Saturday, April 28, 2018

ถ้าผมเป็นพันธมิตรจะเคลื่อนไหวอย่างไรจึงจะเป็นอารยะขัดขืนอย่างถูกต้อง?

หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

ถ้าผมเป็นพันธมิตรจะเคลื่อนไหวอย่างไรจึงจะเป็นอารยะขัดขืนอย่างถูกต้อง?
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Civil Disobedience (ปัจจุบันบ้านเราเรียกกันว่าอารยะขัดขืน ซึ่งเป็นการสร้างศัพท์ที่เป็นปัญหา ที่จริง civil ในที่นี้มีความหมายถึงด้านพลเมือง แต่ในที่นี้จะขอข้ามไป เอาแค่นี้พอ ที่จริงเดิมเคยใช้กันว่าการดื้อแพ่ง จะมีความหมายใกล้เคียงกว่า) คือ การอ้างสิทธิพลเมืองที่จะต่อต้านกฎหมาย  The Oxford Companion to Philosophy อธิบายไว้ว่า คือ

      พฤติกรรมสาธารณะที่ผิดกฎหมาย ที่ออกแบบมาเพื่ออุทธรณ์ต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมาย  โดยไม่ปฏิเสธหลักการการปกครองด้วยกฎหมาย
         ดังนั้น มีเจตนาที่จะไม่ใช้ความรุนแรง (non-violence) และไม่ปฏิวัติ (non-revolutionary)  เช่นเดียวกับที่มีความตั้งใจที่จะยอมรับการลงโทษโดยกฎหมาย
                                                                                
โดยภาพรวม Civil Disobedience มีจุดมุ่งหมายเพื่อประท้วงความอยุติธรรมพื้นฐาน  โดยยึดถือการประสบความสำเร็จอย่างมีเหคุผล โดยไม่สร้างความสูญเสียแก่สังคม

(ส่วนอหิงสานั้น ตามมหาตมะ คานธี ผู้เป็นต้นคิด คือ ความกล้าเผชิญหน้ากับการใช้ความรุนแรงของอีกฝ่าย โดยไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับ และเมตตาแม้แต่ศัตรู)

Civil Disobedience จึงแตกต่างจาก การประท้วงที่ถูกกฎหมาย, การไม่เชื่อฟังกฎหมายโดยใช้ความรุนแรงที่ไม่ถูกกฎหมาย,  การปฏิเสธอย่างมีมโนธรรม –Passive Obedience (คือ ตั้งใจยอมรับการลงโทษทางกฎหมาย ยิ่งกว่าจะทำตามกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม โดยไม่มีจุดมุ่งหมายใดที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมาย),  การทดสอบตัวกฎหมายว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่  (เช่น สงสัยว่ากฎหมายนั้นๆขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงฝ่าฝืนเพื่อให้เป็นประเด็นพิจารณาชี้ขาด)

โดยหลักการ Civil Disobedience มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องเสรีภาพพลเมือง อันได้แก่ เสรีภาพในการพูด, การพิมพ์เผยแพร่, การชุมนุม และการนับถือศาสนาหรือความเชื่อของตน  กล่าวคือปกป้องคุณค่าแบบเสรี (liberal virtues) [ถ้าเรียกร้องให้มีการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ เป็นต้น ถือว่าไม่ใช่ Civil Disobedience]

Ronald Dworkin (ใน A Matter of Principle) นักนิติปรัชญาคนสำคัญในปัจจุบัน ได้ตั้งคำถามว่า เราจะแยก Civil Disobedience จากกิจกรรมทางอาชญากรรมธรรมดาที่ถูกผลักดันโดยความเห็นแก่ตัว ความโกรธแค้น ความหยาบช้า หรือความบ้าคลั่งอย่างไร 

Dworkin อธิบายว่า Civil Disobedience เป็นเรื่องของผู้เคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่ได้ท้าทายผู้มีอำนาจในวิถีทางแบบพื้นฐาน เพราะนอกจากจะไม่ได้คิดเพื่อตัวพวกเขาเอง  และไม่ได้ถามผู้อื่นให้คิดเพื่อตัวพวกเขา ยังต้องยอมรับความชอบธรรมพื้นฐานของทั้งการปกครองและของชุมชน และมุ่งปฏิบัติการเพื่อให้ได้ผล ในแง่ เกิดความเป็นธรรมในเรื่องที่เคลื่อนไหว แต่ยังคงกระทำหน้าที่ของตนในฐานะพลเมืองต่อไป  (Dworkin ยังได้จัดประเภท Civil Disobedience ออกเป็น 3 แบบ จะขอข้ามไป แต่ผมจะเขียนไว้ในบทความฉบับเต็มเกี่ยวกับเรื่องนี้)

โดยสรุป Civil Disobedience ไม่ปฏิเสธหลักการการปกครองโดยเสียงของคนส่วนใหญ่ (ไม่ปฏิวัติ) และด้วยเหตุนี้จึง เป็น Democrat โดยหัวใจ กล่าวคือ เคลื่อนไหวโดยยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่  ซึ่งถือว่า ทุกคนเสมอภาคกันโดยศักดิ์ศรีและสิทธิ  เบื้องหน้ากฎหมายทุกคนเสมอภาคกัน (หลักนิติรัฐ) และรัฐมีไว้เพื่อปกป้องเสรีภาพและสิทธิพลเมือง

Civil Disobedience ใช้ยุทธวิธีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในสองรูปแบบ
1.      แบบเชิญชวน โดยการบีบคนส่วนใหญ่ให้ฟังข้อถกเถียงแย้งกฎหมายหรือโครงการของรัฐนั้นๆ โดยคาดหวังให้พวกเขาเห็นด้วยและไม่ยอมรับกฎหมายหรือโครงการของรัฐนั้นๆ  หรือมุ่งทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าการสนับสนุนกฎหมายหรือโครงการนั้นๆ ผิด และไม่เป็นประโยชน์กับพวกเขาเอง
2.      แบบไม่เชิญชวน  คือ ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนความคิดคนส่วนใหญ่ แต่ทำให้มีการเพิ่มค่าใช้จ่ายในโครงการนั้นๆ โดยคาดหวังว่าคนส่วนใหญ่จะค้นพบว่าค่าใช้จ่ายของโครงการสูงเกินกว่าจะรับได้ หรือสร้างภาระให้คนส่วนใหญ่ต้องจ่าย หากจะยังคงสนับสนุนโครงการดังกล่าวต่อไป

ถ้าพันธมิตรจะเคลื่อนไหวแบบ Civil Disobedience จริง จะต้องทำอย่างไร?

1.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวแบบไม่เลือกวิธีการ เพียงแค่ขอให้ได้ชัยชนะ (ซึ่งการเมืองแบบเน้นคุณธรรมไม่มีพื้นที่ให้กับแนวทางวิธีการอะไรก็ได้ขอให้ได้ชัยชนะ)
2.      จะต้องเคารพจิตใจและวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยพื้นฐานที่ถือว่าทุกคนเสมอภาคกันโดยศักดิ์ศรีและสิทธิ  (ไม่ใช่การเมืองแบบเชิดชูเจ้า)
3.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวโดยมีการพกพาอาวุธทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการอ้างว่าเพื่อป้องกันตนเอง หรือฝ่าด่านป้องกันของฝ่ายรัฐ
4.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวในแนวทางแย้งสิทธิพลเมืองโดยพื้นฐาน เช่นไม่เรียกร้องให้เซ็นเซอร์ความเห็นแย้ง หรือควบคุมการเผยแพร่ความคิดเห็นและข่าวสารของฝ่ายอื่น
5.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวแบบใช้การเมืองแบบชี้นำฝูงชน โดยการโฆษณาชวนเชื่อแบบปลุกระดม แต่เน้นการคิดเป็น ความมีเหตุผลที่ดี
6.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนขั้วครอบครองอำนาจรัฐหรือแย่งชิงอำนาจรัฐ แต่ทำหน้าที่ในฐานะกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐ และเตือนภัยต่อสาธารณะ
7.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวโดยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม หรือสร้างความเสียหายต่อสังคม
8.      ทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมจะต้องยอมรับผลจากการเคลื่อนไหวที่ฝืนกฎหมาย โดยยอมถูกจับและหากถูกลงโทษตามกฎหมาย ก็ยอมรับผลเช่นนั้น โดยไม่ขัดขืน

ยกตัวอย่าง  พันธมิตรจะต้องไม่เอาสถาบันกษัตริย์มาอ้างเพื่อกำจัดฝ่ายอื่น ไม่เรียกร้องให้เซ็นเซอร์เว็บไซต์ทางการเมือง   ในการชุมนุมและการเคลื่อนขบวนต้องปลดอาวุธทุกชนิด รวมถึงไม้หรือเหล็กแท่งต่างๆ  วิธีการเคลื่อนไหวจะต้องคำนึงว่าส่งผลกระทบส่วนรวมหรือไม่ (ไม่ตัดน้ำ ตัดไฟ หยุดเดินรถ ปิดสนามบิน เป็นต้น)

ตอนที่แกนนำถูกหมายจับข้อหากบฏ สิ่งที่ควรทำในตอนนั้นตามแนวทาง Civil Disobedience ก็คือเข้ามอบตัวทุกคน และไม่ขอประกันตัว และผู้ชุมนุมอื่นๆ ก็พากันเข้ามอบตัว รวมทั้งอาจพากันมาสมทบมอบตัวจากต่างจังหวัด เป็นต้น จนเจ้าหน้าที่ไม่รู้จะหาสถานที่มาคุมขังได้พียงพออย่างไร   และเกิดปัญหากับงบประมาณที่จะเอามาใช้ดูแลผู้ต้องขัง

ตอนที่เคลื่อนไปชุมนุมหน้ารัฐสภา (เมื่อวันที่ 7 ตุลาที่ผ่านมา หรือในวันที่ 24 พฤศจิกานี้) ซึ่งผู้ชุมนุมทุกคนต้องไม่มีการพกสิ่งใดๆ ที่อาจใช้เป็นอาวุธติดไปด้วย  อาจใช้การนั่งหรือนอนขวางที่ด้านนอกรัฐสภา แต่จะไม่ต่อต้านเมื่อเจ้าหน้าที่มาลากตัวหรืออุ้มตัวออกไปทีละคนจนหมด และหากมีการตั้งข้อหาก็พร้อมยอมถูกจับทุกคนและไม่ขอประกันตัว และพร้อมถูกขังคุก

ข้างต้นเป็นตัวอย่างของการเคลื่อนไหวในแนวทาง Civil Disobedience อย่างแท้จริง ซึ่งต้องอาศัยการคิดแบบสร้างสรรค์ ไม่ใช่เคลื่อนไหวอะไรก็ได้ (และหากเป็นอหิงสา นอกจากต้องห้ามด่าฝ่ายอื่น หรือพูดหยาบคายใส่ ยังต้องกล่าวถึงฝ่ายอื่นอย่างให้เกียรติ โดยถือว่าต่างเป็นมนุษย์ที่มีมโนสำนึกทางคุณธรรมไม่ด้อยกว่าฝ่ายตนอีกด้วย ดังที่คานธีได้ปฏิบัติเป็นตัวแบบ) และที่สำคัญที่สุดคือการเคลื่อนไหวโดยตระหนักตลอดเวลาว่าจะเดินในกรอบประชาธิปไตยพื้นฐาน ไม่ใช่การมุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนโครงสร้างเป็นแบบถดถอยจากประชาธิปไตย (ดังเช่น การเชื้อเชิญทหารมามีบทบาททางการเมืองเกินหน้าที่กองกำลังป้องกันประเทศ ซึ่งห้ามแทรกแซงทางการเมือง  หรือพยายามผลักดันแนวทางการเมืองแบบถดถอยไปสู่ระบอบคัดสรรที่ให้อำนาจเฉพาะชนชั้นนำที่เรียกผิดๆ ว่าการเมืองใหม่)  

แต่หากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคิดว่าแนวทางแบบ Civil Disobedience (รวมทั้งอหิงสา) ตามหลักการนั้นรับไม่ได้ ก็สมควรเลิกประกาศว่าตนเองเคลื่อนไหวในแนวทางดังกล่าว 

ตอนนี้อารมณ์ของมวลชนขณะนี้เหมือน ทุบหม้อข้าวมา เหมือนยุทธการของพระเจ้าตาก แต่ไม่ใช่พระเจ้าตากที่สนามหลวง แต่ในวันที่ 23 นี้ เป็นอารยะขัดขืนขั้นสูงสุด ซึ่งเป็นการยกระดับจากการชุมนุมใหญ่แต่เป็นการลุกขึ้นสู้อย่างถึงที่สุด” (http://thaienews.blogspot.com) ตามที่สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรระบุ ไม่สามารถเข้าใจเป็นอื่นได้นอกจากเป็นสิ่งบ่งชี้ชัดถึงการด้อยความเข้าใจในเรื่อง Civil Disobedience  หากไม่ใช่การจงใจโกหกต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อการเคลื่อนไหวของพันธมิตร

นอกจากนี้ หากพันธมิตรจะยังห้อยชื่อกลุ่มด้วยคำว่าประชาธิปไตย ถ้าไม่ให้เป็นการโกหกประชาชน ก็จำเป็นต้องปรับหลักคิด แนวทาง และวัฒนธรรมพื้นฐานของการเคลื่อนไหวของกลุ่มตนโดยรวมด้วย!










 17:38

No comments: