หมายเหตุ บทความนี้ลงพิมพ์ครั้งแรกในวารสารร่มพฤกษ์ (ของมหาวิทยาลัยเกริก) ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (ตุลาคม 2539- มกราคม 2540) ฉบับ Postmodernism บทความนี้ได้รับการนำไปอ้างอิงในวารสารทางวิชาการ และกำหนดให้เป็นบทความอ่านประกอบในหลายรายวิชาในหลายมหาวิทยาลัย ถือเป็นบทความบุกเบิกการวิเคราะห์ความคิดของสายปรัชญานี้ในประเทศไทย ต่อมาอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโมแห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ขอนำไปลงในเว็บไซต์โดยแบ่งเป็นสองตอน และตั้งชื่อใหม่ว่า “ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง” ผมได้คงการจัดเขียนหัวข้อย่อยบางส่วนตามที่อาจารย์สมเกียรติจัดทำให้ สำหรับผู้ที่ต้องการดูเวอร์ชั่นที่อาจารย์สมเกียรติจัดทำให้ สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://thaiis.com/midnightuniv-org-v1/midnighttext/0009999716.html
ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ (Postmodernism)
บุญส่ง
ชัยสิงห์กานานนท์
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทคัดย่อ
แนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่ [Postmodernism] ไม่ใช่แนวคิดของกลุ่มคนที่ไม่มีเหตุผล
หรือใครก็ได้ที่ไม่ยึดเหตุผลก็จัดเข้ากลุ่มแนวคิดนี้
ในแง่หนึ่งสกุลแนวคิดดังกล่าวเป็นการนำความคิดในแนวแบบสกุลสมัยใหม่ [Modernism] มาพิจารณาใหม่
และใช้ฐานการวิพากษ์คนละฐานกับแนวคิดแบบก่อนสมัยใหม่หรือแนวต้านสกุลสมัยใหม่
เมื่อพิจารณาจากแง่ของปรัชญา แนวคิดสกุลนี้จึงทำหน้าที่หรือมีบทบาทแบบ skeptic (*) วิพากษ์ความเชื่อของความคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง [the Enlightenment] ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็น “ปัจจุบัน”ของเรา มโนทัศน์สำคัญที่ปรากฎในข้อเขียนในแนวนี้ ดังเช่น “ความเป็นอื่น [otherness]” “วาทกรรมทางอำนาจ [power-discourse]” เป็นต้น มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ให้เห็นถึงการเป็น”ตัวตน”หรือ ”ตัวเรา” [the subject or self] แนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่จึงได้ชักนำเราให้กลับไปคิดอย่างจริงจังในเรื่องที่ว่าเราเป็นใคร? จึงเป็นการต่อจารีตแบบโสเกรตีสที่ให้ความสำคัญกับการ “รู้จักตัวท่านเอง” [Know Thyself]
คำสำคัญ แนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่; แนวคิดแบบสกุลสมัยใหม่; แนวคิดแบบก่อนสมัยใหม่หรือแนว
ต้านสกุลสมัยใหม่; บทบาทแบบ skeptic; ความคิดของสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง; ความเป็น“ปัจจุบัน”; ความเป็นอื่น; วาทกรรมทางอำนาจ; การเป็น”ตัวเรา”; จารีตแบบโสเกรตีส
ปีศาจแห่ง Postmodernism
ผู้ที่ติดตามอ่านวารสารวิชาการทางสังคมศาสตร์ที่เป็นภาษาอังกฤษคงได้เห็นปรากฎการณ์เดียวกันกับที่แชรอน
ซูกิน [Sharon
Zukin] บรรณาธิการพิเศษของวารสาร THEORY AND
SOCIETY (ฉบับพิเศษ “A Forum on Postmodernism”) ได้เขียนไว้ว่า
“ในอดีตหลายปีมานี้
วารสารทางสังคมศาสตร์ทุกฉบับต่างท่วมท้นไปด้วยข้อเขียนเกี่ยวกับแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่ [Postmodernism] หากตัวผู้เขียนไม่ได้กำลังอธิบายความหมายของแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่
พวกเขาก็ต้องกำลังใช้ภาษาของแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่
และเมื่อไม่นานมานี้เองพวกเขายังได้สร้างจินตภาพซ้ำใหม่เกี่ยวกับแนวปฏิบัติของพวกเขาในสไตล์แบบโพสต์โมเดิร์นตามสมัย...”
[Zukin1992: 463]
ดังที่เราต่างรับทราบกัน คำว่าสกุลหลังสมัยใหม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาณาบริเวณของเรื่องราวดังเช่น
วัฒนธรรมและการวิพากษ์วัฒนธรรม, สถาปัตยกรรมและดนตรี,
สื่อบันเทิงรูปแบบใหม่ เป็นต้นว่า โทรทัศน์ ภาพยนตร์
นวัตกรรมทางสิ่งประดิษฐ์จำพวกวีดีโอ ซีดี ซีดีรอม
ตลอดจนช่องทางการสื่อสารรูปลักษณ์ใหม่ อาทิ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ และที่เรียกว่า“ทางด่วนข้อมูล” เป็นต้น
ปริบทที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันในยุคสมัยของเราดังนี้เองที่ดังกล่าวปรากฏการใช้อย่างยอดนิยม
ณ พื้นที่ที่เราใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกันนี้ กล่าวคือ ภายใต้สภาวะแวดล้อมของชีวิตยุคใหม่ของ ”เรา” -มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสังคมแบบเมือง
ภายใต้ปริบทที่ปรากฏจิตสำนึกของการเป็น ”ตัวเรา” ผู้ใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ ผู้มีแบบแผนการดำเนินชิวิตในรูปแบบหนึ่งใด
ผู้มีปฏิสัมพันธ์กับตัว ”ผู้อื่น” ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว “ตัวเรา” ผู้เขียนประวัติชีวิตของ ”ตน” ด้วยการใช้ชีวิตในพื้นที่ดังว่านี้คืออะไร? นี่คือคำถามหลักที่ชาวสกุลหลังสมัยใหม่ยกขึ้นมาถาม
ขอย้อนกลับไปที่ข้อเขียนของซูกินอีกครั้ง
ซูกินอ้างว่าเมื่อดูจากงานค้นคว้าในกระแสนิยมสกุลหลังสมัยใหม่
ในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมวิทยาระหว่างตัวตนกับสังคม
“ทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่า ตัวเรา [the
self] เป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นทางสังคม
ทว่าเราไม่อาจหาชุดของมโนทัศน์ที่มีการใช้กันอยู่ก่อนหน้า
มาใช้อธิบายได้อย่างเป็นที่ยุติธรรมต่อตัวโครงเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้เพราะ
กระบวนการเดียวกันกับที่ผลิตความมีอัตลักษณ์(เป็นตัวเรา)นั้น
ได้ผลิตซ้ำใหม่ซึ่งการครอบงำและการแตกให้เป็นส่วนเสี้ยว
เพื่อที่จะแสดงถึงตัวกระบวนการ”อย่างเป็นภววิสัย” – ด้วยการถอยตัวทิ้งระยะห่างจากตัวผลนั้น - ก็คือ, โดยกลับกลายเป็นในทางตรงกันข้าม, เพื่อไม่ผ่านการทดสอบความจริง” [ Zukin1992: 463]
ความอับจนในการใช้ชุดมโนทัศน์ทางทฤษฎีหรือเครื่องมือทางการวิเคราะห์ที่มีอยู่
เพื่อใช้วิเคราะห์โครงเรื่องข้างต้นนี้
อันเป็นผลมาจากการที่มโนทัศน์เหล่านั้นเองก็เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้กระบวนการเดียวกับที่สร้างสำนึกของการเป็นตัวตนหรือ ”ตัวเรา” การวิเคราะห์ในแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่จึงได้ถูกเสนอเพื่อเข้ามาแทนที่
ตามความเห็นของซูกิน
อิทธิพลจากแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่ได้ส่งผลให้เกิดการนำเพดานทางความคิดใหม่มาแทนที่ของเก่า [paradigm displacement] ในหลายประการดังนี้
๑. ให้ถือว่าการกำหนด ”ตัวตน” หรือ ”ตัวเรา”
[the “subject”] มาแต่ต้นในฐานะที่เป็นตัวผู้เขียน [author] หรือตัวผู้กระทำการ [actor] ในแบบที่ได้ถูกกำหนดมาก่อนว่ามีเอกอิสระ
มีมโนธรรม และมีเหตุผล หรือยิ่งกว่านั้นคือมีความรอบรู้ในทุกสิ่ง
เป็นการมองที่มีปัญหา
๒. ให้มองว่า ”ตัวตน” เป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดบนฐานของความหลากหลายและการขัดแย้งกัน อันไม่ใช่ ”ตัวตน” ที่เป็นสิ่งที่เป็นสารัตถะเดี่ยวที่มีมาก่อน
การอธิบายทางสังคมในแบบที่ไม่เป็นระนาบเดี่ยวดังนี้เป็นแนวการอธิบายทางสังคมที่”เหมาะสม”กว่าการอธิบายความสัมพันธ์เชิงสาเหตุในแบบระนาบเดียว [monocausal explanation] ดังเช่นแนววิเคราะห์แบบที่ใช้กรอบกำหนดโดยเศรษฐกิจ [economic determinism] และแนวยึดการอิงโครงสร้างหน้าที่ [functionalism] ซึ่งต่างก็เป็นแนวแบบที่เรียกว่า foundationalism ซึ่งต้องใช้การกำหนดให้มีฐานที่เป็นสารัตถะสำหรับทอนการอธิบายทางสังคมใดๆ ไปสู่ฐานดังกล่าว
๓. ให้ใส่ใจการวิเคราะห์เรื่องวัฒนธรรม “วัฒนธรรมโดยตัวนิยามเอง
แสดงให้เห็นทั้งสังคมอุดมคติและสังคมอนาคตแบบน่าสะพรึงกลัว [utopia and dystopia] ทั้งโลกแห่งความฝันและโลกแห่งสินค้า
วัฒนธรรมเป็นตัวสื่อและเป็นตัวสื่อสาร ได้รวมเอาทั้ง ”ตัวฉัน” และ ”ตัวท่าน” เข้ามา
และได้นำไปสู่แง่คิดมากมาย ยิ่งกว่านั้น
วัฒนธรรมยังเป็นสิ่งที่เห็นได้เช่นเดียวกับปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรและถ่ายทอดด้วยปากและถูกสร้างขึ้นมา
และดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์สังคมทำการวิเคราะห์ได้โดยเหมาะโดยตรง”จากชีวิต”
[Zukin1992: 463-464] อาณาบริเวณทางวัฒนธรรมนั้นเป็นอาณาบริเวณที่มีความสับสนอลหม่านอย่างยิ่ง ความสับสนอลหม่าน ในอาณาบริเวณนี้เอง
ที่เอื้อประโยชน์ทางการวิเคราะห์ในเรื่องการก่อรูปของตัวตน
(ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้างต้นนี้ในภายหลัง)
การวิพากษ์ของสกุลหลังสมัยใหม่จึงนับได้ว่าเป็นการวิพากษ์ที่มุ่งรื้อฐานการมองแบบเก่าหลายประการ
แนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่จึงเป็นดั่งปีศาจ ที่ปรากฏขึ้นมาหลอกหลอนวงการ พร้อมๆ
ไปกับกระแสนิยมและคลั่งไคล้เดินตามแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่
ผู้ที่ได้ติดตามความเป็นไปในวงการคงเห็นได้ว่า
กระแสของการตอบโต้และต่อต้านนั้นได้ปรากฏอย่างไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
มีทั้งที่วิพากษ์กลับอย่างเป็นธรรมและอย่างไม่เข้าใจ จนกระทั่งอย่างบิดเบือน
บทความนี้จะได้แสดงให้เห็นว่า นักคิดคนสำคัญบางส่วนที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มแนวคิดนี้
มีความเข้าใจต่อสถานะของแนวคิดดังกล่าวเช่นไร
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากแนวคิดสกุลนี้
และข้อวิพากษ์ของพวกเขาต่อแนวคิดสกุลสมัยใหม่เมื่อเราได้นำมาพิจารณากันแล้วใช้ได้หรือใช้ไม่ได้อย่างไร?
กระแสแนวคิดแบบ the Enlightenment
คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา
ในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา (๔ กรกฎาคม ๑๗๗๖) มีความขึ้นต้นดังต่อไปนี้…
“ในระหว่างวิถีดำเนินของเหตุการณ์ของมนุษย์
เมื่อเป็นที่ปรากฏว่าเป็นความจำเป็นที่ประชาชนเหล่าหนึ่งจำต้องสลายการรวมพวกทางการเมืองอันได้เคยประสานพวกเขาไว้กับอีกพวกหนึ่ง
และต้องอ้างเอา ณ ท่ามกลางประดาที่ทรงอำนาจในพื้นพิภพถึงสถานะที่แยกขาดจากกันและเสมอภาคกัน
สถานะซึ่งกฎแห่งธรรมชาติและของพระเจ้าแห่งธรรมชาติได้มอบไว้ให้พวกเขา
โดยความเคารพอันสมควรต่อความคิดเห็นแห่งมนุษยชาติเรียกร้องว่าพวกเขาสมควรประกาศถึงตัวสาเหตุที่กระตุ้นพวกเขาให้แยกตัวออก –เรายึดถือความจริงดังนี้ว่า
เป็นเรื่องประจักษ์แจ้งในตัวเองที่ว่า
มนุษย์ทั้งปวงต่างถูกสร้างขึ้นมาให้เสมอภาคกัน
ที่ว่าพวกเขาได้รับการประทานจากองค์ผู้สร้าง
พวกเขาซึ่งมีสิทธิอันไม่อาจพรากจากเอาไปได้ ที่ว่าสิทธิเหล่านี้ได้แก่ “ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข”
และเพื่อที่จะปกป้องสิทธิดังกล่าว
การปกครองจึงถูกจัดตั้งขึ้นในเหล่ามนุษย์
โดยได้มาซึ่งอำนาจอันชอบธรรมจากการยินยอมของผู้อยู่ใต้การปกครอง เมื่อไรก็ตามที่รูปแบบการปกครองหนึ่งใดกลับกลายทำลายเป้าหมายเหล่านี้
จึงเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนหรือล้มล้างรูปแบบการปกครองนั้น และจัดตั้งการปกครองใหม่
จัดวางรากฐานการปกครองไว้บนฐานแห่งหลักการดังกล่าว
และดำเนินการจัดการอำนาจการปกครองนี้ภายใต้รูปแบบดังกล่าว เพราะเพื่อพวกเขา
มันจักได้ยังผลได้อย่างเต็มที่ต่อความปลอดภัยและความสุขของพวกเขา
จริงๆ แล้ว
ความสุขุมรอบคอบจักบงการว่าการปกครองที่ก่อตั้งมายาวนานจักไม่ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยสาเหตุอันอ่อนด้อยและที่เป็นการชั่วแล่น
และดังที่ประสบการณ์ทั้งหมดได้แสดงให้เห็นว่า มนุษยชาติยังสมัครใจที่จะทนทุกข์
โดยที่ความชั่วร้ายยังเป็นสิ่งที่ทนรับได้
เสียยิ่งกว่าที่จะแก้ไขตัวพวกเขาเองโดยการล้มล้างรูปแบบ(การปกครอง)ที่พวกเขาคุ้นเคยมา
ทว่า ณ
ยามที่ขบวนแถวยาวแห่งการกระทำทารุณและการแย่งชิงซึ่งดำเนินตามวัตถุประสงค์เดิมอย่างสม่ำเสมอ
ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในเจตนามุ่งหมายที่จะทอนพวกเขาให้ต้องอยู่ใต้เผด็จการรวมศูนย์สัมบูรณ์
จึงเป็นสิทธิแห่งพวกเขา จึงเป็นหน้าที่แห่งพวกเขา ที่จะสลัดการปกครองดังกล่าวทิ้ง
และให้มีผู้ปกป้องใหม่เพื่อความมั่นคงในอนาคตของพวกเขา
ดังที่กล่าวมานี้
ได้เป็นการยอมทนอย่างอดกลั้นของอาณานิคมเหล่านี้ และดังที่กล่าวมา ณ
บัดนี้ได้เป็นความจำเป็นอันดึงรั้งพวกเขาให้ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแต่ดั้งเดิมของพวกเขาเสีย...” [Encyclopedia Americana Vol.8]
จากข้อความข้างต้น ผู้ร่างคำประกาศดังกล่าวแสดงการยืนยันอะไรบ้าง
ในที่นี้เราสามารถสรุปได้ว่า
๑. มนุษยชาติมีบางสิ่งเป็นพื้นฐานร่วมกัน
และสิ่งๆ นั้นทำให้มนุษย์ทั้งปวงต่างถือได้ว่าเสมอภาคกัน
๒. สิ่งพื้นฐานดังกล่าวคือ
การที่มนุษย์มีสิทธิจำพวกที่ไม่มีผู้ใดมาพรากจากไปได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิด
สิทธิพื้นฐานที่เสมือนเป็นสิ่ง”ติดตัว”มากับการเป็นมนุษย์ดังกล่าวนี้ได้แก่
สิทธิในชีวิต, เสรีภาพ, และการแสวงหาความสุข
๓. การปกครองเป็นสิ่งที่มนุษย์ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องหรือให้หลักประกันต่อสิทธิพื้นฐานดังกล่าว
๓.๑
ผู้ปกครองหรือผู้บริหารได้อำนาจการปกครองอย่างชอบธรรม
จากการยินยอมของผู้อยู่ใต้การปกครอง
๓.๒
ถ้ารูปแบบการปกครองหนึ่งใดหรือผู้ปกครองหนึ่งใดทำละเมิดเองต่อสิทธิพื้นฐานเหล่านั้นของประชาชน
ประชาชนย่อมอ้างเอาสิทธิพื้นฐานเหล่านั้นเพื่อทำการล้มล้างรูปแบบการปกครองหรือผู้ปกครองดังกล่าว
และจัดให้มีรูปแบบการปกครองใหม่หรือผู้ปกครองใหม่เข้าแทนที่ได้อย่างชอบธรรม
๔. ประสบการณ์มนุษย์ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า
มนุษย์มีความสุขุมรอบคอบเป็นสิ่งคอยกำกับไม่ให้ทำการล้มล้างรูปแบบการปกครองหนึ่งใดได้อย่างโดยอำเภอใจ
การที่ประชาชนจะถึงขนาดรวมตัวหรือลุกฮือขึ้นมาล้มล้างรูปแบบการปกครองหนึ่งใดที่สืบทอดกันมาดังกล่าว
จำเป็นต้องมีสภาพความเป็นจริงพื้นฐานรองรับ
และมีความรู้สึกว่าสุดจะทนได้อีกต่อไปแล้ว
คำปรารภของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ขอให้ลองพิจารณาข้อความที่ปรากฏในคำปรารภของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเพื่อเทียบเคียงกัน
“โดยที่การตระหนักรู้ในศักดิ์อันติดตัวมาและสิทธิอันมนุษย์มีเสมอกันและมิอาจพรากจากตัวไปได้
อันเป็นของมวลสมาชิกทั้งปวงร่วมครอบครัวมนุษย์นั้น ถือเป็นรากฐานแห่งเสรีภาพ
ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก
โดยที่ความไม่ใส่ใจและการดูหมิ่นซึ่งสิทธิมนุษยชนได้สำแดงผลเป็นการกระทำอันป่าเถื่อน
อันยั่วยุต่อมโนธรรมแห่งมนุษยชาติอย่างรุนแรง
และโดยการบรรลุถึงโลกที่มนุษย์จะอยู่อย่างมีความพึงพอใจกับการใช้เสรีภาพในการพูดและในความเชื่อ
ตลอดจนเสรีภาพในการไปพ้นจากความกลัวและความต้องการ
ได้รับการป่าวประกาศแล้วว่าเป็นความหวังอันสูงสุดแห่งสามัญชน
โดยที่เป็นเรื่องจำเป็น
หากว่ามนุษย์จักได้ไม่ต้องถูกบังคับให้ในท้ายที่สุดแล้วต้องใช้วิธีการก่อกบฎเพื่อสู้กับทรราชย์หรือการกดขี่
สิทธิมนุษยชนจักต้องได้รับการปกป้องด้วยหลักแห่งกฎหมาย...”
[United
Nations 1988: 21]
เราจะเห็นได้ชัดถึงอิทธิพลที่ตกทอดมาจากคำประกาศอิสรภาพข้างต้น
เพียงแต่ไม่มีการอ้างถึงองค์พระผู้สร้างหรือกฎธรรมชาติหรือพระเจ้าแห่งกฎธรรมชาติมาเป็นจุดกำเนิดของการได้สิทธิพื้นฐานดังกล่าว
และเพิ่มการย้ำความสำคัญของการตระหนักรู้ในสิทธิพื้นฐานและสิ่งที่เรียกว่าศักดิศรีมนุษย์ว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างเสรีภาพ
ความยุติธรรมและสันติภาพในโลก
”มาตราที่
๑ มนุษย์ทั้งหลายต่างเกิดมามีเสรีและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ
พวกเขามีติดตัวมาซึ่งเหตุผลและมโนธรรม
และพึงปฏิบัติต่อกันและกันด้วยจิตใจแห่งภราดรภาพ”
“มาตราที่ ๓ ทุกคนมีสิทธิในชีวิต
ในเสรีภาพ และในความมั่นคงแห่งบุคคล”
[United Nations 1988: 22]
ในที่นี้เราจะเห็นได้ว่า มีการขยายความเพิ่มเข้ามา
ในฐานของการยอมรับในความเป็นมนุษย์กับการมีสิทธิพื้นฐานนั้น
ส่วนหนึ่งได้อ้างเอาจากการยึดหลักที่ว่า
การเป็นมนุษย์คือการมีคุณสมบัติติดตัวบางประการมาแต่ต้น กล่าวคือ
มีสิ่งที่เรียกว่าเหตุผลและมโนธรรม จากตรงนี้เองที่เราแยกการอธิบายเหตุผลได้เป็นสองแบบ
แบบ (ก) เพราะมนุษย์ทุกคนมีเหตุผลและมโนธรรม (แม้ว่าอาจจะมากน้อยต่างกัน) จึงถือได้ว่าเราเสมอภาคกันโดยศักดิศรีและพึงมีสิทธิพื้นฐานเช่นเดียวกัน
แบบ (ข) เพราะต้องอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ
เราจึงควรยึดพื้นฐานความเชื่อว่าคนเราเสมอภาคกัน และให้ปฏิบัติจนเป็นปกติวิสัยเช่นนั้น
ไม่ว่ามนุษย์ทุกคนจะมีเหตุผลและมโนธรรมติดตัวมาหรือไม่ มากน้อยต่างกันเพียงไร
และเมื่อเราจะกำหนดสิทธิพื้นฐานขึ้น คนเราก็ควรจะได้ครองสิทธินี้เสมอกัน
ในแบบ(ก)นั้น เป็นฐานสำคัญส่วนหนึ่งของความเชื่อของนักคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง [the Enlightenment] ที่ตั้งต้นในปลายศตวรรษที่๑๗
และต่อมาจนถึงศตวรรษที่ ๑๘ อันสะท้อนชัดในปรัชญาของอิมมานุเอล ค้านท์ [Immanuel Kant , 1724-1804] [ดู Kant 1992] ส่วนแบบ(ข)นั้น เป็นฐานสำคัญส่วนหนึ่งของ”แนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่” [Postmodernism] โดยเราอาจพิจารณาได้ผ่านงานของนักคิดสำคัญผู้หนึ่งในกลุ่มนี้ คือ ริชาร์ด
รอร์ตี [Richard Rorty]
เบโธเฟน
ผู้เรียกตนเองว่าเป็นคนสมัยใหม่ [the modern]
เบโธเฟน คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันผู้เรียกตนเองว่าเป็นคนสมัยใหม่ [the modern] ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อเสรีภาพและความก้าวหน้าผ่านจดหมายส่วนตัวหลายฉบับไว้ดังนี้
“เสรีภาพ, ความก้าวหน้า, ก็คือจุดมุ่งหมายของโลกทางศิลปะเช่นเดียวกับในการสร้างสรรค์จักรวาล
และหากเราคนสมัยใหม่ไม่มีความอาจหาญดังบรรพบุรุษของเรา ความประณีตทางกิริยาย่อมไม่นำความสำเร็จสู่บางสิ่งอย่างแน่นอน”
[จดหมายของเบโธเฟนถึงอาร์ชดยุครูดอล์ฟลงวันที่ ๒๙ กค. ๑๘๑๙ ใน Kerst and Krehbie l1964: 89]
“ศิลปะที่ถูกตามประหัตประหารมักจะหาพบที่หลบภัยเสมอ ไม่จริงหรือที่แดดาลัส [Daedalus] ผู้ถูกคุมขังในเขาวงกตได้ประดิษฐ์ปีกอันนำเขาออกไปสู่อากาศเปิดได้? โอ้ ฉันก็จักหามันให้พบเช่นกันเจ้าปีกเหล่านี้!” [จดหมายเบโธเฟนลงวันที่
๑๙ ก.พ. ๑๘๑๒ ใน Kerst and Krehbie l1964: 89]
“ความกล้าหาญ ,เพื่อว่าจะได้มีความเป็นธรรม, จัก(นำให้เรา)ได้รับทุกสิ่ง”[จดหมายเบโธเฟนเขียนเดือนเมษายน
๑๘๑๕ ใน Kerst and Krehbie l1964: 90]
ความกล้าหาญ เสรีภาพ
ทำให้เกิดความก้าวหน้า
(กฎธรรมชาติกำกับธรรมชาติ
กฎศีลธรรมกำกับมนุษย์)
ความกล้าหาญที่จะใช้เสรีภาพทำให้เกิดความก้าวหน้า
ทัศนะเช่นนี้ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากค้านท์ ในบันทึกการสนทนา
เดือนกุมภาพันธ์ ๑๘๒๐ เบโธเฟนได้อ้างถึงคำกล่าวของค้านท์ที่ว่า “กฎทางศีลธรรมในตัวเรา และฟากฟ้าที่มีดาวดารดาษอยู่เหนือเรา”
[Kerst and Krehbie 1964: 90] ขณะที่กฎทางธรรมชาติกำกับการความเป็นไปในโลกทางธรรมชาติ
กฎทางศีลธรรมก็กำกับการการกระทำของเรา. สำหรับค้านท์แล้ว กฎทางศีลธรรมนี้เป็นสิ่งที่หาพบได้ด้วยตัวเราเอง
เมื่อเราได้ทำบางสิ่งสำคัญอันเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีดีเหนือกว่าองค์อินทรีย์แบบอื่นๆ
การบรรลุวุฒิภาวะ: การใช้ความเข้าใจของตนเอง
โดยไม่ต้องอาศัยการชี้นำจากผู้อื่น
ในความเรียง An Answer to the Question: What is Enlightenment?
[1784] ค้านท์เขียนไว้ว่า
”การสว่างวาบทางปัญญา(the Enlightenment)ก็คือ
การโผล่ออกมาของตัวมนุษย์จากการไม่บรรลุวุฒิภาวะอันเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้นำมาใส่ไว้กับตนเอง
การไม่บรรลุวุฒิภาวะก็คือความไม่สามารถที่จะใช้ความเข้าใจของเราเองโดยไม่ต้องอาศัยการชี้นำจากผู้อื่น
การไม่บรรลุวุฒิภาวะนี้เป็นสิ่งที่เราใส่เข้ามาให้กับตนเองเมื่อตัวสาเหตุของมันไม่ได้มาจากการขาดความเข้าใจ
แต่มาจากการขาดความตั้งใจและความกล้าหาญที่จะใช้ความเข้าใจ(ของเรา)โดยไม่ต้องอาศัยการชี้นำจากผู้อื่น Sapere
Aude! “จงมีความกล้าหาญที่จะใช้ความเข้าใจของตัวท่านเอง!” -นี่คือภาษิตของแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง”
[Kant 1992: 41]
ค้านท์เห็นว่า เป็นเรื่องง่ายที่จะไม่บรรลุวุฒิภาวะ
ถ้าเราทำเพียงหาหนังสือสักเล่มมารองรับเป็นความเข้าใจ
หานักบวชสักคนมาช่วยเป็นผู้กำหนดมโนธรรมให้ หาแพทย์สักคนมากำหนดตารางคุมอาหารให้
ตัวเราก็ไม่ต้องพยายามทำอะไรอีก
การถอดถอนความไม่กล้าหาญและความเกียจคร้านที่จะใช้การตัดสินใจบนฐานของความเข้าใจของเราเองนี้
ค้านท์เห็นว่าเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไป
”กฎและเกณฑ์ ประดาที่เป็นเครื่องมือช่วยในการใช้ของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้มาอย่างมีเหตุผล, หรืออย่างใช้ผิดทางก็ตาม, เครื่องมือนี้เป็นตัวพันธนาการความไม่บรรลุวุฒิภาวะอย่างถาวร
ผู้ใดก็ตามที่โยนมันทิ้งไป ก็จักทำได้เพียงแค่กระโดดอย่างไม่แน่ใจข้ามคูเล็กๆ
เท่านั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากเขาไม่คุ้นเคยกับประเภทของการเคลื่อนไหวอย่างเสรีดังกล่าวนี้
โดยผลที่ตามมา จึงมีคนจำนวนน้อยที่ทำประสบผลโดยอาศัยการเพาะบ่มจิตใจของตนเอง
ในการทำให้ตัวเขาเองเป็นอิสระจากการไม่บรรลุวุฒิภาวะและการดำเนินตามวิถีดำเนินที่มั่นคง”
[Kant 1992: 41]
แต่กับสังคมโดยรวมแล้ว
กลับเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทั้งสังคมเกิดการสว่างวาบทางปัญญา “จริงๆแล้วหากเพียงแค่ยินยอมให้มีเสรีภาพ
การสว่างวาบทางปัญญาก็แทบจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” [Kant 1992: 42] ทำไม? ค้านท์ตอบว่า
การแพร่ขยายของจิตใจที่ชื่นชมต่อการสว่างวาบทางปัญญาจะเกิดขึ้นโดยพลัน หากผู้ปกป้อง(หมายถึงผู้เป็นชนชั้นนำในสังคม)แม้เพียงจำนวนน้อยสลัดแอกของการไม่บรรลุวุฒิภาวะทิ้งไปได้ เพราะคนเหล่านี้จะยอมให้ประชาชนมีเสรีภาพในการที่จะโต้แย้ง และด้วยเหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่า
สังคมโดยรวมจะบรรลุสภาวะของการสว่างวาบทางปัญญาได้ช้ากว่าส่วนบุคคล หากผู้ปกป้องเองสลัดแอกไม่ออก
การใช้เหตุผลแบบส่วนบุคคล และการใช้เหตุผลแบบสาธารณะ
ตรงนี้เราต้องมาดูความหมายของการใช้เหตุผลสองรูปแบบก่อน
ซึ่งค้านท์ได้จำแนกออกจากกันดังนี้
๑. การใช้เหตุผลแบบส่วนบุคคล คือการทำหน้าที่ตามบทบาทของสถานะของตนเอง เช่นเป็นเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติการบางอย่าง
เราก็มีหน้าที่ต้องทำให้เป้าหมายบรรลุ
โดยไม่ตั้งคำถามในเรื่องที่ว่าคำสั่งดังกล่าวเหมาะสมแล้ว
หรือเป็นประโยชน์แล้วหรือไม่ เราใช้เหตุผลแบบนี้เพื่อช่วยให้เป้าหมายบรรลุ
๒. การใช้เหตุผลแบบสาธารณะ คือการใช้เหตุผลในฐาน(เรียกเป็นภาษาปัจจุบันว่า)นักวิชาการ กล่าวคือ
พินิจพิจารณา และเสนอเหตุผลโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว หากพิจารณาแล้วพบว่าไม่เหมาะสม
ตรงนี้ไม่ขัดแย้งกันเองหรือ? เรามีหน้าที่เสียภาษี
เราต้องไม่ละทิ้งหน้าที่นี้ เพราะจะทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องแผ่ขยาย
แต่เราต้องมีเสรี -อย่างในฐานแบบนักวิชาการ- ที่จะเสนอเหตุผลโต้แย้งว่า ภาษีดังกล่าวไม่เป็นธรรมอย่างไร? เราเป็นทหารได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติภารกิจบางประการ
เรามีหน้าที่ดำเนินการให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุได้ เราต้องเชื่อฟัง
แต่ในฐานที่ถือเป็นนักวิชาการ(คนทุกคนถือเอาฐานนี้ได้
เมื่อกำลังใช้เหตุผลแบบสาธารณะ) ไม่มีอะไรมารั้งเราไม่ให้เสนอข้อวิจารณ์ความผิดพลาดของคำสั่งการ
หรือห้ามการนำเสนอต่อสาธารณะเพื่อตัดสิน
ส่วนบุคคลในที่นี้ก็คือ
ส่วนภายในปริบทของการอยู่ในสถานะดังกล่าว บทบาทของเราในส่วนนั้นเราไม่มีเสรี
ในที่นี้การใช้เหตุผลก็เพื่อรองรับการทำให้เป้าหมายที่กำหนดมาไว้แล้วบรรลุจุดมุ่งหมาย
ส่วนการใช้เหตุผลแบบสาธารณะ เป็นเรื่องของการมีเสรีภาพที่ไม่มีข้อเหนี่ยวรั้งใดๆ
ที่จะใช้ความสามารถทางเหตุผลที่เรามีอยู่เพื่อพูดแทนสิ่งที่อยู่ในใจเรา
ค้านท์ได้ย้ำให้เห็นความสำคัญของการใช้เหตุผลในแบบหลังนี้ว่า “การใช้เหตุผลแบบสาธารณะของใครก็ตามจะต้องมีเสรีเสมอ
และโดยตัวมันเองโดดๆ สามารถนำเอาการสว่างวาบทางปัญญามาสู่มวลมนุษยชาติ” [Kant 1992: 42]
ตราบเท่าที่การใช้เหตุผลแบบส่วนบุคคลยังไม่นำไปสู่ความขัดแย้งตรงกันข้ามกับมโนธรรมของเรา
เราก็ยังคงดำเนินบทบาทตามหน้าที่ดังนั้นต่อไปได้
เพราะอาจยังมีสัจธรรมบางอย่างในเรื่องนั้นที่หลบซ่อนเราอยู่
แต่หากเรารู้สึกว่ามันเป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือเห็นว่าขัดกับมโนธรรมของเรา
เราก็ควรจะลาออกจากสถานะดังกล่าว ค้านท์ยังย้ำว่า คำสัตย์ปฏิญาณใดๆ พันธะสัญญาใดๆ
ดังกล่าวที่เจตนาเพื่อกันการสว่างวาบทางปัญญาในลำดับถัดไปไม่ให้เกิดกับมนุษยชาตินั้น
ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ว่างเปล่าโดยบริบูรณ์
ไม่ว่าจะเป็นการให้สัตยาบันโดยองค์อำนาจสูงสุดใด
โดยรัฐสภาหรือโดยสนธิสัญญาสันติภาพใดๆ ก็ตาม
ยุคสมัยหนึ่งไม่อาจผูกมัดตนเอง
การผูกมัดฯ คืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
“ยุคสมัยหนึ่งไม่อาจผูกมัดตนเอง
และดังนั้นการวางอุบายที่จะจัดวางให้อีกยุคสมัยที่จะเข้ามาแทนที่ต้องอยู่ในสภาพการณ์ที่ทำให้ยุคสมัยหลังไม่อาจขยายความรู้ออกไป(โดยเฉพาะในที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง) ที่จะกำจัดความผิดพลาดของตนเอง
และที่จะเพิ่มการสว่างวาบทางปัญญาโดยทั่วไป การทำดังนั้นถือเป็นอาชญากรรมต่อธรรมชาติมนุษย์
ผู้ซึ่งชะตากรรมสำคัญมีฐานอย่างแจ่มชัดอยู่บนความก้าวหน้า” [Kant 1992: 43-44]
การสว่างวาบทางปัญญาหรือสภาวะของการบรรลุวุฒิภาวะนี้
จึงเป็นหัวใจอันสำคัญที่สุดสำหรับมนุษยชาติ
เป็นเป้าหมายทางสังคมโดยองค์รวมที่ต้องมุ่งไป
ซึ่งเราอยู่ในช่วงยุคสมัยเช่นนั้นแล้วหรือ? “หากในบัดนี้ได้ถามว่า ”ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่สว่างวาบทางปัญญาแล้วหรือไม่?” คำตอบก็คือ”ไม่ใช่ แต่เรากำลังก้าวสู่ยุคของการสว่างวาบทางปัญญาแล้ว” [Kant 1992: 44]
เราไม่ได้อยู่ในยุคที่บรรลุวุฒิภาวะแล้ว
แต่เราอยู่ในยุคที่กำลังก้าวไปสู่การบรรลุวุฒิภาวะ
สำหรับค้านท์
บัดนี้หนทางได้เปิดแล้วต่อการที่มนุษย์จะก้าวเดินอย่างเสรีในทิศทางดังกล่าว
โดยที่อุปสรรคต่อการไม่บรรลุวุฒิภาวะที่มนุษย์เป็นผู้เอามาใส่ตนเองนั้น
มนุษย์ได้ลดทอนมันลงทีละเล็กละน้อย สำหรับในสังคมของค้านท์เอง
ตัวเขาตั้งความหวังไว้ที่พระเจ้าเฟรเดอริก ”ภายใต้การพิจารณาดังนี้
ยุคสมัยดังกล่าว จึงเป็นยุคแห่งการสว่างวาบทางปัญญา ศตวรรษของเฟรเดอริก”
[Kant 1992: 45] ซึ่งก็คือผู้ปกป้องจำนวนน้อยที่(ค้านท์คิดว่าจะ)สลัดแอกแห่งการไม่บรรลุวุฒิภาวะทิ้งได้
และช่วยให้การสว่างวาบทางปัญญาของทั้งสังคมเกิดขึ้นได้โดยไว
จากข้อเขียนของค้านท์ชิ้นนี้ เห็นได้ว่า
ค้านท์มองยุค”ปัจจุบัน”(คือสมัยของเขา)ว่าเป็นยุคที่มีความแตกต่างจากยุคสมัยก่อนหน้านี้
และเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการมนุษยชาติ เรา
มนุษยชาติมีความหวังที่จะก้าวไปไกลกว่า ยังจุดหมายที่เป็นหลักของมนุษย์
ความก้าวหน้านี้มาพร้อมกับเจตจำนงที่เรามีในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะมนุษยชาติ
เพื่อ”เคลื่อน”สังคมมนุษย์โดยรวมให้เคลื่อนไปถูกทิศทาง “แดดาลัส”มองเห็นปีกที่จะใช้บินออกจากเขาวงกตแล้ว สิ่งที่เหลือก็แค่ ”ความกล้า” หรือการมีเจตจำนงที่จะติดปีกแล้วบินแค่นั้นเอง!
ท่าทีแบบสมัยใหม่
สิ่งที่ค้านท์พยายามทำในที่นี้คือ การสะท้อนเกี่ยวกับสภาวะของตัวเราใน”ปัจจุบัน”
(ในยุคของเขา) ตรงนี้เป็นกิจกรรมทางปรัชญาหลักของเขา
มิเชล ฟูโกต์ [Michel Foucault] ซึ่งได้ชี้ว่า การสะท้อน “ปัจจุบัน” ของกระแสปรัชญาหนึ่งใดมีปรากฎเป็นสามแบบหลัก คือ [Foucault 1984C: 33-34]
๑. สะท้อน “ปัจจุบัน” ในฐานะที่เป็นช่วงยุคสมัยหนึ่ง
ที่แยกออกได้ชัดจากยุคสมัยอื่น โดยดูจากลักษณะเฉพาะของตัวมันเอง
หรือแยกจากยุคอื่นโดยเหตุการณ์อันตระการตาบางเหตุการณ์
๒. สะท้อน ”ปัจจุบัน” ในฐานะความพยายามในการถอดรหัสจากปัจจุบัน
เพื่อหาสัญญาณหมายที่ชี้ถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะดำเนินมาถึง
๓. สะท้อน “ปัจจุบัน” ในฐานะที่เป็นจุดของการเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงตะวันขึ้นของโลกใหม่
- ความหมายของ “ปัจจุบัน” ในแบบที่ ๑ นั้น
เราอาจพบได้ในการแบ่งช่วงทางประวัติศาสตร์แบบทั่วไปที่ใช้เกณฑ์การแบ่งแบบแยกยุคโดยดูจากตัวเหตุการณ์เด่นที่แสดงความต่างลักษณะไปจากเดิม
เช่น ปรากฏการณ์การปฏิวัติ เป็นต้น ความหมายในแบบนี้เป็นความหมายของการดำเนินเหตุการณ์ไปตามลำดับในช่วงเวลานั่นเอง
แล้วใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลำดับเวลาเป็นตัวแบ่ง ยุคหลังที่ตามมาไม่จำเป็นต้อง “เจริญ” หรือ “ดี” ขึ้นกว่ายุคก่อนหน้า
- ส่วนความหมายแบบที่ ๒ ได้แก่กระแสที่เรียกว่า Historical
Hermeneutics ที่เชื่อว่ากระบวนการทางประวัติศาสตร์นั้นมีการคลี่คลายตัวมันเองจากภายในไปสู่ผลตามมาบางอย่าง
เมื่อเราพบตัวสัญญาณหมายที่ชี้ถึงเหตุการณ์ที่จะตามมา
เราก็จะรู้ว่าประวัติศาสตร์กำลังจะเคลื่อนไปที่ไหน
- ส่วนความหมายที่ ๓ ก็คือ แนววิเคราะห์ประวัติศาสตร์แบบของวีโก [Vico] ที่มองเห็น “ปัจจุบัน” ในยุคของเขาว่า
เป็นช่วงเวลาของยุคใหม่แห่งมนุษยชาติที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ฟูโกต์ชี้ ”ทางออก” ของค้านท์ ถูกนำเสนออย่างคลุมเครือ
ฟูโกต์ได้ชี้ว่า สำหรับค้านท์นั้น “ปัจจุบัน” ไม่ได้มีความหมายตามสามแบบหลักดังกล่าว คำว่า “ปัจจุบัน” (ที่ภาษาเยอรมันเรียกว่า Aufklarung) นั้นค้านท์ใช้ในแบบปฏิเสธ กล่าวคือในความหมาย Ausgang
“ทางออก” กล่าวคือ เมื่อเราดูจากแง่ของความแตกต่าง วันนี้ชี้ถึงความแตกต่างอะไรเมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้. สำหรับค้านท์แล้ว
วันนี้ชี้ทางออกที่เราจะไปพ้นจากสภาพการณ์ที่มนุษย์ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะ
ถ้าเพียงแต่เรา”กล้า”ที่จะปลดปล่อยตัวเรา! (จะเห็นได้ว่าสำหรับค้านท์แล้ว
ตัวเราในฐานะผู้กระทำ มีความหมายที่สำคัญต่อทางออกนี้อย่างยิ่ง
ค้านท์ได้รวบยอดความคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง
โดยเชื่อมเอาเรื่องของเจตจำนง, เอกองค์อำนาจ
และการใช้เหตุผลเข้าด้วยกัน)
ฟูโกต์ชี้ว่าการนำเสนอ ”ทางออก” ของค้านท์ในที่นี้ถูกนำเสนออย่างคลุมเครือ
เพราะเราอาจพิจารณาได้เป็นสองแบบ [Foucault 1984C: 35]
แบบแรก คือทางออกในฐานที่เป็นปรากฏการณ์ หรือกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่
แบบที่สอง คือทางออกในฐานที่เป็นภารกิจหรือพันธกิจที่เราควรปฏิบัติ
ซึ่งค้านท์เองใช้ในทั้งสองความหมาย
เราสามารถรู้อะไรได้บ้าง
เราสามารถทำอะไรได้บ้าง และเราสามารถคาดหวังอะไรได้บ้าง?
การสว่างวาบทางปัญญาก็คือชั่วขณะที่มนุษยชาติกำลังใช้เหตุผลของตนเอง
โดยไม่ยอมขึ้นตรงต่อองค์อำนาจใดๆ
ในแง่นี้ยุดแห่งการสว่างวาบทางปัญญาก็คือยุคสมัยแห่งการวิพากษ์
อันเป็นยุคสมัยที่ค้านท์ดำรงชีวิตอยู่ บทบาทของการวิพากษ์ในช่วงขณะนี้ก็คือ
การให้นิยามว่า ในสภาพการณ์ใดการใช้เหตุผลเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม ทั้งนี้เพื่อกำหนดได้ว่าเราสามารถรู้อะไรได้บ้าง
เราสามารถทำอะไรได้บ้าง และเราสามารถคาดหวังอะไรได้บ้าง? ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ “ความกล้าที่จะรู้” หรือ “เจตจำนงที่จะรู้”
ในความหมายแบบแรกนี้
จะเน้นตรงตัวกระแสร่วมที่มนุษย์ในยุคหนึ่งได้ดำเนินการโดยร่วมกันในกิจกรรมร่วมอย่างหนึ่ง
ในที่นี้คือการสร้างการมีวุฒิภาวะให้กับตนเองโดยการมี”เจตจำนงที่จะรู้” ส่วนในความหมายหลังนั้น เน้นที่ตัวการกระทำ กล่าวคือ “การมีความกล้าหาญ”หรือ”เจตจำนงที่จะกระทำภารกิจดังกล่าวโดยส่วนบุคคล”
ในแง่นี้คนแต่ละคนมีส่วนในการนำตนเองให้พ้นจากสภาวะของการไร้วุฒิภาวะดังกล่าว
และเมื่อรวมสองความหมายเข้าด้วยกัน กล่าวได้ว่า “มนุษย์เป็นทั้งองค์ประกอบและตัวผู้กระทำ [agent] ของกระบวนการดังกล่าวในเวลาเดียวกัน” เป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่
และเป็นตัวกระทำการให้กระบวนการนั้นดำเนินไปได้
ดูแผนภาพต่อไปนี้ประกอบคำอธิบาย
[สภาวะทารกของมนุษยชาติ ]--------[ความเป็นจริงในปัจจุบัน ]---------> [ สภาวะผู้ใหญ่ ]
[การไร้วุฒิภาวะ] [ความกล้าที่จะสลัดสภาวะเดิมออก] [การมีวุฒิภาวะ]
แผนภาพประกอบที่ ๑
ปัจจุบันในฐานะที่เป็นทางออกของมนุษยชาติตามความคิดของค้านท์
ความเป็นสมัยใหม่ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา
แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง
สำหรับค้านท์ มนุษย์เรากำลังกระทำภาระกิจอันสำคัญ กล่าวคือ
การนำตนเองพ้นสภาวะทารกของการไม่บรรลุวุฒิภาวะ ฟูโกต์เห็นว่า เมื่อเราดูตรงแง่ของการไตร่ตรองสะท้อน ”ปัจจุบัน” หรือ ”วันนี้” ในแบบที่เป็นการมองวันนี้ในฐานที่เป็นความแตกต่างในประวัติศาสตร์ และ ”วันนี้” เป็นแรงผลักสำหรับกระทำภารกิจทางปรัชญาโดยเฉพาะเจาะจง
จากแง่ตรงนี้นั่นเองที่นวัตกรรมทางความคิดได้เกิดขึ้น ตรงนี้เองที่เป็นโครงร่างของสิ่งที่เรียกว่า”ท่าทีแบบสมัยใหม่” [the attitude of
modernity] ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดแยกแตกต่างจากเดิม
ในแง่นี้ฟูโกต์จึงเห็นว่า “ความเป็นสมัยใหม่ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา
แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง” [Foucault 1984C: 39]
ความเป็นสมัยใหม่ไม่ใช่ยุคสมัยหรือช่วงของเวลาในประวัติศาสตร์ แต่เป็นท่าทีในความหมายว่า…
- เป็นรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของปัจจุบัน
- เป็นทางเลือกอย่างจงใจของคนกลุ่มหนึ่ง
- เป็นวิธีคิดและรู้สึกในแบบหนึ่ง
- เป็นวิถีในการกระทำหรือการประพฤติ ซึ่งในขณะเดียวกันบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของการเป็นภารกิจแบบหนึ่งที่แสดงตัวมันเองออกมาด้วย
กล่าวคือเป็นเหมือนสิ่งที่ปรัชญากรีกเรียกว่า”เอโธส” [Ethos] กล่าวคือ
วิถีของชีวิตที่ได้กระทำจนเป็นวิสัย อันมีลักษณะเป็นการเพาะบ่มตนเอง
ฟูโกต์: ท่าทีแบบสมัยใหม่มองผ่านความคิดในข้อเขียนของโบเดอแลร์
ท่าทีแบบสมัยใหม่นี้จะเป็นท่าทีที่คัดง้างกันกับท่าทีแบบต้านสมัยใหม่ [attitudes of
“countermodernity”] แบบต่างๆ
เช่นท่าทีทางศาสนาแบบที่มองวันวานเป็นยุคทองและปัจจุบันเป็นยุคที่เสื่อมลง เป็นต้น
ฟูโกต์ได้แสดงให้เห็นว่าท่าทีแบบสมัยใหม่มีลักษณะเช่นไร โดยดูผ่านความคิดที่แสดงออกในข้อเขียนของโบเดอแลร์
[Baudelaire] กวีชาวฝรั่งเศสเรืองนาม อันสรุปได้ดังนี้ [Foucault
1984C: 39-42]
๑. ลักษณะแบบยกปัจจุบันเป็นดั่งวีรบุรุษที่ดูขัดกัน
ท่าทีแบบสมัยใหม่แสดงออกลักษณะนี้โดยเป็นมากกว่าแค่การมีจิตสำนึกถึงการไม่ต่อเนื่องกันของเวลา กล่าวคือ
การมีความรู้สึกแตกหักกับจารีตที่ผ่านมา
รู้สึกว่าเวลาปัจจุบันเป็นเวลาของการกำเนิดสิ่งใหม่
การรู้สึกวิงเวียนเมื่อเผชิญหน้ากับชั่วขณะที่กำลังจะผ่านพ้นไป
ท่าทีแบบสมัยใหม่เป็นท่าทีที่พยายามเกาะกุมด้านที่เป็น “วีรบุรุษ”
ของชั่วขณะปัจจุบัน จิตรกรร่วมสมัยกับโบเดอแลร์เห็นว่า
เสื้อคลุมสีดำในศตวรรษที่ ๑๙ น่าเกลียดยิ่งนัก พวกเขาจึงวาดแต่เสื้อคลุมแบบโรมันโบราณ
โบเดอแลร์ได้ชี้ว่า
การเป็นจิตรกรสกุลสมัยใหม่ไม่ได้อยู่ตรงที่ได้ชักนำชุดคลุมดำให้ปรากฏได้บนผืนผ้าใบ
แต่อยู่ที่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าเสื้อคลุมดังกล่าวเป็นเครื่องแต่งกายที่จำเป็นสำหรับยุคของเรา
เผยให้เห็นสิ่งที่เป็นความสัมพันธ์หลักผ่านสิ่งที่เป็นกระแสนิยมของวันนี้
ซึ่งในที่นี้ได้แก่ การที่ยุคสมัยของเรามีความบันเทิงกับความตาย ดังที่โบเดอแลร์ได้กล่าวว่า
เสื้อคลุมแบบดังกล่าวไม่ใช่แค่ครอบครองความงามทางการเมือง
อันเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความเสมอภาคที่เป็นสากล แต่ยังเป็นความงามในแบบกวีอีกด้วย
อันเป็นการแสดงออกถึงจิตวิญญาณแห่งสาธารณะ “ท่านไม่มีสิทธิชิงชังปัจจุบัน” ตรงนี้เองที่โบเดอแลร์ได้นำเสนอท่าทีแบบสมัยใหม่
เราเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญต่อความเสื่อมของจารีต
และชื่นชมต่อสปิริตของยุคสมัย ต่อ “วันนี้” เราได้พบบางสิ่งที่นิรันดร์ที่อยู่ภายในชั่วขณะของปัจจุบัน
ปัจจุบันอันเป็นชั่วขณะที่ประเดี๋ยวประด๋าว ดำเนินโดยว่องไว และไม่อยู่คงทน
แต่เราได้พบบางสิ่งที่คงทนดังกล่าวที่ไม่ดำรงอยู่เกินกว่าหรือมาตามหลังชั่วขณะนี้
มันอยู่ภายในชั่วขณะนี้ ในแง่นี้ความเป็นสมัยใหม่ก็คือ
การมีเจตจำนงที่จะเชิดชูเวลาปัจจุบันให้เป็นวีรบุรุษ
๒. ลักษณะแบบใช้เสรีภาพเล่นกับความเป็นจริง
ท่าทีแบบสมัยใหม่จะไม่ปฏิบัติต่อชั่วขณะที่กำลังผ่านพ้นไปว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องคงเอาไว้
หรือทำให้มันคงอยู่ได้อย่างถาวร (ขณะที่ท่าทีก่อนสมัยใหม่จะไขว่คว้าหาวันเวลาในอดีต
และมองว่าเราได้ผ่านพ้นยุคทองดังกล่าวมาแล้ว) ขณะที่ให้ค่าต่อเวลาปัจจุบันอย่างยิ่ง
และกระตือรือร้นอย่างสุดกำลังที่จะมีจินตภาพต่อมัน
ทั้งยังพยายามที่จะจินตภาพมันให้เกินกว่าที่มันเป็นและพยายามที่จะเปลี่ยนรูปมันในแบบที่ไม่ใช่การทำลาย
แต่เป็นการเกาะกุมปัจจุบันอย่างที่มันเป็น ท่าทีแบบสมัยใหม่จึงเป็นการใช้เสรีภาพ”เล่น”กับความเป็นจริง เราทั้งนับถือความเป็นจริงนี้
แต่ก็ละเมิดมันด้วย
๓. ลักษณะแบบประดิษฐ์”ตัวตน”ของเราขึ้นมาอย่างทรมานตน
ท่าทีแบบสมัยใหม่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่รูปแบบของความสัมพันธ์กับปัจจุบันเท่านั้น
แต่ยังเป็นรูปวิถีของการมีความสัมพันธ์กับการกำหนดตัวเรา
การเป็นคนสมัยใหม่ไม่ใช่การยอมรับตนเองในฐานที่เป็นสิ่งหนึ่งในกระแสการเปลี่ยนแปลงของชั่วขณะที่กำลังจะผ่านพ้นไป
แต่ต้องในฐานที่เป็นวัตถุของการประดิษฐ์ขึ้นที่ซับซ้อนและยุ่งยาก กล่าวคือ
ไม่ใช่คนที่พยายามค้นพบตนเองหรือค้นพบความลับและความจริงของตนเองที่หลบซ่อนอยู่ แต่เป็นคนที่พยายามสร้างตัวเองขึ้น
จึงไม่ใช่ผู้ปลดปล่อย
แต่เป็นผู้บังคับหรือบีบให้มนุษย์ต้องเผชิญกับภาระในการผลิตตัวเอง
ในแง่ของโบเดอแลร์แล้ว
เขาคิดว่าเราคาดหวังลักษณะทั้งสามนี้ได้จากศิลปะ ไม่ใช่จากสังคมหรือตัวการเมือง ในบรรดาผู้บุกเบิกศิลปะสกุลสมัยใหม่ [Aesthetic Modernism - ลัทธิสมัยใหม่ในเชิงสุนทรียภาพ] ต่างได้พยายามสร้างอาณาบริเวณทางศิลปะให้มีเอกองค์อิสระในตนเอง
และให้เป็นอาณาบริเวณที่อยู่เหนือกว่าการกระทำหรือการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระ พวกเขาเชื่อว่าศิลปะจะช่วยนำมนุษย์ไปสู่ความจริงที่อยู่ลึกเกินกว่าระดับประสบการณ์
[ดู Jay 1996]
เราจะข้ามความเห็นตรงนี้ไป
และใส่ใจต่อความเห็นของฟูโกต์ที่ว่า [Foucault 1984C: 42]
๑. การตั้งคำถามทางปรัชญา
ประเภทที่ตั้งคำถามอย่างทันการณ์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ “ปัจจุบัน”
๒. รูปวิถีแบบที่ตกทอดมาทางประวัติศาสตร์ของการเป็นมนุษย์
๓. การก่อรูปเป็น “ตัวตน” [the self] ของตัวเราในแบบที่ถือว่าเป็นตัวตนที่มีเอกอิสระ
ทั้งสามสิ่งนี้มีรากมาจากแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง
ซึ่งฟูโกต์ชี้ว่า ด้ายที่เชื่อมเราเข้ากับสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง
ไม่ได้อยู่ที่การซื่อสัตย์ต่อหลักการพื้นฐานของแนวคิดสกุลดังกล่าว
แต่อยู่ตรงที่มีการกระตุ้นซ้ำท่าทีดังกล่าวตลอดมา
เอโธสนี้ซึ่งน่าจะถูกเรียกว่าเป็นการวิพากษ์อย่างถาวรต่อยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของเรา
ได้ถูกกระตุ้นซ้ำเสมอในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา
การไปให้พ้นข้อจำกัดของตัวเรา
เอโธสนี้มีลักษณะเป็นเช่นไร
ฟูโกต์ได้แจกแจงไว้ดังนี้ (สองข้อแรกเป็นแบบปฏิเสธ ที่เหลือเป็นแบบยืนยัน)
๑. เป็นการปฏิเสธ
“การแบล็คเมลของสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง”
ตรงนี้ได้แก่
การติดกับดักที่เรียกว่า “ทางเลือกแบบเบ็ดเสร็จและง่ายๆ” อันได้แก่การต้องเลือกระหว่างเอาหรือไม่เอาจารีตความเป็นเหตุผลแบบสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง กล่าวคือ
ให้เลือกที่จะยอมรับสกุลนี้พร้อมกับเดินตามจารีตของความเป็นเหตุผลในแบบนี้ หรือ
คัดค้านและพยายามหาทางออกจากหลักการของความเป็นเหตุผลในแบบของสกุลนี้
ฟูโกต์เสนอทางออกจากกับดักนี้ว่า
ให้เราดำเนินการวิเคราะห์ตัวเราเองในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาทางประวัติศาสตร์ในระดับหนึ่ง
โดยอิทธิพลความคิดกระแสสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง
การวิเคราะห์นี้จึงต้องรวมถึงการสืบค้นทางประวัติศาสตร์ด้วย
แต่ไม่ใช่เข้าไปหาตัวเนื้อในที่เป็นสารัตถะความเป็นเหตุผลที่จะพบได้ในแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง และนำมันออกมาปกป้องไว้ แต่เป็นการสืบเข้าไปหาข้อจำกัดปัจจุบันของความจำเป็น
[the“contemporary limits of the necessary”] อันได้แก่การหาว่า
ในการก่อรูปตัวเราเป็นตัวตนที่มีเอกองค์อำนาจนั้นไม่อาจแยกออกได้จากองค์ประกอบใดบ้าง
เรามีความเข้าใจว่าเราเป็นตัวเราที่มีเอกองค์อำนาจในตนเอง
สำนึกดังกล่าวนี้ของตัวเราเป็นสำนึกที่ก่อรูปขึ้นมาทางประวัติศาสตร์จากอิทธิพลของแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง ตรงนี้เป็นข้อจำกัดของตัวเรา
แต่ก็เป็นบริเวณที่เราต้องสืบค้นเข้าไปเพื่อหาความเป็นไปได้ของการไปพ้นข้อจำกัดนี้
๒. ไม่สับสนระหว่างมนุษยนิยม
[Humanism] กับแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา
ในที่นี้
เมื่อเรามาลองพิจารณาในแง่ของโครงเรื่องแบบ”มนุษยนิยม”กับ”คำถามของสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง”
จะเห็นได้ว่า กระแสสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง
เป็นชุดของเหตุการณ์และกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและมีตำแหน่งแห่งที่ในพัฒนาการสังคมยุโรป
ด้วยเหตุนี้จึงรวมเอาทั้งเรื่องของการเปลี่ยนรูปทางสังคม
ประเภทของสถาบันทางการเมือง รูปแบบของความรู้
โครงการในการสร้างความเป็นเหตุผลต่อความรู้และการปฏิบัติ ตลอดจนเรื่องการเปลี่ยนรูปทางเทคโนโลยี
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ยากจะสรุปด้วยคำคำเดียว
แต่มนุษยนิยมเป็นโครงเรื่อง
หรือชุดของโครงเรื่องซึ่งเกิดขึ้นหลายวาระหลายเวลาในสังคมยุโรป
โครงเรื่องชุดดังกล่าวมักผูกไว้กับการตัดสินคุณค่าเพื่อใช้เป็นหลักการแบบวิพากษ์ในการจำแนกความแตกต่าง
ตัวเนื้อเรื่องเองเห็นได้ชัดว่าแตกต่างกันไปและคุณค่าที่ต้องการปกป้องไว้ก็ยังแตกต่างกัน
จากศตวรรษที่๑๗ เป็นต้นมา
มนุษยนิยมมักอาศัยมโนทัศน์เรื่องมนุษย์ที่ยืมมาจากหลายแหล่ง เช่นจากศาสนา
จากวิทยาศาสตร์ หรือจากการเมือง
คำนี้ถูกใช้ใส่สีและให้ความชอบธรรมต่อมโนทัศน์เกี่ยวกับมนุษย์มโนทัศน์หนึ่ง โครงเรื่องแบบนี้โดยตัวมันเองจึงอ่อนเกินไป
หลากหลายเกินไป ไม่คงเส้นคงวามากเกินกว่าที่จะใช้เป็นแกนสำหรับการไตร่ตรองสะท้อน [Foucault 1984C: 44]
(อย่างไรก็ตามตรงนี้ไม่ได้เป็นการปฏิเสธทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับมนุษยนิยม)
๓. เป็นท่าทีที่มีข้อจำกัด
เรียกว่า “ท่าทีวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์ “
ที่จริงแล้ว
“การวิพากษ์”ประกอบด้วย “การวิเคราะห์” และ”การสะท้อนไตร่ตรองเกี่ยวกับข้อจำกัด” [Foucault 1984C:
45] คำถามเชิงวิพากษ์ในปัจจุบันนี้คือคำถามที่ว่า
ตัวเราซึ่งเป็นสิ่งเฉพาะ ไม่คงทน และเป็นผลมาจากควบคุมตามแบบอำเภอใจนี้ เข้าไปครอบครองตำแหน่งแห่งที่ใดภายในสภาพที่ถูกให้กับเรามาในแบบที่กำหนดให้เป็นสิ่งสากล,
สิ่งที่จำต้องเป็น, หรือเป็นพันธกิจ
คำถามนี้เป็นคำถามในเชิงยืนยัน ซึ่งต่างจากคำถามของค้านท์ที่ถามหาว่า
ขอบเขตจำกัดของการรู้อยู่ตรงไหน เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องไปละเมิดมัน ดังนั้น แทนที่จะเป็นการวิพากษ์เพื่อหารูปแบบของข้อจำกัดที่จำเป็น
ก็ให้ปรับมาเป็นการวิพากษ์เชิงปฏิบัติ
เพื่อหารูปแบบที่เป็นไปได้ในการละเมิดข้อจำกัดเหล่านั้น
การวิพากษ์ในแบบนี้จึงเป็นการสืบค้นทางประวัติศาสตร์กลับเข้าไปยังเรื่องของเหตุการณ์ที่ได้นำเราสู่การก่อรูปเป็นตัวเราเองและการตระหนักรู้ตัวเราในฐานะที่เป็นตัวตนของสิ่งที่เราได้กระทำ, ได้คิดและได้กล่าว
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการฝึกฝนเพื่อแสวงหาโครงสร้างโดยรูปแบบที่มีคุณค่าสากล
อันเป็นสิ่งที่มีลักษณะแบบ transcendence ที่อยู่เกินความเข้าใจ
เป้าหมายจึงไม่ใช่การสร้างอภิปรัชญาที่เป็นไปได้
หรืออภิปรัชญาที่ในท้ายที่สุดกลายเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง
กล่าวคือไม่ใช่การหาทางแสดงถึงโครงสร้างสากลของความรู้ทั้งปวงหรือของการกระทำทางศีลธรรมที่เป็นไปได้ทั้งหมดแบบที่ค้านท์พยายามทำ
การวิพากษ์
:
ความพยายามที่จะจัดการกับตัววาทกรรม
การวิพากษ์นี้จึงเป็นการพยายามที่จะจัดการกับตัววาทกรรม
[discourse]
ที่ใช้ในแต่ละขณะ อันเป็นตัวที่จัดการจัดวางเกี่ยวกับสิ่งที่เราคิด
เราพูด เรากระทำ ตัวเราเป็นสิ่งที่ไม่คงทนถาวร
ดำรงอยู่ในกาลาวกาศในช่วงๆหนึ่ง
เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกวาทกรรมหรือปริบทของเรื่องราวเกี่ยวกับการกระทำ,
การพูดและการคิดของเราในพื้นที่ของเหตุการณ์
แต่ละวาทกรรมนี้เป็นดินแดนที่เราจะเข้าไปสืบค้น
วิธีการสืบค้นเช่นนี้ฟูโกต์เรียกว่า”วิธีการแบบโบราณวิทยา” [archaeological
method] ซึ่งจะนิยามตัววาทกรรมและประเภทของกฎเกณฑ์สำหรับการทำวาทกรรม(ปฏิบัติการทางวาทกรรม)ในแต่ละวาทกรรมออกมาอย่างเป็นระบบ
[ดูรายละเอียดเพิ่มใน Foucault 1969, โดยเฉพาะ
part 4] วาทกรรมเป็นทั้งเครื่องมือที่เราใช้และตัวสิ่งที่เราศึกษา
จากตัวของสิ่งเฉพาะอันไม่คงทนถาวรที่ได้ก่อรูปเป็นตัวเราอย่างที่เราเป็นอยู่
ซึ่งปรากฏในแต่ละวาทกรรม แต่ละปริบทที่ก่อเป็นสำนึกของความเป็นตัวเรา
เราได้พยายามที่จะเข้าไปแยกแยะภายในดินแดนดังกล่าว
เพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ที่จะไม่เป็นไม่คิดไม่ทำ ในสิ่งที่เราเป็นเราคิดเราทำ
การวางร่างการสืบค้นเช่นนี้ ฟูโกต์เรียกว่าการวางโครงร่างแบบ”วงศ์วานวิทยา” [genealogical
method] ซึ่งไม่ใช่การกลับไปหารากเหง้า [origin]เ พื่อให้พบเส้นทางการเผยตัวออกมา [ลักษณะแบบteleological]
เป็นปัจจุบันและอนาคต
แต่เป็นการบันทึกลงรายละเอียดโดยใช้วิธีการที่เคร่งครัด
ใช้แหล่งรวบรวมที่กว้างครอบคลุมถึงส่วนที่มักเห็นกันว่าไม่มีความสำคัญ
เพื่อแสดงให้เห็นถึงเส้นทางที่ซับซ้อนของการสืบลงมาสู่เรา
อันเป็นการแสดงให้เห็นเหตุการณ์ในอดีตอย่างเหมาะสมกับสภาพที่กระจัดกระจายของมัน
แสดงถึงการอุบัติบังเอิญ ชั่วประเดี๋ยวที่เบี่ยงเบน หรือการกลับกลายโดยบริบูรณ์
อันได้แก่การคาดคำนวณที่ผิดพลาด การประเมินที่ผิด
ที่ได้ให้กำเนิดต่อสิ่งที่ยังคงดำรงอยู่และมีคุณค่าสำหรับเรา [ดูรายละเอียดเพิ่มใน Foucault 1971]
๔. ท่าทีวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์นี้เป็นการทดลองแบบหนึ่ง
เป็นสิ่งที่ดำเนินการไปภายใต้ข้อจำกัดของตัวเรา
เพื่อหาทางไปพ้นข้อจำกัดดังกล่าวนี้
-
ประการแรก เริ่มต้นโดยการสืบค้นทางประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นการก่อรูปที่เป็นสำนึกของความเป็นตัวเราในปัจจุบัน
-
ต่อจากนั้นนำขึ้นมาทดสอบกับความเป็นจริงร่วมสมัย
ทั้งนี้เพื่อให้จับจุดได้ว่าตรงไหนที่การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้และน่าพึงประสงค์ และ
-
การกำหนดรูปแบบที่แจ่มชัดที่การเปลี่ยนแปลงควรดำเนินไป
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงตัวเราเองนี้มีจำกัด
ข้อจำกัดนี้มีที่มาทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและไม่ได้เป็นทางตรง
การกลับไปสืบค้นในประวัติของการเป็นตัวเราในปัจจุบันก็คือการสำรวจความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงสำนึกของการเป็นตัวเราในปัจจุบัน
ตรงนี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำได้แค่เพียงบางส่วน
เช่นที่ได้กระทำให้ดูในการวิเคราะห์เรื่องวิถีในการคิด [Foucault
1966]
เรื่องความสัมพันธ์ที่มีต่อองค์อำนาจ
[Foucault
1975] เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศ
[Foucault 1976, 1984A, 1984B] เรื่องวิถีที่เรารับรู้เกี่ยวกับความบ้า
[ Foucault 1961] หรือการเจ็บป่วย [Foucault 1963] ทั้งหมดนี้เป็นการวิเคราะห์ถึงวิถีในการเป็นเราและความเข้าใจที่ได้จากการเข้าไปสืบค้นนี้เองนำการเปลี่ยนแปลงบางส่วนมาให้
ฟูโกต์เห็นว่า
โครงการที่วาดหวังใหญ่โตที่จะสร้างคนแบบใหม่อะไรทำนองนั้น
ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมดไปสู่สังคมอีกแบบที่มีวิธีคิด
วัฒนธรรมและวิสัยทัศน์สังคมอย่างใหม่หมด ประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ ๒๐ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า
ต่างล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า
สิ่งที่ทำได้ก็เป็นเพียงแค่นำจารีตแบบที่อันตรายที่สุดกลับมาเยือนเรา
ท่าทีวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์นี้จึงเป็นความพยายามทดลองหาทางออกเท่าที่ทำได้จากข้อจำกัดของตัวเรา
ระดับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลจึงเป็นเพียงระดับจุลภาค อันเกิดขึ้นได้ในบางด้าน
๕. ให้จำกัดตัวเราเองโดยใช้ท่าทีวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์
เพราะท่าทีนี้เป็นการสืบค้นหรือทดลองในแบบที่จับบางด้าน
มีลักษณะเป็นส่วนเฉพาะ [เป็น local]
-
ประการแรก
เราจึงควรละทิ้งความหวังที่จะไปถึงจุดที่เราสามารถเข้าไปถึงความรู้ที่สมบูรณ์แน่นอน
ในเรื่องที่ว่าอะไรช่วยก่อรูปข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ของเรา
-
ประการต่อมา
จากจุดดังกล่าวนี่เอง ที่เราได้ประสบการณ์ทางทฤษฎีและทางการปฏิบัติที่ว่า
ในเรื่องข้อจำกัดของเราและความเป็นไปได้ที่จะออกไปพ้นข้อจำกัดเหล่านั้นเอง ก็เป็นข้อที่จำกัดและถูกกำหนดมาเสมอ
ตรงนี้เองจึงกล่าวได้ว่า เราอยู่ในจุดของการตั้งต้นใหม่เสมอ
ฟูโกต์เห็นว่าประวัติศาสตร์สังคมตะวันตกเป็นเรื่องของการเพิ่มพูนความสามารถของปัจเจกบุคคล
และการดิ้นรนเพื่อเสรีภาพ เพื่อการมีเอกองค์อำนาจในตนเอง
การเพิ่มพูนของทั้งสองประการดังกล่าวไม่เป็นไปแบบง่ายๆ
ดังที่นักคิดในศตวรรษที่ ๑๘ คาดหมาย รูปแบบทางอำนาจต่างๆ
ยังได้สื่อผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตโดยมีจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจ
เรื่องของสถาบันซึ่งมีเป้าหมายในการจัดระเบียบสังคม
เรื่องของเทคนิคที่ใช้ในการสื่อสาร เป็นต้น และเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ลักษณะที่ดูขัดกันเองของความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถและอำนาจ”
ดูเหมือนมีความสามารถที่เพิ่มขึ้นที่มนุษย์ทำอะไรได้มากขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยีต่างๆ
ที่เราคิดค้นขึ้น แต่เราไม่ได้มีเอกองค์อำนาจในตัวเราเองเพิ่มตาม คำถามสำคัญในตอนนี้จึงเป็นคำถามที่ว่า ทำอย่างไรการเพิ่มพูนของความสามารถของเราจึงจะไม่ไปเกี่ยวเนื่องกับการเสริมเพิ่มความสัมพันธ์เชิงอำนาจ?
ท่าทีแบบวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์จึงนำเราไปสู่การศึกษาระบบของการปฏิบัติ
[practical
systems] อันได้แก่ สิ่งที่มนุษย์กระทำ และวิถีที่มนุษย์ปฏิบัติ
กล่าวคือ ในด้านเทคโนโลยี -รูปแบบของความเป็นเหตุผลที่ใช้จัดการวิถีในการกระทำ
ในด้านยุทธวิธีของการปฏิบัติ- เสรีภาพที่มนุษย์ใช้ภายใต้ระบบการปฏิบัติดังกล่าว
ปฏิกิริยาที่มีต่อสิ่งที่ผู้อื่นกระทำ และการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของเกมส์นั้นๆ ให้เหมาะสม
ทั้งสองด้านนี้ถือเป็นอาณาบริเวณที่เป็นเนื้อเดียวกันในการอ้างอิง
สำหรับการวิเคราะห์อย่างวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์ดังกล่าว
แกนความรู้
แกนอำนาจ และแกนจริยธรรม
ระบบการปฏิบัติดังกล่าวนี้มีที่มาจากสามอาณาบริเวณซึ่งไม่ได้แปลกหน้าต่อกัน
แต่มีความเกี่ยวเนื่องกัน แม้จะมีลักษณะเฉพาะที่ทำให้แยกจากกันได้
แหล่งทั้งสามนี้ได้แก่ [Foucault
1984C: 48-49]
แกนทางความรู้ คือด้านของความสัมพันธ์ในการควบคุม
แกนทางอำนาจ คือด้านของการกระทำต่อผู้อื่น
แกนทางจริยธรรม คือด้านของความสัมพันธ์กับตนเอง
ทั้งสามแกนประกอบกันเป็นเนื้อหาของภาวะทางประวัติศาสตร์ของการเป็นตัวเรา [the historical
ontology of ourselves] นำไปสู่การเปิดคำถามขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งเมื่อจัดระบบแล้วจะเป็นชุดคำถามในลักษณะดังต่อไปนี้
- เราถูกก่อรูปเป็นเนื้อหาหรือ “ตัวตน” ของความรู้ของเราได้อย่างไร?
- เราถูกก่อรูปเป็นเนื้อหาหรือ “ตัวตน” ผู้ซึ่งใช้หรืออยู่ภายใต้อำนาจได้อย่างไร?
- เราถูกก่อรูปเป็นเนื้อหาหรือ “ตัวตน” ทางศีลธรรมของการกระทำของเราเองได้อย่างไร?
การวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์นี้จึงช่วยดึงสิ่งที่เป็นลักษณะทั่วไป
(อย่างน้อยของสังคมตะวันตก) ออกมาได้ในแง่ที่เรายังอยู่ในความเกี่ยวเนื่องกับภาวะทางประวัติศาสตร์ของการเป็นตัวเราอยู่
แม้ว่าตัวการวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์นี้จะเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง ในความหมายที่ว่าเป็นการสืบค้นเข้าไปในยุคสมัยหนึ่งใด
ในวาทกรรมหรือในเรื่องของการปฏิบัติเรื่องหนึ่งใดที่กำหนดมาก็ตาม
ในการสืบค้นไปถึงเรื่องการกำหนดความเป็นเพศหรือเรื่องการกำหนดความเป็นคนบ้า เป็นต้น
แต่ละเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะ ซึ่งสำหรับในเรื่องเฉพาะนี้ เราได้เห็นด้านหนึ่งของการก่อรูปเป็นสำนึกของการเป็นตัวเราปัจจุบันที่มีการถือเกณฑ์การแบ่งเพศ
การแยกคนบ้าคนดีออกจากกัน อันเป็นวิถีที่ตกทอดมาในประวัติศาสตร์นั่นเอง
โลกยังไม่ได้เข้าสู่ยุคสมัยแห่งวัยผู้ใหญ่
โลกยังไม่บรรลุวุฒิภาวะ
โดยสรุป ประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันได้ให้ประสบการณ์กับเราว่า
โลกไม่ได้เข้าสู่ยุคสมัยแห่งวัยผู้ใหญ่ที่ก้าวพ้นการไม่บรรลุวุฒิภาวะ
เรายังไปไม่ถึงระดับขั้นดังกล่าว ความหวังและการคาดหมายของนักคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง ไม่เป็นจริงในท้ายที่สุด
(หรือดังข้อวิพากษ์ของลีโอตารด์(Lyotard )ที่ว่า โครงการของความเป็นสมัยใหม่ที่เชื่อมั่นในการปลดปล่อยมนุษยชาติ
ในท้ายที่สุด ได้นำเราไปสู่เอาช์วิทซ์ [Auschwitz] ค่ายกักกันนาซีที่ส่งชาวยิวไปรมควันพิษตาย
[ดู Lyotard 1988A:18-19] กล่าวคือ
ในความเป็นจริงกลับชี้ทางไปตรงกันข้าม
ฟูโกต์กล่าวว่า
“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า เราจะไปถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่บรรลุวุฒิภาวะขั้นนั้นได้หรือไม่”
[Foucault 1984C: 49] เทคโนโลยีต่างๆ
ที่ดูเหมือนเพิ่มความสามารถให้มนุษย์ กลับนำมนุษย์ไปจองจำอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจอันซับซ้อนขึ้น
การดิ้นรนเพื่อเสรีภาพเพื่อให้ได้การเป็นเอกองค์อำนาจในตนเอง ก็เป็นเพียงตัวตนที่ก่อรูปมาทางประวัติศาสตร์ให้เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้นอยู่
และก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เราต้องมาสะสาง แต่เราก็ยังคงสืบทอดการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ตามที่ค้านท์ได้จัดวางแนวไว้
ซึ่งได้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับ “ปัจจุบัน”
แม้ว่าเราจะเลิกคาดหวังในแบบสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง
แล้วก็ตาม แต่เรายังรับท่าทีที่วิพากษ์แบบนี้ไว้เป็นเอโธสหรือวิถีดำเนินชีวิต เราใช้มันเพื่อ”เล่น”กับข้อจำกัดของตัวเราเพื่อหาความเป็นไปได้หรือหนทางไปให้พ้นข้อจำกัดเหล่านั้น
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เราเลิกมั่นใจในทิศทางที่สกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่างคาดการณ์ไว้ แต่เรายังคงรับท่าทีในแบบที่ให้ความสำคัญกับปัจจุบัน
เพราะตัวเราอยู่ตรงนี้ เรายอมรับว่าสำนึกของการเป็นตัวเราที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ถูกก่อรูปมาจากอดีต
และอดีตนี้ก็เป็นอดีตเฉพาะคือยุคสมัยทางสังคมภายใต้ความหวังแบบสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง
“เราลองจินตนาการดูว่าหากหนังสือพิมพ์รายคาบ
Berlinische Monatschrift (ที่ออกในปลายศตวรรษที่ ๑๘)
ยังดำเนินการอยู่ และยังคงถามผู้อ่านว่า “ปรัชญาสมัยใหม่คืออะไร?”
บางทีเราอาจต้องตอบแบบสะท้อนกลับว่า ปรัชญาสมัยใหม่ก็คือ ความพยายามที่จะตอบคำถามที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างไม่ฉลาดนักเมื่อสองศตวรรษที่ผ่านมาที่ว่า
Was ist Aufkarung? อะไรคือการสว่างวาบทางปัญญา?” [Foucault 1984C: 32]
คำถามที่ปรัชญาสมัยใหม่ยังไม่สามารถตอบได้ และยังไม่อาจกำจัดออกไปได้เช่นกัน
ได้ถูกถามซ้ำในรูปแบบต่างๆ มาร่วมสองร้อยปี และมีส่วนในการกำหนดว่าเราเป็นอะไร
เราคิดอะไร และเราทำอะไรในทุกวันนี้? ฟูโกต์คิดว่า ภารกิจการวิพากษ์อย่างที่เขาได้กระทำ
เพื่อสืบค้นให้เห็นการก่อรูปเป็นตัวเรานี้ จะขึ้นกับการตรวจสอบจากการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
กล่าวคือ เราจะเห็นความเป็นไปได้ของการไปพ้นขีดจำกัดดังกล่าวได้ ด้วยการวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์ดังที่ได้กล่าวมา
ความแตกต่างของความเป็นเหตุผล
๓ นัย
เมื่อเรากล่าวถึง “ความเป็นเหตุผล”
เราหมายถึงอะไร?
ริชาร์ด รอร์ตี [ในRorty
1992] ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า
อย่างน้อยเราอาจเข้าใจความเป็นเหตุผลได้ถึง ๓ นัย ดังนี้
แบบ R1
เป็นในแบบที่เรียกว่า “เหตุผลเชิงเทคนิค” หรือบางทีเรียกว่า
“ทักษะในการดิ้นรนเอาตัวรอด” อันได้แก่
ความสามารถที่จะจัดการกับสภาพแวดล้อม โดยการกำหนดปฏิกิริยาของตนต่อสิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อมได้ด้วยวิถีทางที่ประณีตและซับซ้อน
แบบ R2
เป็นในแบบที่เป็นส่วนประกอบเพิ่มเข้ามาที่มนุษย์มี แต่สัตว์ต่างๆ ไม่มี การที่เรามีส่วนประกอบนี้เพิ่มเข้ามา
เท่ากับเรามีเหตุผลที่จะใช้บรรยายถึงตัวเราเองในความหมายที่แตกต่างจากสิ่งอื่นที่เราเคยบรรยายถึงว่า
เป็นองค์อินทรีย์ที่ไม่ใช่มนุษย์
แบบ R3
คือเป็นสิ่งที่มีความหมายคาบเกี่ยวกับ”เสรีภาพ” (ดังเช่นแบบของเฮเกล) อาจใช้แทนกันกับคำว่า”ความใจกว้าง”ก็ได้ กล่าวคือ
เป็นความสามารถที่จะไม่ถูกทำให้กระอักกระอ่วนใจโดยความแตกต่างของผู้อื่น
การที่จะไม่โต้ตอบอย่างก้าวร้าวกับความแตกต่างดังกล่าว
ความเป็นเหตุผลตามนัยนี้จึงมีสถานะเป็นคุณธรรมแบบหนึ่ง
วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นเหตุผล
คำว่า”วัฒนธรรม”เอง อย่างน้อยมี ๓ ความหมายเช่นกัน ได้แก่
แบบ C1
ในความหมายว่า ชุดของวิสัยที่มีอยู่ร่วมกันในการกระทำการ
วิสัยร่วมกันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้สมาชิกในชุมชนมนุษย์หนึ่งๆ ไปกันได้กับสมาชิกอื่นๆ
และกับสภาพแวดล้อมที่พวกเขาดำเนินชีวิต ในแง่นี้วัฒนธรรมไม่ใช่คุณธรรม และไม่ใช่สิ่งที่คนมีแต่สัตว์อื่นไม่มี
ซึ่งมีลักษณะคล้าย R1
แบบ C2
ในความหมายที่เป็นชื่อเรียก”คุณธรรม”ประเภทหนึ่ง บางสิ่งในจำพวก “วัฒนธรรมขั้นสูง”
[high culture] อันเป็นผลิตผลโดยรูปแบบจากระบบการศึกษาบางแบบที่มีไว้รองรับสมาชิกสังคมส่วนที่มีฐานะดีและมีเวลาว่าง
ตัวชี้การมีวัฒนธรรมตามนัยนี้ก็คือ ความสามารถในการประสมประสานความคิดทางนามธรรม เพื่อเอาความสนุกสนานกับการ”เล่น”กับความคิดเหล่านั้น
และความสามารถที่จะถกกันอย่างยืดยาวในเรื่องเกี่ยวกับงานศิลปะหลากประเภทในแง่คุณค่าต่างๆ
C2 จึงมักจะไปกันกับ
R3
แบบ C3
มีความหมายโดยคร่าวๆ คล้ายกับสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นโดยการใช้ R2 กล่าวคือ
เป็นการได้ชัยชนะเหนือสิ่งต่ำช้า, ความไม่มีเหตุผลและสัตว์ โดยอาศัยบางสิ่งที่ถือว่าเป็นของมนุษย์ชาติอย่างเป็นสากล
คนทุกคนหรือทุกวัฒนธรรมจักต้องตระหนักรู้
และให้ความนับถือสิ่งนี้ เป้าหมายของประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็คือ การที่ได้พัฒนาเข้าสู่วัฒนธรรมในความหมายนี้
จารีตทางความคิดทางตะวันตกมักใช้ความเป็นเหตุผลทั้งสามนัยนี้ไปด้วยกัน เช่นถือว่าเรามีเพียงภาษาและเทคโนโลยี
เราก็จะได้ในสิ่งที่เราต้องการ และที่ทำได้อย่างมีประสิทธิผลเช่นนี้ก็เพราะเรามี R2 ซึ่งสัตว์อื่นไม่มี R1 ก็อาจไปด้วยกันกับ
R3 ยิ่งเราฉลาดในการปรับตัวอยู่รอดได้ผ่านสถานการณ์โดยการเพิ่มขอบข่ายและความซับซ้อนในการตอบรับของเราต่อสิ่งเร้า
เราก็ยิ่งมีความใจกว้างต่อคนประเภทอื่นๆ เป็นต้น
เราคงเห็นได้ว่า ความคิดของค้านท์ข้างต้นที่ได้กล่าวมา
ใช้ความเป็นเหตุผลแบบ
R2 ซึ่งมากันกับการให้ค่าวัฒนธรรมในแบบ C3 ทัศนะแบบ R2 เป็นทัศนะที่มีส่วนสร้างสิ่งที่เรียกว่า
“ลัทธิศูนย์กลางยุโรป” (Eurocentrism) ที่ยึดเอายุโรปเป็นศูนย์กลางเหนือวัฒนธรรมอื่นๆ
แต่เราก็ยังอาจรักษาความคิดแบบค้านท์ในเรื่อง “ศักดิศรีมนุษย์”
ได้ แม้ว่าจะไม่เอา R2 โดยถือว่าทุกวัฒนธรรมต่างมีคุณค่าซึ่งไม่อาจเอามาเทียบเคียงกัน
และใช้ C2 เพื่อสร้างการยกระดับความเข้าใจต่อแต่ละวัฒนธรรม
การสร้างชุมชนระดับโลกที่มีเอกภาพทางการเมือง
สำหรับรอร์ตีแล้ว เขาเห็นว่าเราควรปฏิเสธ
R2 และ C3
และเขาขอยึดทัศนะแบบปฏิบัตินิยมที่เน้นการมองมนุษย์ในแบบที่ไม่เป็นสิ่งที่เหนือประวัติศาสตร์
ขณะที่ใช้เหตุผลแบบ R3
ถือความใจกว้างต่อความแตกต่างของวัฒนธรรมอื่น อันเป็นการมองแบบแนวนักวิวัฒนาการ (ทางชีววิทยา
เช่น ดาร์วิน) และถือว่าความเชื่อทางวิทยาศาสตร์และศาสนา
และศิลปะนั้นเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับสนองตอบต่อความปรารถนา (โดยรวมทัศนะแบบนี้เรียกว่าทัศนะแบบ evolutionist,
technocratic pragmatism) ทั้งนี้มี
เป้าหมายอยู่ที่การสร้างชุมชนระดับโลกที่มีเอกภาพทางการเมือง [a
politically unified global community] (ความคิดส่วนใหญ่ของรอร์ตีในที่นี้
ได้มาจากจอห์น ดิวอี้ [John Dewey] นักปรัชญาสกุลปฏิบัตินิยม
ซึ่งรอร์ตียกย่องว่าเป็นพวกสกุลหลังสมัยใหม่ที่มาก่อนสกุลหลังสมัยใหม่ – ดู Rorty 1983 และ Rorty 1996)
อารยธรรมตะวันตกเมื่อได้เผชิญหน้าอย่างท้าทายจากอารยธรรมอื่นๆ
ในปัจจุบัน “ความเป็นอื่น” [otherness] นี้ เป็นเสมือนกระจกส่องให้แต่ละวัฒนธรรมย้อนดูตนเอง
ในโลกที่มีความหลากวัฒนธรรมดำรงอยู่ การสร้างเอกภาพทางการเมืองย่อมเป็นเรื่องยาก เว้นแต่เราจะปลูกฝังคุณธรรมที่เรียกว่า”ความใจกว้าง” ความข้อนี้ไม่ยากแก่การเข้าใจ
เราจะข้ามทัศนะแบบปฏิบัตินิยมของรอร์ตีไป
ประเด็นของเราอยู่ตรงที่การใช้เหตุผลแบบ R2 นั้นสะท้อนให้เห็นได้ชัดในแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง
เมื่อนักคิดสกุลหลังสมัยใหม่ {Postmodernism] ปฏิเสธความเป็นเหตุผล
พวกเขาเพียงปฏิเสธความเป็นเหตุผลบางแบบ ไม่ใช่ปฏิเสธทุกแบบ
จึงไม่ใช่พวกปฏิเสธเหตุผล [Irrationalism]
ประเด็นนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญ
มิฉะนั้นเราจะเข้าใจความคิดสกุลหลังสมัยใหม่สับสน
สภาพการณ์หลังสมัยใหม่
ความเป็นสมัยใหม่
[Modernity]
ในแง่ของยุคสมัยนั้น
เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันในสังคมตะวันตกที่นำไปสู่รัฐชาติสมัยใหม่ และระบบการผลิตแบบทุนนิยม
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ได้ขยายตัวไปทั่วโลกโดยอำนาจของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เพิ่มอำนาจทางทหารให้กับรัฐชาติทางตะวันตก
ด้วยการล่าอาณานิคมเพื่อใช้ขยายตลาดสินค้า (การล่าอาณานิคมมีมาก่อนหน้านี้แล้ว
แต่ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์หลักดักงล่าว) แล้วดึงเอาดินแดนอื่นๆ ทั่วโลกให้เข้ามาอยู่ใต้กระแสเดียวกัน
พัฒนาการข้างต้น ไม่ได้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอและเป็นไปในระดับที่เท่ากันทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม
ลักษณะแบบเชื่อมต่อกันทั้งโลก อย่างน้อยในความหมายของการรับรู้เรื่องราวและการเผชิญปัญหาร่วมได้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา
เมื่อมีการปฏิวัติทางเทคโนโลยีข่าวสารขึ้น [ดู บุญส่ง ๒๕๓๗] กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า”ความเป็นหลังสมัยใหม่”
[Postmodernity] ก็ได้ขยายวงกว้างแม้ว่าจะมีหน่อเชื้อมาก่อนหน้านี้
การเปลี่ยนย้ายทางมโนทัศน์ในบริเวณต่างๆ ทางวัฒนธรรม ถือเป็นลักษณะหลักของความเป็นหลังสมัยใหม่
ในที่นี้หลังสมัยใหม่มีความหมายแบบหลังสมัยใหม่
กระแสความคิดหลังสมัยใหม่
[Postmodernism]
ได้เริ่มในทางศิลปะก่อน
ทางด้านสถาปัตยกรรมซึ่งหันมาสนใจที่จะเรียนรู้กับรูปแบบสิ่งก่อสร้างที่เอารูปแบบจากอดีตมาประสมประสานกับรูปทรงสิ่งก่อสร้างร่วมสมัย
ในขณะที่สถาปัตยกรรมในสกุลสมัยใหม่แสดงความรังเกียจต่อสิ่งประดับ(ornaments) จากอดีตดังกล่าว สถาปัตยกรรมแบบหลังสมัยใหม่ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งปลูกสร้างดังแบบที่ปรากฏในเมืองแห่งการพนัน
เช่น ลาสเวกัส เป็นสิ่งก่อสร้างที่เราเรียนรู้ได้ [ดูเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมได้ใน
Harvey 1989: chapter 4] จากนั้นกระแสแนวคิดนี้ ก็ขยายวงไปสู่ศิลปะแขนงอื่นๆ
และครอบคลุมไปถึงงานช่างที่ไม่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นเรื่องศิลปะ ดังเช่น การถ่ายภาพ
เพราะมีลักษณะเป็นการถ่ายทอดความเป็นจริงแบบเลียนแบบ อันเป็นแนวทางที่กระแสสมัยใหม่ทางศิลปะปฏิเสธ(การใช้งานถ่ายภาพโพสต์อวัยวะร่างกายจนได้รูปทรงที่แปลกตาไป
เช่นงานถ่ายภาพของแมน เรย์ [Man Ray] ถือเป็นงานบุกเบิกสกุลหลังสมัยใหม่ชิ้นสำคัญ)
ศิลปะแนวบุกเบิก
เช่น conceptual
art หรือ happening art ที่เอาวัสดุทั่วไปมาจัดองค์ประกอบ แล้วแสดงให้ดูโดยอาจทำการแสดงตามข้างถนนก็ได้
ส่งผลกระทบต่อความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นศิลปะ พร้อมๆ ไปกับการท้าทายลักษณะของการอิงสถาบันทางศิลปะ
(อันประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ชุมชนนักวิจารณ์และเสพงานศิลปะ
ตลาดศิลปะ และมาตรฐานรสนิยมของผู้ชมต่องานศิลปะ) เมื่อมาร์เซล
ดูชอมป์ [Marcel Duchomp] เอาโถส้วมไปตั้งเป็นองค์ประกอบของงานศิลป์
เขาได้ท้าทายมโนทัศน์ของความงาม และการนิยามงานศิลปะที่เคยถูกนิยามไว้ในความหมายของการแสดงออกซึ่งอัจฉริยภาพของผู้สร้างงาน
หลังสมัยใหม่: การเปลี่ยนแปลงเหนือประวัติศาสตร์(metahistorical)
การเปลี่ยนแปลงจากสมัยใหม่สู่หลังสมัยใหม่ในทางศิลปะนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยนัยทางประวัติศาสตร์
จากยุคหนึ่งสู่อีกยุค การที่ยุคหนึ่งได้ชัยเหนืออีกยุค
แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกนัยหนึ่งซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับปรัชญา
ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงเหนือประวัติศาสตร์ [metahistorical] กล่าวคือไม่ใช่การเปลี่ยนยุคสมัย
แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจหรือท่าที ดังจะได้กล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตามก็ดังที่เฟร์รารีส [Maurizio Ferraris] ได้ชี้ไว้ว่า...
“ในปรัชญา
พวกนิยมสกุลหลังสมัยใหม่ ได้ย้ำนิยามในแบบเหนือประวัติศาสตร์ของคำ
ขณะที่พวกนิยมสกุลสมัยใหม่ มักแสดงแนวโน้มที่จะมองสกุลหลังสมัยใหม่ทางปรัชญาเป็นการอธิบายตัวเองทางประวัติศาสตร์
นี่คือข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดจำนวนมาก” [Ferraris 1992: 15]
Lyotard:
สภาพการณ์แบบหลังสมัยใหม่ การเปลี่ยนย้ายทางญาณวิทยาและความศรัทธา
สำหรับฌอง ฟรองซัว ลีโอตารด์ [Jean-François
Lyotard] แล้วสภาพการณ์แบบหลังสมัยใหม่ก็คือ
สภาพการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนย้ายในอย่างน้อยสองระดับสำคัญ
๑. เกิดการเปลี่ยนย้ายจากความพยายามสร้างญาณวิทยาแบบหารากฐานของความรู้
[Foundationalism] ไปสู่ญาณวิทยาแบบที่ดูความสอดคล้อง [coherence]
๒. การเปลี่ยนย้ายจากความศรัทธาที่มีต่อความก้าวหน้าในการผลักดันสังคมมนุษย์
ไปสู่ความสงสัยต่ออนาคตของมนุษย์
สภาพการณ์หลังสมัยใหม่นี้ ถูกแสดงให้เห็นโดยการ”ระเหิดหาย”ของแนวทางการอธิบายทางสังคมแบบที่เรียกว่าการพรรณนาระดับมหภาค [the
grand narrrative] (อภิมหาคำบรรยาย) อันเป็นการวางแนวเล่าเรื่องให้มีเรื่องราวที่เราเอามาจับประวัติศาสตร์
และแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของอดีตที่มีความแน่ชัดและมีอนาคตที่เราทำนายได้
การพรรณนาเชิงปกรณัม
V.S.
การพรรณาเพื่อการปลดแอกหรือมหพรรณนา
เพื่อไม่ให้สับสน ขอให้ดูความแตกต่างของการพรรณนาสองแบบ
[Lyotard
1988A: 17-21]
๑. การพรรณนาเชิงปกรณัม
[mythic narratives] การพรรณนาแบบนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชุมชนแบบจารีต
เป็นสิ่งที่มีเป้าหมายกลับไปหาจุดตั้งต้นที่เป็นรากเหง้า พรรณนาถึงจุดกำเนิดรวมกับเรื่องเล่าสั้นๆ
นิทานและตำนาน มุ่งแสดงการมีเอกลักษณ์หรือเป็นพวกเดียวกัน ระหว่างผู้เล่ากับผู้ฟัง
และเน้นเรื่องความเชื่อ จึงมีลักษณะเป็นพิธีกรรมด้วย ตัวอย่างเช่น [Lyotard1988A:
43-47]
ชาวอินเดียนเผ่าคาชินาฮัว
[Cashinahua]
เมื่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับเผ่าหรือตำนานของเผ่าให้เราฟัง
โดยการเริ่มเรื่องว่า “นี่คือเรื่องราวของ... ดังที่ตัวข้ามักได้ยินได้ฟังมา
ในทางกลับกันข้าก็จะได้เล่ามันให้เจ้าได้ฟัง เอ้าจงฟังซะ!” และในตอนท้ายเรื่องก็จะจบลงด้วยว่า
“นี่ก็คือตอนจบของเรื่อง... เขาผู้เล่าเรื่องนี้ให้เจ้าฟังก็คือ...
(ชื่อแบบคาชินาฮัว) อันพวกผิวขาวรู้จักกันในนาม...
(ชื่อในภาษาสเปนหรือโปรตุเกส)” ในการเล่าเรื่องแต่ละคราวพิธีกรรมทางการพรรณนานี้ก็ได้ผูกชื่อสามชื่อ
(ผู้เล่า, ผู้ฟัง, และตัววีรบุรุษในเรื่อง) เข้าด้วยกัน
เรื่องเล่านี้จึงมีความชอบธรรมเพราะได้จารึกตัวมันลงในโลกที่มีนามของคาชินาฮัว
สายโซ่ของการส่งผ่านดังกล่าวนี้ก็ได้สร้างโลกทางวัฒนธรรมหนึ่งขึ้น
การเข้ามาในโลกแห่งนี้ต้องมาโดยการชักนำของการเรียกชื่อเข้าสู่จารีตที่ได้จัดวางมาภายในเรื่องเล่า
การเป็นส่วนหนึ่งของโลกคาชินาฮัวจึงเกิดขึ้น
และชื่อทั้งสามก็ได้หลบพ้นจากความไม่คงทนและการไม่เป็นอะไร
ผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งนี้เท่านั้นที่เป็นคนจริงๆ
เป็นส่วนหนึ่งของโลกของชาวคาชินาฮัว
.
๒. การพรรณนาเพื่อการปลดแอกหรือมหพรรณนา
[the narratives of emancipation or metanarratives] เป็นการพรรณนาที่มีเป้าหมายสู่อนาคต
ถูกชี้นำโดยตัวความคิดในเรื่องเสรีภาพ “เสรีภาพ”ในสมัยใหม่ก็คือ ความสามารถเชิงอำนาจที่จะสลายภววิสัยเฉพาะลงไปได้
ภววิสัยเฉพาะหรือความเป็นจริงพื้นฐานของสังคมหนึ่งใดในที่นี้ มีจุดมุ่งหมายที่การกำจัดสถาบันในแบบจารีตต่างๆ
อันถือได้ว่าเป็นตัวหน่วงเหนี่ยวเสรีภาพ มหพรรณนา(อภิมหาคำบรรยาย)ของสกุลสมัยใหม่ ยังได้สลายผู้คนให้กลายเป็น
“มวลชน” อันเป็นสิ่งที่กำเนิดขึ้นมาในยุคใหม่
ในยุคใหม่เช่นเดียวกัน
การพรรณนาแบบปกรณัมได้ถูกนำมารับใช้อำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ ดังเช่นกรณีของพวกนาซี
ซึ่งอิงการอ้างเอกองค์อำนาจในเรื่องที่มาแต่แรกเริ่ม กล่าวคือ ชาติพันธุ์ดั้งเดิม
ชนชาติอารยันเผ่าพันธุ์บริสุทธิแต่เพียงเผ่าพันธุ์เดียว ที่ต้องแปดเปื้อนในปัจจุบัน
เพราะการแอบแฝงของเผ่าพันธุ์ที่ด้อยกว่า เช่น พวกยิว พวกสลาฟ
อารยันเท่านั้นที่จะรับรองการเป็นอารยันของบุคคลหนึ่งใดได้
การนำความบริสุทธิแต่ดั้งเดิมให้กลับคืนมาใหม่ จึงเป็นภารกิจของเผ่าพันธุ์อันต้องรีบดำเนินการ
นี่คือสิ่งที่พวกนาซีใช้อ้างเพื่อให้ความชอบธรรมกับปฏิบัติการของตนเอง
ในกรณีแบบเดียวกันอาจกล่าวได้ว่า
การอ้างความเป็นไทยโดยกำหนดให้ผูกติดกับสถาบันทางจารีตบางสถาบัน และใช้เป็นแหล่งรับรองความเป็นไทยให้กับบุคคลใดหรือกลุ่มชนใด
รวมทั้งกีดกันผู้ใดออกไป และกำหนดว่าการมีความเป็นไทยนี้ เป็นสิ่งเดียวที่ชักนำคนผู้นั้นให้ดำรงอยู่ในโลกของคนไทยได้
การพรรณนาภายใต้โครงเรื่องแบบนี้เองที่เราพบเห็นอยู่เสมอ
ก็คือลักษณะในแบบเดียวกับการพรรณนาแบบปกรณัมที่มุ่งย้อนกลับไปหารากเหง้านั่นเอง คนไทยทั่ว
ๆไปจึงเป็นพวกที่มีท่าทีคัดง้างความเป็นสมัยใหม่โดยแท้
ทั้งไม่เป็นพวกสมัยใหม่หรือพวกหลังสมัยใหม่
การพรรณนาไม่ว่าแบบใดนั้นจึงมีบทบาทในการเป็นภาษาที่ใช้อ้างเพื่อให้ความชอบธรรม
เหตุผลนิยมเชิงวิพากษ์
[Critical
Rationalism] การมุ่งจัดวางการเมืองแห่งจุลภาควิทยา
ความคิดสกุลหลังสมัยใหม่อยู่ในฐานะที่เป็นหัวหอกบุกเบิกการสะท้อนไตร่ตรองยุคสมัยหรือปัจจุบันของตัวเรา
สำหรับลีโอตารด์แล้ว สิ่งที่เขากระทำก็คือ กิจกรรมของเหตุผลนิยมเชิงวิพากษ์ [Critical
Rationalism] ที่มุ่งจัดวางการเมืองแห่งจุลภาควิทยา [a
“politics” of micrologies] (ดังที่ฟูโกต์ได้ชี้แนวทางไว้ว่า ที่เราทำได้ในการไปให้พ้นข้อจำกัดก็คือการปรับแก้ในบางส่วน)
เพื่อสร้างแนวในการต่อต้านอำนาจเบ็ดเสร็จนิยมยุคใหม่ที่ไม่ใช่แบบของพวกนาซี
แต่เป็นแบบของทุนนิยมซึ่งเป็นความเป็นจริงในยุคสมัยของเรา (ส่วนแบบของนาซีได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว) และเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากกว่าเพราะ
“อาจกล่าวได้ว่า ทุนไม่ต้องการการให้ความชอบธรรม
มันไม่ได้กำหนดอะไรเลยในเรื่องพันธกิจตามนัยที่แคบที่สุด
และผลที่ตามมาก็คือมันไม่มีความจำเป็นต้องอ้างตัวแทนเพื่อมาสร้างการกำหนดเงื่อนไข
ทุนปรากฎในทุกที่ แต่ในฐานะสิ่งจำเป็นไม่ใช่ในฐานะจุดสุดท้าย” [Lyotard
1988A: 59]
ในขณะที่การพรรณนาแบบปกรณัมเช่นของชาวคาชินาฮัวต้องอ้างตัวแทน
[instance]
คือ ผู้เล่าเรื่อง, ผู้ฟัง, และตัววีรบุรุษในเรื่องเล่า
เพื่อเป็นการเข้าสู่พิธีกรรมชักนำสู่โลกของเผ่าคาชินาฮัว
ขณะที่การพรรณนาแบบมหพรรณนาต้องใช้ “ประชาชน” “มวลชน” หรือ “ชนชั้นกรรมาชีพ”
เพื่อเป็นตัวแทนของมหากาพย์แห่งการปลดปล่อยจากโลกเก่า แต่สำหรับทุนนิยมกลับไม่ใส่ใจที่จะต้องทำเช่นนั้น
การล่มสลายหรือ “ระเหิดหาย” ของการพรรณนาแบบมหพรรณนาจึงไม่กระทบต่อมัน!
มนุษย์ไม่ได้มีเสรีภาพมากขึ้นตามความคิดสมัยใหม่
เราเริ่มเกิดความสงสัยและไม่เชื่อถือต่อสิ่งที่เรียกว่าผลตามมาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เช่น ประวัติศาสตร์มนุษย์จะต้องพัฒนาไปสู่การมีเสรีภาพของมนุษย์โดยบริบูรณ์
หรือที่ว่า ในท้ายที่สุดกรรมาชีพก็จะนำสังคมไปพ้นทุนนิยมสู่สังคมอุดมคติได้
เป็นต้น. ปรากฏการณ์ที่เกิดในสองศตวรรษที่ผ่านมากลับชี้ไปในทางตรงกันข้าม
หลังปฏิวัติฝรั่งเศส แนวทางแบบจาโคแบง มากับการทำลายล้าง
สังคมนิยมโซเวียต ตามมาด้วยค่ายกักกันในไซบีเรีย
นอกจากนี้สงครามโลกสองครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้ชาวอาณานิคมแต่เดิมเป็น “ไท”
มากขึ้น นอกจากต้องพึ่งพิงและเดินตามตัวแบบการพัฒนาของโลกตะวันตกเจ้าอาณานิคมแต่เดิม
การสงสัยว่า เรากำลังถูกหลอกโดยมหพรรณนา(อภิมหาคำบรรยาย)นี้เอง ที่นำไปสู่การสงสัยต่อความจริงของวาทกรรมแบบนี้
นอกจากนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สร้างสภาพการณ์ของโลกปัจจุบันก็กลับไม่ได้ทำให้มนุษย์เราเป็น
“ไท” มากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมอำนาจให้สถาบันต่างๆ ที่มนุษย์เราได้สร้างขึ้น มีอำนาจทำการจองจำเราไว้ได้อย่างแยบยลและยากที่จะหลีกพ้น
มนุษย์ “ก้าวหน้า”
ขึ้นจริงหรือ?
การแผ่ขยายของข้อสงสัยดังกล่าวและความไม่มั่นใจดังกล่าวนี้เอง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสภาพการณ์แบบหลังสมัยใหม่
นอกไปจากความไม่มั่นใจว่า เราจะหาสิ่งที่เป็นรากฐานของความรู้ได้ หรือจำเป็นต้องให้มีรากฐานดังกล่าว
กระแสสกุลหลังสมัยใหม่จึงเป็นการทดลองเพื่อหาหนทางไปพ้นสภาพการณ์อันน่ากระอักกระอ่วนใจดังกล่าว
ท่าทีแบบหลังสมัยใหม่
ในแง่หนึ่ง ”ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า
สกุลหลังสมัยใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของพวกสมัยใหม่” [Lyotard 1988A:
12] ในข้อเขียนที่ชื่อว่า ”Rewriting
Modernity” [Lyotard 1988B] หลังจากแยกความหมายสองประการของ”การเขียนขึ้นใหม่” ซึ่งความหมายแรกคือ “การกลับสู่จุดตั้งต้น” และความหมายที่สองคือแบบที่ฟรอยด์เรียกว่า
a “working through”[Durcharbeitung] ในจิตวิเคราะห์
อันได้แก่ความต้องการที่จะจำได้ ที่จะรวบรวมเวลาที่ถูกตัดออกเป็นส่วนเสี้ยวและยังไม่ถูกควบคุม
กล่าวคือ เข้าไปสู่สิ่งที่หลบซ่อนไปจากเรา ไม่ใช่แค่โดยอคติในอดีต
ลีโอตารด์ได้โยงกลับมาสู่ความเข้าใจที่มีต่อความคิดสกุลหลังสมัยใหม่ที่ว่า
เป็นการเขียนสกุลสมัยใหม่ขึ้นใหม่ ในความหมายที่ว่า
การจำได้ไล่กลับไปถึงตรงจุดที่แสดงให้เห็นถึงอาชญากรรม, บาป,
ความหายนะที่ถูกก่อเกิดขึ้นมาโดยการก่อตั้งสมัยใหม่ รวมถึงว่า
ในท้ายที่สุดสามารถเผยให้เห็นถึงชะตากรรมที่การเสี่ยงทายเพื่อทำนาย ณ
ตอนตั้งต้นความเป็นสมัยใหม่ได้มีการเตรียมการไว้ และจะให้ประสบผลเป็นจริงในประวัติศาสตร์ของเรา
ความหมายนี้เองก็เป็นการติดกับดัก
เพราะการสืบค้นกลับไปหารากเหง้าของชะตากรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวชะตากรรม
และคำถามถึงจุดตั้งต้นของพล็อตเรื่องเองที่เสนอเข้ามาในตอนท้ายเรื่อง ก็เป็นเพียงแค่ตัวก่อรูปจุดจบเท่านั้น
กล่าวได้ว่า ตามความหมายนี้ที่มุ่งกลับไปหาจุดกำเนิดของอาชญากรรมที่ถูกกำหนดไว้ทำให้เราไม่อาจพูดถึง
“อาชญากรรมโดยบริบูรณ์” ได้
เพราะไม่มีอาชญากรรมใดที่ไม่เป็นที่รู้จักกันมาก่อนหน้านี้
ความลับจะไม่เป็นความลับโดยแท้จริงได้หากไม่มีใครรับรู้ว่ามันเป็นความลับ [Lyotard
1988B: 27] ตรงนี้เป็นความขัดแย้งในตัวเอง
ทำความเข้าใจคำว่า
“Post-“
ตามแนวคิดของ Lyotard
ในความหมายหนึ่ง คำว่า “หลัง-[Post-]”
ในกรณีของหลังสมัยใหม่ที่ใช้หมายถึง ชี้การเข้ามาแทนที่
การกำหนดทิศทางใหม่จากที่มีมาก่อนหน้านี้
และดังนั้นจึงเป็นการแตกหักจากจารีตและมุ่งสร้างวิถีใหม่ขึ้นแทนโดยบริบูรณ์
ในความหมายนี้ซึ่งเป็นการลำดับเหตุการณ์อย่างเป็นแนวตรงเป็นนิยามในแบบสมัยใหม่โดยตัวมันเอง(อะไรที่แตกหักกับอดีตถือเป็นสมัยใหม่
ดังนั้นในเวลานี้เรากำลังแตกหักกับแนวคิดสมัยใหม่
ที่เรากำลังทำอยู่นี้จึงเป็นการทำแบบสมัยใหม่นั่นเอง) จึงไม่ใช่ความหมายที่ต้องการ. ลีโอตารด์ยังเห็นด้วยว่า ที่จริงแล้วการอิงความหมายข้างต้น เป็นเพียงวิถีของการลืมหรือเก็บกดอดีตเท่านั้น
กล่าวคือ เป็นการย้ำซ้ำอดีต แต่ไม่อาจไปพ้นจากมัน
ส่วนความหมายของคำว่า “หลัง-”
สำหรับสกุลหลังสมัยใหม่นั้นก็คือ แบบเดียวกับ “ana-”
ในชุดของคำจำพวก (การวิเคราะห์ –การแยกส่วนทั้งหมดเป็นส่วนๆ เพื่อเข้าไปตรวจสอบลักษณะ
การทำหน้าที่ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นต้น) analysis, (การรำลึกเหตุการณ์ในอดีตได้)
anamnesis, (การนำขึ้นมาให้เห็น) anagogy, (การจับเป็นรูปขึ้นมาใหม่)
anamorphosis ซึ่งเป็นการเสริมเติมให้กับ (การลืมจุดตั้งต้น)
an “initial forgetting” [Lyotard 1988A: 80] กล่าวโดยสรุป
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(technoscience)
ทำให้ความป่วยทางสังคมหยั่งรากลึก
“ตัวผมเองได้ใช้คำ
‘หลังสมัยใหม่’ ในวิถีทางแบบสะกิดเบาๆ ในการจัดวาง
(หรือการเอาเข้าแทนที่) ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องความรู้
ให้ปรากฏในแสงไฟที่ฉายส่อง(เน้น). ความเป็นหลังสมัยใหม่ไม่ได้หมายถึงยุคสมัยใหม่
แต่เป็นการเขียนบางลักษณะที่ความเป็นสมัยใหม่ได้อ้างเอาไว้
และโดยเฉพาะต่อข้ออ้างของความเป็นสมัยใหม่ที่วางฐานความชอบธรรมไว้ที่โครงการในการปลดปล่อยมนุษยชาติโดยรวมโดยผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ทว่าดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การเขียนขึ้นใหม่ดังกล่าวนี้ ได้ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลาที่ยาวนานในบัดนี้ในตัวความเป็นสมัยใหม่เอง”
[Lyotard 1988B: 34]
พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ลีโอตารด์เรียกว่า
technoscience อันหมายถึงเครือข่ายขนาดมหึมา) กลายเป็นเครื่องมือให้ความป่วยทางสังคมหยั่งลงลึกมากกว่าที่จะบรรเทาลง
จนเราไม่อาจเรียกการพัฒนาว่าความก้าวหน้าได้อีกต่อไป
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหล่านี้ก็เสมือนมีกลไกขับเคลื่อนที่เป็นอิสระจากเรา
มันไม่ตอบสนองกับความต้องการของมนุษย์อีกต่อไป ยิ่งกว่านั้นมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของปัจเจกบุคคลหรือเชิงสังคมโดยรวม
ก็ดูเหมือนจะถูกทำให้ไร้เสถียรภาพโดยผลและจากตัวการพัฒนาเอง “เราอาจกล่าวได้ว่า
สภาพการณ์ของมนุษยชาติได้กลายเป็นสภาพการณ์หนึ่งในการไล่กวดตามกระบวนการสั่งสมวัตถุใหม่ๆ
(ทั้งในเชิงปฏิบัติและในเชิงความคิด)” [Lyotard
1988A: 78]
ความล้มเหลวของสิ่งที่เรียกว่า “โครงการของความเป็นสมัยใหม่”
เราได้เป็นประจักษ์พยานต่อความล้มเหลวของสิ่งที่เรียกว่า “โครงการของความเป็นสมัยใหม่”
[the project of modernity] ที่อ้างการดำเนินภายใต้หลักการเพื่อมวลมนุษยชาติ
มนุษยชาติต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายของความซับซ้อน
เราเป็นดั่งกัลลิเวอร์ในนิยายที่ประเดี๋ยวตัวเราก็ใหญ่ไป
อีกประเดี๋ยวตัวเราก็เล็กลง และไม่เคยมีขนาดตัวที่พอดี
เราต้องเผชิญการท้าทายที่น่าสะพรึงกลัวต่อความอยู่รอดของตัวมนุษยชาติเอง
ความต้องการความมั่นคง การมีเอกลักษณ์ และความสุข
ซึ่งมาจากการที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตและเป็นสิ่งทางสังคม มาบัดนี้ดูจะไม่ไปกันกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
ลีโอตาร์ดเห็นว่า
ภารกิจสำคัญในปัจจุบันของเราคือ การโจมตีการหลงตัวเองของมนุษยชาติ [humanity’s
narcissism] [Lyotard 1988A: 85] ที่มากันกับมหพรรณนา(อภิมหาคำบรรยาย)ที่ดำเนินมาแล้วร่วมสองศตวรรษ
ภารกิจสำคัญในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของการทำให้มนุษยชาติเชี่ยวชาญในการปรับตัวเองเข้ากับวิถีในการรู้สึก,
ในการเข้าใจและกระทำการภายใต้ความซับซ้อนอย่างยิ่งที่เราจำต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
นอกจากนี้ลีโอตารด์ยังเสนอให้เรามองถึงความหลากหลายของการอ้างที่หลากหลายในการเป็นความรู้
ซึ่งหมายถึงการยอมรับว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่มีสิทธิพิเศษกว่าการอ้างอื่นๆ
ตรงนี้ลีโอตารด์เห็นด้วยกับข้อเสนอของพอล ฟายราเบินด์ [Paul K.Feyerabend] ที่ว่า วิทยาศาสตร์กับการสว่างวาบทางปัญญาไม่ใช่สิ่งที่ต้องมีเอกลักษณ์ร่วมกัน
[ดู Feyerabend 1975]
โลกที่น่าสะพรึงกลัว
ในสังคมวิทยา ความเป็นหลังสมัยใหม่ถูกมองในฐานะที่เป็นการเปลี่ยนย้ายเชิงสถาบันในระดับมหภาค
เราอยู่ในกระบวนการของการปรับให้เป็นยุคหลังสมัยใหม่ [Postmodernization] สถาบันแบบเดิมๆ กำลังสลายตัวลง
รูปแบบใหม่ๆ ของสถาบันแบบใหม่ได้เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จินตภาพของเราที่มีต่อสังคมมนุษย์โดยรวมกำลังเปลี่ยนไป
สิ่งเหล่านี้มากับความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารได้สร้างผลกระทบด้านลึกต่อเรา
ผลดังกล่าวนี้มีหลายประการ
ในที่นี้เราจะกล่าวถึงเพียงบางประการสำคัญที่นักคิดสกุลหลังสมัยใหม่เน้น
-
ความเป็นเอกของเวลาจริง [the primacy of real time] เราเริ่มพูดถึงกันบ่อยขึ้นถึงการก้าวเข้าสู่สังคมข่าวสาร การที่โลก”เล็ก”ลงจนดูเสมือนเราอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน แล้วเฝ้าดูความเป็นไปของกันและกันได้อย่างใกล้ชิด.
กระแสของโลกาภิวัตน์โดยความเป็นจริงไม่ใช่พื้นที่ในโลกแคบเข้า
แต่เป็นเรื่องการสื่อสารข่าวสารที่รวดเร็วขึ้น อันทำให้ระยะห่างลดความหมายลง
หมู่บ้านโลกในที่นี้จึงเป็นเรื่องความรู้สึกและความสำนึกถึงความไม่แตกต่างของระยะทาง
แม้ว่าในความเป็นจริงพื้นที่ยังคงทิ้งระยะห่างจากกันดังเดิมก็ตาม
ในโลกของการสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์ โลกเสมือนจริง
[virtual
world] ได้ถูกสร้างขึ้น พื้นที่ในโลกซึ่งไม่มีอยู่จริง ณ
ที่ใดนอกจากบนจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเพียงตัวเชื่อมต่อพื้นที่ที่เรียกว่าไซเบอร์สเปซ
[cyberspace] เท่านั้น สเปซหรือพื้นที่ในที่นี้ไม่ใช่สถานที่ ไม่ใช่ศูนย์ปฏิบัติการใดๆ
แต่เป็นเวลา การสื่อสารโดยการลดความต่างของเวลาคือสิ่งที่เราเรียกว่า “เวลาจริง”. พอล
วิริลิโอ [Paul Virilio] ได้ชี้ว่า …
“ไซเบอร์สเปซเป็นรูปแบบใหม่ของภาพทัศน์
มันไม่ได้เป็นภาพทัศน์ทางโสตทัศน์หรือทางจักษุทัศน์โดยตรงดังที่เรารู้จัก
มันเป็นภาพทัศน์ใหม่ที่ปราศจากสิ่งอ้างอิงหรือที่มีลำดับมาก่อน มันเป็นภาพทัศน์ทางการสัมผัส
มองเห็นที่ระยะห่าง ได้ยินได้ฟังที่ระยะห่าง เหล่านี้เป็นพื้นฐานของภาพทัศน์ทางโสตทัศน์และจักษุทัศน์
ทว่าการสัมผัสที่ระยะห่าง รู้สึกที่ระยะห่าง
การเปลี่ยนย้ายภาพทัศน์ไปสู่พื้นที่ที่ไม่เคยถูกนำมาประยุกต์เลยก่อนหน้านี้
อันได้แก่ การสัมผัสพบปะ, การสัมผัสพบปะทางอิเล็คโทรนิค,
เทเลค็อนแท็ค-โทรสัมผัส” [Virilio
1995: 2]
พัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่า”ทางด่วนข้อมูล”
อันเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เชื่อมต่อทั่วโลกและรับส่งสื่อสารแบบสองทาง
ในขณะเดียวกัน ได้นำเราเข้าเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ใหม่ กล่าวคือ
การไม่รู้จะหันเหไปทางไหน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การลดทอน- (ความเป็น) สถานการณ์” [“de-situation”] การรับรู้ความเป็นจริงได้ถูกแตกเป็นสองอย่างคือ ความจริงตัวจริง กับความเสมือนจริง
เราสูญเสียจุดของการอ้างอิงถึงไป การมีอยู่ก็คือการดำรงอยู่ในที่นี่และเวลานี้
ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างลงลึกต่อเราหลายประการสำคัญดังนี้
๑. การเกิดประชาธิปไตยไซเบอร์ ประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ผูกติดกับนคร ซึ่งเป็นพื้นที่
ยิ่งพื้นที่กว้างใหญ่ก็ยิ่งเกิดความจำเป็นที่จะต้องใช้ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนผ่านพรรคการเมือง
ประชาธิปไตยทางตรงทำได้แต่ในรัฐเล็กๆ เท่านั้น สื่อสารแบบสองทางในไซเบอร์สเปซทำให้เกิดความหวังว่าเราจะสร้างประชาธิปไตยทางตรงในรูปลักษณ์ใหม่
คือไม่ต้องเดินทางไปออกความเห็นและลงคะแนนเสียง
เพียงแค่นั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ก็กระทำกิจดังกล่าวได้แล้ว พร้อมไปกับคนอื่นๆ
ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเรา สิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยไซเบอร์”
หรือ “ประชาธิปไตยเสมือนจริง” นี้ หลายคนเชื่อว่าในท้ายที่สุดจะเข้ามาแทนที่ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน
วิริลิโอเห็นว่า
นี่คือครั้งแรกที่ประวัติศาสตร์จะแผ่ทอดออกไปภายใต้กรอบเวลาเดียวกัน
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เวลาจริงได้เข้ามาครอบงำพื้นที่จริง “กำจัดระยะห่างและการแผ่กว้าง และได้แทนที่สิ่งเหล่านี้ด้วยระยะเวลา
ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่มีช่วงห่างกันน้อยมาก” [Virilio 1995: 3]
๒. การสำลักข่าวสาร ข่าวสารไม่อาจดำรงอยู่โดยปราศจากการให้ข่าวสารลวง
รูปแบบของความเป็นไปได้ในการให้ข่าวสารลวงในเวลานี้ ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการควบคุมข่าวสารอย่างจงใจก็คือ
สิ่งที่เรียกว่า “ระเบิดข่าวสาร” (ซึ่งไอน์สไตนได้เคยคาดการณ์ไว้ว่า
จะเป็นระเบิดลูกที่สองตามหลังระเบิดอะตอม) - การสำลักความหมาย
หรือการสูญเสียการควบคุมด้วยเหตุผล
เราดูได้จากการไร้บูรณภาพที่แผ่ไปสู่ปัจเจกบุคคลที่มาประกอบกันเป็นสังคมของเรา
ดังอาการที่แสดงให้เห็นปรากฏผ่านการว่างงานในเชิงโครงสร้าง
การทำงานที่บ้านผ่านสื่ออิเล็คโทรนิค
การจัดวางทำเลใหม่และการกระจัดกระจายออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ตัวอาการเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการณ์ที่ปัจเจกบุคคลได้กระจัดกระจายออกไปจากกัน
ความสัมพันธ์ทางสังคมได้เปลี่ยนรูปเป็นอีกแบบหนึ่ง
เช่นเดียวกับที่นิวเคลียร์นำความหายนะที่เห็นได้ตามมา
การระเบิดของข่าวสารก็ให้ผลทางทำลายล้างไม่ด้อยกว่ากัน
พร้อมกันกับที่มีการสร้างเรือ รถไฟ เครื่องบิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เราก็ได้ทำให้เกิดเรืออัปปาง รถไฟตกราง เครื่องบินตก และเชอร์โนบิล(โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่ว)...
โดยทันใดเช่นกัน วิริลิโอชี้ว่า ในกระบวนโลกาภิวัตน์ของโทรคมนาคม
เราก็คาดได้ว่าจะพบอุบัติเหตุในวงกว้าง ตัวสิ่งนี้ยังไม่เป็นที่รู้ชัด
แต่เวลาที่ผู้คนพูดกันถึง “การละลายทางการเงิน” ก็คือความเปรียบที่นำมาเทียบกันได้เหมาะ
อันตรายของอุบัติภัยนี้ไม่ใช่มาจากตัวข่าวสาร
แต่อยู่ที่ตัวความเร็วสัมบูรณ์ในการประมวลผลโดยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อันได้แก่ อินเตอร์แอ็คทีฟหรือสื่อแบบสองทาง
ซึ่งที่จริงก็คือจากตัวเครือข่ายโดยองค์รวม [the Net] ของข่าวสารทางคอมพิวเตอร์ที่หลั่งไหลสู่เรา
อันเป็นสิ่งที่เรียกว่าความเบ็ดเสร็จ [totality] เพ็นตากอนหน่วยความมั่นคงทางการทหารของสหรัฐผู้สร้างอินเตอร์เน็ตขึ้นมา
ยังสามารถกล่าวถึงมันว่าเป็น “การปฏิวัติในกิจทางทหาร”
และกระทั่งกล่าวถึง “สงครามทางความรู้”
ซึ่งจะมาแทนที่”สงครามของการเคลื่อนไหว”
[Virilio 1995: 4] ในการส่งกำลังรบในแบบเก่า
ชัยชนะของสหรัฐในสงครามอ่าวเปอร์เซียนั้น เป็นชัยชนะบนฐานของความเหนือกว่าในด้านข่าวสาร
โดยอาศัยเทคโนโลยีล่าสุด กล่าวได้ว่า อเมริกาชนะตั้งแต่ยังไม่ได้ออกรบ
เรากำลังเผชิญหน้ากับการไร้เสถียรภาพในชีวิตประจำวัน และเราต้องการวัฒนธรรมไซเบอร์
[cybercult] กล่าวคือ เทคโนโลยีอิเล็คโทรนิคใหม่ๆ จะมีส่วนเสริมต่อการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
หากเราต่อสู้ดิ้นรนโดยแรกสุดกับการสร้างภาพล้อเลียนสังคมโลก
ซึ่งเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาโดย ประชาชาติต่างๆ ในขณะที่พวกเขาถูกเหวี่ยงด้วยความเร็วตลอดเวลาอย่างที่ไม่อาจหลีกพ้นได้ให้เข้าสู่การสร้างทางด่วนข้อมูล
ประชาธิปไตยไซเบอร์หรือประชาธิปไตยเสมือนจริง [virtual democracy] นี้ โดยความจริงแล้วก็คือ การไม่รู้จะหันเหไปทางไหนทางการเมืองนั่นเอง
การขยายตัวของเทคโนโลยีข่าวสารทำให้อำนาจของเรตติงและการหยั่งเสียงเพิ่มพูนขึ้น
แต่ไม่ได้หมายความว่าเกิดประชาธิปไตยจริง
-
สภาพการณ์ “หลังการร่ำสุราอย่างหัวราน้ำ” ฌอง โบดริลญารด์ [Jean Baudrillard] ได้เสนอ [ใน Baudrillard 1990] ว่า เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่เรียกว่า
“หลังการร่ำสุราอย่างหัวราน้ำ”[“after the orgy] การร่ำสุราอย่างหัวราน้ำก็คือ ชั่วขณะที่ความเป็นสมัยใหม่ระเบิดใส่เรา
ชั่วขณะของการปลดปล่อยในทุกอาณาบริเวณ
การปฏิวัติในทุกอาณาบริเวณชีวิตได้เกิดขึ้นจริงและเป็นไปด้วยดี
แต่ไม่เป็นไปในวิถีทางที่เราคาดหวัง ความหวังของนักคิดสกุลสมัยใหม่และมหพรรณนา(อภิมหาคำบรรยาย)
เรื่องการปลดปล่อยมนุษยชาติ(emancipation)ได้เป็นความจริงแล้วในบัดนี้
ทว่า
ในทุกที่ที่ถูกปลดปล่อยนั้นปลดปล่อยจนกระทั่งเข้าสู่สภาพของการหมุนเวียนตัวมันเองแต่เพียงอย่างเดียว
ชะตากรรมของสิ่งที่ถูกปลดปล่อยก็คือ การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างไม่หยุดหย่อน
จึงเพิ่มความไม่อาจคาดการณ์หรือกำหนดได้ ไม่มีอะไรหายไปแบบถึงจุดจบโดยการตายไป
มีแต่หายไปโดยการแพร่ออกไปหรือโดยการปนเปื้อน อันเป็นรูปแบบของการกระจัดกระจายออกไปแบบภาพแฟรคทัล
(fractal)
(เวลาเราเอากระจกหลายชิ้นมาเรียงล้อมด้านและนำเศษแก้วสีต่างๆวางลงไปจะเกิดภาพในกระจกแต่ละบานขึ้นเมื่อเราเรียงเศษแก้วนั้นใหม่
ภาพใหม่ก็จะเกิดขึ้นในกระจกแต่ละบานซึ่งก็ต่างสะท้อนภาพที่เกิดในกระจกบานอื่น
ภาพก็จะสะท้อนไปมาระหว่างกระจกไม่สิ้นสุด) หรือ”การแพร่กระจายแบบไวรัส”ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันจะผลิตตัวมันเองออกไปไม่สิ้นสุด
รูปแบบวัฒนธรรมของเราในปัจจุบันเป็นรูปแบบนี้ คุณค่าต่างๆ ผลิตตัวมันเองในแบบนี้
ดังนั้นจึงไม่มีจุดที่ให้ใช้เป็นตัวอ้างอิงอีกต่อไป ภายใต้ปฏิกิริยาลูกโซ่ดังกล่าวนี่เอง
ที่ทำให้การให้ค่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งก็หมายความว่าเราไม่อาจพูดถึง “คุณค่า” ได้อย่างมีความหมายอีกต่อไป
โบดริลญารด์เรียกวัฒนธรรมในขณะนี้ว่า “วัฒนธรรมฉบับสำเนา”
[“culture degree Xerox”] [Baudrillard
1990: 9] ทุกอย่างล้วนเป็นตัวสำเนาและไม่มีตัวจริงให้เอามาตรวจสอบ
เราไม่อาจหล่อเลี้ยงความหวังที่จะให้ภาพอุดมคติเป็นจริงขึ้นได้อีกต่อไป
เพราะว่าทุกภาพอุดมคติได้บรรลุความเป็นจริงแล้วแต่กลับดูขัดกันที่ยังดูเหมือนเรายังคงดำรงชีวิตอยู่ราวกับไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
ที่เราทำได้จึงเป็นแค่ “ทำให้เป็นจริงเกิน” ผ่านการทำเลียนตามไม่รู้จบ [“hyper-realize” them through
interminable simulation] ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำอย่างไม่สิ้นสุดไม่ว่าจะเป็นอุดมคติ
ความฝันเฟื่อง จินตภาพและความฝัน
และเราก็ยังคงต้องผลิตซ้ำชนิดของความไม่แตกต่างที่ไม่อาจหลบเลี่ยงไปได้นี้ต่อไป [โปรดดูเพิ่มเติมใน บุญส่ง ๒๕๓๗ข]
โดยสรุป
นักคิดสกุลหลังสมัยใหม่มองยุคปัจจุบันค่อนไปทางหวาดระแวง
และเห็นว่าสภาพการณ์อย่างที่เป็นอยู่ มีความเกี่ยวข้องกับมหพรรณนาแห่งการปลดปล่อยอันเป็นสัญญาที่ความเป็นสมัยใหม่มอบให้
มีความแตกต่างกันอยู่บ้างในการประเมินว่าโครงการแห่งความเป็นสมัยใหม่ดังกล่าวประสบผลแค่ไหน
ดังกรณีโบดริลญารด์ที่เห็นว่า
อุดมคติตามที่โครงการดังกล่าวนี้คาดหวังนั้นได้เกิดขึ้นจริง
แต่มันไม่ได้ให้ฉากปิดอันน่าตระการตา เรากลับได้เห็นโศกนาฏกรรมแทน
หลายคนยอมรับสถานะทางสังคมที่ตนมี
และแนะให้แสวงหาความหมายจากคุณค่าที่มีฐานบนสังคมนั้น ดังกรณีของรอร์ตี [ดู Rorty 1983] พวกเขามักนำเสนอความคิดในแบบที่อาจดูขัดกันถ้าไม่ตั้งใจอ่านให้ดี
ดังที่ยูวร์เก้น ฮาเบอร์มาส [Jurgen Habermas] ได้เขียนไว้ถึงฟูโกต์
ผู้ซึ่งให้อิทธิพลต่อสกุลหลังสมัยใหม่อย่างยิ่งว่า เป็นผู้ที่หลงไหลกับความเป็นภาววิสัยอย่างยิ่ง
แต่ก็เข้าไปร่วมอย่างมีอารมณ์ร่วมเข้มข้นต่อความเป็นจริงของปัจจุบัน [ดู Habermas 1984] อันเป็นลักษณะที่ดูขัดกันเอง
ท่าทีแบบนี้อาจคลอบคลุมไปกล่าวถึงข้อเขียนในสกุลหลังสมัยใหม่จำนวนมากได้
และตรงนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานหลายชิ้นถูกวิจารณ์ว่าอ่านยาก
แต่สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะสะดุดตามากที่สุดก็คือ การนำเสนอประเด็นอย่างเป็นระบบและคงเส้นคงวา
(แม้รูปแบบอาจแปลกตา) แต่กลับเป็นจุดที่มีการเข้าใจกันผิดๆ
มากที่สุด ซึ่งอาจเกิดจากการไม่ได้อ่านงานของพวกเขาอย่างจริงจังนั่นเอง
มนุษย์สร้างตัวเอง!
“ประเด็นจึงอยู่ตรงนี้
: วัฒนธรรมแบบมุสลิมยังคงมีความสำคัญต่อผมอย่างยิ่ง
แต่มันหาได้เป็นเพียงองค์ประกอบที่ปรับเปลี่ยนตัวผมแต่เพียงองค์ประกอบเดียวเท่านั้น
ผมเป็นคนเมือง พวกสมัยใหม่และเป็นพวกสมัยใหม่นิยม ยอมรับความไม่แน่นอนว่าเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่คงที่
การเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงสิ่งเดียวที่แน่นอน ผมไม่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า
และได้เป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มกระทง
ผมมีความต้องการทางจิตวิญญาณ
และผมก็หวังว่างานของผมนั้นมีมิติทางศีลธรรมและทางจิตวิญญาณ
แต่ผมก็พอใจที่จะพยายามและสนองตอบต่อความต้องการเหล่านี้โดยปราศจากการอาศัยตัวความคิดใดๆ
ในเรื่ององค์ผู้ทำให้เคลื่อนหรือพระผู้ตัดสินสูงสุด
กล่าวให้ง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ผมไม่ได้เป็นมุสลิม
มันดูประหลาดและไม่เหมาะสมโดยบริบูรณ์ที่จะได้รับการบรรยายให้เป็นจำพวกคนนอกรีตสักจำพวก
หลังจากที่ได้ใช้ชีวิตในแบบคนที่นิยมเลือกสรรค่านิยมหลากแหล่ง, พหุนิยมและอยู่ในทางโลก ผมกำลังถูกห่อหุ้มเข้าไป และถูกบรรยายโดยภาษาที่ไม่เหมาะเจาะกับผม
ผมไม่ยอมรับการกล่าวหาว่าเป็นประเภทพวกหมิ่นศาสนา ด้วยเหตุว่า,ดังที่ตัวละครบางตัวในหนังสือ The Satanic Verses กล่าวไว้ว่า, “ณ ที่ซึ่งไร้ซึ่งความเชื่อ
ย่อมไม่มีการดูหมิ่น” ผมไม่ยอมรับการกล่าวหาว่าเป็นพวกละทิ้งศรัทธา
ด้วยเหตุว่าในวัยเป็นผู้ใหญ่ผมไม่เคยรับรองในความเชื่อใดๆ
และอะไรที่ใครสักคนไม่เคยรับรองถึง
เขาคนนั้นย่อมไม่อาจถูกกล่าวได้ว่าได้ละทิ้งศรัทธาจากสิ่งนั้น
อิสลามที่ผมรู้จักยืนยันอย่างแจ่มชัดว่า “ต้องไม่มีการบังคับกันในเรื่องของศาสนา”
มุสลิมจำนวนมากที่ผมให้ความนับถือ
น่าจักตื่นตกใจด้วยความคิดที่ว่าพวกเขาอยู่ในศรัทธาโดยเพียงเพราะจากคุณค่าของการถือกำเนิด(มาเป็นมุสลิม)แต่เพียงอย่างเดียวแค่นั้น
และที่ว่าบุคคลใดก็ตามที่ได้เกิดมาแบบนั้น
เขาผู้ซึ่งเลือกเอาอย่างเสรีที่จะไม่เป็นมุสลิม ดังนั้นจึงสมควรถูกประหารให้ตาย”
[Rushdie 1990: 13-14]
ซัลมาน รัชดี นักเขียนชื่อดังผู้ถูกโคเมนีสั่งให้มุสลิมที่พบเขาให้ประหารได้เลย
อันเนื่องมาจากนวนิยายของเขาเรื่อง The Satanic Verses ซึ่งโคเมนีกล่าวหาว่า เป็นงานเขียนที่ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม.
รัชดี
ได้เขียนข้อเขียนข้างต้นเป็นความเรียงเพื่อชี้แจงต่อคนทั่วไปว่าเขาไม่ได้เป็นมุสลิม
แม้ว่าจะเกิดมาในชุมชนดังกล่าว และถูกจัดให้เป็นมุสลิมแต่กำเนิดก็ตาม
รัชดีเรียกตัวเขาเองว่าเป็นคนสมัยใหม่และเป็นพวกสมัยใหม่นิยมโดยแท้
เราจะเห็นความคิดภูมิหลังของเขาในเรื่องที่ว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างตัวเอง
ซึ่งความคิดดังกล่าวนี้สกุลหลังสมัยใหม่เองก็ได้ย้ำเช่นกันว่า เป็นทางออกหนึ่ง
ตัวเราถูกสร้างโดยประวัติศาสตร์
- การเมืองแบบจุลภาคคือการหลบหลีกจากตัวตัวตนแบบนี้
ตัวเราไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความว่างเปล่า
สำนึกของการเป็นตัวเราเป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมหรือส่งผ่านมาทางสังคม เราจึงเป็นมนุษย์ในมิติของประวัติศาสตร์
ไม่ใช่ในความหมายว่าร่างกายทางกายภาพของเราอยู่ในกาลาวกาศในเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งใดในอดีต
แต่เป็นความหมายที่ว่าตัวเราตัวสำนึกของการเป็นตัวตนนี้ เป็นสำนึกของบางสิ่งที่มีประวัติ
มีสิ่งที่ถูกให้มาจนกลายเป็นตัวสำนึกว่าเป็นตัวเราดังเช่นที่เป็นอยู่
เช่นเป็นผู้หญิง เป็นชาวพุทธ เป็นคนไทยในศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ และ
ยึดค่านิยมแบบคนไทยทั่วไป เป็นต้น
ซึ่งที่มาดังกล่าวนี้มีความซับซ้อนไม่ได้เป็นทางตรง แต่ตรงนี้เองก็เป็นตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน
การเมืองของจุลภาควิทยาก็คือการทดลองหาทางหลบออกไปจากตัวตนในแบบนี้
เพื่อให้เราสร้างตัวตนของเราที่เราคาดหมายไว้ได้
เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ดังกล่าวนี้ นี่คือภารกิจที่นักคิดเหล่านี้ทำ. เทียรี
อีเกิลตัน [Terry
Egleton] วิจารณ์ว่า
“หากไม่มีการกระทำแบบรวมหมู่ดังว่านั้นดูจะเป็นไปได้แล้ว
ประวัติศาสตร์ก็จะปรากฏจริงๆ ว่าเป็นแบบสุ่มเอาและไร้ทิศทาง และการอ้างว่าจะไม่มี”การพรรณนาระดับใหญ่”อีกต่อไปนั้น ก็จะเป็นวิถีแบบหนึ่งในท่ามกลางวิถีแบบอื่นๆ
ในการกล่าวว่า เราไม่อาจรู้ได้อีกต่อไปว่าจะสร้างการพรรณนาระดับนี้อย่างมีผลได้อย่างไรภายใต้สภาพการณ์เหล่านั้น”
[Egleton 1955: 66]
ฟูโกต์, ลีโอตารด์, รอร์ตี, วิริลิโอ และโบดริลญาร์
ได้นำเสนอในทำนองว่า ตราบเท่าที่ยังมีการวิพากษ์
เราก็ยังมีหนทางที่จะหาความเป็นไปได้ในการหาทางออกจากปัญหาปัจจุบัน ตรงนี้เองถือได้ว่าเป็นการตอบข้อวิจารณ์ของอีเกิลตันในลักษณะหนึ่ง
แม้ว่าเราจะไม่พึ่งมหพรรณนา(อภิมหาคำบรรยาย)เพื่อปลุกปลอบใจอีกต่อไปก็ตาม
ตรงนี้ไม่ใช่การเล่นคำหรือคารม แต่เป็นการย้ำว่า มนุษย์สร้างตนเอง แต่ก่อนที่เราจะสร้างตนเองได้
เราต้องตอบได้ก่อนว่าเราคือใคร เพื่อที่เราจะได้หาภาษาที่เหมาะกับตัวเราเองเพื่อบรรยายตัวเราเอง
ซึ่งตรงนี้เองก็เป็นการปลดปล่อยในแบบหนึ่ง
เราจึงน่าจะกล่าวได้ว่าข้อวิพากษ์จากสกุลหลังสมัยใหม่นี้ได้นำเราให้กลับไปคิดอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งในแนวทางจารีตแบบโสเกรตีสที่ให้ค่ากับความที่ว่า
“จงรู้จักตัวท่านเอง!” [Know Thyself].
การอ้างอิง
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. ๒๕๓๗ก. “โลกหลังสมัยใหม่ (๕): ความหมายของมนุษย์ในโลกภายใต้เทคโนโลยีข่าวสาร”,
ไทยไฟแนนเชี่ยล, ๑ มี.ค. ๒๕๓๗.
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. ๒๕๓๗ข. “โลกหลังสมัยใหม่ (๖): เมื่อความชั่วร้ายโปร่งแสงได้, ไทยไฟแนนเชี่ยล, ๔ เม.ย.
๒๕๓๗.
Jean Baudrillard. 1990. THE TRANSPARENCY OF
EVIL. London:Verso, 1993.
Terry Eagleton. 1995. “Where Do
Postmodernists Come From?”, MONTHLY REVIEW 47, No.2, July/August, 1995,
pp.59-70.
Maurizio Ferraris. 1992. “Postmodernism and the Deconstruction of
Modernism” in THE IMMATERIAL SOCIETY. [Englewood Cliffs, New Jersy:
Prentice Hall, 1992]
Paul K.Feyerabend. 1975. “How to Defend
Society Against Science" in J. Perry and M.Bratman [Eds.] INTRODUCTION TO PHILOSOPHY: CLASSICAL & COMTEMPORARY READINGS [New
York: Oxford University Press, 1986]
Michel Foucault. 1961. MADNESS AND
CIVILIZATION. [New York: Vintage,
1988]
Michel Foucault. 1963. THE BIRTH OF THE
CLINIC. [New York: Vintage, 1975]
Michel Foucault. 1966. THE ORDER OF
THINGS. [New York: Vintage, 1994]
Michel Foucault. 1969. THE
ARCHAEOLOGY OF KNOWLEDGE.[London: Tavistock, 1972]
Michel Foucault. 1971. “Nietzsche, Genealogy, History” in LANGUAGE, COUNTER-MEMORY, PRACETICE.
[Ithaca,New York: Cornell University Press, 1996]
Michel Foucault. 1975. DISCIPLINE
AND PUNISH: The Birth of The Prison.[Middlesex: Penguin, 1982]
Michel Foucault. 1976. THE HISTORY
OF SEXUALITY Vol.1: An Introduction. [New York: Vintage, 1990]
Michel Foucault. 1984A. THE USE OF
PLEASURE: THE HISTORY O SEXUALITY Vol.2.
[New York: Vintage, 1990]
Michel Foucault. 1984B. THE CARE
OF THE SELF: THE HISTORY O SEXUALITY Vol.3.
[New York: Vintage, 1988]
Michel Foucault. 1984C . “What Is
Enlightenment?” in Paul Rabinow[Ed.] THE FOUCAULT READER. [New York:
Pantheon, 1984]
Jurgen
Habermas. 1984. “Taking Aim at the Heart of the Present” in David
Couzens Hoy[Ed.] FOUCAULT: A CRITICAL READER. [London: Basil Blackwell,
1991]
David Harvey. 1989. THE CONDITION
OF POSTMODERNITY. [London: Basil
Blackwell, 1991]
Martin Jay. 1996. “From Modernism to
Post-Modernism” in C.W. Blanning[Ed.]
THE OXFORD ILLUSTRATED HISTORY OF MODERN EUROPE. [London: Oxford
University Press, 1996]
Friedrich Kerst and Henry E.Krehbiel[Eds.]
1964. BEETHOVEN: THE MAN AND THE ARTIST, AS REVEALED IN HIS OWN
WORDS. [New York: Dover, 1964]
Immanuel Kant. 1992. PERPETUAL
PEACE AND OTHER ESSAYS. [Indianapolis, Cambridge:Hackett,1992]
Jean-François Lyotard. 1988A. THE
POSTMODERN EXPLAINED. [Minneapolis, London: University of Minnesota Press,1992]
Jean-François Lyotard. 1988B. THE
INHUMAN. [Cambridge: Polity, 1993]
Richard Rorty. 1983. “Postmodernist
Bourgeois Liberalism” in Thomas Docherty[Ed.] POSTMODERNISM : A READER.
[New York,London:Harvester Wheatsheaf, 1993]
Richard Rorty. 1992. "A Pragmatist View
of Rationality and Cultural
Difference" PHILOSOPHY EAST & WEST 42, No.4 [October, 1992.] pp. 581-596.
Richard Rorty. 1996. "Something to
Steerby", LONDON REVIEW OF BOOKS, 20 June 1996, pp.7-8.
Salman Rushdie. 1990. IN GOOD
FAITH. [U.S.A.: Granta,1990]
United Nations. 1988. THE
INTERNATIONAL BILL OF HUMAN RIGHTS.[Geneva:United Nations,1988]
Paul Virilio. 1995. “Red alert in
cyberspace!”, RADICAL PHILOSOPHY 74, November-December, 1995, pp.2-4.
Sharon Zukin. 1992. “Doing postmodernism: A
forum”, THEORY AND SOCIETY 21, 1992, pp.463-465.