หมายเหตุ
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับอังคารที่ 7
พฤษภาคม 2545 โดยมีการตัดทอนบางส่วน ฉบับที่เผยแพร่ในครั้งนี้เป็นฉบับตามต้นฉบับที่สมบูรณ์
คำเตือนจากโซรอส
สำหรับคนไทยแล้วชื่อเสียงของจอร์จ โซรอส (George Soros) คงไม่ดีนัก
ในฐานะนักเก็งกำไรค้าหุ้นผู้ก่อให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในบ้านเราในหลายปีที่ผ่านมานี้
มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เกลียดชังโซรอสยิ่งนัก อย่างไรก็ตาม
ถ้าเรายอมรับว่าโซรอสเป็นผู้ที่เข้าใจกลไกของระบบทุนนิยมเป็นอย่างดี จนกระทั่งสร้างความมั่งคั่งส่วนตัวได้สำเร็จโดยอาศัยความเข้าใจดังกล่าว
ความคิดเห็นของโซรอสที่มีต่อตัวระบบทุนนิยมเองก็ยิ่งน่าสนใจยิ่งนัก
โซรอสคิดว่าการใช้ชีวิตภายใต้ระบบทุนนิยมเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์เราหรือไม่ สังคมที่ดีควรเป็นเช่นไร คำถามเหล่านี้น่าสนใจยิ่งนัก และเราก็หาคำตอบจากเขาโดยตรงได้จากข้อเขียนของเขาเอง
ในหนังสือที่โซรอสเขียนชื่อ Open Society: Reforming Global
Capitalism ซึ่งออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 2000 นั้น โซรอสตอบไว้อย่างชัดเจนว่า
ระบบทุนนิยมที่ขยายตัวครอบโลกในทุกวันนี้ ที่เราเรียกว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์นั้น อาจไม่ช่วยให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้นเลย หากเรายอมรับว่าโลกที่น่าอยู่นั้น
เราต้องมีเสรีภาพ มีวิถีชีวิตอยู่บนวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย และได้รับความคุ้มครองโดยหลักของกฎหมาย
โซรอสเห็นว่า ทุนนิยมกับประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเดินไปด้วยกัน แม้ว่าทั้งสองสิ่งนี้จะมีความเกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง
เมื่อมีชนชั้นกลางมากขึ้นและมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ก็สูงขึ้น
ก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดแรงกดดันมุ่งสู่ความต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย
รวมทั้งความต้องการเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงขึ้น แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยจะตามมาโดยอัตโนมัติตามหลัง
ทุนนิยม(ซึ่งขยายจำนวนของชนชั้นกลางและยกระดับมาตรฐานชีวิตทางวัตถุสูงขึ้น) ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?
โซรอสตอบว่า
แม้ว่าทุนนิยมจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างความมั่งคั่งขึ้นในโลก
สร้างสินทรัพย์ต่างๆ ให้เพิ่มพูนขึ้น
เราก็ต้องไม่ลืมว่า ธุรกิจนั้นถูกผลักดันด้วยความต้องการกำไร
ธุรกิจไม่ใช่สิ่งที่ถูกร่างสร้างขึ้นมาเพื่อมุ่งสูการทำให้หลักการสากลที่มีไว้เพื่อมนุษย์เกิดเป็นจริงขึ้น
การทำธุรกิจนั้นมุ่งไปที่การได้ผลประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นหลัก
ไม่ใช่มุ่งไปสู่ประโยชน์สาธารณะ
ความรับผิดชอบแรกสุดในการจัดการทางธุรกิจนั้นก็โดยการคำนึงถึงผลประโยชน์ของเจ้าของกิจการนั้นๆ
ไม่ใช่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมาก่อน
ไม่ว่านักธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เที่ยงธรรมหรือไม่ก็ตาม
หรือธุรกิจมักชอบเสแสร้งว่าคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะก่อนอื่นใดก็ตาม การเสแสร้งแบบหลังนี้ทำไปก็เพราะมองว่าเป็นวิธีการทางธุรกิจที่ดีที่จะช่วยนำกำไรกลับมาสู่เจ้าของธุรกิจในท้ายที่สุด
เราจึงไม่อาจพึ่งพาพลังของตลาดในการสร้างประชาธิปไตย
เสรีภาพและหลักของกฎหมาย ให้เกิดเป็นความจริงขึ้นมา เราจำเป็นต้องสร้างสถาบันทางสังคมบางแบบขึ้นเพื่อปกป้องหลักการสากลเหล่านั้น
อดัม สมิธเคยเสนอไว้อย่างมั่นใจเมื่อศตวรรษที่ 18 ว่า
สังคมของมนุษย์นั้นโดยพื้นฐานเป็นสังคมพาณิชย์
เราเอาของที่เราผลิตขึ้นหรือหามาได้แล้วเหลือเกินจากส่วนที่เราต้องใช้บริโภค
นำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของอื่นๆที่เราต้องการแต่เราไม่มี
ตลาดก็คือที่แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างมนุษย์ที่มีความต้องการสินค้าบางอย่างโดยนำสินค้าอีกอย่างไปแลกเปลี่ยนด้วย
ราคาสิ่งของขึ้นลงตามแต่ว่ามีผู้เสนอของนั้นๆมามากหรือน้อยกว่าความต้องการที่จะได้สิ่งของดังกล่าว กฎของอุปสงค์อุปทานนี้เดินไปเองโดยอัตโนมัติและแต่ละคนก็จะพบจุดลงตัวในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน เราเรียกทัศนะเช่นนี้ว่า แนวเน้นตลาดเสรี (laissez-faire) แต่โซรอสเรียกว่า
พวกยึดมั่นถือมั่นในกลไกตลาด (market fundamentalism) ซึ่งคิดว่า
กลไกตลาดจะดูแลความต้องการของเราทุกคนได้
หากเราแต่ละคนสามารถแสวงหาผลประโยชน์ของเราเองได้
โดยรัฐไม่แทรกแซงก้าวก่ายเข้ามา
ประโยชน์สาธารณะก็จะเกิดขึ้นเป็นผลตามมา
โซรอสแย้งว่า
ตลาดนั้นเป็นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคล
แต่ตลาดไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูแลผลประโยชน์ส่วนรวม แม้ว่าการปกป้องรักษากลไกตลาดไว้จะเป็นการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมแบบหนึ่งก็ตาม เราต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่า
ผู้คนที่แข่งขันกันในตลาดไม่ได้ต้องการปกป้องการแข่งขันกันนี้
แต่ต้องการได้ชัยชนะต่างหาก ดังนั้น
หากทำได้ พวกเขาก็จะเลือกเอาการผูกขาด เลือกเอาการกำจัดการแข่งขันในตลาด
การได้เปรียบคู่แข่งเพื่อชัยชนะจึงเป็นจุดมุ่งหมายหลัก
การกำจัดคู่แข่งที่เป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็งก็ตามก็คือเป้าหมายทางธุรกิจ
ที่ดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นหลักนั่นเอง
การปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมนั้นเคยยึดถือกันมาว่าเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของรัฐชาติ
แต่ในปัจจุบันเราฝากความหวังไว้ที่รัฐชาติไม่ได้แล้ว ทำไมเป็นเช่นนี้?
โซรอสเห็นว่า เมื่อเราพูดถึงระบบเศรษฐกิจระดับโลกาภิวัตน์นั้น
เรากำลังพูดถึงการค้าเสรีในด้านสินค้าและการบริการ ซึ่งที่จริงก็คือการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของทุน
ถ้าจะเรียกให้ถูกก็ต้องเรียกว่าระบบทุนนิยมระดับโลกาภิวัตน์
ทุนเป็นสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ง่ายยิ่งกว่าองค์ประกอบอื่นทางการผลิต และทุนทางการเงินการคลังยิ่งเคลื่อนที่ได้ง่ายกว่าทุนในรูปแบบอื่นๆ ในปัจจุบันนี้ อัตราดอกเบี้ย
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ราคาสินค้าในสต็อก ในประเทศต่างๆ
มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง
ตลาดทางการเงินการคลังระดับโลกาภิวัตน์นี้ส่งอิทธิพลต่อสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในทุกรัฐทั่วโลก จากการที่ทุนเคลื่อนที่ได้ง่ายไป ณ
ที่ใดในโลกนี้ก็ได้
การที่รัฐแต่ละรัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีและจัดระเบียบทุนก็ยิ่งยากขึ้น
ซึ่งหมายถึงความสามารถของรัฐในการควบคุมภาคธุรกิจลดลงนั่นเอง
ความพยายามเข้าไปควบคุมทุนและจัดเก็บภาษีอาจกลายเป็นการขับไล่ทุนออกไปจากรัฐนั้นๆ
แทน
ในเมื่อทุนเป็นตัวสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งหรือสินทรัพย์ในสังคม
การทำให้ทุนไหลออกหนีหายไปจากประเทศก็เป็นเรื่องที่สร้างความสูญเสียมากยิ่งกว่า
ดังกรณีของประเทศทุนนิยมหลักเองเช่นเยอรมนีในช่วงที่ออสการ์ ลาฟองแตน ( Oscar
Lafontaine ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อเขาพยายามเพิ่มภาษีจัดเก็บจากภาคธุรกิจ
กลับก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนไหลออกจนกระทบเศรษฐกิจของเยอรมนีในขณะนั้น
นั่นคือ
รัฐชาติเองถูกลดอำนาจที่จะเข้าไปควบคุมแทรกแซงภาคธุรกิจภายในเขตอำนาจของรัฐตนเอง และยิ่งพยายามเข้าไปแทรกแซงก็ยิ่งต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางเศรษฐกิจภายในเอง
จนกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมเป็นผลตามมา
โซรอสยังเห็นว่า ตัวรัฐเองก็มักใช้อำนาจไปในทางที่ผิด
แทนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม เอาเข้าจริงรัฐก็คือกลุ่มครองอำนาจรัฐที่มุ่งใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพวกตัวเองเป็นหลักมากกว่า
และเมื่อรัฐจับมือฮั้วกันกับกลุ่มธุรกิจก็ยิ่งสร้างภัยมากขึ้น อำนาจของรัฐที่ลดลงจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า
จากเหตุผลอย่างน้อยสองข้อที่กล่าวมาชี้ว่า
รัฐชาติปัจจุบันไร้ศักยภาพหรือน้ำยาที่จะทำหน้าที่ที่พลเมืองของรัฐนั้นคาดหวังไว้ได้
ขณะที่เราก็ฝากความหวังไว้กับตลาดว่าจะช่วยดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมที่เป็นความต้องการแบบรวมหมู่ของมนุษย์เราอาทิ
สันติภาพและความมั่นคง กฎหมายและระเบียบ สิทธิมนุษยชน การปกป้องสิ่งแวดล้อม
และการสร้างความยุติธรรมทางสังคม
ตลาดก็ทำไม่ได้เช่นกัน
เพราะตลาดเป็นที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคลไม่ใช่มีไว้เพื่อสร้างประโยชน์ส่วนรวม
โซรอสคิดว่า
กลไกตลาดเองยังมีข้อจำกัดและไม่สมบูรณ์อย่างที่พวกยึดมั่นในกลไกตลาดคิด
นอกจากที่โมเดลเรื่องดุลยสภาพที่เกิดใต้สภาพการแข่งขันเสรีโดยสมบูรณ์จะเป็นโมเดลที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในโลกที่เป็นจริงแล้ว
ยังไม่อาจคาดหวังว่าจะบรรลุเป็นจริงได้อีกด้วย
การรู้ข้อมูลองค์ประกอบเฉพาะในปัจจุบันไม่ช่วยเราให้กำหนดชัดอนาคตได้เพราะข้อมูลองค์ประกอบเฉพาะในอนาคตเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้ เมื่อไม่อาจเข้าใจตัวองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องได้อย่างสมบูรณ์
ผลตามมาโดยตัวมันเองก็คือการไม่อาจกำหนดอย่างแน่ชัดได้
และนี่คือจุดอ่อนของตลาดการเงินการคลังเอง
เสถียรภาพของตลาดกลับต้องได้รับการปกป้องด้วยนโยบายทางสังคมจากรัฐ ซึ่งก็ไม่สมบูรณ์เช่นกัน
แม้จะมีการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกจากการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในยุคเศรษฐกิจตกต่ำหลายครั้ง
จนในประเทศที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมระดับสูงได้พัฒนาระบบธนาคารกลางและกลไกที่เกี่ยวข้องขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาก็ตาม
การหวังพึ่งองค์กรทางการเงินการคลังระหว่างประเทศเช่นธนาคารโลก และ IMF
เป็นต้น ก็คงหวังไม่ได้
องค์กรเหล่านี้ถูกร่างแบบขึ้นมาในยุคที่การเคลื่อนไหวอย่างเสรีของทุนยังไม่เกิดขึ้น
ยิ่งเห็นได้ชัดจากความล้มเหลวในการจัดการแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจช่วงปี 1997
-1999 ที่ผ่านมา
ซึ่งในท้ายที่สุดเราต้องยอมรับว่า เราต้องปล่อยให้อิทธิพลและอำนาจขององค์กรเหล่านี้ตกต่ำลงไป
จะหันไปหวังพึ่งองค์กรทางการเมืองและสังคมระหว่างประเทศเช่นสหประชาชาติก็หวังพึ่งได้ยาก
การทำหน้าที่ไม่บรรลุในการสร้างสันติภาพและความสงบในโลกในช่วงที่ผ่านๆมา
ในช่วงสงครามเย็นความกลัวภัยนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจสองขั้ว
(โซเวียตและอเมริกา)
ต่างหากกลับเป็นตัวสร้างความตกลงอยู่ร่วมที่ได้ผลกว่าที่สหประชาชาติพยายามทำ
ล่าสุดสหประชาชาติเองก็เสียโอกาสในการทำหน้าที่ตามที่ถูกคาดหวังไว้อย่างเห็นได้ชัดในกรณีของสงครามเชื้อชาติที่บอสเนีย
ในเมื่อฝากความหวังไว้กับตลาด รัฐชาติ
ธนาคารโลก และสหประชาชาติไม่ได้
การรักษาผลประโยชน์ร่วมรวมหมู่ของมนุษย์จึงต้องอาศัยภาคประชาชนเท่านั้น
ที่จะสร้างกลไกเพื่อควบคุมตลาดอีกทีหนึ่ง
นี่คือคำเตือนจากโซรอส ที่แม้คนไทยจะเกลียดชัง แต่ก็น่าใส่ใจและนำมาคิดต่อ
(สิ่งที่น่าแปลกใจ
ก็คือข้อวิพากษ์ของโซรอสในเรื่องนี้กลับสอดคล้องในหลายประเด็นกับการวิเคราะห์จากมาร์กซิสต์ชื่อดัง
ซามีร์ อามิน (Samir Amin) ซึ่งเราจะได้ดูรายละเอียดในคราวต่อไป)
No comments:
Post a Comment