Sunday, April 13, 2014

ว่าด้วยเสรีภาพ (On Freedom)


หมายเหตุ บทความนี้ผมแปลลงใน อภิชญาจารย์ รวมบทความทางวิชาการเพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้ช่วยอาจารย์ธีรศักดิ์ โอภาสบุตร เนื่องในวาระอายุครบ 60 ปี (นครปฐม: ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556) ซึ่งมีอาจารย์พิพัฒน์ สุยะ เป็นบรรณาธิการ



ว่าด้วยเสรีภาพ[1]
เลเชค คอวาคอฟสคี (Leszek Kołakowski)[2] [3]เขียน
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์แปล

หมายเหตุผู้แปล  ผมแปลบทความนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่อาจารย์ธีรศักดิ์ โอภาสบุตร เนื่องในวาระเกษียณอายุราชการ นอกจากประเด็นเรื่องเสรีภาพจะเป็นประเด็นที่เราเคยพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมาบ้าง การนำเสนอประเด็นนี้ยังเป็นการรำลึกถึงสิ่งที่อาจารย์ธีรศักดิ์ได้กระทำในการยืนหยัดปกป้องให้กับหลักการที่เป็นหัวใจของคณะอักษรศาสตร์ หลักการของ liberal arts ที่ให้ความสำคัญกับการเพาะบ่มคุณสมบัติความใจกว้างและการยอมรับการเลือกที่แตกต่างอันเกิดจากการใช้วิจารณญาณของตนเอง อันเป็นคุณสมบัติที่นักศึกษาได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการพัฒนาขึ้นจากการเรียนการสอนในคณะ  ในสมัยที่อาจารย์ธีรศักดิ์เป็นหัวหน้าภาควิชาปรัชญา เราสามารถวางใจได้ที่จะเห็นอาจารย์พร้อมชนเพื่อปกป้องหลักการพื้นฐานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสยบความพยายามออกระเบียบบังคับที่เป็นปัญหา เช่นความพยายามที่จะไม่ให้นักศึกษาที่ไม่ได้สวมเครื่องแบบเข้าชั้นเรียน หรือการคัดค้านความพยายามแก้ไขหลักสูตรให้เป็นแค่การผลิตนักเทคนิคทางภาษา โดยไม่ใส่ใจต่อพื้นฐานของมนุษยศาสตร์ ที่มีรากฐานอยู่บนปรัชญา ประวัติศาสตร์และอารยธรรม เป็นต้น
             บทความแปลนี้ยังขอมอบแด่อาจารย์สุนัย ครองยุทธ ที่ได้เกษียณไปเมื่อสามปีก่อน ถือเป็นการชดเชยที่ผมในตอนนั้นไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเขียนหรือแปลงานเพื่อลงเป็นเกียรติให้อาจารย์สุนัยทันปิดต้นฉบับหนังสือที่ระลึกในคราวนั้น
---------------------------------------------------------------------------------

            มีอาณาบริเวณขนาดใหญ่ทางความคิดสองอาณาบริเวณที่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเสรีภาพ ทั้งสองอาณาบริเวณนี้แยกจากกันได้ชัดและเป็นอิสระเชิงตรรกะจากกันและกัน  จริงๆ แล้วถึงขนาดที่ว่าอาจให้อภัยใครสักคนก็ยังได้จากการที่เขาสงสัยว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วอาณาบริเวณทางความคิดทั้งสองนั้นยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเรื่องเดียวกันหรือไม่  อาณาบริเวณแรกคือกระแสทางความคิดของมนุษย์ที่มีมาแต่เก่าก่อนเนิ่นนานมากที่ยังคงสู้รบกับปัญหาเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ กระแสความคิดดังกล่าวนี้ยังคงเกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่ามนุษย์มีเสรีโดยพิจารณาจากแค่เรื่องความเป็นมนุษย์ของเขาได้หรือไม่  กระแสที่สองเกี่ยวข้องกับเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม และเกี่ยวข้องกับเรื่องเสรีภาพทางสังคมของการกระทำที่เราเรียกเช่นกันว่าความมีเสรี (liberty)[4]
           เมื่อเรากล่าวว่ามนุษย์มีเสรีโดยเนื่องจากธรรมชาติที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ของตัวเขา เราหมายถึงเขาสามารถเลือกระหว่างสิ่งต่างๆ และการเลือกของเขาไม่ได้ขึ้นแต่อย่างไรกับ หรือเป็นผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากพลังอื่นๆ ที่อยู่เหนือเกินกว่าจิตสำนึกของเขา อย่างไรก็ตาม เสรีภาพไม่ได้เป็นเพียงแค่ความสามารถที่จะเลือกระหว่างความเป็นไปได้ต่างๆ ที่ถูกให้มา แต่ยังเป็นศักยภาพที่จะสร้างสถานการณ์ที่ใหม่ทั้งหมดและที่ไม่อาจคาดทำนายได้เช่นกัน
           ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมของเรา เสรีภาพของมนุษย์ตามนัยดังกล่าวมานี้ได้รับการปฏิเสธบ่อยพอๆ กันกับที่มันได้รับการยืนยัน  การถกเถียงแม้จะไม่ใช่ปัญหาเดียวกันแต่ก็เชื่อมโยงกับการถกเถียงเกี่ยวกับความคิดเรื่องการถูกกำหนดไว้โดยแน่นอน  (determinism)[5] หากว่าทุกเหตุการณ์ล้วนแต่ถูกกำหนดโดยผลรวมของสภาพการณ์ที่กำหนดแล้วละก็ ความเป็นไปได้ของการเลือกอย่างเสรีย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย  แต่หากว่าความเป็นสาเหตุที่เป็นสากลจริงๆ แล้วไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ดังเช่นที่ว่ามา ก็จะนำไปสู่ผลบางอย่างที่ดูขัดแย้งตัวเองซะยิ่งกว่า  เพราะหากว่าบางสิ่งถูกกำหนดโดยบริบูรณ์โดยสภาพการณ์กำหนดของมัน  โดยหลักการแล้ว (แม้ว่าอาจจะไม่จำเป็นในการปฏิบัติก็ตาม)  มันก็ต้องคาดการณ์ทำนายได้ด้วย ดังนั้นหากการถูกกำหนดไว้โดยแน่นอนที่เป็นแบบเคร่งครัด (strict determinism) เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว  เราก็จะต้องจินตนาการได้  -เมื่อตอนที่อำนาจในการคาดการณ์ทำนายของเราเป็นไปอย่างสมบูรณ์เพียงพอ-  ว่าเมื่อเราเปิดหน้าหนังสือพิมพ์และอ่านประกาศก็จะพบคำประกาศในทำนอง “จอห์น กรีน  นักประพันธ์ดนตรีผู้มีชื่อเสียง  ได้เกิดเมื่อคืนก่อน ณ เมืองทวิกเคนแฮม  พรุ่งนี้วงลอนดอนฟิลฮาร์โมนิกจะเฉลิมฉลองเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ โดยการบรรเลงซิมโฟนีหมายเลขสามของเขา อันเป็นดนตรีที่เขาจะประพันธ์ขึ้นเมื่อถึงวัย 37 ปี”
          เคยมีช่วงเวลาที่นักฟิสิกส์และนักปรัชญาส่วนใหญ่เชื่อในความคิดการถูกกำหนดไว้โดยแน่นอนที่เป็นแบบเคร่งครัด ในตอนที่ความคิดแบบนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของวิทยาศาสตร์และความคิดที่มีเหตุผล  ไม่เคยมีข้อพิสูจน์มาสนับสนุนแนวคิดเช่นนี้ แต่มันก็ได้รับการพิจารณาว่าเป็นเรื่องของสามัญสำนึกแบบพื้นๆ  โดยถือเป็นความจริงซึ่งประจักษ์แจ้งในตัวเอง ที่มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่จักอาจสงสัยมัน  ในศตวรรษของเรา กลศาสตร์ควอนตัม และทฤษฎีความไร้ระเบียบ (chaos theory) ที่เป็นที่รู้จักกันเมื่อเร็วๆ นี้เอง ได้พยายามสลายความเชื่อดังว่า และนักฟิสิกส์ก็ได้ละทิ้งการยึดมั่นในความคิดเรื่องการถูกกำหนดไว้โดยแน่นอน  แน่นอนว่าการค้นพบกลศาสตร์ควอนตัมไม่ได้บ่งนัยว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรี (free will) เหนืออื่นใด อิเล็กตรอนไม่มีเจตจำนงเสรี  แต่อย่างน้อยที่สุด ฟิสิกส์ก็ไม่ได้ช่วยให้ความคิดของเราในเรื่องเจตจำนงเสรีกลายเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดหรือไร้เหตุผล  และที่จริงแล้ว มันก็ไม่ได้ช่วยให้สรุปได้ไปในทางหนึ่งทางใดดังได้กล่าวมา  เราไม่ใช่แค่อาจจะ  แต่ยังน่าจะเชื่อในเรื่องเจตจำนงเสรี ตามนัยที่ผมได้นิยามไว้ข้างต้น กล่าวคือ ถือเอาในฐานะที่เป็นศักยภาพที่ไม่ใช่แค่เลือก ทว่ายังสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ อีกด้วย  ประสบการณ์ของเสรีภาพตามนัยดังกล่าวนี้เป็นสิ่งพื้นฐานยิ่งสำหรับมนุษย์ทุกคนขนาดที่ว่าความเป็นจริงในเรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ประจักษ์แจ้งอย่างไม่อาจขัดขืนได้ แม้ว่าเราไม่อาจพิสูจน์มันโดยการแยกเป็นส่วนและวิเคราะห์ส่วนองค์ประกอบของมัน  แต่ข้อเท็จจริงที่ว่ามันเป็นอะไรที่เป็นพื้นฐานขนาดที่ว่าดูเหมือนจักแจ่มชัดอย่างเด่นชัดยิ่งนั้น ก็ไม่มีเหตุผลให้สงสัยได้เลยว่ามันเป็นความจริงหรือไม่  จริงๆ แล้วเราเป็นตัวผู้กระทำที่มีเสรีในสิ่งที่เรากระทำ ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือของพลังหลากหลายที่ดำรงอยู่ในโลก แม้แน่นอนว่าเราจักต้องขึ้นต่อกฎธรรมชาติก็ตาม  และจริงๆ แล้วเราก็จัดวางเป้าหมายของตัวเราเอง ไม่ว่าดีหรือชั่ว และดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว สภาวการณ์ภายนอกหรือบุคคลอื่นๆ อาจจะบั่นทอนความพยายามของเรา ยกตัวอย่างเช่นเราอาจจะถูกทำให้ไร้ความสามารถทางกายภาพขนาดที่เราไม่สามารถที่จะตัดสินใจเลือกอย่างส่งผลได้ แต่ศักยภาพสำคัญของเราที่จะเลือกก็ยังคงดำรงอยู่  แม้ว่าเราจะไม่อาจใช้ประโยชน์จากมันได้ก็ตาม  และก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะอ้างดังที่เซนต์ออกุสทีน (St Augustine[6]) หรือค้านท์ (Kant)[7] อ้างว่าเรามีเสรีก็ต่อเมื่อเราเลือกความดี ไม่ใช่เมื่อเราเลือกความชั่วร้าย  การกล่าวเช่นนี้คือการนิยามเสรีภาพของเราโดยนิยามจากตัวเนื้อหาของการเลือกของเรา ไม่ใช่โดยนิยามจากศักยภาพแท้จริงของเราที่จะเลือก และการนิยามเสรีภาพในวิถีแบบนี้ก็คือการขัดขวางมโนทัศน์อันแท้จริงในเรื่องเสรีภาพด้วยการเอาหลักการทางศีลธรรมของตัวเราเองมาปิดกั้น
           ดังนั้น เสรีภาพดังกล่าวมานี้จึงถูกให้สู่เรามากันกับความเป็นมนุษย์ และเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ดังกล่าว มันให้ความเป็นเฉพาะหนึ่งเดียวกับการดำรงอยู่อย่างแท้จริงของตัวเรา
          อาณาบริเวณที่สองของสองอาณาบริเวณทางความคิดในเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพจะเกี่ยวข้องกับปัญหาที่แตกต่างอย่างยิ่ง เพราะว่าเนื้อหาของมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพของเราที่ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นมนุษย์แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม เสรีภาพตามนัยนี้ไม่ได้มีแหล่งที่มาจากธรรมชาติของการดำรงอยู่ของตัวเรา แต่มาจากวัฒนธรรม, สังคม และกฎหมายของเรา มันบ่งชี้ถึงอาณาบริเวณของกิจกรรมมนุษย์ที่ซึ่งการจัดการทางสังคมไม่ได้ห้ามหรือควบคุมเรา แต่ปล่อยให้เรามีเสรีที่จะเลือกว่าเราจะกระทำอย่างไรโดยไม่ต้องกลัวการตอบโต้กลับ นี่คือเสรีภาพที่เราเรียกเช่นกันว่าความมีเสรี (liberty)
           แน่นอนว่าเสรีภาพในความหมายนี้อาจตรวจวัดได้ในแง่ระดับ กล่าวคือ อาจจะมีมันมากหรือน้อย และโดยปกติเราประเมินระบบการเมืองที่แตกต่างกันโดยพิจารณาจากระดับเสรีภาพที่ระบบการเมืองนั้นมีให้ ระดับนั้นขยายไล่จากระบอบเบ็ดเสร็จนิยมโดยสมบูรณ์แบบ (perfect totalitarian regimes) (ดังเช่น รัสเซียภายใต้ระบอบสตาลิน จีนภายใต้ลัทธิเหมา และคอมมิวนิสม์เอเชียประเภทต่างๆ หรือจักรวรรดิไรช์ที่สาม[8]) ที่สุดโต่งทางฝั่งหนึ่ง  ไปจนถึงระบบการเมืองที่การเข้าแทรกแซงพลเมืองของรัฐบาลนั้นแสดงออกในรูปแบบของการห้ามหรือการตักเตือนที่ถูกจำกัดให้อยู่ในระดับที่น้อยอย่างเข้มงวดยิ่ง  ระบอบแบบเบ็ดเสร็จนิยมมีจุดมุ่งหมายที่จะควบคุมทุกอาณาบริเวณของกิจกรรมมนุษย์เพื่อที่ว่าจะไม่มีอะไรเหลือให้เป็นเรื่องการเลือกของปัจเจกบุคคล ทรราชย์ในจำพวกที่ไม่ได้เป็นพวกแบบเบ็ดเสร็จนิยมมุ่งหมายที่จะกดไว้เฉพาะเสรีภาพในอาณาบริเวณที่อาจจะแสดงให้เห็นว่าคุกคามต่อตัวระบอบ แต่ในเรื่องอื่นๆ ระบอบเหล่านั้นไม่ได้มุ่งหมายที่จะควบคุมโดยบริบูรณ์ ระบอบเหล่านั้นยังไม่ประสงค์ที่จะมีอุดมการณ์ในแบบที่เป็นการรวบเอาทุกส่วนมาไว้ภายใต้แนวคิดเดียวหรือมีลักษณะครอบโลกแต่อย่างไร
          เป็นเรื่องที่ไม่ยากเลยที่จะมองเสรีภาพตามนัยนี้ แม้ว่ามันอาจถูกทอนจนเหลือแค่ศูนย์ มันก็ไม่อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีจุดจำกัด  “สภาวะตามธรรมชาติ” อันเป็นสมมติฐานที่ได้รับการอภิปรายโดยพวกนักทฤษฎีทางสังคม กล่าวคือ สภาวะที่ปราศจากกฎหมายหรือกฎเกณฑ์หรือสังคมที่มีการจัดการในแบบใดแบบหนึ่ง สภาวะที่ทุกๆ คนอยู่ในสภาวะสงครามต่อกันและกันอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่เคยมีอยู่จริง แต่หากว่ามันจะเคยมีอยู่ มันก็จะไม่เป็นสภาวะของเสรีภาพที่มีไม่จำกัด เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะจริงที่จะกล่าวว่าในสภาวะดังกล่าว “ทุกๆ สิ่งก็ล้วนเป็นที่ยินยอมได้” เพราะว่าบางสิ่งจะได้รับยินยอมหรือไม่ก็แต่โดยกฎหมาย และ ณ ที่ที่ไม่มีกฎหมายก็ไม่มีเสรีภาพ กล่าวคือ คำดังกล่าวก็สูญเสียความหมายไปอย่างแท้จริง  ในโลกของเราเสรีภาพถูกจำกัดเสมอ  โรบินสัน ครูโซ (Robinson Crusoe)[9] ไม่ได้พึงพอใจเสรีภาพที่มีไม่จำกัด ที่จริงเขาพอใจการไม่มีเสรีภาพประเภทใดๆ เลยต่างหาก  ไม่ว่าจะ ในระดับมีมากกว่าหรือน้อยกว่า เสรีภาพสามารถดำรงอยู่ก็แต่ในที่ซึ่งมีบางสิ่งถูกห้ามในขณะที่บางสิ่งได้รับการยินยอม
          บางทีเรื่องตลกต่อไปนี้ซึ่งเล่ากันมาก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาจจะช่วยให้ประเด็นนี้กระจ่างชัดขึ้นได้  “ในออสเตรีย เรื่องอะไรก็ตามที่ไม่ถูกห้ามจะได้รับการยินยอม  ในเยอรมนี เรื่องอะไรก็ตามที่ไม่ได้รับการยินยอมจะถูกห้าม ในฝรั่งเศส ทุกๆ เรื่องได้รับการยินยอม รวมถึงเรื่องอะไรก็ตามที่ถูกห้าม  และในรัสเซีย ทุกๆ เรื่องถูกห้าม รวมถึงเรื่องอะไรก็ตามที่ได้รับการยินยอม”
         แม้ว่าความหมายทั้งสองของคำว่า “เสรีภาพ” จะแตกต่างกันอย่างยิ่ง  มากขนาดที่ว่าเป็นไปได้ที่จะเริงรื่นกับเสรีภาพตามนัยหนึ่งแต่ไม่พึงพอใจกับอีกนัยหนึ่ง  ถึงกระนั้น ทั้งสองนัยก็ใกล้เคียงกันมากพอที่เราจะสามารถใช้คำคำเดียวกันสำหรับความหมายทั้งสองนัยตราบเท่าที่เราไม่สับสนกับความหมายที่แตกต่างกัน ทั้งสองความหมายล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นไปได้ของการเลือก กล่าวคือ “เสรีภาพ” ตามนัยแรกคือความสามารถโดยเฉพาะของเราในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่จะเลือกและสร้างสรรค์ แม้จะเป็นข้อเท็จจริงว่าเรามีความสามารถดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้ถือว่าเรามีขอบเขตของทางเลือกแค่ไหนไว้แล้ว  ที่จริงแล้วทางเลือกดังกล่าวนั้นเปิดกว้างต่อเรา ตามนัยที่สองนั้น เสรีภาพเป็นอาณาบริเวณที่ซึ่งสังคมและตัวกฎหมายปล่อยให้เรามีอิสระที่จะตัดสินใจสร้างทางเลือกของตัวเราเอง
          มีข้อผิดพลาดที่พบบ่อยสองประการที่เราควรระวังเมื่อกล่าวถึงเสรีภาพ ข้อผิดพลาดแรกคือการเอาเสรีภาพไปใช้สับสนระหว่างเรื่องของการทำให้พึงพอใจสนองตอบต่อความปรารถนาทั้งปวงของเรา กับเรื่องที่เราได้พิจารณาแล้วว่าเป็นการเรียกร้องที่ถูกต้อง ไม่มีอะไรผิดในการกล่าวถึงการมี “อิสระจากความเจ็บปวด” หรือ “อิสระจากความหิว”  และการไม่ระทมทุกข์จากความเจ็บปวดหรือความหิวจริงๆ แล้วเป็นหนึ่งในสิ่งพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์เรียกร้อง  อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจกล่าวได้ว่าเราพอใจกับประเภทเฉพาะบางประเภทของเสรีภาพเมื่อข้อเรียกร้องดังได้กล่าวมาได้รับการเติมเต็ม  การใช้คำว่า “เสรีภาพ” ในกรณีนี้เป็นการใช้อย่างเข้าใจผิดเพราะมันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเลือกเลย ไม่เกี่ยวทั้งกับเรื่องขอบเขตของเสรีภาพของเราที่จะเลือกหรือเกี่ยวกับเรื่องความสามารถของเราที่จะเลือกและสร้างสรรค์  ความเจ็บปวดเป็นเพียงแค่อะไรบางสิ่งที่เรายินดีที่จะกำจัดมันทิ้ง  มันยุติลงและมันก็เหมาะเช่นนั้นแล้ว การกำจัดความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่ดีที่เป็นที่น่าพึงปรารถนาอย่างยิ่ง โดยเช่นนั้นเองแอปเปิ้ลสักลูกสำหรับใครสักคนที่กำลังหิวโหย หรือการนอนหลับสำหรับใครสักคนที่เหนื่อยล้า หรืออะไรก็ได้ที่เราเผอิญต้องการ ณ ช่วงเวลาเฉพาะหนึ่งใด  ทว่าการกำจัดความเจ็บปวดหรือการกินแอปเปิ้ลไม่ใช่ประเภทของเสรีภาพ  มันเป็นเพียงแค่สิ่งดีๆ ที่เราปรารถนา (เราอาจจินตนาการถึงค่ายกักกันที่ไม่มีความหิวโหย เราจะกล่าวได้ไหมว่าเป็นการให้เสรีภาพอันแน่นอนแก่เหล่านักโทษ ที่เสรีนิยมประชาธิปไตยมอบไว้ให้กับคนอื่นๆ)  ดังนั้นผู้คนมากมายในศตวรรษของเรา และในศตวรรษก่อน  ที่ได้อุทิศชีวิตของพวกเขาแก่การต่อสู้เพื่อเสรีภาพตามนัยที่เหมาะสมของคำ การขยายความหมายของคำคำนี้ให้ครอบคลุมสิ่งใดก็ตามที่ใครสักคนอาจต้องการก็คือการทำให้ความเข้าใจของเราที่มีต่อตัวมโนทัศน์เองกลับคลุมเครือและเป็นการปล่อยให้คำคำนี้ปราศจากความหมายใดๆ ทั้งสิ้น กล่าวคือ รากเหง้าทางมโนทัศน์ถูกกัดแทะ  การแยกความแตกต่างระหว่าง “เสรีภาพจาก” กับ “เสรีภาพสู่” นั้นจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างไร[10]
          ข้อผิดพลาดที่สองที่เราควรจะระวังในการกล่าวเกี่ยวกับเสรีภาพก็คือการทึกทักเอาว่าเสรีภาพตามนัยที่สอง (นัยทางกฎหมาย) จะไร้ความหมายหากความปรารถนาหรือความต้องการอื่นของเรายังไม่บรรลุ นี่คือสมมติฐานที่บ่อยครั้งถูกสร้างขึ้นโดยพวกคอมมิวนิสต์ พวกเขาจะถามว่า “เสรีภาพทางการเมืองจะมีความหมายอะไรกัน สำหรับใครก็ตามที่กำลังหิวโหยและว่างงานอยู่?” แน่ละ มันสำคัญสิ ความหิวโหยอาจเป็นเรื่องที่รู้สึกรีบด่วนกว่าการขาดเสรีภาพทางการเมือง  แต่เมื่อเสรีภาพเหล่านี้ได้รับการทำให้ปรากฏขึ้นจริง คนที่หิวโหยและที่ว่างงานจักได้โอกาสที่ดีขึ้นในการปรับปรุงสภาวะของตัวเขายิ่งกว่าเมื่อไร้เสรีภาพเหล่านั้น  กล่าวคือ พวกเขาจะสามารถจัดการตัวพวกเขาเองให้สู้เพื่อสิทธิของพวกเขา และปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาได้ 
         ในขณะที่การรวมเอาสิ่งดีๆ ทั้งหมดที่เราอาจจะปรารถนามาไว้ภายใต้หัวชื่อว่า “เสรีภาพ” นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่กระนั้นก็ไม่เป็นที่กังขาแต่อย่างไรว่าเสรีภาพตามนัยทางกฎหมายโดยตัวมันเองเป็นสิ่งที่ดีอันเป็นที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง ยิ่งกว่านั้น มันยังเป็นสิ่งที่ดีในตัวมันเอง และไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือหรือสภาวการณ์ของการได้สิ่งที่ดีอื่นๆ  อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจักต้องยอมรับโดยปราศจากข้อเหนี่ยวรั้งใดๆ ต่อหลักการที่ว่ายิ่งมีเสรีภาพ (ตามนัยดังกล่าว) มากขึ้น ก็ยิ่งดี  พวกเราส่วนใหญ่รู้สึกอย่างเชื่อมั่นมากว่าเป็นเรื่องที่ดีที่กิจกรรมบางอย่างที่เคยถูกถือว่าเป็นอาชญากรรม เช่น การใช้เวทย์มนตร์คาถาหรือการรักร่วมเพศเดียวกัน ไม่ได้ถูกพิจารณาให้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป อย่างน้อยก็ในประเทศที่เป็นอารยะ  แต่ก็ไม่มีใครที่มีความคิดถูกต้องจะเรียกร้องสิทธิที่จะขับรถทางด้านซ้ายหรือด้านขวาของถนนเพราะว่ามันบังเอิญเหมาะกับตัวเขา ยิ่งบ่อยกว่านั้นและมีจำนวนประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ที่เราได้ยินว่าเด็กนักเรียนมีเสรีภาพมากเกินไปและมีวินัยไม่เพียงพอ ซึ่งไม่ใช่แค่ในเรื่องทางวิชาการแต่ยังเรื่องการศึกษาทางศีลธรรมและหน้าที่พลเมืองที่ยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังไม่แน่นอนแต่อย่างไรว่าเด็กๆ ต้องการที่จะได้รับเสรีภาพในปริมาณมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตั้งแต่วัยต้นๆ  ความต้องการดังกล่าวค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติไปกับวัยที่สูงขึ้น  และเด็กเล็กยังมีแนวโน้มยอมรับอำนาจของผู้ใหญ่อย่างค่อนข้างเป็นธรรมชาติด้วยซ้ำ แถมเด็กเล็กโดยปกติยังไม่เรียกร้องที่จะได้รับการยินยอมให้เลือกเพื่อตัวพวกเขาเอง  โดยคล้ายคลึงกัน ตัวเราเองที่เป็นผู้ใหญ่ บ่อยครั้งรู้สึกผ่อนคลายเมื่อสามารถละการตัดสินใจเลือกบางอย่างให้คนอื่นจัดการแทน โดยเฉพาะเมื่อเราไม่มั่นใจในตัวเราเอง และจะพอใจที่จะกระทำตามคำชี้แนะของผู้เชี่ยวชาญ ทั้งๆ ที่เราก็รู้อยู่ว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทุกคนที่เราจะสามารถไว้วางใจได้ เรารู้ว่าการตัดสินใจเลือกที่ถูกต้องบ่อยครั้งขึ้นอยู่กับการมีข้อมูลที่ถูกต้อง  และไม่มีใครอาจอ้างได้ว่ารู้ไปหมดได้อย่างเพียงพอในทุกๆ เรื่องที่เขาถูกเรียกร้องให้ตัดสินใจเลือก เรามีเสรีภาพที่จะเลือก แต่เราก็ไม่พอใจที่ตัวเราจะเลือกเองในเรื่องที่เราไม่คุ้นเคย
         กล่าวโดยรวบรัด  ไม่มีกฎเกณฑ์ทั่วไปที่เราจะใช้กำหนดอย่างแน่ชัดว่าเสรีภาพมากเท่าไรที่ดีสำหรับเรา บางครั้งเราถูกต้องที่คิดว่าเราอาจมีเสรีภาพมากไปก็ยังดีกว่ามีไม่เพียงพอ และเสรีภาพที่มีมากเกินไปอาจเป็นภัยได้ แน่นอนว่าการมีมากเกินไปปลอดภัยกว่ามีไม่เพียงพอเมื่อคำนึงในแง่ดังกล่าวมา และอาจจะเป็นสิ่งที่รอบคอบกว่าสำหรับกฎหมายที่จะผิดพลาดในด้านของการมีใจกว้างยิ่งกว่าในการระวังในการวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเสรีภาพที่จะให้กับพลเมือง แต่กระนั้น หลักการนี้เองก็ไม่อาจยอมรับได้โดยปราศจากการมีข้อกำหนดที่กำหนดขอบเขตให้


[1]  บทความนี้แปลจาก “On Freedom” ซึ่งเป็นบทความที่รวมอยู่ในผลงานรวมบทความของ Leszek Kołakowski ที่ชื่อว่า Freedom, Fame, Lying, and Betray: Essays on Everyday Life. (Colorado: Westview Press, 1999 ) หน้า 95-103 เชิงอรรถทั้งหมดในบทความแปลนี้จัดทำโดยผู้แปล
[2]Leszek Kołakowski (1927- 2009) ศาสตราจารย์ทางปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัย Oxford และ Chicago เป็นนักปรัชญาชาวโปแลนด์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกที่มีผลงานมากมายที่มีอิทธิพล อาทิ Main Currents of Marxism, Metaphysical Horror, Religion: IF There Is No God.  Why Is There Something Rather Than Nothing?, My Correct Views on Everything, Modernity on Endless Trial เป็นต้น
[3] ในบ้านเราเดิมเรียกชื่อและสกุลของเขาว่าเลสเซก โคลาโควสกี ซึ่งเป็นการออกเสียงภาษาโปแลนด์ผิด อาทิ ตัวอักษร sz ในภาษาโปแลนด์ก็คือตัวอักษร sh ในภาษาอังกฤษ จึงต้องออกเสียงเป็นเลเชค เป็นต้น
[4] โดยปกติแล้ว ศัพท์ freedom กับ liberty ถูกใช้ในความหมายที่ไม่ต่างกัน  และใช้แทนกันและกันได้ คำแรกมีรากศัพท์มาจากภาษาเยอรมัน คำหลังมีรากศัพท์มาจากภาษาละติน  บางครั้งคำหลังถูกใช้ในความหมายการปราศจากการควบคุม
[5] ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตใช้นิยัตินิยม ผู้แปลพยายามหาคำไทยที่ไม่ใช่การเอาคำบาลีสันสกฤตมาแทนซึ่งคนรุ่นปัจจุบันไม่เข้าใจ ในที่นี้จึงเป็นการทดลองที่จะหาคำในภาษาไทยทั่วไปมาใช้
[6] เซ็นต์ออกุสทีน (ค.ศ. 354-430) นักปรัชญาผู้มีอิทธิพลทางความคิดในยุคกลางของยุโรป
[7] อิมมานูเอล ค้านท์ (ค.ศ. 1724-1804) นักปรัชญาสมัยใหม่ผู้ทรงอิทธิพลต่อวงการปรัชญาถึงปัจจุบัน
[8] นาซีเยอรมนี
[9] ชื่อตัวละครที่เรือแตกและไปติดอยู่บนเกาะร้างกลางทะเลลึก ในนวนิยายชื่อเดียวกัน ซึ่งประพันธ์โดยแดเนียล เดโฟ (Daniel Defoe)
[10] ไอไซอาห์ เบอร์ลิน (Isiah Berlin) เป็นผู้แยกระหว่าง “เสรีภาพจาก” กล่าวคือ เสรีภาพในนัยเชิงปฏิเสธ (negative freedom) หรือเสรีภาพจากการถูกแทรกแซงขัดขวาง กับ “เสรีภาพสู่” กล่าวคือ เสรีภาพเชิงยืนยัน (positive freedom) หรือเสรีภาพที่จะกระทำ ดังเช่นในการควบคุมชีวิตของเราเอง หรือในการทำให้เป้าหมายชีวิตเราบรรลุเป็นจริงได้ เป็นต้น  โปรดดูบทความ “Two Concepts of Liberty” ในหนังสือรวมบทความของเขาชื่อ Liberty (New York: Oxford University Press, 2002) หน้า 166-217 

No comments: