Monday, April 14, 2014

ความหมายของมนุษย์ในโลกภายใต้เทคโนโลยีข่าวสาร


โลกหลังยุคใหม่ (ตอนที่๕): ความหมายของมนุษย์ในโลกภายใต้เทคโนโลยีข่าวสาร
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
                   

         "ตัวเมืองเองโดยจารีตแล้วเป็นเครื่องมือทางทหาร  และเป็นเสื้อเกราะหรือโล่รวมหมู่   กล่าวคือส่วนขยายของเครื่องป้องกันผิวหนังของเรา  ก่อนการมารวมตัวเป็นเมือง  มีช่วงสมัยที่เป็นยุคแห่งการรวบรวมอาหารโดยมนุษย์นักล่า  และกระทั่งมนุษย์ในทุกวันนี้ซึ่งอยู่ในยุคไฟฟ้า   มนุษย์ก็ยังกลับสู่สภาพแบบชนเผ่าเร่ร่อนทั้งในทางจิตวิทยาและทางสังคม  อย่างไรก็ตาม ณ บัดนี้  เราเรียกขานกันว่ายุคแห่งการรวบรวมข่าวสารและการจัดการข้อมูล   ทั้งยังเป็นสิ่งที่มีลักษณะเป็นทั้งโลก (global)   รูปแบบเมืองซึ่งได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งล้าหลังก็ได้ถูกละทิ้งและถูกแทนที่ไป  มาพร้อมกันกับตัวเทคโนโลยีไฟฟ้าโดยตรงโลกทั้งโลกเองก็ไม่อาจเป็นอื่นใดได้มากเกินกว่าเป็นหมู่บ้านหนึ่ง   และตัวธรรมชาติของเมืองเองในฐานะที่เป็นรูปแบบของมิติที่สำคัญๆ ก็ต้องสลายหายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นดังกับฉากในภาพยนตร์ฉากหนึ่งที่กำลังเลือนลงไป" [Marshall McLuhan, UNDERSTANDING MEDIA, New York: Mentor, 1964, p.298]

         เราอยู่ในโลกปัจจุบันที่มีสภาพเป็นหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่งที่เรียกได้ว่า หมู่บ้านโลก (global village) ดังคำที่มาร์แชล แม็คลูฮันเรียกในหนังสือ เข้าใจสื่อ ที่เขาพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี ๑๙๖๔      เทคโนโลยีหลังยุคจักรกล- เทคโนโลยีอิเล็คทริคนี้ได้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาการสื่อสารที่สลายสภาพแยกตัวจากกันโดยระยะทางทางภูมิศาสตร์ของดินแดนต่างๆ ลงไป   บัดนี้โลกทั้งโลกเป็นเช่นดังเกาะๆ เดียว  ที่หัวเกาะท้ายเกาะต่างติดตามความเป็นไปในแต่ละส่วนของกันได้ในทันใจ และต่างก็เผชิญปัญหาและชะตากรรมรวมร่วมกัน  สังคมข่าวสาร พัฒนาภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้และเป็นผลโดยตรงมาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปดังกล่าว  

         อะไรคือลักษณะเด่นของสังคมข่าวสาร?  ลักษณะดังกล่าวนี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับตัวมนุษย์บ้าง? เพื่อเป็นการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัวเราอย่างรู้เท่าทันเราจะได้พิจารณาประเด็นนี้    โดยดูการวิเคราะห์อันลือชื่อของแม็คลูฮันในเรื่อง สื่อก็คือตัวสาร (The medium is the message) ประกอบด้วย

เทคโนโลยีก็คือส่วนขยายของตัวเรา
         ก้อนหินมีคมที่บรรพบุรุษของเราเมื่อหมื่นปีก่อนเอามามัดกับกิ่งไม้ใช้ล่าสัตว์นั้นทำให้มือของบรรพบุรุษของเรายืดยาวออกไปในความหมายว่าทำอะไรได้มากขึ้นกว่าเดิม  ไม่ใช่แค่ความยาวของพื้นที่ที่ยืดออกไปมากกว่าความยาวของมือเรา  แต่ยังรวมถึงความสามารถในการหาอาหารที่คล่องตัวขึ้น สะดวกขึ้นและปลอดภัยขึ้น  เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ก็เป็นส่วนขยายของผิวหนังของเราที่ทำให้เราเผชิญกับสภาพการณ์หลากแบบได้   ไม่ว่าเมื่ออากาศเย็นลงหรือแดดเปรี้ยง   เทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ก็คือการขยายตัวมนุษย์ออกไปเกินกว่าข้อจำกัดทางกายภาพที่ธรรมชาติให้มา

         สำหรับแม็คลูฮันแล้ว    มนุษย์ขยายตัวเองเป็นผลโดยตรงจากเทคโนโลยีนั้นๆที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา ลูกธนูก็คือส่วนขยายของแขนและไหล่  ปืนไรเฟิลก็คือส่วนขยายของตาและฟัน (ลองคิดถึงการเล็งเลือกเป้า และการ "กัด" สิ่งที่เป็นเป้าหมาย)  ส่วนขยายนี้ยังเป็นในรูปรวมหมู่คือเป็นของทั้งสังคมหรือทั้งมวลมนุษย์ก็ได้  ดังข้อความที่คัดมาเปิดเรื่อง เมืองก็คือส่วนขยายของผิวหนังของพวกเรา เป็นดังโล่หรือเกราะรวมหมู่ป้องกันเราทั้งสังคม เช่นดังที่เสื้อผ้าเป็นส่วนขยายผิวหนังของคนแต่ละคนนั่นเอง

         ลูกธนูคือเทคโนโลยียุคโบราณ  ปืนไรเฟิลมาในยุคจักรกล เมื่อมีรถไฟก็มีเมืองแบบใหม่เกิดขึ้น  รวมทั้งงานและเวลาว่างในลักษณะใหม่  เมื่อมีเครื่องบิน เมือง, ลักษณะทางการเมืองและการสมาคมแบบยุครถไฟ ก็เริ่มสลายไป เทคโนโลยีใหม่นำสภาวะแวดล้อมแบบใหม่มาสู่เรา

         ผลโดยตรงจากเทคโนโลยียุคปัจจุบันได้นำมนุษย์เราเข้าสู่สภาวะแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะอันพิเศษยิ่ง

 . "เช่นดังที่ล้อเลื่อนเป็นส่วนขยายของเท้า    คอมพิวเตอร์ก็คือส่วนขยายของระบบประสาทของเรา  ซึ่งดำรงอยู่โดยอาศัยการฟีดแบ็คและวงจรไฟฟ้า" [Marshall McLuHan & Quentin  Fiore, WAR AND PEACE IN THE GLOBAL VILLAGE, New YorkSimon & Schuster, 1968, p.53]  กล่าวคือ เทคโนโลยีไฟฟ้านี้มีผลกระทบต่อสัมปชัญญะหรือการรับรู้ของเราที่มีต่อสิ่งต่างๆ  และจึงได้โอบอุ้มเราแต่ละคนให้พัวพันกับมนุษยชาติโดยรวมและนำเอามนุษยชาติโดยรวมเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา  ตอนเราถือหูโทรศัพท์เราอยู่ใน
บทบาทของผู้เข้าร่วมกระทำ  สื่อ "บังคับ" เราให้ต้องเข้าร่วม  เสียงที่เราได้ยินเสียงกล่าวข้างหูเรามาจากที่ที่ห่างไกลออกไป เรื่องที่เล่าผ่านสายมาอาจเป็นเรื่องที่กำลังเกิดในตอนนั้นในที่ที่เราไม่อาจเข้าไปรับรู้โดยตรงได้เนื่องจากกายเราอยู่ในพื้นที่ทางกายภาพอีกพื้นที่หนึ่ง
         สื่อไฟฟ้าเช่นโทรทัศน์ได้นำเราไปเฝ้าอยู่ข้างๆ ดูสงครามกลางเมืองในบอสเนียเราเป็นได้ทั้งผู้เฝ้าดูความเป็นไปและผู้ถอยห่างในเวลาเดียวกัน   สิ่งที่เห็นในจอภาพเช่นกระสุนที่พุ่งไปมา   คู่กรณีที่ปะทะกันจะไม่หันมาโดนเรา  ทีวีทำให้เราเป็นพระเจ้าผู้เฝ้าดูความเป็นไปของโลก   เราผู้ดูเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ด้วยยังได้สถานะของการเป็นผู้ไม่ถูกกระทบทางกายภาพจากความเป็นไปที่เราเฝ้าดู  ใกล้ชิดและถอยห่างในเวลาเดียวกัน สภาวะแวดล้อมเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในยุคของเราภายใต้เทคโนโลยีแบบใหม่

 . สื่อจากเทคโนโลยีไฟฟ้า  นอกจากขยายการรับรู้ของเรา (ดั่งมีหูทิพย์ ตาทิพย์) ยังหยุดเวลาหรือดึงเอาเวลาเก่ากลับคืนมาในบรรยากาศใหม่ได้  อีกทั้งยังย้ายสถานที่โดยเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี  เมื่อมีการบันทึกเสียงเพลงในแผ่นเสียง  เราก็นำศตวรรษก่อนๆ กลับมาเยือนเราได้  นำเอาดินแดนห่างไกลมาอยู่เคียงข้างเรา  ความต่างของเวลาและสถานที่เริ่มสลายไป โลกไม่ได้แคบเข้าเป็นดั่งหมู่บ้านเดียวกันในแง่ช่วงเวลาปัจจุบันดังคำของแม็ค ลูฮันเท่านั้น โลกยังแคบเข้าข้ามมิติแห่งเวลาและสถานที่อีกด้วย   อดีตและปัจจุบันก็อยู่ใกล้กันยิ่งขึ้น

 . ตอนที่เราชมภาพความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติลึกเข้าไปในป่าอะมาซอนอันตัดกับภาพความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าบริเวณที่ถนนตัดเข้ามาถึง   เราสามารถรับรู้อย่างเข้าใจได้โดยไว อีกทั้งเกิดอารมณ์ร่วมได้ง่ายขึ้น  "สิบคำบรรยายไม่เท่าสองตาเรามองเห็น" ตีนทหารที่กระทืบประชาชนที่นอนหมอบในโรงแรมรอยัลช่วงพฤษภาทมิฬอธิบายให้ใครต่อใครเข้าใจได้ง่ายว่ามีอะไรเกิดขึ้น จนต้องมีผู้พยายามตัดต่อวีดีโอใหม่เพื่อสร้างภาพลวงตาว่าทหารตอนนั้นไม่ทำร้ายประชาชนอย่างอันธพาลกระทำ  โลกของการรับรู้เช่นนี้เป็นการนำเรากลับเข้าสู่วิถีกระบวนการเรียนรู้แบบดั้งเดิมก่อนมีวัฒนธรรมตัวอักษร    ขณะเดียวกัน กระบวนการนี้เรายังผลิตซ้ำได้ไม่สิ้นสุด   กระบวนการสร้างสื่อสารเช่นนี้เองเป็นลักษณะหนึ่งที่เด่น (รวมทั้งการสร้างภาพลวงตาอันแนบเนียนด้วย  หากจะใช้ไปทางนั้น) และเป็นจุดที่เทคโนโลยียุคใหม่นำเรากลับไปสู่โลกของการรับรู้แบบดั้งเดิมได้อีกครั้งหนึ่งโดยทิ้งข้อจำกัดเก่าไป
         และเทคโนโลยีเช่นนี้ใครๆ ก็เรียนรู้การใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าชาวอินเดียนพื้นเมืองแห่งอะมาซอนผู้ถ่ายทำวีดีโอข้างต้น มุสลิมมูจาเฮดีนผู้ยิงหัวระเบิดพร้อมบันทึกผลที่เกิดกับเป้า     หรือมือกล้องวีดีโอสมัครเล่นที่บันทึกภาพตำรวจผิวขาวซ้อมชายผิวดำในแอลเอ การพัฒนาเทคโนโลยีเช่นนี้ต้องการสังคมมวลชนและตลาดมวลชนรองรับ  สื่อเหล่านี้จึงเป็นส่วนขยายที่ขยายอำนาจหรือความสามารถของมวลชนแต่ละคน ชุมชนแต่ละแห่ง

 . แม่บ้านที่เฝ้าบ้านอาจรู้จากหนังอาชญากรรมเรื่องการป้องกันตัวจากคนร้ายที่ลอบเข้ามาในบ้าน   กระเหรี่ยงต่อต้านรัฐบาลพม่าอาจนำเทคนิคการรบจากหนังแรมโบมาใช้รบทหารพม่า  นี่เป็นแง่หนึ่งของการเรียนรู้โดยตรงผ่านสื่อปัจจุบัน  ในอีกแง่ชาวบ้านในชนบทของจีนก็ได้เห็นสังคมแบบอื่นว่าเป็นอย่างไรต่างเหมือนจากสังคมแถบถิ่นที่ตนเองคุ้นเคยอย่างไร ชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมในกรุงเทพก็ได้เห็นว่าการเปิดใจให้กว้างช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นอย่างไร   โลกทั้งโลกต่างเห็นกันและกัน  แต่ละสังคมไม่อาจปิดประตูหน้าต่างไม่เห็นไม่รู้ความเหมือนความต่างจากตัวเองอีกต่อไป  บัดนี้มนุษย์ก็ได้เห็นว่ายังมีดินแดนอื่นๆ ที่มีดี (และก็มีเสียกว่าเรา การสลายความเป็นเผ่าพันธุ์ได้เกิดขึ้น

         สำหรับแม็คลูฮันเขาเห็นว่าเทคโนโลยีไฟฟ้านำมนุษย์เข้าสู่กระบวนการสลายความเป็นเผ่าพันธุ์และกระบวนการสร้างความเป็นเผ่าพันธุ์ขึ้นใหม่ (detribalization & retribalization) ในเวลาเดียวกัน แม็คลูฮันใช้เรียกทั้งในแง่การที่มนุษย์กลับเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้แบบดั้งเดิมสมัยชนเผ่าต่างๆ และการใช้สื่อดังกล่าวสร้างค่านิยมท้องถิ่นนอกจากนี้ยังรวมถึงการที่เราพยายามสร้างความต่างให้เห็น   เพราะเราได้เห็นความเหมือนที่มีระหว่างกัน การแสวงหาความต่างจึงเกิดขึ้น

ชนเร่ร่อนแห่งปลายศตวรรษที่ ๒๐
         ลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตรงในโลกภายใต้เทคโนโลยีอิเล็คทริคนี้   ในยุคจักรกลหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม สังคมอุตสาหกรรมต้องการการแบ่งงานกันทำโดยสร้างระบบผู้ชำนาญการเฉพาะด้านในแต่ละด้านขึ้น  การบริหารแบบรวมศูนย์เป็นลักษณะสำคัญแบบหนึ่งในโครงสร้างสังคมแบบนั้น   สังคมใต้อิทธิพลเทคโนโลยีไฟฟ้า   ความหลากหลายของสื่อต่างๆ ทำให้อำนาจรวมศูนย์ได้ยากขึ้นและให้อำนาจต่อรองกับส่วนย่อยต่างๆ มากขึ้นโดยอัตโนมัติ     การกระจายอำนาจเกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป (จึงกุมอำนาจไว้แต่ส่วนเดียวไม่อยู่)      ทั้งสภาพจิตใจและจิตสำนึกของคนเองก็เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่กระทำต่อจินตภาพของเรา

         แม็คลูฮันกล่าวว่า "สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยังเป็นสงครามรางรถไฟอีกด้วย  อันได้ขยายผลอย่างกว้างขวางในแง่ขอบเขตและการทำลายล้าง ทั้งนี้จากการขยายตัวของระบบอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมือง มันเป็นสงครามแห่งทหารมวลชน แห่งปืนมวลชน ณ การรบที่ซอมม์ ทหารเยอรมันได้นำปืนใหญ่ร่วมหกพันกระบอกไปสู่พื้นที่ดังกล่าวในทันใด
         สงครามโลกครั้งที่สองคือสงครามวิทยุเช่นกันกับที่เป็นสงครามอุตสาหกรรม  อิเล็คโทรนิคยุควิทยุได้ปลุกพลังของชนเผ่าและภาพมองไกล (วิชั่น) ของชาวยุโรปขึ้นในลักษณะเดียวกันกับที่โทรทัศน์ได้กำลังกระทำต่ออเมริกาในบัดนี้ อเมริกาไม่เหมือนยุโรปในแง่ที่ไม่มีอดีตทางเผ่าพันธุ์  ดังนั้นวิทยุไม่ได้ทำอุทธรณ์กลับไปยังภาพลักษณ์ของเอกภาพและความเข้มแข็งทางเผ่าพันธุ์ในอดีตที่ห่างไกล แต่กลับปลุกพลังงานของนิโกรและช่วยพวกเขาให้เข้ามาครอบงำทางวัฒนธรรมของอเมริกาในช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐  โดยผ่านเพลงและการเต้นรำของเผ่าพันธุ์..." [McLuhan & Fiore 1968: Pp.132-133]

         "วลีภาษาฝรั่งเศสเมื่อยี่สิบห้าปีก่อนที่ว่า 'guerre des nerfs'  นับจากบัดนั้นก็ได้ถูกใช้อ้างอิงว่า 'สงครามเย็น'        ที่จริงก็คือสงครามไฟฟ้าทางข่าวสารและทางจินตภาพที่ไปไกลกว่าและครอบงำเป็นพิเศษกว่าสงครามร้อนดั้งเดิมในยุคที่พึ่งฮาร์ดแวร์ทางอุตสาหกรรม..." [McLuhan 1964: p.295]

         สงครามในปัจจุบันจึงเป็นสงครามสร้างภาพสื่อ (War of the Icons) และนี่คือลักษณะสำคัญของสังคมข่าวสาร   ข่าวสารก็คือกระบวนการสื่อสารที่สร้างผลต่อการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ ของเรา  ในยุคของโลกแห่งวัฒนธรรมตัวอักษร มนุษย์อาจถูกจำกัดการเรียนรู้เมื่อเราไม่รู้หนังสือ  หรือรู้ภาษาคนละภาษากัน  ในโลกของภาพสื่อกระบวนการเรียนรู้อยู่ในทุกที่ห้องเรียนที่เคยมีความสำคัญก็ได้ถูกแทนที่โดยสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน  เด็กในยุคปัจจุบันรู้มากกว่าเด็กวัยเดียวกันในยุคก่อน     พวกเขาเข้าโรงเรียนก่อนไปเรียนที่โรงเรียนจริงๆ (แน่นอนพวกเขาเรียนเรื่องประชาธิปไตยและซึมซับมันก่อนได้ใช้สิทธิทางการเมือง   เมื่อรวมกับประเด็นที่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องต้องฝึกตั้งแต่ยิ่งเด็กยิ่งดี  ผู้ที่คัดค้านคนวัย ๑๘ ปีเพื่อไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง     จึงนับว่าขาดความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องพัฒนาประชาธิปไตยและขาดความเข้าใจด้านลึกในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นจริงในสังคมปัจจุบัน ถ้าเป็นวุฒิสมาชิกที่คิดอะไรล้าหลังข้างต้นก็นับว่าช่างน่าเวทนานักที่ไม่รู้จักละอายใจตนเองว่าด้อยคุณสมบัติผู้พิทักษ์หลักการเพียงไร!)

         เมื่อนโปเลียนยกกองทัพบุกรัสเซียเมื่อปลายศตวรรษที่ ๑๙  นโปเลียนนำน้องชายของผู้สร้างโทรเลขสมัยแรกไปด้วยเพื่อให้ติดตั้งเสาส่งโทรเลขเคลื่อนที่ [ดูรายละเอียดใน Gerard  Holzmann  &  Bjorn  Pehrson, "THE FIRST DATA  NETWORKS" SCIENTIFIC AMERICAN, January  1994]  เราจะเห็นได้ว่าตัวข่าวและการแจ้งข่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง รายงานการรบจากแนวหน้าที่ทันใจช่วยให้การเมืองในปารีสมีเสถียรภาพ   เทคโนโลยีสื่อสารในระยะแรกๆ นั้นนำความเปลี่ยนแปลงในเชิงได้เปรียบเสียเปรียบทางยุทธศาสตร์มาให้เห็นอย่างเด่นชัด (ในสงครามที่กรุงทรอยยุคกรีกโบราณ  ผู้แจ้งข่าววิ่งนำข่าวชัยชนะเพื่อให้ข่าวไปถึงเร็วที่สุดต้องวิ่งจนขาดใจตายหลังแจ้งข่าว)  
        
         ในสังคมยุคข่าวสาร ข่าวสารไม่ใช่ "ข่าว" แต่คือตัวสื่อเอง สื่อจากเทคโนโลยีไฟฟ้าสร้างผลโดยตรงต่อระบบประสาทการรับรู้ของเราทั้งสังคมและในแต่ละคน    คำว่าการไหลของข่าวสารสะท้อนลักษณะดังกล่าว  ข่าวสารไหลเข้ามาในทุกทาง ในเมื่อมันเกิดที่ระบบประสาทเกิดในจิตสำนึก   เราก็ถูกผูกพันเข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และลงลึกด้วย ในแง่นี้ สื่อไฟฟ้าได้สร้างโลกในประสบการณ์ของเราขึ้นมา และหล่อเลี้ยงการรับรู้ของเรา
ในทุกทิศทาง  นี่คือลักษณะพิเศษของยุคสมัยเรา

         เมื่อยุคโบราณบรรพบุรุษของเราสร้างเทคโนโลยีเช่นขวานหินขึ้นมาขยายความสามารถในการหาอาหาร   บรรพบุรุษผู้เร่ร่อนไปตามผืนแผ่นดินเพื่อรวบรวมอาหารประทังชีวิตก็ได้ใช้เวลาอีกช่วงยาวก่อนที่จะสร้างส่วนขยายของผิวหนังในรูปรวมหมู่ที่เรียกว่าเมืองขึ้นได้  และสร้างอารยธรรมเมืองให้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา  ไม่มีใครรู้ว่าในอีกห้าพันปีหลังมนุษย์ก็ได้หวนคืนสู่สภาพของการเร่ร่อนแบบเดียวกับบรรพบุรุษเมื่อหมื่นปีก่อน  ด้วยการท่องไปในโลกที่ระบบประสาทรับข้อมูลจากทุกทางมนุษย์ก็ได้กลับสู่วันเวลาของเผชิญหน้ากับสภาพการณ์ที่ต้องตื่นตัวในแทบทุกเวลา  ในแง่หนึ่งมนุษย์แต่ละคนมีอำนาจมากขึ้นเมื่อแต่ละคนเริ่มอยู่ในสถานะที่เท่าๆ กัน  ในอีกแง่หนึ่งแต่ละคนก็เริ่มเคว้งคว้างขึ้นเช่นกันเมื่อข่าวสารมาในทุกทิศทาง ทางหนึ่งจึงมุ่งไปสู่สภาพปัจเจก อีกทางมุ่งไปสู่สภาพรวมหมู่ ยุคจักรกลยังไม่หมดไปและยุคไฟฟ้าก็เร่งเดินหน้าอย่างเต็มที่   สองยุคยังคาบทับกันนี่คือยุคสมัยของเรา (กล่าวด้วยภาษาแบบทอฟเฟลอร์  คลื่นลูกที่สองยังคงกระแสอยู่ขณะที่คลื่นลูกที่สามก็โถมเข้ามาเต็มแรง) นี่คือสถานการณ์ของมนุษย์ยุคเรา

         อะไรคือเป้าหมายของการเป็นมนุษย์? เราจะไปทางไหนกัน? ประวัติศาสตร์มนุษยชาติมีจุดจบหรือไม่? เราจะได้พิจารณากันในตอนต่อไป  (และแลกเปลี่ยนความคิดกับโบดริลญารด์และฟูกูยามา   โดยย้อนเวลาข้ามศตวรรษไปคุยกับเฮเกลและไฮเด็กเกอร์ว่าโลกในศตวรรษหน้าจะเป็นอย่างไร)
       
                          
 หมายเหตุ   บทความนี้ลงพิมพ์ใน ไทยไฟแนนเชี่ยล 1 มี.ค. 2537 
                 
        






No comments: