หมายเหตุ บทความนี้ลงตีพิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐรายวัน 5 มิถุนายน 2538
จอห์น ล็อก กับประชาสังคมไทย
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
ในภาพยนตร์เรื่องเมาคลีซึ่งได้ฉายไปแล้วเมื่อไม่นานนี้
มีอยู่ฉากหนึ่งที่เมาคลีตัวพระเอกในเรื่องนี้กล่าวในทำนองว่า "สำหรับกฎของป่าแล้วการฆ่ากระทำได้เพื่อเอาเป็นอาหารหรือเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้เป็นอาหาร" ก็เช่นที่เราได้รับรู้กันโดยทั่วไปมนุษย์ที่ต้องอยู่ในสภาวะตามธรรมชาติเช่นนั้นการดิ้นรนต่อสู้เพื่อป้องกันชีวิตและความอยู่สุขของตนเองโดยใช้วิธีการต่างๆ
เท่าที่อำนวยให้นับเป็นความชอบธรรม
เพราะเป้าหมายในที่นั้นก็คือการอยู่รอดปลอดภัย
ในประชาสังคม (อันเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า
civil society ) ซึ่งมนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน
และมีการกำหนดให้มีกลุ่มคนบางกลุ่มรับผิดชอบในการดูแลชีวิตและความอยู่สุขของคนทั้งชุมชน
โดยมีข้อกำหนดเป็นนัยโดยการปฏิบัติหรือตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษรถือใช้ร่วมกันในชุมชนในสังคมเช่นนี้ กฎของป่าย่อมถูกระงับไป
และกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือกฎหมายได้เข้ามาแทนที่ ดังที่ได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่า
กฎหมายนั้นกำหนดการประพฤติของคนในระดับของการมีพันธะต้องกระทำโดยมีกลไกปลุกเร้าให้กระทำหรือไม่กระทำด้วยรูปแบบของการลงโทษกำกับ
อย่างไรก็ตาม
นี่ไม่ได้หมายความว่า
เราต้องเชื่อฟังกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมอย่างบริบูรณ์และไม่มีเงื่อนไขการเป็นข้อกำหนดเพื่อบังคับใช้ไม่ได้หมายความว่าข้อกำหนดเช่นนั้นมีความชอบธรรม กฎหมายที่ออกเพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะพวกก็มี
ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายที่เลวเมื่อมองจากแง่ของการคำนึงถึงประโยชน์ของทั้งสังคม
สำหรับประชาสังคมแล้ว กฎหมายเช่นนั้นไม่ใช่ข้อกำหนดที่ถูกต้อง
และหากให้ผลเสียต่อประโยชน์สังคมโดยรวมแล้ว
การเชื่อฟังกฎเกณฑ์เหล่านั้นก็คือการละเมิดหลักการพื้นฐานของประชาสังคมเอง
และหากไม่มีการทำให้กฎเกณฑ์เช่นนั้นสิ้นสุดไป
ก็กล่าวได้ว่าภาวะของการเป็นประชาสังคมถึงจุดยุติ
ในช่วงเวลาเช่นนั้นเองที่กฎของป่าได้กลับมามีความชอบธรรมอีกครั้งหนึ่ง(ตรงนี้ใช้อธิบายได้ถึงความชอบธรรมในการตอบโต้กลับของฝ่ายประชาชนในเหตุการณ์เช่นกรณีพฤษภาทมิฬ) อะไรคือสิ่งที่ประชาสังคมปกป้อง
อันข้อกำหนดต่างๆ ที่มีไว้ก็เพื่อสิ่งนี้
สำหรับเสรีนิยมประชาธิปไตยแล้ว
ประชาสังคมหรือสังคมการเมืองนั้นมีไว้เพื่อปกป้อง"ชีวิต เสรีภาพ
และความอยู่สุขของมนุษย์" ความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคมหมายถึงสภาพที่มีการให้ประกันการดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้เท่านั้น
(ดังนั้นเวลาที่ทหารอ้างถึงความมั่นคงแห่งชาติ
เราก็ควรตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่ากำลังกล่าวถึงอะไรกันแน่)
เราจะลองมาพิจารณากันถึงความคิดในเรื่องนี้โดยดูผ่านข้อเขียนของจอห์น ล็อก (John Locke) นักคิดต้นตำหรับเสรีนิยมประชาธิปไตย
(ในหนังสือเลื่องชื่อ Second Treatise of Government)
เพื่อหลีกเลี่ยงจากความไม่แน่นอนในสภาพแบบที่อยู่กันตามธรรมชาติ
ที่ใครมีกำลังมากกว่าหรือฉลาดกว่าก็เอาตัวรอดได้ (เว้นแต่เมื่ออ่อนกำลังลงหรือกระทำพลาดไป)
ที่ด้อยกว่าก็กลายเป็นเหยื่อไป มนุษย์เข้าสู่สังคมการเมือง (หรือประชาสังคม
สำหรับล็อกสองคำนี้ไม่ต่างกัน) เพื่อสันติสุขและการมีประกันต่อชีวิต
เสรีภาพและทรัพย์สินที่ตนมีและหามาได้ มนุษย์จึงยอมสละอำนาจที่จะสนองความตั้งใจของตนในการปกป้องชีวิตเสรีภาพและทรัพย์สินของตนเองจากการรุกรานหรือทำละเมิดโดยผู้อื่น
ด้วยการดิ้นรนต่อสู้กระทั่งทำร้ายฝ่ายที่ทำละเมิดจนตายได้นั้น สละไว้ให้กับชุมชนที่ตนเข้าร่วม และยอมรับกฎเกณฑ์ที่ชุมชนกำหนดขึ้น
ยอมมอบอำนาจไว้กับองค์อธิปัตย์เพื่อบริหารชุมชน
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง
อำนาจในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในสังคมและอำนาจบริหารเพื่อปกป้องชีวิต
เสรีภาพและทรัพย์สินของคนในสังคมโดยที่สามารถลงโทษผู้ที่ทำละเมิดได้นั้น เป็นสิ่งที่ผู้ได้อำนาจดังกล่าวมาจากสังคมนั้นภายใต้การยอมสละซึ่งอำนาจตามธรรมชาติของแต่ละคนในการปกป้องชีวิตเสรีภาพและทรัพย์สินของตนโดยการตอบโต้ผู้ละเมิดด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้เท่าที่เห็นว่าเหมาะสม
ในแง่นี้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจึงมีอำนาจกระทำหน้าที่ของตนในฐานะองค์อธิปัตย์ได้
แต่ไม่ใช่ทำอะไรตามอำเภอใจก็ได้ หรือออกกฎเกณฑ์อะไรๆ ก็ได้
การดำเนินการทางนิติบัญญัติใดๆ และการบังคับพลเมืองหรือลงโทษใดๆจักกระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปโดยจุดประสงค์เพื่อพิทักษ์หลักการพื้นฐานของการเป็นประชาสังคมดังกล่าว
ทั้งนี้ภายใต้การคำนึงด้วยว่าจักส่งผลที่ถูกทางได้จริง
ตรงนี้เอง
ที่การสละอำนาจของเราในการลงโทษผู้มาทำละเมิดกับเรา
การสละอำนาจการตัดสินตามใจเรานี้ ได้แลกกลับมาด้วยสิทธิของเราในการอุทธรณ์เพื่อเรียกร้องการปกป้องเราโดยรัฐ
ดังนั้นในประชาสังคมจักต้องมีส่วนอำนาจซึ่งประชากรในประชาสังคมนั้นร้องเรียนเพื่อให้มีการปกป้องสิทธิของเขาไม่ให้ถูกทำละเมิด
หรือนำข้อพิพาทขึ้นมาเพื่อพิจารณาได้โดยไม่ลำเอียง ในปัจจุบันเราอาจนึกถึงอำนาจศาล
แต่นี่เป็นเพียงส่วนเดียว
ขอให้ดูที่จะกล่าวต่อไปนี้ก่อน
สำหรับล็อกแล้ว เมื่อไรก็ตามที่มีบางส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นบุคคล (โดยอ้างสายเลือด) หรือกลุ่มบุคคลทำการละเมิดเองแล้วเราไม่อาจอุทธรณ์เอากับส่วนใดได้เพื่อให้มีการพิจารณา หรือมีการลงโทษตามพฤติกรรมที่ได้กระทำไปเมื่อสังคมนั้นไม่มีกลไกที่บังคับใช้ในกรณีเช่นนั้นได้จริง ประชาสังคมได้ถึงจุดยุติการเป็นประชาสังคมไปแล้ว
และถือได้ว่ามนุษย์ได้กลับไปอยู่ในสภาวะตามธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนก็อาจใช้รูปแบบใดๆ เท่าที่ทำได้ในการตอบโต้เพื่อให้สมกับข้อตัดสินทางตน
ทั้งนี้เพราะความหมายของการมีองค์อธิปัตย์และมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้เป้าหมายของประชาสังคมดำรงอยู่ได้นั้นได้สูญเสียนัยสำคัญไป
คนแต่ละคนจึงต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปกป้องชีวิต
เสรีภาพและทรัพย์สินของตนเองเพื่อให้ความเป็นธรรมกับตนเอง
ตรงนี้เองกฎของป่ากลับมามีความเหมาะสมมากกว่า
เรากล่าวได้ว่า
ภายใต้การปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคมโลก
รัฐไทยได้อ้างการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแบบเสรี แต่เราก็ได้พบว่า
ภายใต้สังคมของเรานี้ การปกป้องชีวิต เสรีภาพและความอยู่สุขของประชาชน อันเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมเสรีนั้นเป็นไปไม่สม่ำเสมอ
เราได้เห็นตั้งแต่การฆ่าประชาชนมือเปล่ากลางเมืองหลวงแล้วไม่มีผู้ต้องรับผิด
มาจนถึงความพยายามนำแผ่นดินไปแจกพวกพ้องตนเองโดยใช้อำนาจในฐานะผู้กุมกลไกของรัฐ
นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาเรื่องความอยู่สุขในชีวิตประจำวันในเรื่องต่างๆ
นับจากการแก้ปัญหากันไปเองในเรื่องรถติด เรื่องของแพง
สวัสดิภาพแรงงานไปจนถึงเรื่องความปลอดภัยจากโจรภัย มาถึงตรงนี้เราคงต้องกลับมาย้อนถามกันเองแล้วว่าทุกวันนี้เราอยู่ในประชาสังคมหรืออยู่ในสภาวะตามธรรมชาติกันแน่?
No comments:
Post a Comment