Sunday, April 13, 2014

อาริสโตเติลกับหน้าที่พลเมืองดี


หมายเหตุ บทความนี้ลงพิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐรายวัน 15 มิถุนายน 2538
สำหรับบ้านเราในปี พ.ศ. ปัจจุบัน เดมะก๊อกนั้นรวมถึงแกนนำม็อบต่าง ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึงผู้นำกองทัพ องคมนตรีพวกที่ออกมาแทรกแซงทางการเมือง คนในองค์กรอิสระต่าง ๆ และนักวิชาการที่ออกมาปกป้องระบอบอภิสิทธิชนด้วย


                      อาริสโตเติลกับหน้าที่พลเมืองดี                
                        บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
                   
อาริสโตเติลเขียนไว้ในหนังสือชื่อการเมือง [POLITICS] ท่อนหนึ่งมีความว่า
"มักกล่าวกันว่า'เขาคนที่ไม่เคยเรียนรู้ในการเชื่อฟัง จักไม่อาจเป็นผู้บังคับการที่ดีได้'  (คุณสมบัติ) สองประการนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน  ทว่าพลเมืองที่ดีสมควรมีครบ เขาควรที่จะรู้ว่าจะปกครองเยี่ยงไรในแบบเสรีชน    และจะเชื่อฟังเยี่ยงไรดังเช่นเสรีชน-นี่คือคุณธรรมของการเป็นพลเมือง"     

แน่นอนว่าคนแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ  ด้วยเหตุว่าธรรมชาติให้มาไม่เท่ากันตั้งแต่ต้น นับแต่ฐานะ รูปร่างหน้าตา สติปัญญา ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่ดีและไม่ดี แต่ในแง่ของการเป็นพลเมืองนั้นการอุทิศตนให้ชุมชนถือเป็นกิจร่วมของทุกคน รัฐมีความสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อแต่ละคนเป็นพลเมืองที่ดีได้ การเป็นพลเมืองดีนี้เป็นคนละเรื่องกับการเป็นคนดีซึ่งถือคุณธรรมเฉพาะ  อันมีที่มาจากฐานความเชื่ออันแตกต่างกันไปตามแต่ภูมิหลังทางวัฒนธรรมของครอบครัวตนเราอาจเกิดคำถามว่า  ในรัฐแบบเผด็จการ หรือคณาธิปไตย พลเมืองดีอุทิศตนให้กับชุมชนได้อย่างไร  ในเมื่อผลประโยชน์ของสังคมถูกแทนที่โดยผลประโยชน์ส่วนตนของผู้เผด็จการแล้ว ตรงนี้เราตอบด้วยคำของอาริสโตเติลเองได้ว่า

"การปกครองที่ใส่ใจต่อผลประโยชน์ส่วนรวมนั้นได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยสอดคล้องกันกับหลักการอันเคร่งครัดในเรื่องความยุติธรรม  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นรูปแบบการปกครองแบบแท้ๆ ส่วนการปกครองที่เอาใจใส่แต่เพียงผลประโยชน์ผู้ปกครองล้วนเป็นรูปแบบการปกครองที่พิกลพิการและวิปริต ด้วยเหตุว่าเป็นเผด็จการอย่างอำเภอใจ    ขณะที่รัฐนั้นคือประชุมชนของเสรีชน"

ในทัศนะของอาริสโตเติลดังกล่าว  ในรัฐที่มีรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกฎแม่บทให้ยึดโดยมีเนื้อหาหลักเพื่อประโยชน์สุขทั้งสังคม   ในรัฐที่เป็นที่ประชุมชนของเสรีชนนี้ รัฐซึ่งวางอยู่บนหลักการของความยุติธรรมอย่างเคร่งครัด  ไม่ใช่ในรัฐเลวๆที่วางอยู่บนผลประโยชน์เฉพาะพวก  การเป็นพลเมืองดีจึงไม่เพียงแค่ต้องรู้จักเคารพกฎแม่บทของรัฐ แต่ยังต้องรู้ด้วยว่าตนเองจะปกครองอย่างไร   ในอดีตการกำหนดว่าคนประเภทไหนมีสิทธิเป็นพลเมืองจะแตกต่างกันไปตามแต่ละรัฐ   ในสมัยโบราณทาสไม่ใช่พลเมืองแต่เป็นเพียงทรัพย์สินที่มีชีวิต  รัฐหลายแห่งให้สิทธิเฉพาะผู้ชาย หรือผู้ที่มีทรัพย์สินในระดับที่กำหนดไว้เท่านั้นจึงได้สถานะเป็นพลเมือง  ในโลกปัจจุบันสิทธิของการเป็นพลเมืองได้นี้ขยายวงครอบคลุมถึงผู้ใดก็ตามที่เกิดหรือไม่ได้เกิดในดินแดนนั้นก็ตามแต่ได้สัญชาติมาถือเป็นใช้ได้ แม้ว่าในทางปฏิบัติจะมีการกลั่นแกล้งหรือปิดโอกาสการใช้สิทธิพลเมืองด้วยหรือไม่ก็ตาม    การเป็นพลเมืองนั้นก็คือการได้ส่วนแบ่งทางอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นทางการในการกำหนดชีวิตของชุมชน  ผ่านการเข้าร่วมออกเสียงในสภาโดยตรง (ในรัฐขนาดเล็ก)   หรือการเลือกตัวแทนเข้าสภา  การเข้าร่วมตัดสินคดี (ในประเทศที่มีระบบลูกขุนในศาล) รวมถึงโอกาสในการได้เป็นผู้บริหารชุมชนด้วย ในระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งให้เป็นตัวแทนของชุมชนย่อยชุมชนต่างๆเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ตรากฎหมายหรือบริหารประเทศดังกรณีของประเทศไทยนั้น เพื่อทำหน้าที่ให้ครบถ้วนจะได้เป็นพลเมืองดี  เราต้องทำอะไรบ้างนอกไปจากการเชื่อฟังกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องและชอบธรรม?

จงระวังเดมะก็อก!
         อาริสโตเติลได้กล่าวถึงรูปแบบประชาธิปไตยที่เลวหรือเรียกให้ถูกก็คือรูปแบบที่
ลวงตาเราว่าเป็นประชาธิปไตย   กรณีเช่นนี้ได้แก่การบริหารรัฐไปภายใต้กฎเกณฑ์จากพวกเดมะก็อกหรือพวกลวงเมือง [demagogue]  เมื่อใดก็ตามที่มีใครสักคนหรือกลุ่มคนบางกลุ่มอาศัยเสียงสนับสนุนจากฝูงชนใช้อ้างออกข้อกำหนดนานาเพื่อกลุ่มพวกตัว คนเหล่านี้ได้แทนที่กฎหมาย (ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สุขสังคม) ด้วยกฎแห่งพวกตน ทำตนเป็นสิ่งสูงสุดในสังคมและใช้อำนาจไปเพื่อพวกพ้องอย่างตามอำเภอใจ    การปกครองแบบนั้นก็คือประชาธิปไตยลวงตา   เป็นการบิดเบือนเนื้อหาของประชาธิปไตยไป

อริสโตเติลกล่าวว่าภายใต้การปกครองแบบนี้โดยเนื้อหาไม่ต่างไปจากการปกครองของทรราชย์ "สปิริตของทั้งสองพวกเหมือนกัน  พวกเขาต่างดำเนินการใช้กฎแบบเผด็จการตามอำเภอใจเอากับพลเมืองส่วนที่มีคุณภาพกว่าพวกเขา" พวกลวงเมืองเหล่านี้ออกข้อกำหนดโดยอ้างเอานามประชาชนเพื่อลบล้างกฎหมายที่ถูกต้องยุติธรรม  "และดังนั้นพวกเขาจึงมีอำนาจขึ้น  ด้วยเหตุว่าประชาชนล้วนอยู่ในกำมือของพวกเขา พวกเขากำเสียงโหวตที่ประชาชนผู้ซึ่งพร้อมจะเชื่อฟังพวกเขาได้โหวตออกมาไว้ในกำมือ" คนเหล่านี้ซึ่งเก่งในทางใช้วาทศิลป์จูงใจหรือตบตาฝูงชนก็ได้ครองเมืองในท้ายที่สุด    ขณะที่ดูเหมือนประโยชน์สุขแห่งสังคมจะได้รับการพิทักษ์   เอาเข้าจริงก็คือประโยชน์สุขเฉพาะพวกของคนเหล่านี้เท่านั้น  แต่อ้างเอาจนดูเหมือนประชาชนได้ประโยชน์ยิ่งนัก การเชื่อฟังกฎเกณฑ์ของคนเหล่านี้จึงเป็นการเชื่อฟังสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  และไปหลงทางตามที่ถูกลวงไว้   ด้วยเหตุที่ในฐานะพลเมืองดีเราต้องรู้ว่าจะปกครองอย่างไร  หน้าที่หนึ่งของเราในที่นี้ก็คือ   การทำให้การปกครองของเราในระบบประชาธิปไตยไม่ถูกใช้อ้างเบี่ยงเบนไปเป็นประโยชน์สุขแห่งพวกตนของพวกลวงเมืองเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นในแง่หนึ่งหมายถึงการที่ประชาชนรู้จักปกป้องผลประโยชน์ของตนที่รวมกันเป็นผลประโยชน์ของสังคม     หน้าที่ของประชาชนหรือพลเมืองที่ดีจึงรวมถึงการไม่นิ่งเฉยปล่อยให้ฝ่ายบริหารประเทศหรือฝ่ายนิติบัญญัติทำอะไรก็ได้ เรามีหน้าที่ต้องแสดงความคิดเห็นของเราให้รัฐได้รับรู้ มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  และมีหน้าที่พยายามหยุดยั้งไม่ให้คนเหล่านั้นใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิดต่อไปได้

รัฐของเราจะเป็นรัฐที่สมบูรณ์หรือไม่ในแง่หนึ่งจึงถูกกำหนดโดยตัวเรานี้เอง!
        
        

             

No comments: