Saturday, April 28, 2018

สาเหตุแห่งสงคราม


หมายเหตุ บทความนี้ลงพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 29, ฉบับที่ 2-3, 2552 : 258-263.
สาเหตุแห่งสงคราม*
War’s Causes                                
เอ ซี เกรลิง**  -เขียน
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์***แปล
A.C. Grayling
Boonsong Chaisingkananont –Translate


โลหิตก็คือเครื่องแบบสุดหรูของเทพเจ้าแห่งสงคราม
Marlowe

              การอภิปรายในเรื่องสาเหตุแห่งสงคราม  -ไม่ใช่ในเรื่องของสงครามนี้หรือสงครามนั้น ๆ  แต่เกี่ยวกับปรากฏการณ์สงครามโดยภาพรวม- นั้น บางครั้งเป็นการรวบเอามารวมกันของเรื่องที่แตกต่างกันสองเรื่อง  เรื่องหนึ่งคือชุดของการคาดเดาที่น่าสนใจเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ทางจิตวิทยาของสงครามในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ     แต่อีกเรื่องหนึ่ง อันดื่มน้ำจากบ่อที่ปนเปื้อนทฤษฎีของฟรอยด์ (Freud) ก็คือเรื่องราวซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้อันปวดร้าวและเป็นที่สับสนเกี่ยวกับกำเนิดของจิตวิทยาดังกล่าวในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตามที่คาดการณ์โดยขาดหลักฐานประจักษ์แจ้งที่เพียงพอ-  ซึ่ง อนิจจา โดยใช้ตรรกะแบบคิดเอาเองอย่างกล้าเสี่ยงประเภทแบบพวกมือสมัครเล่นในด้านนี้ ที่อนุมาน สิ่งที่เป็น จาก บางที หรือ ที่เป็นไปได้  สมมุติฐานเหล่านี้โดยตัวมันเองแล้วได้รับการสรุปขยายเกิน โดยอาศัยเศษกระดูกโบราณและเศษแท่งเครื่องมือหิน อันประกอบกันเป็นผลสรุปของหลักฐาน ณ เวลานี้ในด้านโบราณคดี 

              ตามแนวคิดของฝ่ายหลังดังได้กล่าวมานี้ บรรพบุรุษของเราในยุคแรก ๆ  -ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่มีกล้ามเนื้อ อันไร้ฟันแหลมคมและกรงเล็บ- ได้ตั้งต้นในตำแหน่งแห่งที่ในห่วงโซ่อาหารในสถานะเป็นเหยื่อ  แม้ในเวลาต่อมาจะได้เลื่อนลำดับเป็นสถานะผู้ล่า ก็ยังคงไม่ได้กำจัดการตกทอดในด้านเป็นเหยื่อทิ้ง กล่าวคือ มีความตื่นตกใจยามเผชิญการคุกคาม และมีนิสัยชอบการปกป้องตนเองแบบร่วมกันเป็นกลุ่ม อารมณ์ดังกล่าวนี้ โดยแรกสุดเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของ การต่อสู้ในยุคแรก ๆ ที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมดอาจถูกกำจัดทิ้งได้โดยง่ายดายดังที่มือสมัครเล่นผู้หนึ่งนำเสนอ อารมณ์ดังว่านี้ได้รับการส่งผ่านสู่ช่วงเป็นผู้ล่า อารมณ์ที่ว่ากระตุ้นการปฏิบัติทางด้านศาสนา โดยหลัก ๆ ได้แก่ การบูชาด้วยเลือดมนุษย์หรือสัตว์ เมื่อฝูงสัตว์ขนาดใหญ่จำพวกมีกีบเท้าที่ถูกล่าโดยบรรพบุรุษของเราได้ลดจำนวนลง  บรรพบุรุษของเรา  -อย่างน้อยพวกผู้ชาย- ก็ได้เริ่มต้นล่ากันเองแทน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของสงคราม

              แก่นหลักของทัศนะดังกล่าวนี้คือการอ้างว่าการล่าสัตว์เป็นเรื่อง รุนแรง เป็นการแทนถึง ความขัดแย้ง ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ และให้กำเนิดศาสนาที่เน้นการบูชาด้วยเลือด และยิ่งกว่านั้น ในการขาดโอกาสที่จะฆ่าสัตว์ (อื่น) ผลตามมาก็คือ มนุษย์ใช้การฆ่ากันและกันเป็นการบำบัดความเบื่อหน่าย สองข้อแรกนั้นเป็นความสับสนทางมโนทัศน์ ข้อที่สามเป็นความพยายามอันอ่อนเหตุผลที่จะเชื่อมโยงระหว่างการล่าสัตว์กับสงคราม ในขณะที่มีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดกันมากกว่าและครอบคลุมอย่างหลากหลายระหว่างการล่าสัตว์กับกีฬา  -ดังเช่น การวิ่งแข่ง การขว้าง และกีฬาแบบเล่นเป็นทีม (ในระหว่างมนุษย์สมัยแรก ๆ  กีฬาอาจจะเป็นวิถีที่ให้ผลและประหยัดในการฝึกฝนสำหรับและเพื่อแทนที่การล่าสัตว์ สงครามกลับบ่งชี้ถึงเรื่องของผลประโยชน์ที่เป็นจริงเป็นจังถึงขั้นเอาเดิมพันกัน  อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เป็นแค่การคาดเดาเช่นกัน)

              เหนืออื่นใด มือสมัครเล่นในด้านนี้มีใจโอนเอียงที่จะตกอยู่ภายใต้ปกรณัมแบบยุคกอธิคสมัยใหม่ที่ยึดถือว่าเลือดเป็นสัญลักษณ์อันน่ากลัวโดยเฉพาะของการต่อสู้กันและภยันตราย แต่กระนั้นจวบจนถึงยุคอดีตอันใกล้กับยุคเรา เลือดเป็นสิ่งปกติโดยแท้ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันของเรา  ดังเช่นที่ไก่ถูกนำมาเชือดเพื่อทำอาหารมื้อเย็น หรือหมูที่เลี้ยงไว้ในบ้านถูกฆ่า หรือแม่ม้าคลอดลูกในคอก ผู้คนยังคงทำไส้กรอกโดยมีเลือดประกอบบางส่วน ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องปกติสามัญในชีวิต (ประจำวันของเรา) เมื่อไม่นานมานี้เอง  การหายไปของสิ่งเหล่านี้ในทุกวันนี้ทำให้พวกมันมีความสำคัญยิ่งที่จะใช้อธิบาย (ภาพยนตร์ที่กำกับโดย) เควนติน ตารันติโน[1] (Quentin Tarantino)  เมื่อพิจารณาถึงเรื่องการบูชาทางศาสนา สิ่งเหล่านั้นก็คือวิถีในการถวายเทพเจ้าโดยขอมีส่วนอ้อนวอนหรือสวดถวาย และไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่กับการบูชาด้วยเลือดและเนื้อแต่อย่างไร ที่จริงแล้ว บ่อยครั้งมักจะใช้พืชผักแทนด้วยซ้ำไป

              มีประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ เมื่อเราใส่ใจพิจารณาเรื่องการส่งกำลังบำรุงในการทำสงคราม และโดยเฉพาะต่อประเด็นสำคัญที่ว่าสงครามที่มีการจัดการในวงกว้างก็คือพัฒนาการที่ให้กำเนิดกับหนึ่งในประดาความโหดร้ายที่ชั่วร้ายที่สุดในสมัยใหม่ กล่าวคือ ลัทธิชาตินิยม เรากำลังจะพิจารณาประเด็นทั้งสองนี้  กองทัพขนาดใหญ่และการส่งกำลังบำรุงการปฏิบัติการของกองทัพ ทำให้ต้องกำหนดโดยจำเป็นว่าต้องใช้กลไกราชการต่าง ๆ เพื่อรวบรวมภาษีและสนับสนุนงานด้านเอกสาร  อย่างน้อย นี่คือส่วนสำคัญที่สุดของเหตุผลว่าทำไมรัฐชาติสมัยใหม่จึงกำเนิดขึ้นมา  เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจที่ผู้คนยอมตายเพื่อแผ่นดินพ่อ รู้สึกหัวใจแกว่งไกวไปกับจังหวะเพลงมาร์ชมาเซยแยส (the Marseillaise) และเคารพธงประกอบด้วยรูปดาวเรียงรายของสหรัฐอเมริกา  ทั้งหมดนี้เป็นการแทนถึงนามธรรมที่นิยามมาอย่างคลุมเครือของประเภทที่กำหนดเอาเองตามอำเภอใจจริง ๆ  โดยเพื่อคลุมหน้าตรรกะของกลไกราชการและการจัดเก็บภาษี แต่กระนั้นนี่ก็เป็นความตื่นตาตื่นใจที่เป็นโศกนาฏกรรม

              สิ่งที่สำคัญเท่า ๆ กัน ได้แก่ คำถามว่าอะไรไม่เกี่ยวกับสงคราม  แน่นอนว่าสงครามไม่ใช่เรื่องของอารมณ์แบบก้าวร้าว  -แม้ว่าอารมณ์แบบดังกล่าวเมื่อถูกใช้ขับดันประชากรประเทศหนึ่งใดโดยพวกนักการเมืองในประเทศนั้น ๆ  จะให้การกระตุ้นอันทรงพลังแรงกล้าในการเริ่มก่อสงครามก็ตาม  ในยุคอดีต เมื่อทหารสู้รบด้วยกัน พวกเขาต้องใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติดอย่างอื่นเพื่อขับดันพวกเขาให้เกิดอารมณ์ที่สามารถฆ่าคนได้อย่างเหมาะสม  ทว่าในยุคสมัยใหม่ การคาดคำนวณการณ์อย่างเยือกเย็นและการจัดการอย่างมีวิธีการกลับเป็นส่วนสำคัญ สงครามไม่ใช่การวิวาทในร้านเหล้า และดังนั้นจึงไม่ได้มาจากการมีระดับเทสโทสเทอโรนที่มากล้นในตัวเยาวชนเพศชายแต่ละคน  มันเป็นเพียงแค่การผนวกเอามาด้วยฮอร์โมนข้างต้นเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว จุดประสงค์ดังว่ามีมากมาย ดังต่อไปนี้ กล่าวคือ มีเหตุผลโดยเฉพาะมากมายยิ่งว่าทำไมสงครามเฉพาะจึงบังเกิดขึ้น และหากว่าเราใส่ใจกับสงครามในนามธรรมเพื่อค้นหาว่าทำไมมนุษย์ถึงจัดการกับตนเองเพื่อให้พร้อมสำหรับขับเคี่ยวกันในสงคราม เรากำลังนำพาตัวเราเองไปผิดทาง  เหตุผลมากมายที่ว่าทำไมสงครามจึงเกิดขึ้น ยังช่วยอธิบายเหตุผลที่ว่าทำไมสงครามจึงเกิดด้วย กล่าวคือ ไม่มีลักษณะทางจิตวิทยาเดี่ยว ๆ หนึ่งใดของมนุษยชาติ  -ไม่มีสัญชาตญาณก่อนประวัติศาสตร์ ที่ลึกลับหรือเป็นพิเศษ-  ซึ่งโดยตัวมันเองสามารถอธิบายความบ้าคลั่งที่ได้รับการก่อซ้ำและเกิดถี่ของสงคราม และโดยข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมส่วนใหญ่ที่สุดทุ่มเทสัดส่วนจำนวนมากมายของทรัพยากรของสังคมให้กับการเตรียมตัวเพื่อทำสงคราม พวกกึ่งยึดตามแบบฟรอยด์จำนวนมากอ้างเอาว่ารู้ว่ามีอะไรอยู่ในจิตใจของมนุษยชาติที่ควรถูกประณาม แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าหากเราจะถามนักเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องชั้นเชิงในการอธิบายเรื่องนี้
                         




* บทความนี้รวมอยู่ในรวมข้อเขียนของ A. C. Grayling ชุด The Reason of Things: Living With Philosophy จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Weidenfeld and Nicolson (2002)  ข้อเขียนชุดนี้ได้รับการตึพิมพ์ในปี 2003 ภายใต้ชื่อชุดใหม่ว่า Life, Sex and Ideas: The Good Life Without God โดยสำนักพิมพ์ Oxford University Press
** สอนปรัชญาประจำอยู่ที่ Birkbeck College แห่ง University of London
*** ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
[1] ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งสร้างภาพยนตร์ในแนวหลังสมัยใหม่ และมักมีฉากเลือดนองและการใช้ความรุนแรงเป็นองค์ประกอบสำคัญในภาพยนตร์ของเขา -ผู้แปล

No comments: