่สามารถทำการกดดันต่อรองจนได้ในสิ่งที่ตนเรียกร้องในระดับหนึ่ง ถ้าท่านไม่เคยทำอะไรเพื่อเรียกร้องสิทธิหรือสู้เพื่อประชาธิปไตย (การเรียกร้องของกรรมกรหรือคนในชนบทเช่นเรื่องการปรับค่าจ้างแรงงาน การก่อตั้งสหภาพ การจัดการบริหารป่าของชุมชน นั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียกร้องสิทธิ) ยิ่งกว่านั้นดีแต่บ่นว่าผู้ที่เรียกร้องเช่นนั้น ท่านก็กำลังขาดความรับผิดชอบต่อระบอบ โดยไม่ทำหน้าที่พื้นฐานของการเป็นพลเมือง (ในระบอบประชาธิปไตยนั้นการเป็นพลเมืองที่มีสิทธิ จะต้องมีหน้าที่ที่ต้องกระทำด้วย) เรากล่าวได้ว่า ท่านกำลังทำลายอำนาจของตนเอง หากมีคนเช่นพวกท่านเป็นจำนวนมาก ระบอบนั้นๆก็อาจล่มสลายลงได้เมื่อภัยของระบอบมาถึง และใช่ว่าท่านจะได้อำนาจมากขึ้นในระบอบใหม่ ก็ด้วยคุณภาพของการเป็นพลเมืองแบบท่าน อำนาจก็ได้ไปอยู่ในมือของผู้อื่นเช่นกลุ่มผู้ปกครองใหม่เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามสังคมไทยยังโชคดีที่มีคนจำนวนไม่น้อยยังพยายามต่อสู้เพื่อผลักดันระบอบของเราในทางปฏิบัติให้ใกล้เคียงกับอุดมคติ คนเหล่านี้เองที่ช่วยให้ประชาธิปไตยไทยเดินหน้าต่อไป แม้ว่าบางเวลาอาจเดินช้าไปบ้างเมื่อพากันอ่อนแรงไป ก็คนกลุ่มใดเล่าที่ผู้ไม่หวังดีต่อประชาธิปไตยจักหวั่นเกรงหากมิใช่กลุ่มคนเหล่านี้ ถ้าท่านเป็นประชาชนในกลุ่มคนที่ขี้บ่น (และก็แค่นั้นแหละ!) ท่านก็ยังสามารถที่จะเรียนรู้ที่จะสร้างอำนาจให้กลุ่มตนได้ เพื่อให้ตัวท่านมีที่ทางอย่างมีความหมายในสายตาผู้ครองอำนาจรัฐบ้าง อย่างน้อยการให้กำลังใจแก่คนที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิหรือเพื่อประชาธิปไตย ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ท่านทำได้ อันให้ผลต่อกำลังใจคนในการต่อสู้ต่อไป 


เราขอบอกท่านว่าการเป็นประชาชนของระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ง่ายนักแต่ก็ไม่ยากเลยดังเราได้กล่าวมา ระบอบใดเล่าที่ให้ค่าแก่ตัวประชาชนมากไปกว่าระบอบประชาธิปไตย? และหากท่านไม่เห็นค่าของการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยไว้ แล้วท่านต้องเป็นตัวพลเมืองอันไร้ค่าในระบอบอื่นใด เราก็ได้แต่แสดงความดีใจกับคนอย่างท่านว่าช่างสมควรแล้วที่จักต้องมีชะตากรรมเป็นดังเช่นที่ว่านั้น! (แล้วท่านก็คงว่าเราไม่ได้ที่เราไม่ยอมอยู่ในสภาพด้อยอำนาจเช่นท่าน) (โลกหลังยุคใหม่ตอนต่อไปเราจะเข้าไปสำรวจในดินแดนทางปัญญาที่ชี้นำทางความเข้าใจของมนุษย์) 

(หมายเหตุ บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยธุรกิจไฟแนนซ์ 5 ก.ย. 2537 ในเวลาต่อมาทางอาจารย์สมเกียรติ แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ขอนำไปเพื่อเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการอาจารย์สมเกียรติก็ได้เสียชีวิตไปก่อน) 

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1372087389&grpid=01&catid&subcatid

No comments: