Saturday, April 28, 2018

สาเหตุแห่งสงคราม


หมายเหตุ บทความนี้ลงพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 29, ฉบับที่ 2-3, 2552 : 258-263.
สาเหตุแห่งสงคราม*
War’s Causes                                
เอ ซี เกรลิง**  -เขียน
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์***แปล
A.C. Grayling
Boonsong Chaisingkananont –Translate


โลหิตก็คือเครื่องแบบสุดหรูของเทพเจ้าแห่งสงคราม
Marlowe

              การอภิปรายในเรื่องสาเหตุแห่งสงคราม  -ไม่ใช่ในเรื่องของสงครามนี้หรือสงครามนั้น ๆ  แต่เกี่ยวกับปรากฏการณ์สงครามโดยภาพรวม- นั้น บางครั้งเป็นการรวบเอามารวมกันของเรื่องที่แตกต่างกันสองเรื่อง  เรื่องหนึ่งคือชุดของการคาดเดาที่น่าสนใจเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ทางจิตวิทยาของสงครามในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ     แต่อีกเรื่องหนึ่ง อันดื่มน้ำจากบ่อที่ปนเปื้อนทฤษฎีของฟรอยด์ (Freud) ก็คือเรื่องราวซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้อันปวดร้าวและเป็นที่สับสนเกี่ยวกับกำเนิดของจิตวิทยาดังกล่าวในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตามที่คาดการณ์โดยขาดหลักฐานประจักษ์แจ้งที่เพียงพอ-  ซึ่ง อนิจจา โดยใช้ตรรกะแบบคิดเอาเองอย่างกล้าเสี่ยงประเภทแบบพวกมือสมัครเล่นในด้านนี้ ที่อนุมาน สิ่งที่เป็น จาก บางที หรือ ที่เป็นไปได้  สมมุติฐานเหล่านี้โดยตัวมันเองแล้วได้รับการสรุปขยายเกิน โดยอาศัยเศษกระดูกโบราณและเศษแท่งเครื่องมือหิน อันประกอบกันเป็นผลสรุปของหลักฐาน ณ เวลานี้ในด้านโบราณคดี 

              ตามแนวคิดของฝ่ายหลังดังได้กล่าวมานี้ บรรพบุรุษของเราในยุคแรก ๆ  -ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่มีกล้ามเนื้อ อันไร้ฟันแหลมคมและกรงเล็บ- ได้ตั้งต้นในตำแหน่งแห่งที่ในห่วงโซ่อาหารในสถานะเป็นเหยื่อ  แม้ในเวลาต่อมาจะได้เลื่อนลำดับเป็นสถานะผู้ล่า ก็ยังคงไม่ได้กำจัดการตกทอดในด้านเป็นเหยื่อทิ้ง กล่าวคือ มีความตื่นตกใจยามเผชิญการคุกคาม และมีนิสัยชอบการปกป้องตนเองแบบร่วมกันเป็นกลุ่ม อารมณ์ดังกล่าวนี้ โดยแรกสุดเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของ การต่อสู้ในยุคแรก ๆ ที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมดอาจถูกกำจัดทิ้งได้โดยง่ายดายดังที่มือสมัครเล่นผู้หนึ่งนำเสนอ อารมณ์ดังว่านี้ได้รับการส่งผ่านสู่ช่วงเป็นผู้ล่า อารมณ์ที่ว่ากระตุ้นการปฏิบัติทางด้านศาสนา โดยหลัก ๆ ได้แก่ การบูชาด้วยเลือดมนุษย์หรือสัตว์ เมื่อฝูงสัตว์ขนาดใหญ่จำพวกมีกีบเท้าที่ถูกล่าโดยบรรพบุรุษของเราได้ลดจำนวนลง  บรรพบุรุษของเรา  -อย่างน้อยพวกผู้ชาย- ก็ได้เริ่มต้นล่ากันเองแทน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของสงคราม

              แก่นหลักของทัศนะดังกล่าวนี้คือการอ้างว่าการล่าสัตว์เป็นเรื่อง รุนแรง เป็นการแทนถึง ความขัดแย้ง ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ และให้กำเนิดศาสนาที่เน้นการบูชาด้วยเลือด และยิ่งกว่านั้น ในการขาดโอกาสที่จะฆ่าสัตว์ (อื่น) ผลตามมาก็คือ มนุษย์ใช้การฆ่ากันและกันเป็นการบำบัดความเบื่อหน่าย สองข้อแรกนั้นเป็นความสับสนทางมโนทัศน์ ข้อที่สามเป็นความพยายามอันอ่อนเหตุผลที่จะเชื่อมโยงระหว่างการล่าสัตว์กับสงคราม ในขณะที่มีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดกันมากกว่าและครอบคลุมอย่างหลากหลายระหว่างการล่าสัตว์กับกีฬา  -ดังเช่น การวิ่งแข่ง การขว้าง และกีฬาแบบเล่นเป็นทีม (ในระหว่างมนุษย์สมัยแรก ๆ  กีฬาอาจจะเป็นวิถีที่ให้ผลและประหยัดในการฝึกฝนสำหรับและเพื่อแทนที่การล่าสัตว์ สงครามกลับบ่งชี้ถึงเรื่องของผลประโยชน์ที่เป็นจริงเป็นจังถึงขั้นเอาเดิมพันกัน  อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เป็นแค่การคาดเดาเช่นกัน)

              เหนืออื่นใด มือสมัครเล่นในด้านนี้มีใจโอนเอียงที่จะตกอยู่ภายใต้ปกรณัมแบบยุคกอธิคสมัยใหม่ที่ยึดถือว่าเลือดเป็นสัญลักษณ์อันน่ากลัวโดยเฉพาะของการต่อสู้กันและภยันตราย แต่กระนั้นจวบจนถึงยุคอดีตอันใกล้กับยุคเรา เลือดเป็นสิ่งปกติโดยแท้ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันของเรา  ดังเช่นที่ไก่ถูกนำมาเชือดเพื่อทำอาหารมื้อเย็น หรือหมูที่เลี้ยงไว้ในบ้านถูกฆ่า หรือแม่ม้าคลอดลูกในคอก ผู้คนยังคงทำไส้กรอกโดยมีเลือดประกอบบางส่วน ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องปกติสามัญในชีวิต (ประจำวันของเรา) เมื่อไม่นานมานี้เอง  การหายไปของสิ่งเหล่านี้ในทุกวันนี้ทำให้พวกมันมีความสำคัญยิ่งที่จะใช้อธิบาย (ภาพยนตร์ที่กำกับโดย) เควนติน ตารันติโน[1] (Quentin Tarantino)  เมื่อพิจารณาถึงเรื่องการบูชาทางศาสนา สิ่งเหล่านั้นก็คือวิถีในการถวายเทพเจ้าโดยขอมีส่วนอ้อนวอนหรือสวดถวาย และไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่กับการบูชาด้วยเลือดและเนื้อแต่อย่างไร ที่จริงแล้ว บ่อยครั้งมักจะใช้พืชผักแทนด้วยซ้ำไป

              มีประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ เมื่อเราใส่ใจพิจารณาเรื่องการส่งกำลังบำรุงในการทำสงคราม และโดยเฉพาะต่อประเด็นสำคัญที่ว่าสงครามที่มีการจัดการในวงกว้างก็คือพัฒนาการที่ให้กำเนิดกับหนึ่งในประดาความโหดร้ายที่ชั่วร้ายที่สุดในสมัยใหม่ กล่าวคือ ลัทธิชาตินิยม เรากำลังจะพิจารณาประเด็นทั้งสองนี้  กองทัพขนาดใหญ่และการส่งกำลังบำรุงการปฏิบัติการของกองทัพ ทำให้ต้องกำหนดโดยจำเป็นว่าต้องใช้กลไกราชการต่าง ๆ เพื่อรวบรวมภาษีและสนับสนุนงานด้านเอกสาร  อย่างน้อย นี่คือส่วนสำคัญที่สุดของเหตุผลว่าทำไมรัฐชาติสมัยใหม่จึงกำเนิดขึ้นมา  เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจที่ผู้คนยอมตายเพื่อแผ่นดินพ่อ รู้สึกหัวใจแกว่งไกวไปกับจังหวะเพลงมาร์ชมาเซยแยส (the Marseillaise) และเคารพธงประกอบด้วยรูปดาวเรียงรายของสหรัฐอเมริกา  ทั้งหมดนี้เป็นการแทนถึงนามธรรมที่นิยามมาอย่างคลุมเครือของประเภทที่กำหนดเอาเองตามอำเภอใจจริง ๆ  โดยเพื่อคลุมหน้าตรรกะของกลไกราชการและการจัดเก็บภาษี แต่กระนั้นนี่ก็เป็นความตื่นตาตื่นใจที่เป็นโศกนาฏกรรม

              สิ่งที่สำคัญเท่า ๆ กัน ได้แก่ คำถามว่าอะไรไม่เกี่ยวกับสงคราม  แน่นอนว่าสงครามไม่ใช่เรื่องของอารมณ์แบบก้าวร้าว  -แม้ว่าอารมณ์แบบดังกล่าวเมื่อถูกใช้ขับดันประชากรประเทศหนึ่งใดโดยพวกนักการเมืองในประเทศนั้น ๆ  จะให้การกระตุ้นอันทรงพลังแรงกล้าในการเริ่มก่อสงครามก็ตาม  ในยุคอดีต เมื่อทหารสู้รบด้วยกัน พวกเขาต้องใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติดอย่างอื่นเพื่อขับดันพวกเขาให้เกิดอารมณ์ที่สามารถฆ่าคนได้อย่างเหมาะสม  ทว่าในยุคสมัยใหม่ การคาดคำนวณการณ์อย่างเยือกเย็นและการจัดการอย่างมีวิธีการกลับเป็นส่วนสำคัญ สงครามไม่ใช่การวิวาทในร้านเหล้า และดังนั้นจึงไม่ได้มาจากการมีระดับเทสโทสเทอโรนที่มากล้นในตัวเยาวชนเพศชายแต่ละคน  มันเป็นเพียงแค่การผนวกเอามาด้วยฮอร์โมนข้างต้นเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว จุดประสงค์ดังว่ามีมากมาย ดังต่อไปนี้ กล่าวคือ มีเหตุผลโดยเฉพาะมากมายยิ่งว่าทำไมสงครามเฉพาะจึงบังเกิดขึ้น และหากว่าเราใส่ใจกับสงครามในนามธรรมเพื่อค้นหาว่าทำไมมนุษย์ถึงจัดการกับตนเองเพื่อให้พร้อมสำหรับขับเคี่ยวกันในสงคราม เรากำลังนำพาตัวเราเองไปผิดทาง  เหตุผลมากมายที่ว่าทำไมสงครามจึงเกิดขึ้น ยังช่วยอธิบายเหตุผลที่ว่าทำไมสงครามจึงเกิดด้วย กล่าวคือ ไม่มีลักษณะทางจิตวิทยาเดี่ยว ๆ หนึ่งใดของมนุษยชาติ  -ไม่มีสัญชาตญาณก่อนประวัติศาสตร์ ที่ลึกลับหรือเป็นพิเศษ-  ซึ่งโดยตัวมันเองสามารถอธิบายความบ้าคลั่งที่ได้รับการก่อซ้ำและเกิดถี่ของสงคราม และโดยข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมส่วนใหญ่ที่สุดทุ่มเทสัดส่วนจำนวนมากมายของทรัพยากรของสังคมให้กับการเตรียมตัวเพื่อทำสงคราม พวกกึ่งยึดตามแบบฟรอยด์จำนวนมากอ้างเอาว่ารู้ว่ามีอะไรอยู่ในจิตใจของมนุษยชาติที่ควรถูกประณาม แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าหากเราจะถามนักเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องชั้นเชิงในการอธิบายเรื่องนี้
                         




* บทความนี้รวมอยู่ในรวมข้อเขียนของ A. C. Grayling ชุด The Reason of Things: Living With Philosophy จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Weidenfeld and Nicolson (2002)  ข้อเขียนชุดนี้ได้รับการตึพิมพ์ในปี 2003 ภายใต้ชื่อชุดใหม่ว่า Life, Sex and Ideas: The Good Life Without God โดยสำนักพิมพ์ Oxford University Press
** สอนปรัชญาประจำอยู่ที่ Birkbeck College แห่ง University of London
*** ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
[1] ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งสร้างภาพยนตร์ในแนวหลังสมัยใหม่ และมักมีฉากเลือดนองและการใช้ความรุนแรงเป็นองค์ประกอบสำคัญในภาพยนตร์ของเขา -ผู้แปล

คำเตือนจากโซรอส


หมายเหตุ บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2545 โดยมีการตัดทอนบางส่วน ฉบับที่เผยแพร่ในครั้งนี้เป็นฉบับตามต้นฉบับที่สมบูรณ์
                                                                
                                                                    คำเตือนจากโซรอส

                                                             บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์

                                                         คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร



         สำหรับคนไทยแล้วชื่อเสียงของจอร์จ โซรอส (George Soros) คงไม่ดีนัก  ในฐานะนักเก็งกำไรค้าหุ้นผู้ก่อให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในบ้านเราในหลายปีที่ผ่านมานี้  มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เกลียดชังโซรอสยิ่งนัก   อย่างไรก็ตาม ถ้าเรายอมรับว่าโซรอสเป็นผู้ที่เข้าใจกลไกของระบบทุนนิยมเป็นอย่างดี  จนกระทั่งสร้างความมั่งคั่งส่วนตัวได้สำเร็จโดยอาศัยความเข้าใจดังกล่าว  ความคิดเห็นของโซรอสที่มีต่อตัวระบบทุนนิยมเองก็ยิ่งน่าสนใจยิ่งนัก  โซรอสคิดว่าการใช้ชีวิตภายใต้ระบบทุนนิยมเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์เราหรือไม่  สังคมที่ดีควรเป็นเช่นไร    คำถามเหล่านี้น่าสนใจยิ่งนัก   และเราก็หาคำตอบจากเขาโดยตรงได้จากข้อเขียนของเขาเอง     

         ในหนังสือที่โซรอสเขียนชื่อ Open Society: Reforming Global Capitalism ซึ่งออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 2000 นั้น  โซรอสตอบไว้อย่างชัดเจนว่า ระบบทุนนิยมที่ขยายตัวครอบโลกในทุกวันนี้ ที่เราเรียกว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์นั้น  อาจไม่ช่วยให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้นเลย  หากเรายอมรับว่าโลกที่น่าอยู่นั้น เราต้องมีเสรีภาพ มีวิถีชีวิตอยู่บนวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย  และได้รับความคุ้มครองโดยหลักของกฎหมาย 

         โซรอสเห็นว่า ทุนนิยมกับประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเดินไปด้วยกัน แม้ว่าทั้งสองสิ่งนี้จะมีความเกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง  เมื่อมีชนชั้นกลางมากขึ้นและมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ก็สูงขึ้น ก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดแรงกดดันมุ่งสู่ความต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย   รวมทั้งความต้องการเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงขึ้น  แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยจะตามมาโดยอัตโนมัติตามหลัง
ทุนนิยม(ซึ่งขยายจำนวนของชนชั้นกลางและยกระดับมาตรฐานชีวิตทางวัตถุสูงขึ้น)  ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

         โซรอสตอบว่า แม้ว่าทุนนิยมจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างความมั่งคั่งขึ้นในโลก สร้างสินทรัพย์ต่างๆ ให้เพิ่มพูนขึ้น  เราก็ต้องไม่ลืมว่า ธุรกิจนั้นถูกผลักดันด้วยความต้องการกำไร  ธุรกิจไม่ใช่สิ่งที่ถูกร่างสร้างขึ้นมาเพื่อมุ่งสูการทำให้หลักการสากลที่มีไว้เพื่อมนุษย์เกิดเป็นจริงขึ้น  การทำธุรกิจนั้นมุ่งไปที่การได้ผลประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งไปสู่ประโยชน์สาธารณะ  ความรับผิดชอบแรกสุดในการจัดการทางธุรกิจนั้นก็โดยการคำนึงถึงผลประโยชน์ของเจ้าของกิจการนั้นๆ ไม่ใช่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมาก่อน ไม่ว่านักธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เที่ยงธรรมหรือไม่ก็ตาม  หรือธุรกิจมักชอบเสแสร้งว่าคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะก่อนอื่นใดก็ตาม  การเสแสร้งแบบหลังนี้ทำไปก็เพราะมองว่าเป็นวิธีการทางธุรกิจที่ดีที่จะช่วยนำกำไรกลับมาสู่เจ้าของธุรกิจในท้ายที่สุด  เราจึงไม่อาจพึ่งพาพลังของตลาดในการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพและหลักของกฎหมาย ให้เกิดเป็นความจริงขึ้นมา  เราจำเป็นต้องสร้างสถาบันทางสังคมบางแบบขึ้นเพื่อปกป้องหลักการสากลเหล่านั้น

         อดัม สมิธเคยเสนอไว้อย่างมั่นใจเมื่อศตวรรษที่ 18 ว่า สังคมของมนุษย์นั้นโดยพื้นฐานเป็นสังคมพาณิชย์  เราเอาของที่เราผลิตขึ้นหรือหามาได้แล้วเหลือเกินจากส่วนที่เราต้องใช้บริโภค นำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของอื่นๆที่เราต้องการแต่เราไม่มี  ตลาดก็คือที่แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างมนุษย์ที่มีความต้องการสินค้าบางอย่างโดยนำสินค้าอีกอย่างไปแลกเปลี่ยนด้วย  ราคาสิ่งของขึ้นลงตามแต่ว่ามีผู้เสนอของนั้นๆมามากหรือน้อยกว่าความต้องการที่จะได้สิ่งของดังกล่าว  กฎของอุปสงค์อุปทานนี้เดินไปเองโดยอัตโนมัติและแต่ละคนก็จะพบจุดลงตัวในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน  เราเรียกทัศนะเช่นนี้ว่า แนวเน้นตลาดเสรี (laissez-faire)  แต่โซรอสเรียกว่า พวกยึดมั่นถือมั่นในกลไกตลาด (market fundamentalism) ซึ่งคิดว่า กลไกตลาดจะดูแลความต้องการของเราทุกคนได้  หากเราแต่ละคนสามารถแสวงหาผลประโยชน์ของเราเองได้ โดยรัฐไม่แทรกแซงก้าวก่ายเข้ามา  ประโยชน์สาธารณะก็จะเกิดขึ้นเป็นผลตามมา 

         โซรอสแย้งว่า ตลาดนั้นเป็นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคล แต่ตลาดไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูแลผลประโยชน์ส่วนรวม  แม้ว่าการปกป้องรักษากลไกตลาดไว้จะเป็นการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมแบบหนึ่งก็ตาม  เราต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้คนที่แข่งขันกันในตลาดไม่ได้ต้องการปกป้องการแข่งขันกันนี้ แต่ต้องการได้ชัยชนะต่างหาก  ดังนั้น หากทำได้ พวกเขาก็จะเลือกเอาการผูกขาด เลือกเอาการกำจัดการแข่งขันในตลาด  การได้เปรียบคู่แข่งเพื่อชัยชนะจึงเป็นจุดมุ่งหมายหลัก  การกำจัดคู่แข่งที่เป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็งก็ตามก็คือเป้าหมายทางธุรกิจ ที่ดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นหลักนั่นเอง

         การปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมนั้นเคยยึดถือกันมาว่าเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของรัฐชาติ  แต่ในปัจจุบันเราฝากความหวังไว้ที่รัฐชาติไม่ได้แล้ว  ทำไมเป็นเช่นนี้? 

         โซรอสเห็นว่า  เมื่อเราพูดถึงระบบเศรษฐกิจระดับโลกาภิวัตน์นั้น เรากำลังพูดถึงการค้าเสรีในด้านสินค้าและการบริการ  ซึ่งที่จริงก็คือการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของทุน ถ้าจะเรียกให้ถูกก็ต้องเรียกว่าระบบทุนนิยมระดับโลกาภิวัตน์  ทุนเป็นสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ง่ายยิ่งกว่าองค์ประกอบอื่นทางการผลิต  และทุนทางการเงินการคลังยิ่งเคลื่อนที่ได้ง่ายกว่าทุนในรูปแบบอื่นๆ   ในปัจจุบันนี้ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ราคาสินค้าในสต็อก ในประเทศต่างๆ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง  ตลาดทางการเงินการคลังระดับโลกาภิวัตน์นี้ส่งอิทธิพลต่อสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในทุกรัฐทั่วโลก  จากการที่ทุนเคลื่อนที่ได้ง่ายไป ณ ที่ใดในโลกนี้ก็ได้  การที่รัฐแต่ละรัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีและจัดระเบียบทุนก็ยิ่งยากขึ้น ซึ่งหมายถึงความสามารถของรัฐในการควบคุมภาคธุรกิจลดลงนั่นเอง  ความพยายามเข้าไปควบคุมทุนและจัดเก็บภาษีอาจกลายเป็นการขับไล่ทุนออกไปจากรัฐนั้นๆ แทน  ในเมื่อทุนเป็นตัวสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งหรือสินทรัพย์ในสังคม  การทำให้ทุนไหลออกหนีหายไปจากประเทศก็เป็นเรื่องที่สร้างความสูญเสียมากยิ่งกว่า  ดังกรณีของประเทศทุนนิยมหลักเองเช่นเยอรมนีในช่วงที่ออสการ์ ลาฟองแตน ( Oscar Lafontaine ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เมื่อเขาพยายามเพิ่มภาษีจัดเก็บจากภาคธุรกิจ กลับก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนไหลออกจนกระทบเศรษฐกิจของเยอรมนีในขณะนั้น

         นั่นคือ รัฐชาติเองถูกลดอำนาจที่จะเข้าไปควบคุมแทรกแซงภาคธุรกิจภายในเขตอำนาจของรัฐตนเอง  และยิ่งพยายามเข้าไปแทรกแซงก็ยิ่งต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางเศรษฐกิจภายในเอง จนกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมเป็นผลตามมา

         โซรอสยังเห็นว่า ตัวรัฐเองก็มักใช้อำนาจไปในทางที่ผิด แทนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม เอาเข้าจริงรัฐก็คือกลุ่มครองอำนาจรัฐที่มุ่งใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพวกตัวเองเป็นหลักมากกว่า  และเมื่อรัฐจับมือฮั้วกันกับกลุ่มธุรกิจก็ยิ่งสร้างภัยมากขึ้น  อำนาจของรัฐที่ลดลงจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า 

         จากเหตุผลอย่างน้อยสองข้อที่กล่าวมาชี้ว่า รัฐชาติปัจจุบันไร้ศักยภาพหรือน้ำยาที่จะทำหน้าที่ที่พลเมืองของรัฐนั้นคาดหวังไว้ได้  ขณะที่เราก็ฝากความหวังไว้กับตลาดว่าจะช่วยดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมที่เป็นความต้องการแบบรวมหมู่ของมนุษย์เราอาทิ สันติภาพและความมั่นคง กฎหมายและระเบียบ สิทธิมนุษยชน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยุติธรรมทางสังคม  ตลาดก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะตลาดเป็นที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคลไม่ใช่มีไว้เพื่อสร้างประโยชน์ส่วนรวม

         โซรอสคิดว่า กลไกตลาดเองยังมีข้อจำกัดและไม่สมบูรณ์อย่างที่พวกยึดมั่นในกลไกตลาดคิด  นอกจากที่โมเดลเรื่องดุลยสภาพที่เกิดใต้สภาพการแข่งขันเสรีโดยสมบูรณ์จะเป็นโมเดลที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในโลกที่เป็นจริงแล้ว ยังไม่อาจคาดหวังว่าจะบรรลุเป็นจริงได้อีกด้วย  การรู้ข้อมูลองค์ประกอบเฉพาะในปัจจุบันไม่ช่วยเราให้กำหนดชัดอนาคตได้เพราะข้อมูลองค์ประกอบเฉพาะในอนาคตเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้  เมื่อไม่อาจเข้าใจตัวองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องได้อย่างสมบูรณ์ ผลตามมาโดยตัวมันเองก็คือการไม่อาจกำหนดอย่างแน่ชัดได้ และนี่คือจุดอ่อนของตลาดการเงินการคลังเอง   เสถียรภาพของตลาดกลับต้องได้รับการปกป้องด้วยนโยบายทางสังคมจากรัฐ  ซึ่งก็ไม่สมบูรณ์เช่นกัน แม้จะมีการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกจากการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในยุคเศรษฐกิจตกต่ำหลายครั้ง จนในประเทศที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมระดับสูงได้พัฒนาระบบธนาคารกลางและกลไกที่เกี่ยวข้องขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาก็ตาม 

         การหวังพึ่งองค์กรทางการเงินการคลังระหว่างประเทศเช่นธนาคารโลก และ IMF เป็นต้น ก็คงหวังไม่ได้ องค์กรเหล่านี้ถูกร่างแบบขึ้นมาในยุคที่การเคลื่อนไหวอย่างเสรีของทุนยังไม่เกิดขึ้น ยิ่งเห็นได้ชัดจากความล้มเหลวในการจัดการแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจช่วงปี 1997 -1999 ที่ผ่านมา  ซึ่งในท้ายที่สุดเราต้องยอมรับว่า เราต้องปล่อยให้อิทธิพลและอำนาจขององค์กรเหล่านี้ตกต่ำลงไป  จะหันไปหวังพึ่งองค์กรทางการเมืองและสังคมระหว่างประเทศเช่นสหประชาชาติก็หวังพึ่งได้ยาก  การทำหน้าที่ไม่บรรลุในการสร้างสันติภาพและความสงบในโลกในช่วงที่ผ่านๆมา  ในช่วงสงครามเย็นความกลัวภัยนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจสองขั้ว (โซเวียตและอเมริกา) ต่างหากกลับเป็นตัวสร้างความตกลงอยู่ร่วมที่ได้ผลกว่าที่สหประชาชาติพยายามทำ ล่าสุดสหประชาชาติเองก็เสียโอกาสในการทำหน้าที่ตามที่ถูกคาดหวังไว้อย่างเห็นได้ชัดในกรณีของสงครามเชื้อชาติที่บอสเนีย

         ในเมื่อฝากความหวังไว้กับตลาด รัฐชาติ  ธนาคารโลก และสหประชาชาติไม่ได้  การรักษาผลประโยชน์ร่วมรวมหมู่ของมนุษย์จึงต้องอาศัยภาคประชาชนเท่านั้น ที่จะสร้างกลไกเพื่อควบคุมตลาดอีกทีหนึ่ง  นี่คือคำเตือนจากโซรอส ที่แม้คนไทยจะเกลียดชัง แต่ก็น่าใส่ใจและนำมาคิดต่อ  

(สิ่งที่น่าแปลกใจ ก็คือข้อวิพากษ์ของโซรอสในเรื่องนี้กลับสอดคล้องในหลายประเด็นกับการวิเคราะห์จากมาร์กซิสต์ชื่อดัง ซามีร์ อามิน (Samir Amin) ซึ่งเราจะได้ดูรายละเอียดในคราวต่อไป)
 


จอห์น ล็อก กับประชาสังคมไทย


หมายเหตุ บทความนี้ลงตีพิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐรายวัน 5 มิถุนายน 2538

จอห์น ล็อก กับประชาสังคมไทย
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์

                   
         ในภาพยนตร์เรื่องเมาคลีซึ่งได้ฉายไปแล้วเมื่อไม่นานนี้ มีอยู่ฉากหนึ่งที่เมาคลีตัวพระเอกในเรื่องนี้กล่าวในทำนองว่า "สำหรับกฎของป่าแล้วการฆ่ากระทำได้เพื่อเอาเป็นอาหารหรือเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้เป็นอาหาร" ก็เช่นที่เราได้รับรู้กันโดยทั่วไปมนุษย์ที่ต้องอยู่ในสภาวะตามธรรมชาติเช่นนั้นการดิ้นรนต่อสู้เพื่อป้องกันชีวิตและความอยู่สุขของตนเองโดยใช้วิธีการต่างๆ เท่าที่อำนวยให้นับเป็นความชอบธรรม เพราะเป้าหมายในที่นั้นก็คือการอยู่รอดปลอดภัย

         ในประชาสังคม (อันเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า civil society ) ซึ่งมนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และมีการกำหนดให้มีกลุ่มคนบางกลุ่มรับผิดชอบในการดูแลชีวิตและความอยู่สุขของคนทั้งชุมชน โดยมีข้อกำหนดเป็นนัยโดยการปฏิบัติหรือตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษรถือใช้ร่วมกันในชุมชนในสังคมเช่นนี้ กฎของป่าย่อมถูกระงับไป และกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือกฎหมายได้เข้ามาแทนที่ ดังที่ได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กฎหมายนั้นกำหนดการประพฤติของคนในระดับของการมีพันธะต้องกระทำโดยมีกลไกปลุกเร้าให้กระทำหรือไม่กระทำด้วยรูปแบบของการลงโทษกำกับ

         อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องเชื่อฟังกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมอย่างบริบูรณ์และไม่มีเงื่อนไขการเป็นข้อกำหนดเพื่อบังคับใช้ไม่ได้หมายความว่าข้อกำหนดเช่นนั้นมีความชอบธรรม กฎหมายที่ออกเพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะพวกก็มี ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายที่เลวเมื่อมองจากแง่ของการคำนึงถึงประโยชน์ของทั้งสังคม สำหรับประชาสังคมแล้ว กฎหมายเช่นนั้นไม่ใช่ข้อกำหนดที่ถูกต้อง และหากให้ผลเสียต่อประโยชน์สังคมโดยรวมแล้ว การเชื่อฟังกฎเกณฑ์เหล่านั้นก็คือการละเมิดหลักการพื้นฐานของประชาสังคมเอง และหากไม่มีการทำให้กฎเกณฑ์เช่นนั้นสิ้นสุดไป ก็กล่าวได้ว่าภาวะของการเป็นประชาสังคมถึงจุดยุติ ในช่วงเวลาเช่นนั้นเองที่กฎของป่าได้กลับมามีความชอบธรรมอีกครั้งหนึ่ง(ตรงนี้ใช้อธิบายได้ถึงความชอบธรรมในการตอบโต้กลับของฝ่ายประชาชนในเหตุการณ์เช่นกรณีพฤษภาทมิฬ)         อะไรคือสิ่งที่ประชาสังคมปกป้อง อันข้อกำหนดต่างๆ ที่มีไว้ก็เพื่อสิ่งนี้  สำหรับเสรีนิยมประชาธิปไตยแล้ว ประชาสังคมหรือสังคมการเมืองนั้นมีไว้เพื่อปกป้อง"ชีวิต เสรีภาพ และความอยู่สุขของมนุษย์" ความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคมหมายถึงสภาพที่มีการให้ประกันการดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้เท่านั้น (ดังนั้นเวลาที่ทหารอ้างถึงความมั่นคงแห่งชาติ เราก็ควรตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่ากำลังกล่าวถึงอะไรกันแน่)

         เราจะลองมาพิจารณากันถึงความคิดในเรื่องนี้โดยดูผ่านข้อเขียนของจอห์น ล็อก (John Locke) นักคิดต้นตำหรับเสรีนิยมประชาธิปไตย (ในหนังสือเลื่องชื่อ Second Treatise of Government)

         เพื่อหลีกเลี่ยงจากความไม่แน่นอนในสภาพแบบที่อยู่กันตามธรรมชาติ ที่ใครมีกำลังมากกว่าหรือฉลาดกว่าก็เอาตัวรอดได้ (เว้นแต่เมื่ออ่อนกำลังลงหรือกระทำพลาดไป) ที่ด้อยกว่าก็กลายเป็นเหยื่อไป มนุษย์เข้าสู่สังคมการเมือง (หรือประชาสังคม สำหรับล็อกสองคำนี้ไม่ต่างกัน) เพื่อสันติสุขและการมีประกันต่อชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินที่ตนมีและหามาได้ มนุษย์จึงยอมสละอำนาจที่จะสนองความตั้งใจของตนในการปกป้องชีวิตเสรีภาพและทรัพย์สินของตนเองจากการรุกรานหรือทำละเมิดโดยผู้อื่น ด้วยการดิ้นรนต่อสู้กระทั่งทำร้ายฝ่ายที่ทำละเมิดจนตายได้นั้น สละไว้ให้กับชุมชนที่ตนเข้าร่วม และยอมรับกฎเกณฑ์ที่ชุมชนกำหนดขึ้น ยอมมอบอำนาจไว้กับองค์อธิปัตย์เพื่อบริหารชุมชน 

         กล่าวอีกอย่างหนึ่ง อำนาจในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในสังคมและอำนาจบริหารเพื่อปกป้องชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินของคนในสังคมโดยที่สามารถลงโทษผู้ที่ทำละเมิดได้นั้น เป็นสิ่งที่ผู้ได้อำนาจดังกล่าวมาจากสังคมนั้นภายใต้การยอมสละซึ่งอำนาจตามธรรมชาติของแต่ละคนในการปกป้องชีวิตเสรีภาพและทรัพย์สินของตนโดยการตอบโต้ผู้ละเมิดด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้เท่าที่เห็นว่าเหมาะสม ในแง่นี้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจึงมีอำนาจกระทำหน้าที่ของตนในฐานะองค์อธิปัตย์ได้ แต่ไม่ใช่ทำอะไรตามอำเภอใจก็ได้ หรือออกกฎเกณฑ์อะไรๆ ก็ได้ การดำเนินการทางนิติบัญญัติใดๆ และการบังคับพลเมืองหรือลงโทษใดๆจักกระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปโดยจุดประสงค์เพื่อพิทักษ์หลักการพื้นฐานของการเป็นประชาสังคมดังกล่าว ทั้งนี้ภายใต้การคำนึงด้วยว่าจักส่งผลที่ถูกทางได้จริง 

         ตรงนี้เอง ที่การสละอำนาจของเราในการลงโทษผู้มาทำละเมิดกับเรา การสละอำนาจการตัดสินตามใจเรานี้  ได้แลกกลับมาด้วยสิทธิของเราในการอุทธรณ์เพื่อเรียกร้องการปกป้องเราโดยรัฐ ดังนั้นในประชาสังคมจักต้องมีส่วนอำนาจซึ่งประชากรในประชาสังคมนั้นร้องเรียนเพื่อให้มีการปกป้องสิทธิของเขาไม่ให้ถูกทำละเมิด หรือนำข้อพิพาทขึ้นมาเพื่อพิจารณาได้โดยไม่ลำเอียง ในปัจจุบันเราอาจนึกถึงอำนาจศาล แต่นี่เป็นเพียงส่วนเดียว  ขอให้ดูที่จะกล่าวต่อไปนี้ก่อน

         สำหรับล็อกแล้ว  เมื่อไรก็ตามที่มีบางส่วนในสังคม  ไม่ว่าจะเป็นบุคคล (โดยอ้างสายเลือด) หรือกลุ่มบุคคลทำการละเมิดเองแล้วเราไม่อาจอุทธรณ์เอากับส่วนใดได้เพื่อให้มีการพิจารณา หรือมีการลงโทษตามพฤติกรรมที่ได้กระทำไปเมื่อสังคมนั้นไม่มีกลไกที่บังคับใช้ในกรณีเช่นนั้นได้จริง ประชาสังคมได้ถึงจุดยุติการเป็นประชาสังคมไปแล้ว และถือได้ว่ามนุษย์ได้กลับไปอยู่ในสภาวะตามธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนก็อาจใช้รูปแบบใดๆ เท่าที่ทำได้ในการตอบโต้เพื่อให้สมกับข้อตัดสินทางตน

         ทั้งนี้เพราะความหมายของการมีองค์อธิปัตย์และมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้เป้าหมายของประชาสังคมดำรงอยู่ได้นั้นได้สูญเสียนัยสำคัญไป คนแต่ละคนจึงต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปกป้องชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินของตนเองเพื่อให้ความเป็นธรรมกับตนเอง ตรงนี้เองกฎของป่ากลับมามีความเหมาะสมมากกว่า

         เรากล่าวได้ว่า ภายใต้การปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคมโลก รัฐไทยได้อ้างการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแบบเสรี แต่เราก็ได้พบว่า ภายใต้สังคมของเรานี้ การปกป้องชีวิต เสรีภาพและความอยู่สุขของประชาชน อันเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมเสรีนั้นเป็นไปไม่สม่ำเสมอ เราได้เห็นตั้งแต่การฆ่าประชาชนมือเปล่ากลางเมืองหลวงแล้วไม่มีผู้ต้องรับผิด มาจนถึงความพยายามนำแผ่นดินไปแจกพวกพ้องตนเองโดยใช้อำนาจในฐานะผู้กุมกลไกของรัฐ นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาเรื่องความอยู่สุขในชีวิตประจำวันในเรื่องต่างๆ นับจากการแก้ปัญหากันไปเองในเรื่องรถติด เรื่องของแพง สวัสดิภาพแรงงานไปจนถึงเรื่องความปลอดภัยจากโจรภัย มาถึงตรงนี้เราคงต้องกลับมาย้อนถามกันเองแล้วว่าทุกวันนี้เราอยู่ในประชาสังคมหรืออยู่ในสภาวะตามธรรมชาติกันแน่?
      
          
         
          
                          

ถ้าผมเป็นพันธมิตรจะเคลื่อนไหวอย่างไรจึงจะเป็นอารยะขัดขืนอย่างถูกต้อง?

หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

ถ้าผมเป็นพันธมิตรจะเคลื่อนไหวอย่างไรจึงจะเป็นอารยะขัดขืนอย่างถูกต้อง?
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Civil Disobedience (ปัจจุบันบ้านเราเรียกกันว่าอารยะขัดขืน ซึ่งเป็นการสร้างศัพท์ที่เป็นปัญหา ที่จริง civil ในที่นี้มีความหมายถึงด้านพลเมือง แต่ในที่นี้จะขอข้ามไป เอาแค่นี้พอ ที่จริงเดิมเคยใช้กันว่าการดื้อแพ่ง จะมีความหมายใกล้เคียงกว่า) คือ การอ้างสิทธิพลเมืองที่จะต่อต้านกฎหมาย  The Oxford Companion to Philosophy อธิบายไว้ว่า คือ

      พฤติกรรมสาธารณะที่ผิดกฎหมาย ที่ออกแบบมาเพื่ออุทธรณ์ต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมาย  โดยไม่ปฏิเสธหลักการการปกครองด้วยกฎหมาย
         ดังนั้น มีเจตนาที่จะไม่ใช้ความรุนแรง (non-violence) และไม่ปฏิวัติ (non-revolutionary)  เช่นเดียวกับที่มีความตั้งใจที่จะยอมรับการลงโทษโดยกฎหมาย
                                                                                
โดยภาพรวม Civil Disobedience มีจุดมุ่งหมายเพื่อประท้วงความอยุติธรรมพื้นฐาน  โดยยึดถือการประสบความสำเร็จอย่างมีเหคุผล โดยไม่สร้างความสูญเสียแก่สังคม

(ส่วนอหิงสานั้น ตามมหาตมะ คานธี ผู้เป็นต้นคิด คือ ความกล้าเผชิญหน้ากับการใช้ความรุนแรงของอีกฝ่าย โดยไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับ และเมตตาแม้แต่ศัตรู)

Civil Disobedience จึงแตกต่างจาก การประท้วงที่ถูกกฎหมาย, การไม่เชื่อฟังกฎหมายโดยใช้ความรุนแรงที่ไม่ถูกกฎหมาย,  การปฏิเสธอย่างมีมโนธรรม –Passive Obedience (คือ ตั้งใจยอมรับการลงโทษทางกฎหมาย ยิ่งกว่าจะทำตามกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม โดยไม่มีจุดมุ่งหมายใดที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมาย),  การทดสอบตัวกฎหมายว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่  (เช่น สงสัยว่ากฎหมายนั้นๆขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงฝ่าฝืนเพื่อให้เป็นประเด็นพิจารณาชี้ขาด)

โดยหลักการ Civil Disobedience มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องเสรีภาพพลเมือง อันได้แก่ เสรีภาพในการพูด, การพิมพ์เผยแพร่, การชุมนุม และการนับถือศาสนาหรือความเชื่อของตน  กล่าวคือปกป้องคุณค่าแบบเสรี (liberal virtues) [ถ้าเรียกร้องให้มีการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ เป็นต้น ถือว่าไม่ใช่ Civil Disobedience]

Ronald Dworkin (ใน A Matter of Principle) นักนิติปรัชญาคนสำคัญในปัจจุบัน ได้ตั้งคำถามว่า เราจะแยก Civil Disobedience จากกิจกรรมทางอาชญากรรมธรรมดาที่ถูกผลักดันโดยความเห็นแก่ตัว ความโกรธแค้น ความหยาบช้า หรือความบ้าคลั่งอย่างไร 

Dworkin อธิบายว่า Civil Disobedience เป็นเรื่องของผู้เคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่ได้ท้าทายผู้มีอำนาจในวิถีทางแบบพื้นฐาน เพราะนอกจากจะไม่ได้คิดเพื่อตัวพวกเขาเอง  และไม่ได้ถามผู้อื่นให้คิดเพื่อตัวพวกเขา ยังต้องยอมรับความชอบธรรมพื้นฐานของทั้งการปกครองและของชุมชน และมุ่งปฏิบัติการเพื่อให้ได้ผล ในแง่ เกิดความเป็นธรรมในเรื่องที่เคลื่อนไหว แต่ยังคงกระทำหน้าที่ของตนในฐานะพลเมืองต่อไป  (Dworkin ยังได้จัดประเภท Civil Disobedience ออกเป็น 3 แบบ จะขอข้ามไป แต่ผมจะเขียนไว้ในบทความฉบับเต็มเกี่ยวกับเรื่องนี้)

โดยสรุป Civil Disobedience ไม่ปฏิเสธหลักการการปกครองโดยเสียงของคนส่วนใหญ่ (ไม่ปฏิวัติ) และด้วยเหตุนี้จึง เป็น Democrat โดยหัวใจ กล่าวคือ เคลื่อนไหวโดยยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่  ซึ่งถือว่า ทุกคนเสมอภาคกันโดยศักดิ์ศรีและสิทธิ  เบื้องหน้ากฎหมายทุกคนเสมอภาคกัน (หลักนิติรัฐ) และรัฐมีไว้เพื่อปกป้องเสรีภาพและสิทธิพลเมือง

Civil Disobedience ใช้ยุทธวิธีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในสองรูปแบบ
1.      แบบเชิญชวน โดยการบีบคนส่วนใหญ่ให้ฟังข้อถกเถียงแย้งกฎหมายหรือโครงการของรัฐนั้นๆ โดยคาดหวังให้พวกเขาเห็นด้วยและไม่ยอมรับกฎหมายหรือโครงการของรัฐนั้นๆ  หรือมุ่งทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าการสนับสนุนกฎหมายหรือโครงการนั้นๆ ผิด และไม่เป็นประโยชน์กับพวกเขาเอง
2.      แบบไม่เชิญชวน  คือ ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนความคิดคนส่วนใหญ่ แต่ทำให้มีการเพิ่มค่าใช้จ่ายในโครงการนั้นๆ โดยคาดหวังว่าคนส่วนใหญ่จะค้นพบว่าค่าใช้จ่ายของโครงการสูงเกินกว่าจะรับได้ หรือสร้างภาระให้คนส่วนใหญ่ต้องจ่าย หากจะยังคงสนับสนุนโครงการดังกล่าวต่อไป

ถ้าพันธมิตรจะเคลื่อนไหวแบบ Civil Disobedience จริง จะต้องทำอย่างไร?

1.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวแบบไม่เลือกวิธีการ เพียงแค่ขอให้ได้ชัยชนะ (ซึ่งการเมืองแบบเน้นคุณธรรมไม่มีพื้นที่ให้กับแนวทางวิธีการอะไรก็ได้ขอให้ได้ชัยชนะ)
2.      จะต้องเคารพจิตใจและวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยพื้นฐานที่ถือว่าทุกคนเสมอภาคกันโดยศักดิ์ศรีและสิทธิ  (ไม่ใช่การเมืองแบบเชิดชูเจ้า)
3.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวโดยมีการพกพาอาวุธทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการอ้างว่าเพื่อป้องกันตนเอง หรือฝ่าด่านป้องกันของฝ่ายรัฐ
4.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวในแนวทางแย้งสิทธิพลเมืองโดยพื้นฐาน เช่นไม่เรียกร้องให้เซ็นเซอร์ความเห็นแย้ง หรือควบคุมการเผยแพร่ความคิดเห็นและข่าวสารของฝ่ายอื่น
5.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวแบบใช้การเมืองแบบชี้นำฝูงชน โดยการโฆษณาชวนเชื่อแบบปลุกระดม แต่เน้นการคิดเป็น ความมีเหตุผลที่ดี
6.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนขั้วครอบครองอำนาจรัฐหรือแย่งชิงอำนาจรัฐ แต่ทำหน้าที่ในฐานะกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐ และเตือนภัยต่อสาธารณะ
7.      จะต้องไม่เคลื่อนไหวโดยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม หรือสร้างความเสียหายต่อสังคม
8.      ทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมจะต้องยอมรับผลจากการเคลื่อนไหวที่ฝืนกฎหมาย โดยยอมถูกจับและหากถูกลงโทษตามกฎหมาย ก็ยอมรับผลเช่นนั้น โดยไม่ขัดขืน

ยกตัวอย่าง  พันธมิตรจะต้องไม่เอาสถาบันกษัตริย์มาอ้างเพื่อกำจัดฝ่ายอื่น ไม่เรียกร้องให้เซ็นเซอร์เว็บไซต์ทางการเมือง   ในการชุมนุมและการเคลื่อนขบวนต้องปลดอาวุธทุกชนิด รวมถึงไม้หรือเหล็กแท่งต่างๆ  วิธีการเคลื่อนไหวจะต้องคำนึงว่าส่งผลกระทบส่วนรวมหรือไม่ (ไม่ตัดน้ำ ตัดไฟ หยุดเดินรถ ปิดสนามบิน เป็นต้น)

ตอนที่แกนนำถูกหมายจับข้อหากบฏ สิ่งที่ควรทำในตอนนั้นตามแนวทาง Civil Disobedience ก็คือเข้ามอบตัวทุกคน และไม่ขอประกันตัว และผู้ชุมนุมอื่นๆ ก็พากันเข้ามอบตัว รวมทั้งอาจพากันมาสมทบมอบตัวจากต่างจังหวัด เป็นต้น จนเจ้าหน้าที่ไม่รู้จะหาสถานที่มาคุมขังได้พียงพออย่างไร   และเกิดปัญหากับงบประมาณที่จะเอามาใช้ดูแลผู้ต้องขัง

ตอนที่เคลื่อนไปชุมนุมหน้ารัฐสภา (เมื่อวันที่ 7 ตุลาที่ผ่านมา หรือในวันที่ 24 พฤศจิกานี้) ซึ่งผู้ชุมนุมทุกคนต้องไม่มีการพกสิ่งใดๆ ที่อาจใช้เป็นอาวุธติดไปด้วย  อาจใช้การนั่งหรือนอนขวางที่ด้านนอกรัฐสภา แต่จะไม่ต่อต้านเมื่อเจ้าหน้าที่มาลากตัวหรืออุ้มตัวออกไปทีละคนจนหมด และหากมีการตั้งข้อหาก็พร้อมยอมถูกจับทุกคนและไม่ขอประกันตัว และพร้อมถูกขังคุก

ข้างต้นเป็นตัวอย่างของการเคลื่อนไหวในแนวทาง Civil Disobedience อย่างแท้จริง ซึ่งต้องอาศัยการคิดแบบสร้างสรรค์ ไม่ใช่เคลื่อนไหวอะไรก็ได้ (และหากเป็นอหิงสา นอกจากต้องห้ามด่าฝ่ายอื่น หรือพูดหยาบคายใส่ ยังต้องกล่าวถึงฝ่ายอื่นอย่างให้เกียรติ โดยถือว่าต่างเป็นมนุษย์ที่มีมโนสำนึกทางคุณธรรมไม่ด้อยกว่าฝ่ายตนอีกด้วย ดังที่คานธีได้ปฏิบัติเป็นตัวแบบ) และที่สำคัญที่สุดคือการเคลื่อนไหวโดยตระหนักตลอดเวลาว่าจะเดินในกรอบประชาธิปไตยพื้นฐาน ไม่ใช่การมุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนโครงสร้างเป็นแบบถดถอยจากประชาธิปไตย (ดังเช่น การเชื้อเชิญทหารมามีบทบาททางการเมืองเกินหน้าที่กองกำลังป้องกันประเทศ ซึ่งห้ามแทรกแซงทางการเมือง  หรือพยายามผลักดันแนวทางการเมืองแบบถดถอยไปสู่ระบอบคัดสรรที่ให้อำนาจเฉพาะชนชั้นนำที่เรียกผิดๆ ว่าการเมืองใหม่)  

แต่หากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคิดว่าแนวทางแบบ Civil Disobedience (รวมทั้งอหิงสา) ตามหลักการนั้นรับไม่ได้ ก็สมควรเลิกประกาศว่าตนเองเคลื่อนไหวในแนวทางดังกล่าว 

ตอนนี้อารมณ์ของมวลชนขณะนี้เหมือน ทุบหม้อข้าวมา เหมือนยุทธการของพระเจ้าตาก แต่ไม่ใช่พระเจ้าตากที่สนามหลวง แต่ในวันที่ 23 นี้ เป็นอารยะขัดขืนขั้นสูงสุด ซึ่งเป็นการยกระดับจากการชุมนุมใหญ่แต่เป็นการลุกขึ้นสู้อย่างถึงที่สุด” (http://thaienews.blogspot.com) ตามที่สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรระบุ ไม่สามารถเข้าใจเป็นอื่นได้นอกจากเป็นสิ่งบ่งชี้ชัดถึงการด้อยความเข้าใจในเรื่อง Civil Disobedience  หากไม่ใช่การจงใจโกหกต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อการเคลื่อนไหวของพันธมิตร

นอกจากนี้ หากพันธมิตรจะยังห้อยชื่อกลุ่มด้วยคำว่าประชาธิปไตย ถ้าไม่ให้เป็นการโกหกประชาชน ก็จำเป็นต้องปรับหลักคิด แนวทาง และวัฒนธรรมพื้นฐานของการเคลื่อนไหวของกลุ่มตนโดยรวมด้วย!










 17:38